xs
xsm
sm
md
lg

เค้าลางวิกฤตปรมาณู! ยุโปแลนด์ลุยติดอาวุธนิวเคลียร์สหรัฐฯ รับมือภัยคุกคามจากรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การมีอาวุธนิวเคลียร์คือมาตรการป้องปรามที่ทรงแสนยานุภาพและมันเป็นบางอย่างที่ โปแลนด์ควรพิจารณาเดินหน้าในเรื่องนี้ จากเสียงเรียกร้องของนายพลปลดเกษียณรายหนึ่งแห่งกองทัพโปแลนด์ ระหว่างให้สัมภาษณ์ในวันจันทร์ (12 ก.พ.) ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดอันเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย

ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ RMF24 นายจาโรสลอว์ คราสซิวสกี ถูกถามเกี่ยวกับข้อชี้แนะหนึ่งของทางดาลิเบอร์ โรฮัค นักวิชาการจากสถาบันอเมริกัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ที่เสนอเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว "ให้มอบอาวุธนิวเคลียร์แก่โปแลนด์" ผ่านการให้สัมภาษณ์กับเดอะ สเปกเตเตอร์ สื่อมวลชนสหราชอาณาจักร

"ผมมองกรณีนี้ว่ามีความเป็นจริงอย่างมาก" คราสซิวสกี ตอบคำถาม "ใครก็ตามที่มีศักยภาพทางนิวเคลียร์ก็จะมีความมั่นคงในระดับสูงมากๆ บรรดาประเทศเหล่านั้นไม่เคยถูกโจมตี และไม่มีแม้กระทั่งความเป็นไปได้ของความเคลื่อนไหวใดๆ ที่เล็งเป้าหมายก่อวิกฤตในระดับท้องถิ่น"

"การครอบครองอาวุธปรมาณูคือความท้าทายสำหรับโปแลนด์ ที่ต้องพยายามทำให้เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า" เขากล่าว

ในขณะที่ โรฮัค เสนอติดหัวรบนิวเคลียร์แก่โปแลนด์ ส่วนหนึ่งใน "แผนความมั่นคงในภูมิภาคยุโรปตะวันออก" ที่กำลังถูกตรวจสอบโดยโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนถึงศึกเลือกตั้้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ทาง คราสซิวสกี ดูเหมือนอยากเห็นแนวทางในระยะยาวมากกว่า

"ชัดเจนว่ามันจะต้องมีการทบทวนและกลับเข้าสู่การเจรจาในประเด็นความสมดุลของขุมกำลังนิวเคลียร์ในโลกใบนี้" เขาให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุโปแลนด์ "ตามความเห็นของผม มันจะเกิดขึ้นหลังจากความขัดแย้งติดอาวุธในยูเครนสิ้นสุดลง"

คราสซิวสกี ปลดเกษียณเมื่อปี 2019 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้บริหารของบริษัทแห่งหนึ่ง ที่มอบบริการคำปรึกษาด้านกลาโหม ฝึกฝนด้านการทหารและตำรวจ รวมถึงเป็นนายหน้าจัดซื้ออาวุธและกระสุน บ่อยครั้งเขามักเป็นแขกรับเชิญในบรรดาสื่อมวลชนโปแลนด์ ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในยูเครน

โปแลนด์ส่งเสียงเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปยังสหรัฐฯ สำหรับประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในดินแดน ในนั้นรวมถึงกรณีที่ประธานาธิบดีอันแชย์ ดูดา หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาในเดือนตุลาคม 2022 แต่ถูกปฏิเสธโดยกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

ในเดือนมิถุนายนปีต่อมา รัฐบาลในวอร์ซอ เป็นอีกครั้งที่ได้ร้องขออาวุธปรมาณู ภายใต้โครงการ "แบ่งปันนิวเคลียร์" ของสหรัฐฯ อ้างถึงแนวโน้มภัยคุกคามจากรัสเซียและเบลารุส ขณะที่ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย ตอบโต้เสียงเรียกร้องดังกล่าว โดยเรียกผู้นำโปแลนด์ว่าเป็น "คนสูงวัยเสื่อมสภาพ" ที่กำลังเล่นกับเปลวไฟแห่งนิวเคลียร์

ภายใต้โครงการแบ่งปันนิวเคลียร์ ทางวอชิงตันได้ประจำการอาวุธนิวเคลียร์จำนวนหนึ่งในเบลเยียม เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ และตุรกี พร้อมยืนยันว่ามันไม่ได้เป็นการละเมิดทางเทคนิคต่อสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ เนื่องจากสหรัฐฯ ยังคงเป็นเจ้าของอาวุธเหล่านั้น อย่างไรก็ตามมันกระตุ้นให้รัสเซียตอบโต้ด้วยการประจำการขีปนาวุธติดอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองในเบลารุสเช่นกัน

(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น