ครอบครัวของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งไปรวมตัวกันอยู่ที่แคมป์เดวิด สนับสนุนให้ผู้นำเฒ่าลุยศึกเลือกตั้งต่อ ถึงแม้ผลงานในการดีเบตครั้งแรกกับทรัมป์ออกมาย่ำแย่หนัก ขณะที่สมาชิกครอบครัวบางคนตำหนิว่า สตาฟฟ์ทีมหาเสียงน่าจะเตรียมความพร้อมให้ไบเดนได้ดีกว่านี้
ประธานาธิบดีไบเดน ใช้เวลาในวันอาทิตย์ (30 มิ.ย.) ที่ผ่านมา กับ จิลล์ ภรรยา และลูกๆ หลานๆ ที่แคมป์เดวิด รัฐแมริแลนด์ สถานที่พักผ่อนสำหรับประมุขสหรัฐฯในย่านชนบทใกล้ๆ กรุงวอชิงตัน โดยเป็นไปตามแผนการที่กำหนดเอาไว้ก่อนแล้ว เพื่อจะได้ให้ แอนนี่ ไลโบวิตซ์ ช่างภาพชื่อดังชาวอเมริกันถ่ายภาพ สำหรับใช้ในการประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตที่จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้
แต่การรวมตัวกันครั้งนี้ได้กลายเป็นที่พูดคุยหารือของครอบครัว ในความพยายามที่จะหาวิธีผ่อนคลายความกังวลในพรรคเดโมแครต ซึ่งปะทุพุ่งพล่านขึ้นมาจากการดีเบตระหว่างไบเดน กับ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แคนดิเดตจากพรรครีพับลิกัน เมื่อคืนวันพฤหัสฯ (27 มิ.ย.) โดยไบเดนถูกมองว่าทำผลงานได้ย่ำแย่ ถึงขั้นสื่อทรงอิทธิพลที่ถือหางไบเดนอย่างนิวยอร์กไทมส์ ตลอดจนพวกผู้บริจาคเงินให้เดโมแครตใช้หาเสียงรายใหญ่ๆ เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ ไบเดน ถอนตัว และหาตัวแทนพรรคคนใหม่มาสู้กับทรัมป์แทนที่เขา
ทั้งนี้ ขณะที่ครอบครัวของเขาตระหนักดีว่าไบเดนทำผลงานได้เลวร้ายแค่ไหน แต่พวกเขาก็ยังคงคิดว่าเขาเป็นตัวเลือกดีที่สุดที่จะสามารถเอาชนะทรัมป์ได้ ตลอดจนสามารถที่จะทำงานในฐานะประธานาธิบดีต่อไปได้อีก 4 ปี ทั้งนี้ตามปากคำของผู้คนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับสาธารณชนเกี่ยวกับการหารือกันภายใน และเล่าให้สำนักข่าวเอพีฟังด้วยเงื่อนไขว่าขอให้สงวนนาม
ผู้คนเหล่านี้เผยว่า ในหมู่คนที่พูดหนุนให้เขาสู้ต่ออย่างแข็งขันที่สุดก็รวมถึง จิลล์ ไบเดน และ ฮันเตอร์ บุตรชายคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ของไบเดน โดยทั้งคู่คือคนที่ประธานาธิบดีผู้นี้ชอบไปปรึกษาหารือด้วยมานานแล้ว ทั้งคู่ต่างเชื่อว่าไบเดนไม่ควรถอนตัวเมื่ออยู่ในสภาพตกต่ำเช่นนี้รวมทั้งเชื่อว่า เขาจะกลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง ครอบครัวไบเดนยังแสดงความข้องใจว่า สตาฟฟ์ทีมหาเสียงช่วยไบเดนเตรียมตัวสำหรับการดีเบตกันอย่างไร และตำหนิว่าทีมงานน่าจะทำได้ดีกว่านี้
ในอีกด้านหนึ่ง นับจากคืนวันพฤหัสฯ ที่ไบเดนโต้วาทีด้วยเสียงแหบแห้ง เบาหวิว อ่อนระโหย และหลายครั้งตอบคำถามอย่างตะกุกตะกักและวกวน ทีมหาเสียงของประธานาธิบดี ได้พยายามขบคิดหาวิธีโน้มน้าวไม่ให้พวกผู้บริจาคและพวกที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคจากตอนเลือกตั้งไพรมารีตามรัฐต่างๆ ก่อนหน้านี้ ถอนการสนับสนุน เขา ขณะที่คอมเมนเตเตอร์ที่เชียร์ไบเดน ตลอดจนผู้ช่วยเหลือการระดมทุนหาเสียงของพรรคเดโมแครตจำนวนมาก แสดงความไม่แน่ใจกันขึ้นว่า ไบเดนควรสู้ต่อไปหรือไม่
โพลจากซีบีเอสภายหลังการโต้วาทีพบว่า จำนวนสมาชิกเดโมแครตที่เชื่อว่า ไบเดนควรถอนตัวเพิ่มขึ้นจาก 36% ในเดือนกุมภาพันธ์ มาเป็น 46%
ตามกระบวนการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ขั้นตอนต่อจากนี้ไปคือการประชุมใหญ่ของพรรค ซึ่งทางพรรคเดโมแครตกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 สิงหาคมที่เมืองชิคาโก ซึ่งพวกตัวแทนที่ได้รับเลือกจากผลการเลือกตั้งไพรมารีตามรัฐต่างๆ จะมาประชุมลงมติอย่างเป็นทางการว่าจะเสนอชื่อใครเป็นผู้สมัครของพรรคเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีตอนต้นเดือนพฤศจิกายนนี้
ตัวแทนเหล่านี้แทบทั้งหมดมีข้อผูกพันจากผลไพรมารีที่จะต้องเลือกไบเดนอยู่แล้ว ดังนั้นหากไบเดนจะถอนตัว ก็ควรต้องตัดสินใจก่อนการประชุมใหญ่พรรค ซึ่งจะทำให้พวกตัวแทนเหล่านี้สามารถหันไปสนับสนุนคนอื่นๆ ขึ้นเป็นผู้สมัครของพรรคแทนเขา รวมทั้งชาวพรรคเดโมแครตที่ต้องการลงแข่งขันกับทรัมป์แทนเขาก็จะได้มีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น
ในวันอาทิตย์ (30 มิ.ย.) บรรดาสมาชิกแถวหน้าของเดโมแครต ยังคงพากันออกมาแสดงการสนับสนุนไบเดน อาทิ ส.ว.ราฟาเอล วอร์น็อก จากรัฐจอร์เจีย หนึ่งในชาวเดโมเครตหลายๆ คนที่ได้รับการพิจารณาว่าอาจเข้าแทนที่ไบเดนได้, ส.ว.คริส คูนส์ จากรัฐเดลาแวร์ ที่เป็นผู้รณรงค์หาเสียงแทนตัวไบเดนซึ่งได้รับความนิยมสูง, และ ส.ส.ฮาคีม เจฟฟรีส์ ผู้นำ ส.ส.เดโมแครตในสภาล่าง ต่างมาออกรายการทอล์คโชว์ทางทีวีอเมริกันช่องต่างๆ ประจำวันอาทิตย์ โดยต่างยืนยันว่าถึงแม้พลาดพลั้งไปบ้าง แต่ไบเดนควรจะอยู่สู้ต่อไป และยังจะสามารถเอาชนะทรัมป์ได้
อย่างไรก็ดี สมาชิกเดโมแครตบางคนกังวลว่า ทีมหาเสียงของไบเดนและคณะกรรมการพรรคเดโมแครตแห่งชาติ (ดีเอ็นซี) ไม่ได้พิจารณาผลกระทบจากการดีเบตอย่างจริงจังเพียงพอ
ทอม ฮาร์กิน อดีตวุฒิสมาชิกจากรัฐไอโอวาที่เคยร่วมงานกับไบเดนในสภาสูงนานกว่าสองทศวรรษ วิจารณ์ว่า การโต้วาทีที่ผ่านมาเป็น “หายนะที่ฝังไบเดนจมดิน” พร้อมเรียกร้องวุฒิสมาชิกเดโมแครตทำจดหมายเรียกร้องให้ไบเดนถอนตัวเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกแคนดิเดตใหม่ในการประชุมใหญ่พรรค และย้ำว่า นี่เป็นช่วงเวลาอันมีค่าและสำคัญกว่าอัตตาหรือความปรารถนาของไบเดนในการครองทำเนียบขาวต่ออีกสมัย
เจมี ราสกิน สส.จากรัฐแมริแลนด์ สำทับว่า มีการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา จริงจัง และเข้มข้นที่สุดในทุกระดับของพรรคว่า ควรทำอย่างไรต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อบ่ายวันเสาร์ (29 มิ.ย.) เจมี แฮร์ริสัน ประธานดีเอ็นซี และจูลี ชาเวซ โรดริเกซ ผู้จัดการทีมหาเสียงของไบเดน โทรศัพท์หาพวกสมาชิกดีเอ็นซี ซึ่งถือเป็นกลุ่มสมาชิกผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในพรรคหลายสิบคนทั่วประเทศ โดยพูดให้ภาพการประเมินเส้นทางข้างหน้าที่สวยงามราบรื่น และโดยไม่เปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยใดๆ
สมาชิกดัเอ็มซีหลายคนที่ได้รับสายบอกว่า รู้สึกเหมือนถูกขอให้ปิดหูปิดตาไม่รับรู้สถานการณ์ร้ายแรง และบางคนอย่างโจ ซาลาซาร์ สมาชิกดีเอ็นซีจากรัฐโคโรลาโด บอกว่า เหมือนถูกปั่นหัวให้เข้าใจผิดๆ
(ที่มา: เอพี, เอเอฟพี, เอเจนซีส์)