รัสเซียประกาศเพิกถอนการให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear Test Ban Treaty - CTBT) โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐฯ ซึ่งแสดงทัศนคติ “ไร้ความรับผิดชอบ” ต่อความมั่นคงของโลก
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียออกมาเปรยตั้งแต่ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาว่า มอสโกอาจพิจารณาเพิกถอนการให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญา CTBT ปี 1996 เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเองก็ไมได้ให้สัตยาบัน และตนยังบอกไม่ได้ว่ารัสเซียจะรื้อฟื้นการทดลองนิวเคลียร์หรือไม่
“เพื่อรับรองผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของประเทศ เราจึงเตรียมที่จะเพิกถอนสัตยาบันต่อสนธิสัญญาห้ามการทดลองนิวเคลียร์” วยาเชสลาฟ โวโลดิน ประธานสภาดูมา หรือสภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย ระบุวันนี้ (17 ต.ค.) ก่อนที่สภาจะเปิดการอภิปรายและโหวตเรื่องดังกล่าว
โวโลดิน ระบุว่า ในขณะที่รัสเซียได้ให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาฉบับนี้ตั้งแต่ปี 2000 สหรัฐฯ กลับยังนิ่งเฉยอยู่ ซึ่งมอสโกชี้ว่า “สะท้อนถึงทัศนคติที่ไร้ความรับผิดชอบต่อความมั่นคงของโลก”
“สหพันธรัฐรัสเซียจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องพลเมืองของเรา และคงไว้ซึ่งความเท่าเทียมในทางยุทธศาสตร์” เขากล่าว
แม้รัสเซียจะเพิกถอนสัตยาบันไปแล้ว แต่ยังคงเป็นรัฐภาคีที่ร่วมลงนาม และจะยังให้ความร่วมมือกับสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBTO) ตลอดจนระบบเฝ้าระวังที่จะเตือนให้ทั่วโลกได้รับรู้เมื่อมีการทดสอบนิวเคลียร์เกิดขึ้น
ทั้งนี้ หากรัสเซีย สหรัฐฯ หรือจีนรื้อฟื้นการทดสอบนิวเคลียร์จะเป็นสัญญาณเตือนถึงการแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่ระหว่างชาติมหาอำนาจ ซึ่งพร้อมใจกันหยุดทดสอบนิวเคลียร์ไปนานหลายสิบปีนับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปี 1991
สำหรับนักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหวที่รณรงค์ต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ การทดสอบระเบิดปรมาณูที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็นถือเป็นการสร้างสถานการณ์อันตรายด้านนิวเคลียร์ (nuclear brinkmanship) ที่สุดท้ายแล้วอาจจะทำลายเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ และทำให้โลกปนเปื้อนกัมมันตรังสีอันตรายต่อไปอีกนานนับแสนๆ ปี
อย่างไรก็ตาม สงครามในยูเครนได้ทำให้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียพุ่งสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาในปี 1962 ในขณะที่จีนเองก็เร่งพัฒนาคลังแสงนิวเคลียร์ของตนเองขึ้นมาเพื่อก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจรายใหม่
ที่มา : รอยเตอร์