วอชิงตันยอมรับขีปนาวุธทางยุทธวิธีระยะทำการไกล อะแทคซิมส์ (ATACMS) อาจไม่มีประสิทธิภาพที่จะทำลายเครื่องบินของรัสเซีย สอดคล้องกับที่ปูตินเคยปรามาสไว้ว่า จรวดรุ่นนี้ไม่ใช่ตัวเปลี่ยนเกมในสนามรบ แต่กลับจะทำให้ยูเครนทุกข์ทรมานนานขึ้น
เว็บไซต์ข่าวอาร์ที ของทางการรัสเซียรายงานว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หลายคนตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของขีปนาวุธพิสัยไกล ATACMS ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตกลงมอบให้ยูเครนอย่างไม่ค่อยมั่นใจนักเมื่อเร็วๆ นี้ โดยระบุว่า ขีปนาวุธดังกล่าวอาจไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในการต่อสู้ระหว่างเคียฟกับกองกำลังรัสเซีย
ไบเดนตกลงจัดส่งระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพบก หรือ ATACMS ให้ยูเครนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังจากก่อนหน้านั้นระงับไว้เพราะกังวลว่า อาจทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งลุกลาม ด้วยการทำให้เคียฟสามารถโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย
ทว่า นิวยอร์กไทมส์ฉบับวันอังคาร (7 พ.ย.) รายงานโดยอ้างอิงการเปิดเผยของผู้ช่วยของไบเดนที่ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อว่า ตอนนี้วอชิงตันเปลี่ยนมาเป็นกลัวว่า ATACMS จะไม่สามารถสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจน เนื่องจากรัสเซียได้เรียนรู้วิธีจอดเครื่องบินให้พ้นจากรัศมีการโจมตีของอาวุธนี้
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เฝ้าโน้มน้าวอเมริกามาแรมเดือนเพื่อให้ส่งมอบ ATACMS ให้ โดยระบุว่า ขีปนาวุธนี้มีความสำคัญในการโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย และยังอ้างว่า ได้ใช้ ATACMS ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ในการโจมตีสนามบินของรัสเซียที่ตั้งอยู่ในเขตยึดครองทางภาคใต้และภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพ
รายงานระบุว่า ขีปนาวุธที่อเมริกาส่งให้ยูเครนเป็นเวอร์ชันที่มีรัศมีการโจมตีราว 160 กม. ไม่ใช่เวอร์ชันที่มีรัศมีการโจมตีไกลที่สุดคือ 305 กม.
ทางด้านรัสเซียอ้างว่า สามารถสกัดขีปนาวุธ ATACMS สองลูกเมื่อปลายเดือนที่แล้วที่ยูเครนพุ่งเป้าโจมตีสนามบินของรัสเซีย
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เยาะว่า ATACMS รังแต่ทำให้ความทุกข์ทรมานในยูเครนยาวนานขึ้น แต่ไม่ใช่ตัวเปลี่ยนเกมในสนามรบ และสำทับว่า รัสเซียสามารถสกัดขีปนาวุธนี้ได้อย่างแน่นอน
นิวยอร์กไทมส์ยังรายงานว่า ไบเดนกำลังเผชิญข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและระหว่างอิสราเอลกับฮามาส
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยิ่งถูกกดดันมากขึ้น หลังจากสัปดาห์ที่แล้ว พล.อ.วาเลรี ซาลุจนี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของยูเครน ยอมรับว่า ไม่คาดหวังว่า เคียฟจะมีความคืบหน้าสำคัญในสนามรบ ขณะที่ผู้ช่วยหลายคนของไบเดนเห็นด้วยว่า สงครามยูเครนมาถึงทางตัน แต่ก็กลัวว่า การแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาของซาลุจนีอาจทำให้ความพยายามในการโน้มน้าวสมาชิกรัฐสภาพรรครีพับลิกันให้โหวตสนับสนุนงบประมาณก้อนใหญ่สนับสนุนสงครามยูเครนยากยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ในคณะบริหารของไบเดนยังกังวลว่า ความคิดเห็นดังกล่าวอาจทำให้ปูตินตัดสินใจปักหลักรบต่อและรอให้อเมริกาถอนการสนับสนุนยูเครน หากโดนัลด์ ทรัมป์ หรือผู้สมัครคนอื่นๆ ของรีพับลิกันชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลายปีหน้า
(ที่มา : อาร์ที, นิวยอร์กไทมส์)