xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ใช่เล่นๆ แล้ว! เลขาฯ UN เตือนความเสี่ยง 'สงครามนิวเคลียร์' สูงสุดนับตั้งแต่โซเวียตล่มสลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ลุกลามบานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ประชากรโลกจึงกำลังเผชิญความเสี่ยงสูงสุดของความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ นับตั้งแต่สภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 จากเสียงเตือนของอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ

"มนุษยชาติกำลังอยู่บนคมหอกคมดาบ" ดูเตอร์เรสกกล่าวในเทปบันทึกเสียง ที่เผยแพร่ ณ ที่ประชุมสมาคมควบคุมอาวุธประจำปี ในวอชิงตัน เมื่อวันศุกร์ (7 มิ.ย.) "ความเสี่ยงที่อาวุธนิวเคลียร์จะถูกใช้งานแตะระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนนับตั้งแต่สงครามเย็น"

เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวอ้างว่ามีมากมายหลายประเทศที่กำลังง่วนอยู่กับการแข่งขันทางอาวุธในเชิงคุณภาพ ใช้เทคโนโลยีต่างๆ อย่างเช่นปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในการเพิ่มความพร้อมสำหรับรับมือกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้งใดๆ และความก้าวหน้าต่างๆ เหล่านั้นเพิ่มอันตรายเป็นทวีคูณต่อการที่อาวุธนิวเคลียร์จะถูกใช้งาน ในขณะที่ข้อตกลงควบคุมอาวุธฉบับสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย ก็ใกล้หมดอายุลงแล้วในปี 2026

กูเตอร์เรส แสดงความคิดเห็นท่ามกลางความกังวลว่าการที่สหรัฐฯ มอบแรงสนับสนุนแก่ยูเครนในการสู้รบกับรัสเซีย อาจโหมกระพือความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ ทั้งนี้สหรัฐฯ และสมาชิกนาโตอื่นๆ กล่าวหา มอสโก สำแดงแสนยานุภาพทางนิวเคลียร์ แต่ทางพวกผู้นำรัสเซียชี้ว่าความเคลื่อนไหวของตะวันตกที่เข้ามาพัวพันในความขัดแย้งยูเครนมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจุดชนวนสถานการณ์ที่ลุกลาม

"เราไม่ได้กวัดแกว่งอาวุธนิวเคลียร์" ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย บอกกับผุ้ชม ณ เวทีสัมมนา เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อินเตอร์เนชันแนล อีโคโนมิก ฟอรัม เมื่อวันศุกร์ (7 มิ.ย.) เขาเน้นย้ำว่ารัสเซียจะพิจารณาใช้อาวุธนิวเคลียร์ก็ต่อเมื่อในกรณีที่อธิปไตยของรัสเซียหรือบูรณภาพแห่งดินแดนถูกคุกคาม แต่บอกว่า "ผมไม่เชื่อว่าในตอนนี้มันเป็นกรณีเช่นนั้น"

แม้ ปูติน ยืนยันว่ารัสเซียไม่เคยเป็นฝ่ายใช้โวหารนิวเคลียร์ก้าวร้าวก่อนใคร แต่ทาง กูเตอร์เรส แสดงความคิดเห็นไปอีกอย่าง โดยบอกว่า "การขู่กรรโชกทางนิวเคลียร์ปรากฏขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ภายใต้การข่มขู่หายนะทางนิวเคลียร์ที่ขาดความยั้งคิด"

เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า รัฐทั้งหลายที่ติดอาวุธนิวเคลียร์ต้องเป็นแกนนำในหนทางที่มุ่งหน้าสู่คำมั่นสัญญาไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์ใหม่ๆ เขาเรียกร้องให้เน้นย้ำเกี่ยวกับสนธิสัญญาห้ามการทดสอบนิวเคลียร์ สัญญาว่าจะไม่ชิงโจมตีก่อน และวางกรอบการทำงานเกี่ยวกับข้อตกลงใหม่ๆ ที่จะมาสานต่อข้อตกลง New START ก่อนหน้าที่มันจะหมดอายุลง นอกจากนี้ บรรดาชาติมหาอำนาจต้องจัดการกับภัยคุกคามจากไอเอ ด้วยการเห็นพ้องต้องกันว่าการตัดสินใจใดๆ ต้อง "ดำเนินการโดยมนุษย์ ไม่ใช่จักรกลหรืออัลกอริทึม"

ในปี 2022 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เห็นชอบนโยบายกลาโหมแห่งชาติใหม่ ที่เปิดประตูสำหรับความเป็นไปได้ที่วอชิงตันจะชิงโจมตีทางนิวเคลียร์ก่อน เขาผิดคำสัญญาระหว่างหาเสียงศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020 ด้วยการบอกว่าจะจำกัดวงในการใช้คลังแสงนิวเคลียร์ของอเมริกา แทนที่จะคัดค้านโดยสิ้นเชิง

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น