จีนเมื่อวันพุธ (17 ก.ค.) ระงับการเจรจากับสหรัฐฯ ในเรื่องการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์และควบคุมอาวุธ ตอบโต้กรณีที่วอชิงตันยังคงเดินหน้าขายอาวุธให้ไต้หวัน ความเคลื่อนไหวที่กระทรวงการต่างประเทศอเมริกาเรียกว่า "โชคร้าย"
สหรัฐฯ และจีน เมื่อเดือนพฤศจิกายนเปิดเจรจาอย่างที่ไม่พบเห็นบ่อยนัก ในประเด็นควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนหนึ่งในความพยายามคลี่คลายความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ก่อนหน้าการประชุมซัมมิตระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
นับตั้งแต่นั้นไม่มีการแถลงต่อสาธารณะเกี่ยวกับการเจรจาเพิ่มเติม ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวรายหนึ่งในเดือนมกราคม เรียกร้องปักกิ่งให้ตอบสนอง "แนวคิดบางอย่างที่มีแก่นสารของเรา ในด้านลดความเสี่ยง"
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุในวันพุธ (17 ก.ค.) ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ที่ขายอาวุธแก่ไต้หวันเมื่อเร็วๆ นี้ "บ่อนทำลายร้ายแรงต่อบรรยากาศทางการเมือง สำหรับการปรึกษาหารือควบคุมอาวุธระหว่าง 2 ฝ่าย"
หลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า "สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าขายอาวุธให้ไต้หวัน และดำเนินการต่างๆ ในทางลบที่ก่อความเสียหายร้ายแรงแก่ผลประโยชน์หลักของจีนและบ่อนทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจกันทางการเมือง ด้วยเหตุผลนี้ จีนตัดสินใจระงับการเจรจากับสหรัฐฯ ในการพูดคุยรอบใหม่เกี่ยวกับการควบคุมอาวุธและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์"
สหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนการรับรองทางการทูตจากไต้หวันไปยังจีน ในปี 1979 แต่ยังคงเป็นพันธมิตรสำคัญที่สุดและเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่แก่ไทเป ความเคลื่อนไหวที่เรียกเสียงประณามซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากจีน
เมื่อเดือนมิถุนายน วอชิงตันอนุมัติการขายด้านการทหารแก่ไต้หวัน 2 รอบ คิดเป็นมูลค่ารวมราว 300 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนและอะไหล่สำหรับซ่อมแซมฝูงบินเอฟ-16 ของพวกเขา
ในรายงานตามคำบัญชาของสภาคองเกรสเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยว่าจีนกำลังพัฒนาคลังแสงนิวเคลียร์ ในอัตราที่รวดเร็วมากกว่าที่อเมริกาคาดหมาย พร้อมบอกว่าจนถึงเดือนพฤษภาคม 2023 ปักกิ่งหัวรบนิวเคลียร์ในครอบครองมากกว่า 500 หัวรบ และมีความเป็นไปได้จะเพิ่มเป็น 1,000 หัวรบ ภายในปี 2030
จากข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศสตอกโฮล์ม (SIPRI) ระบุว่าปัจจุบันสหรัฐฯ มีหัวรบนิวเคลียร์ในครอบครอง 3,700 หัวรบ ตามหลังรัสเซียที่มีอยู่ 4,500 หัวรบ ขณะที่จีนมีหัวรบนิวเคลียร์ 410 หัวรบ
สหรัฐฯ ประณามจีนสำหรับการระงับเจรจาในครั้งนี้ "จีนเลือกจะเดินตามการนำของรัสเซีย ที่อ้างว่าการเจรจาควบคุมอาวุธไม่อาจเดินหน้าไปได้ เมื่อมีความท้าทายอื่นๆ ในความสัมพันธ์ทวิภาคี" แมตธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอเมริกากล่าว
"ก้าวอย่างดังกล่าวของพวกเขาเป็นเรื่องโชคร้าย เราคิดว่าแนวทางนี้บ่อยทำลายเสถียรภาพทางยุทธศาสตร์ และเพิ่มความเสี่ยงต่อพลวัตการแข่งขันทางอาวุธ" โฆษกระบุ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ หลิน บอกว่าจีนมีความตั้งใจคงไว้ซึ่งการติดต่อสื่อสารกับสหรัฐฯ ในประเด็นควบคุมอาวุธระหว่างประเทศ บนพื้นฐานแห่งการเคารพกันและกัน "แต่อเมริกาต้องเคารพผลประโยชน์อันสำคัญที่สุดของจีน และก่อสภาพแวดล้อมที่จำเป็นสำหรับการเจรจา"
(ที่มา : เอเอฟพี)