บรรดาพันธมิตรสหรัฐฯ ในยุโรปไม่ควรเอาแต่พึ่งพาวอชิงตัน สำหรับการป้องปรามนิวเคลียร์ จากความเห็นเมื่อวันอังคาร (13 ก.พ.) ของแคนดิเดตหลักพรรครัฐบาลเยอรมนี ในศึกเลือกตั้งรัฐสภายุโรปที่กำลังมาถึง ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดอันสืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย
แคนารินา บาร์ลีย์ สมาชิกรัฐสภายุโรป (MEP) ในปัจจุบัน จากพรรคโซเชียล เดโมแครติก ปาร์ตี (เอสพีดี) พรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ แห่งเยอรมนี ตอบคำถามผู้สื่อข่าว หลังถูกถามเกี่ยวกับความเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่บอกว่าวอชิงตันไม่ควรปกป้องบรรดาพันธมิตรนาโตที่ไม่ยอมทำตามพันธะผูกพันเรื่องเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม
"ในมุมมองที่มีต่อถ้อยแถลงของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อเร็วๆ นี้ เราไม่อาจพึ่งพิงสหรัฐฯ ที่มอบร่มนิวเคลียร์แก่รัฐสมาชิกยุโรปของนาโต ได้อีกต่อไป" บาร์ลีย์ให้สัมภาษณ์กับ Tagesspiegel หนังสือพิมพ์เยอรมนี "ระเบิดยุโรป อาจเป็นก้าวย่างหนึ่งในหนทางสำหรับกองทัพยุโรปหนึ่งๆ"
"ถ้าสหรัฐฯ หยุดจัดหาอาวุธแก่ยูเครน ยูเครนจะจำเป็นต้องเข้ารับหน้าที่รับผิดชอบนี้แทน เพราะว่า เราต้องจริงจังกับคำขู่ต่างๆ และความประพฤติตามนั้นของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน" เธอกล่าว พร้อมกล่าวหาว่าประธานาธิบดีรัสเซีย ก่อคำถามอย่างเปิดเผยต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของโปแลนด์ และลิทัวเนีย
อย่างไรก็ตาม ความเห็นของ บาร์ลีย์ เรียกเสียงตำหนิจาก มาร์ติน ไชร์เดวาน แคนดิเดตหลักชิงเก้าอี้สมาชิกรัฐสภายุโรป ของพรรค Die Linke เขาบอกกับเอเอฟพีว่าคำตอบที่เหมาะสมต่อคำพูดไร้สาระที่หลุดออกมาจากทรัมป์ ไม่ใช่การแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ แต่เป็นการลดความตึงเครียด
"มันเป็นเรื่องสมเหตุสมผลมากกว่าที่เราจะมีอียูที่มุ่งมั่นต่อนโยบายประนีประนอม ปลดอาวุธและความเป็นธรรมทางสังคมในทั่วทุกชายแดน" ไชร์เดวานกล่าว "การมีระเบิดปรมาณูเพิ่มขึ้นจะไม่ทำให้โลกปลอดภัยขึ้น" พร้อมชี้ว่าปัจจุบันคลังแสงนิวเคลียร์ทั่วโลกก็สามารถทำลายล้างโลกได้มากกว่า 50 รอบแล้ว และแทนที่จะฝันถึงการมีอาวุธนิวเคลียร์ ทางพรรคเอสพีดี ควรผลักดันเยอรมนีเข้าสู่การลงนามในขั้นสุดท้ายของสนธิสัญญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์มากกว่า
ทั้งสหรัฐฯ และอียูส่งมอบความช่วยเหลือด้านอาวุธ กระสุน และยุทโธปกรณ์แก่ยูเครนไปแล้วหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงประสบปัญหาไม่ทันต่อความต้องการของเคียฟ
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ผู้สันทัดกรณีชาวสหรัฐฯ รายหนึ่งเรียกร้องให้มอบอาวุธนิวเคลียร์แก่โปแลนด์ ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดอันเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย
"ใครก็ตามที่มีศักยภาพทางนิวเคลียร์ก็จะมีความมั่นคงในระดับสูงมากๆ บรรดาประเทศเหล่านั้นไม่เคยถูกโจมตี และไม่มีแม้กระทั่งความเป็นไปได้ของความเคลื่อนไหวใดๆ ที่เล็งเป้าหมายก่อวิกฤตในระดับท้องถิ่น" จาโรสลอว์ คราสซิวสกี นายพลปลดเกษียณรายหนึ่งแห่งกองทัพโปแลนด์ ตอบคำถามหลังถูกถามเกี่ยวกับข้อชี้แนะหนึ่งของทางดาลิเบอร์ โรฮัค นักวิชาการจากสถาบันอเมริกัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ที่เสนอเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว "ให้มอบอาวุธนิวเคลียร์แก่โปแลนด์" ผ่านการให้สัมภาษณ์กับเดอะ สเปกเตเตอร์ สื่อมวลชนสหราชอาณาจักร
ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย เคยเตือนตะวันตกว่า การเผชิญหน้าโดยตรงใดๆ กับรัสเซียจะขยายวงสู่การใช้นิวเคลียร์อย่างรวดเร็ว และชี้แนะให้พวกนักการเมืองตะวันตกบอกความจริงกับพวกผู้มีสิทธิออกเสียงเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่เกิดสงครามกับรัสเซีย "แทนที่จะปฏิบัติกับประชาชนเหมือนกับเป็นพวกโง่ๆ ไร้สมอง"
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)