รัสเซีย มหาอำนาจนิวเคลียร์รายใหญ่ที่สุดในโลก ได้เริ่มปรับปรุงแก้ไขหลักการใช้อาวุธมหาประลัยนี้ของตนแล้ว โฆษกทำเนียบเครมลิน ดมิตริ เปสคอฟ ระบุในวันจันทร์ (24 มิ.ย.) โดยอ้างอิงคำแถลงก่อนหน้านี้ของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินนอกจากนั้น คำพูดเช่นนี้ของเขายังสอดรับกับข้อเสนอของประธานคณะกรรมาธิการกลาโหมของรัฐสภาแดนหมีขาวเมื่อวันอาทิตย์ (23) ซึ่งระบุว่า รัสเซียอาจลดเวลาในการตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ กรณีที่มอสโกเชื่อว่ากำลังเผชิญภัยคุกคามเพิ่มมากขึ้น
เปสคอฟกล่าวในการแถลงข่าววันจันทร์ (24) โดยไม่ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “ประธานาธิบดีปูตินได้กล่าวเอาไว้ว่า กำลังมีการทำงานเพื่อทำให้หลักนิยม (ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย) มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน
ทั้งนี้ จากการที่สงครามในยูเครนโหมกระพือการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างรัสเซียกับตะวันตก นับตั้งแต่วิกฤตขีปนาวุธคิวบาปี 1962 ประธานาธิบดีปูติน ได้กล่าวในเดือนที่แล้วว่า รัสเซียอาจปรับเปลี่ยนหลักนิยม (doctrine) หรือก็คือนโยบายว่าด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขต่างๆ สำหรับการใช้อาวุธชนิดนี้
ในวันอาทิตย์ (23) อันเดรย์ คาร์ตาโปลอฟ ประธานคณะกรรมาธิการกลาโหมของสภาล่างรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอาร์ไอเอ ของทางการแดนหมีขาว ระบุว่า หากมีภัยคุกคามต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เมื่อนั้นก็จะต้องเปลี่ยนแปลงกรอบเวลาในการตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์
"ถ้าเราเห็นความท้าทายและภัยคุกคามต่างๆ เพิ่มขึ้น มันหมายความว่าเราสามารถแก้ไขบางสิ่งบางอย่าง (ในหลักนิยม) ให้มีความถูกต้อง ทั้งในเรื่องของกรอบเวลาของการใช้อาวุธนิวเคลียร์และเรื่องของการตัดสินใจใช้อาวุธนี้" อาร์ไอเอ รายงานโดยอ้างคำกล่าวของคาร์ตาโปลอฟ
อย่างไรก็ดี คาร์ตาโปลอฟ ซึ่งเคยเป็นผู้บัญชาการกองกำลังรัสเซียในซีเรีย และตอนนี้ทำหน้าที่เป็น ส.ส. สังกัดพรรครัฐบาล "ยูไนเต็ด รัสเซีย" บอกว่าตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในหลักนิยมนิวเคลียร์อย่างเฉพาะเจาะจงลงไป
ตามหลักนิยมนิวเคลียร์ปี 2020 ของรัสเซีย กำหนดเอาไว้ว่าประธานาธิบดีของประเทศจะพิจารณาใช้อาวุธนิวเคลียร์เมื่อเป็นการตอบโต้การใช้อาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธทำลายล้างอื่นๆ หรืออาวุธตามแบบแผนทั่วไป ซึ่งเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของรัฐรัสเซีย
ณ ปัจจุบัน รัสเซีย และสหรัฐฯ คือ 2 ชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่ทิ้งคู่แข่งอื่นๆ ค่อนข้างห่าง โดยทั้ง 2 ชาติมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองรวมกันคิดเป็นสัดส่วนราวๆ 88% ของอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดบนโลก
เวลานี้ ทั้ง 2 ชาติต่างกำลังปรับปรุงยกระดับคลังแสงนิวเคลียร์ของตนเองให้มีความทันสมัย ขณะที่ จีน ซึ่งเป็นอีกชาติมหาอำนาจ ก็กำลังยกระดับคลังแสงนิวเคลียร์ของตนเองอย่างรวดเร็ว
ปูติน ออกมากล่าวในเดือนนี้ว่า รัสเซีย ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อการันตีชัยชนะในยูเครน เป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยมีมาว่า การสู้รบขัดแย้งครั้งนองเลือดที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมานี้ จะไม่ลุกลามบานปลายไปสู่สงครามนิวเคลียร์
กระนั้น ปูติน บอกด้วยว่าเขาไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงหลักนิยมนิวเคลียร์ของรัสเซีย ท่าทีเช่นนี้ถูกนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการโอนอ่อนตามแรงกดดันของพวกสายแข็งกร้าวในชนชั้นนำรัสเซีย ที่เชื่อว่า ปูติน ควรต้องสามารถลงมือได้อย่างรวดเร็วหากสถานการณ์ทางนิวเคลียร์ลุกลามบานปลาย และจำเป็นต้องลดกฎเกณฑ์สำหรับการใช้อาวุธนิวเคลียร์
ปูติน ออกมากล่าวอีกครั้งในสัปดาห์ที่แล้วว่า อาจต้องปรับเปลี่ยนหลักนิยมทางนิวเคลียร์ เพราะว่าพวกศัตรูของรัสเซียกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ประเภทที่สร้างผลทำลายล้างระดับต่ำสุดๆ ออกมา
ทั้งมอสโกและวอชิงตัน ต่างปรับลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย แต่สนธิสัญญาควบคุมอาวุธต่างๆ หลังสงครามเย็นเวลานี้ได้ถูกฉีกทิ้งไปแล้ว และปัจจุบันนักการทูตหลายคนแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันทางอาวุธรอบใหม่
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ช่วยระดับสูงของทำเนียบขาวเปิดเผยเมื่อช่วงกลางเดือนนี้ว่า สหรัฐฯ อาจประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์เพิ่มเติมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อป้องปรามภัยคุกคามจากรัสเซีย จีน และศัตรูอื่นๆ
รัสเซียบอกว่าพวกเขามีความสนใจที่จะหารือกับสหรัฐฯ ในเรื่องการควบคุมอาวุธ แต่พร้อมทำเช่นนั้นต่อเมื่อมันเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาในวงกว้างออกไป ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของยุโรปและอนาคตของยูเครน
ในส่วนของสหรัฐฯ นั้น รายงานทบทวนทัศนะทางนิวเคลียร์ (Nuclear Posture Review) ฉบับปี 2022 ระบุว่าจากการที่รัสเซียและจีนกำลังพัฒนาคลังแสงนิวเคลียร์อย่างรวดเร็ว ดังนั้นภายในทศวรรษ 2030 จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อเมริกาจะต้องเผชิญหน้ากับมหาอำนาจนิวเคลียร์รายสำคัญถึง 2 ราย ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นคู่แข่งขันทางยุทธศาสตร์ และมีศักยภาพที่จะกลายเป็นศัตรู
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเจนซีส์)