เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เผย มีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย โดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน หลังได้รับข้อมูลข่าวกรองว่า อดีตประธานาธิบดีผู้นี้ตกเป็นเป้าหมายมุ่งลอบสังหารของอิหร่าน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้ยิ่งเพิ่มความข้องใจสงสัยว่า เหตุใดมือปืนจึงยงคงหลุดรอดสายตาเจ้าหน้าที่เข้าไปลอบยิงทรัมป์ได้ในระยะหวังผลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ลอบสังหารนี้ทำให้คนอเมริกันส่วนใหญ่กลัวว่า กลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งอาจก่อความรุนแรงภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 5 พ.ย.
แหล่งข่าวในหน่วยงานข่าวกรองของอเมริกาเปิดเผยกับฝ่ายข่าวของเครือข่ายโทรทัศน์ซีบีเอสในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรของบีบีซีแห่งสหราชอาณาจักรว่า หน่วยอารักขาผู้นำสหรัฐฯ (ซีเคร็ตเซอร์วิส) และทีมรณรงค์หาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ต่างได้รับแจ้งเรื่องแผนการของอิหร่านและมีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยตั้งแต่เดือนที่แล้ว ซึ่งรวมถึงมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่หน่วยตอบโต้การโจมตีและหน่วยตอบโต้การซุ่มยิง รวมทั้งโดรน และหุ่นยนต์สุนัข
โดยที่ซีบีเอสรายงานว่า รายละเอียดของปฏิบัติการของอิหร่านได้มาจากข่าวกรองระดับบุคคล
ทั้งนี้ ทรัมป์และเจ้าหน้าที่อีกหลายคนที่รวมถึงไมค์ พอมเพโอ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศในยุคทรัมป์ เผชิญการคุกคามจากเตหะราน นับจากทางการสหรัฐฯ ส่งโดรนลอบโจมตีสังหาร กาเซ็ม โซเลมานี ผู้บัญชาการหน่วยคุดส์แห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่านเสียชีวิตอย่างอุกอาจ ขณะที่เขาอยู่ในอิรักเมื่อปี 2020
เกี่ยวกับข่าวนี้ แอนโทนี กูกลิเอลมี โฆษกซีเคร็ตเซอร์วิส แถลงเพียงว่า ซีเคร็ตเซอร์วิสและหน่วยงานอื่นๆ ได้รับข้อมูลภัยคุกคามใหม่ที่อาจเกิดขึ้นตลอดเวลาและดำเนินการปรับปรุงทรัพยากรที่จำเป็น
ส่วนคณะทูตอิหร่านในสหประชาชาติ ตอบโต้ว่าข่าวนี้ไม่มีมูลและเต็มไปด้วยความชั่วร้าย พร้อมกันนั้นก็สำทับว่า ทรัมป์เป็นอาชญากรที่ต้องถูกดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย
ทางด้าน เอเดรียนน์ วัตสัน โฆษกของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในทำเนียบขาว กล่าวว่า เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงของอเมริกาได้ติดตามภัยคุกคามจากอิหร่านต่ออดีตเจ้าหน้าที่ในคณะบริหารของทรัมป์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีสาเหตุมาจากความต้องการแก้แค้นของเตหะรานจากกรณีการสังหารโซเลมานี และทางสภาความมั่นคงถือว่า ภัยคุกคามนี้เป็นหนึ่งในกรณีความมั่นคงภายในประเทศและมาตภูมิที่สำคัญที่สุด
อย่างไรก็ดี วัตสันย้ำว่า จากการสอบสวนยังไม่พบว่า โทมัส แมทธิว ครุกส์ ผู้ต้องสงสัยวัย 20 ปีที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม ขณะพยายามลอบสังหารทรัมป์ระหว่างปราศรัยหาเสียงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (13 ก.ค.) ที่เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย มีการพัวพันเกี่ยวข้องกับผู้สมรู้ร่วมคิดใดๆ ไม่ว่าจะในหรือนอกประเทศ
กระนั้นก็ตาม ข้อมูลใหม่นี้กลับเป็นสิ่งตอกย้ำข้อข้องใจสงสัยว่า เหตุใดตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบรักษาความปลอดภัยบริเวณดังกล่าวจึงปล่อยให้ครุกส์ขึ้นไปซุ่มบนหลังคาอาคาร ห่างจากจุดที่ทรัมป์ยืนบนเวทีปราศรัยแค่ 130 เมตรเท่านั้น
ผู้อำนวยการซีเคร็ตเซอร์วิสยอมรับว่า มีตำรวจท้องถิ่นอยู่ในอาคารดังกล่าว และซีบีเอสนิวส์รายงานว่า พลซุ่มยิงท้องถิ่น 3 นายอยู่ในตึกนั้นและเห็นครุกส์อยู่บนหลังคา ขณะที่โฆษกสำนักงานตำรวจเพนซิลเวเนียเผยว่า ได้จัดหาทรัพยากรทั้งหมดตามที่ซีเคร็ตเซอร์วิสร้องขอ ซึ่งรวมถึงตำรวจม้า 30-40 นายในบริเวณพื้นที่หาเสียง
ในอีกด้านหนึ่ง ผลสำรวจของรอยเตอร์/อิปซอสส์ที่เปิดเผยเมื่อวันอังคาร (17) พบว่า ทรัมป์มีคะแนนนิยมนำประธานาธิบดีโจ ไบเดน 43% ต่อ 41% โดยมีความคลาดเคลื่อน 3% ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การพยายามลอบสังหารทรัมป์ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไปมากนัก
ผลสำรวจที่จัดทำขึ้นทางออนไลน์โดยสอบถามคนอเมริกันวัยผู้ใหญ่ทั่วประเทศ 1,202 คน ซึ่งรวมถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 992 คน ยังพบว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 80% เห็นด้วยกับข้อความที่ว่า ประเทศกำลังเผชิญความวุ่นวายจนใกล้จะเกินความควบคุม
ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 84% กังวลว่า กลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งอาจก่อความรุนแรงภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคมถึง 10%
ความกลัวเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองแพร่หลายมากขึ้นหลังจากที่ผู้สนับสนุนทรัมป์หลายพันคนบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค.2021 เพื่อพยายามลบล้างผลการเลือกตั้งที่ทรัมป์แพ้ไบเดน ซึ่งเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 5 คนในวันเกิดเหตุ รวมถึงตำรวจรัฐสภา 1 นายที่ต่อสู้กับผู้ก่อจลาจล
นอกจากนั้น ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันที่ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง 65% ยังเชื่อว่า การที่ทรัมป์รอดชีวิตจากการพยายามลอบสังหารครั้งนี้เป็นความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า
(ที่มา : บีบีซีนิวส์/รอยเตอร์ )