รัสเซีย ชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในโลก อาจลดเวลาในการตัดสินใจที่กำหนดไว้ในนโยบายอย่างเป็นทางการ สำหรับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ในกรณีที่มอสโกเชื่อว่ากำลังเผชิญภัยคุกคามเพิ่มมากขึ้น จากคำชี้แนะของประธานคณะกรรมาธิการกลาโหมของรัฐสภาเมื่อวันอาทิตย์ (23 มิ.ย.)
สงครามในยูเครนโหมกระพือการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ที่สุดระหว่างรัสเซียกับตะวันตก นับตั้งแต่วิกฤตขีปนาวุธคิวบาปี 1962 โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ระบุในเดือนที่แล้วว่า รัสเซียอาจปรับเปลี่ยนนโยบายนิวเคลียร์อย่างเป็นทางการ ที่กำหนดเงื่อนไขต่างๆ สำหรับการใช้อาวุธชนิดนี้
ในวันอาทิตย์ (23 ม.ย.) อังเดรย์ คาร์ตาโปลอฟ ประธานคณะกรรมาธิการกลาโหมของสภาผู้แทนราษฎรรัสเซีย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอาร์ไอเอ ระบุว่า หากภัยคุกคามต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เมื่อนั้นการมีการเปลี่ยนแปลงกรอบเวลาในการตัดสินใจในการใช้อาวุธนิวเคลียร์
"ถ้าเราเห็นความท้าทายและภัยคุกคามต่างๆ เพิ่มขึ้น มันหมายความว่าเราสามารถทำบางสิ่งบางอย่างในนโยบายให้ถูกต้อง ในเรื่องของกรอบเวลาของการใช้อาวุธนิวเคลียร์และการตัดสินใจใช้อาวุธนี้" สำนักข่าวอาร์ไอเอ อ้างคำกล่าวของคาร์ตาโปลอฟ
คาร์ตาโปลอฟ ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้บัญชาการกองกำลังรัสเซียในซีเรีย และตอนนี้ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครัฐบาล "ยูไนเต็ด รัสเซีย" อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะพูดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉพาะเจาะจงในนโยบายนิวเคลียร์
นโยบายนิวเคลียร์ปี 2020 ของรัสเซีย กำหนดไว้ว่าประธานาธิบดีของประเทศจะพิจารณาใช้อาวุธนิวเคลียร์ก็ต่อเมื่อเป็นการตอบโต้การใช้อาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธทำลายล้างอื่นๆ หรืออาวุธทั่วไปที่ทำให้ความอยู่รอดของรัฐรัสเซียตกอยู่ในความเสี่ยง
ณ ปัจจุบัน รัสเซียและสหรัฐฯ คือ 2 ชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่ทิ้งคู่แข่งอื่นๆ ค่อนข้างห่าง ทั้ง 2 ชาติมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองรวมกันคิดเป็นสัดส่วนราวๆ 88% ของอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดบนโลก
ทั้ง 2 ชาติกำลังดำเนินการปรับปรุงคลังแสงนิวเคลียร์ของตนเองให้มีความทันสมัย ส่วน จีน อีกชาติมหาอำนาจก็กำลังยกระดับคลังแสงนิวเคลียร์ของตนเองอย่างรวดเร็ว
ปูติน กล่าวในเดือนนี้ว่า รัสเซีย ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อการันตีชัยชนะในยูเครน ขณะที่วังเครมลินส่งสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยมีมาว่าความขัดแย้งนองเลือดที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จะไม่ลุกลามขยายวงสู่สงครามนิวเคลียร์
อย่างไรก็ตาม ปูติน บอกว่าเขาไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายนิวเคลียร์ของรัสเซีย ท่าทีที่ถูกมองว่าเป็นการโอนอ่อนตามแรงกดดันของพวกสายแข็งกร้าวในชนชั้นสูงของรัสเซีย ที่เชื่อว่า ปูติน ควรสามารถลงมือได้อย่างรวดเร็วหากสถานการณ์ทางนิวเคลียร์ลุกลามบานปลาย และจำเป็นต้องลดกฎเกณฑ์สำหรับใช้อาวุธนิวเคลียร์
ในสัปดาห์ที่แล้ว ปูติน กล่าวอีกครั้งว่า อาจมีการปรับเปลี่ยนนโยบายทางนิวเคลียร์ เพราะว่าพวกศัตรูของรัสเซียกำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แบบทำลายล้างต่ำสุดขั้ว
ทั้งมอสโกและวอชิงตัน ได้ปรับลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย แต่สนธิสัญญาควบคุมอาวุธต่างๆ หลังสงครามเย็นถูกฉีกทิ้งไปแล้ว และปัจจุบันทูตหลายคนแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแข่งขันทางอาวุธรอบใหม่
ผู้ช่วยระดับสูงของทำเนียบขาวเปิดเผยเมื่อช่วงกลางเดือนว่า สหรัฐฯ อาจประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์เพิ่มเติมในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อป้องปรามภัยคุกคามจากรัสเซีย จีน และศัตรูอื่นๆ
รัสเซียบอกว่าพวกเขามีความสนใจที่จะหารือควบคุมอาวุธกับสหรัฐฯ แต่ก็ต่อเมื่อมันเป็นส่วนหนึ่งของการพูดคุยอย่างกว้างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของยุโรปและอนาคตของยูเครน
ในรายงานทบทวนยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ 2022 Nuclear Posture Review สหรัฐฯ ระบุว่าด้วยที่รัสเซียและจีนกำลังพัฒนาคลังแสงนิวเคลียร์อย่างรวดเร็ว "ดังนั้นภายในปี 2030 จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อเมริกาจะต้องเผชิญหน้ากับ 2 มหาอำนาจหลักนิวเคลียร์ ในฐานะคู่แข่งขันทางยุทธศาสตร์ และเป็นไปได้ว่าจะในฐานะศัตรูด้วย"
(ที่มา : รอยเตอร์)