ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ระบุวานนี้ (7 มิ.ย.) ว่ารัสเซียไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อให้ชนะศึกยูเครน ซึ่งถือเป็นคำยืนยันอย่างชัดเจนที่สุดจากทำเนียบเครมลินว่า ความขัดแย้งทางอาวุธครั้งใหญ่ที่สุดของยุโรปในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คงจะไม่ลุกลามบานปลายกลายเป็น “สงครามนิวเคลียร์” ง่ายๆ อย่างที่หลายฝ่ายกลัวกัน
นับตั้งแต่ ปูติน ออกคำสั่งให้กองทัพหมีขาวส่งทหารบุกดินแดนยูเครนเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ปี 2022 เขาก็พูดย้ำในหลายๆ โอกาสว่ารัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ก็ต่อเมื่อ “จำเป็นต้องป้องกันตนเอง” เท่านั้น ซึ่งชาติตะวันตกก็หยิบเอาคำพูดนี้ไปกระพือว่าเป็น “คำขู่”
ระหว่างการประชุมเศรษฐกิจนานาชาติที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St Petersburg International Economic Forum) เซียร์เก คารากานอฟ ซึ่งเป็นนักวิเคราะห์ผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของรัสเซีย ได้ยิงคำถามกับ ปูติน ว่า รัสเซียควรหรือไม่ที่จะ “เอาปืนนิวเคลียร์มาจ่อที่ขมับ” ของตะวันตกเพื่อบีบให้เลิกช่วยเหลือยูเครน ซึ่งผู้นำหมีขาวก็ตอบว่า เขายังไม่เห็นเงื่อนไขใดๆ ที่จะนำไปสู่การใช้อาวุธทำลายล้างสูง
“การใช้งานอาจเป็นไปได้ในกรณีที่พิเศษจริงๆ เช่น อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของเราถูกคุกคาม แต่ผมยังไม่เห็นว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ดังนั้นก็ยังไม่มีความจำเป็น” ปูติน กล่าว
มอสโกถือว่าคาบสมุทรไครเมียที่ยึดไปจากยูเครนเมื่อปี 2014 รวมถึงอีก 4 แคว้นทางตะวันออกของยูเครน กลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียไปแล้วอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเท่ากับว่ามีความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะเปิดปฏิบัติการโจมตีด้วยนิวเคลียร์หากเคียฟคิดที่จะทวงดินแดนเหล่านี้กลับคืน
กองทัพยูเครนเริ่มใช้โดรนติดอาวุธและขีปนาวุธยิงโจมตีเป้าหมายต่างๆ ในรัสเซียบ่อยขึ้น รวมถึงในไครเมียด้วย พร้อมยืนยันเสียงแข็งว่าจะต้องขับไล่ทหารรัสเซียออกไปจากดินแดนของตนให้ได้
ปูติน ย้ำว่าเขา “ไม่ปฏิเสธ” ทางเลือกที่จะปรับเปลี่ยนหลักการด้านนิวเคลียร์ (nuclear doctrine) ของประเทศ ซึ่งกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ที่อาวุธนิวเคลียร์อาจถูกนำมาใช้ หากจำเป็นก็พร้อมที่จะ “ทดสอบ” อาวุธนิวเคลียร์ให้เห็น แต่เวลานี้ยังไม่จำเป็น
การหยิบยกเรื่องนิวเคลียร์มาอภิปรายอย่างเปิดเผยกลางเวทีประชุมด้านเศรษฐกิจครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นความพยายามของ ปูติน ที่จะบรรเทาความตื่นกลัวสงครามนิวเคลียร์ หลังจากที่สถานการณ์การสู้รบในยูเครนเริ่มเดินมาถึงจุดที่นักการทูตทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ บอกตรงกันว่า “อันตราย” ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา
รัสเซียและสหรัฐอเมริกาครอบครองคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์คิดเป็นเกือบ 90% ของอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั่วโลก
ที่มา : รอยเตอร์