xs
xsm
sm
md
lg

‘ปูติน’ตั้งเงื่อนไขโหดให้‘เคียฟ-ตะวันตก’ทำก่อนมาเจรจาสันติภาพกัน อีกทั้งส่งสัญญาณทัพรัสเซียอาจลุยลึกถึง‘ภาคตะวันตกยูเครน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร


ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน กล่าวปราศรัยระหว่างการประชุมร่วมกับพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ในกรุงมอสโก เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา
Russia’s post-war dilemmas in Ukraine
BY M. K. BHADRAKUMAR
18/06/2024

ดมิตริ เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซีย ออกมา “อธิบายเพิ่มเติม” คำปราศรัยของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยชี้ว่าผู้นำเครมลินยืนยันว่า ดินแดนใหม่ๆ ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียไปแล้วตั้งแต่ปี 2022 จะยังคงเป็นของรัสเซียไปตลอดกาล, ระบอบปกครองเคียฟกำลังจะประสบความหายนะ, เขตพื้นที่กันชนที่รัสเซียจะสร้างขึ้นตรงพรมแดนด้านตะวันตกของตน อาจมีการขยายไปจนถึงบริเวณที่พรมแดนของยูเครนติดต่อกับโปแลนด์, และหากประชาชนในภาคตะวันตกยูเครนปรารถนา ดินแดนนี้ก็สามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียได้

ในเรื่องที่เกี่ยวกับสงครามในยูเครน ความท้าทายสำคัญที่สุดของรัสเซียในเวลาก้าวไปข้างหน้า คือต้องค้นหาความสมดุลระหว่างการประมาณการเกินเลยไปในทางยุทธศาสตร์ (strategic overestimation) กับการประมาณการต่ำเกินไปในทางยุทธศาสตร์ (strategic underestimation) อย่างที่ บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) พูดเอาไว้นั่นแหละ “เราชอบประมาณการเกินเลยไปอยู่เสมอ เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระยะสองปีข้างหน้า และประมาณการต่ำเกินไปอยู่เรื่อย เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีต่อไป

น้ำเสียงในแบบผู้มีชัย เป็นสิ่งที่รู้สึกได้อย่างไม่ผิดพลาดในคำปราศรัยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน [1] ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน พูดกับที่ประชุมพิเศษของพวกเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียระดับอาวุโสในกรุงมอสโก โดยเขานำเสนอเงื่อนไขต่างๆ ที่เตรียมเอาไว้สำหรับการเจรจากับยูเครน รัสเซียนั้นเป็นประเทศหนึ่งที่มีวัฒนธรรมแบบอิงอาศัยบริบทอย่างสูง (high-context culture) ซี่งการติดต่อสื่อสารกันจะอยู่ในหนทางวิธีการชนิดเป็นนัยๆ ไม่ได้ชัดเจนตรงไปตรงมา และพึ่งพาอย่างมากกับการที่ต้องพิจารณาบริบทแวดล้อมประกอบ

ในการปราศรัยครั้งนี้ ปูตินได้เน้นย้ำเงื่อนไขบางอย่างบางประการที่จะต้องเกิดขึ้นมาก่อน (pre-conditions) จึงจะสามารถเจรจาสันติภาพกับยูเครนได้ กล่าวคือ รัสเซียพร้อมที่จะยุติความเป็นปรปักษ์ในทันที ถ้ายูเครนเริ่มถอนหน่วยทหารของพวกเขาออกห่างจากเส้นเขตแดนบริหารของภูมิภาคดอนบาสส์ (ดอนบาสส์ ประกอบด้วยแคว้นโดเนตสก์ และแคว้นลูฮันสก์), แคว้นซาโปริซเซีย, และแคว้นเคียร์ซอน นี่คือการหวนกลับมาอีกครั้งอย่างแปลกประหลาดของเงื่อนไขที่ต้องเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งฝ่ายมอสโกได้ปฏิบัติตามเสร็จสรรพแล้วอย่างครบถ้วนเมื่อเดือนมีนาคม 2022 ตอนที่มีการดำเนินการตามผลการเจรจากันในนครอิสตันบุล แล้วฝ่ายยูเครนคาดหวังว่ารัสเซียจะต้องถอนทหารที่ฝ่ายตนจัดส่งออกไปอยู่รอบๆ กรุงเคียฟในเวลานั้น

เจ็บแล้วก็ต้องจำ –เงื่อนไขที่จะต้องทำให้ได้ก่อน ซึ่งปูตินประกาศออกมาครั้งนี้บ่งบอกให้เห็นว่า ความเป็นจริงใหม่ทางด้านดินแดน คือสิ่งที่สมควรที่จะต้องยอมรับกันให้แน่นอนลงไป ด้วยการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศมารองรับ อีกข้อหนึ่งของเงื่อนไขที่จะต้องทำให้ได้ก่อน คือ มอสโกพร้อมที่จะเจรจาด้วยก็ต้องหลังจากเคียฟแจ้งให้นาโต้ทราบอย่างเป็นทางการว่าตนเองกำลังละทิ้งเจตนารมณ์ที่จะขอเข้าเป็นสมาชิกขององค์การพันธมิตรทางทหารที่นำโดยสหรัฐฯแห่งนั้น นอกจากนี้แล้ว รัสเซียยังคาดหมายว่าฝ่ายตะวันตกจะต้องยกเลิกมาตรการแซงก์ชั่นทั้งหลายให้หมดสิ้นด้วย

จากที่กล่าวมานี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ข้อกำหนดสำหรับการก้าวไปสู่สันติภาพของรัสเซียนี้ อย่างน้อยที่สุดส่วนหนึ่งก็ยึดโยงอยู่กับเงื่อนไขที่จะต้องทำให้ได้ก่อนหลายอย่างหลายประการ ซึ่งบางอย่างย่อมเห็นกันอยู่แล้วว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่ยูเครนตลอดจนผู้อุปถัมภ์ของพวกเขาจะสามารถเติมเต็มให้ครบถ้วนได้ ดังนั้น จึงเป็นสิ่งที่สามารถสันนิษฐานได้ว่า ถ้ากองทหารรัสเซียยังคงสามารถเก็บดอกผลได้เพิ่มมากขึ้นอีกในสมรภูมิ ก็จะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขเพื่อไปสู่สันติภาพเพิ่มเติมที่ลำบากโหดๆ ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีก เวลาเดียวกันนั้น นี่ก็คือการที่มอสโกส่งสัญญาณไปถึงพวกศัตรูชาวตะวันตกของตนว่า เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องมีการกำหนดจัดวางเส้นแนวพรมแดนระหว่างรัสเซียกับยูเครนกันใหม่ครั้งใหญ่โตมโหฬาร เพื่อใช้เป็นพื้นฐานสำหรับสันติภาพที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต

ไม่น่าประหลาดใจอะไรที่พวกมหาอำนาจตะวันตกมองเงื่อนไขเพื่อสันติภาพของปูตินว่าเป็นการยื่นคำขาดกันมากกว่า ถึงแม้วงการทูตของฝ่ายรัสเซียโฆษณาป่าวร้องว่ามันเป็นแผนการริเริ่มเพื่อสันติภาพครั้งสำคัญ ทั้งนี้พึงสังเกตด้วยว่าการออกมาพูดครั้งนี้ของ ปูติน มีการพิจารณาวางจังหวะเวลากันเอาไว้อย่างเหมาะเหม็งระมัดระวัง นั่นคือ เป็นช่วงที่การประชุมซัมมิตผู้นำ จี7 ณ รีสอร์ต บอร์โก เอกนาเซีย (Borgo Egnazia)ในภาคใต้ของอิตาลีกำลังสิ้นสุดลง ขณะเดียวกันก็อยู่ในช่วงวันสุกดิบก่อนหน้า “การประชุมสันติภาพ” ที่อุปถัมภ์โดยฝ่ายตะวันตก จะเปิดขึ้นใน รีสอร์ตเบอร์เกนสต็อก (Bürgenstock) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ [2]

เพียวตะระ ตอลสตอย (Pyotr Tolstoy) นักการเมืองทรงอิทธิพล ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานของสภาดูมา (สภาล่างของรัฐสภารัสเซีย) มาตั้งแต่ปี 2016 รวมทั้งเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของครอบครัวชาวรัสเซียซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีเป็นอย่างยิ่ง (เขาเป็น ลื่อ หรือก็คือ ลูกของเหลน ของ นักประพันธ์นามอุโฆษ ลีโอ ตอลสตอย) ออกมาพยากรณ์โรคเอาไว้ว่า กว่ารัสเซียจะออกมาเรียกร้องอะไรกันในครั้งต่อไป ก็มีแต่เพื่อให้กองทัพยูเครนยอมแพ้เท่านั้น

อารมณ์ความรู้สึกในมอสโกเวลานี้กำลังเป็นปรปักษ์กับฝ่ายตะวันตกรุนแรงขึ้นทุกที สืบเนื่องจากสหภาพยุโรป ซึ่งได้รับการกระตุ้นยุยงอย่างไม่ขาดสายจากวอชิงตัน กำลังเคลื่อนไหวในลักษณะที่ไม่อาจหยุดยั้งได้แล้ว เพื่อเข้ายึดพวกทรัพย์สินของรัสเซียซึ่งถูกอายัดเอาไว้ในแบงก์ต่างๆ ของฝ่ายตะวันตก –โดยเสแสร้งบังหน้าว่าเพื่อนำมาใช้จ่ายสนองความต้องการต่างๆ ของยูเครน ทว่าในความเป็นจริงแล้วมุ่งที่เอาไปช่วยจุนเจือรายจ่ายจำนวนมหึมาซึ่งวอชิงตันกำลังสร้างขึ้นจากการทำสงครามตัวแทนของพวกเขาในยูเครน

แถลงการณ์ภายหลังการประชุมซัมมิตของกลุ่ม จี7 ที่ภาคใต้อิตาลีคราวนี้ [3] เน้นย้ำว่า “โดยที่มีประธานาธิบดีเซเลนสกีปรากฏตัวอยู่ในที่ประชุมนี้ด้วย พวกเราตัดสินใจให้ดำเนินการเพื่อให้ได้เงินสำหรับใช้จ่ายได้จำนวนประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยวิธีการกู้ยืมโดยอาศัยเงินรายรับเพิ่มเติมพิเศษของพวกสินทรัพย์ภาครัฐรัสเซียที่อยู่ในสภาพไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เรื่องนี้ถือเป็นการส่งสัญญาณที่แน่นอนชัดแจ้งอย่างหนึ่งไปยังประธานาธิบดีปูติน พวกเรากำลังยกระดับความพยายามร่วมกันของพวกเราในการปลดอาวุธรัสเซีย และในการตัดเงินทุนสนับสนุนที่ให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมทหารของรัสเซีย”

การอวดอ้างเกี่ยวกับการคิดประดิษฐ์จัดวางวิธีการเช่นนี้ขึ้นมาของกลุ่ม จี7 นั้น เป็นเพียงการโกหกอำพรางกันเท่านั้นเอง สิ่งที่กำลังคลี่คลายเปิดเผยให้เห็นกันจริงๆ คือ แผนการอุบายร้ายทางการเงินระดับใหญ่โตแห่งศตวรรษแผนการหนึ่ง และการโจรกรรมเงินทองรายใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง การปล้นชิงของพวกโจรผู้ร้ายสมัยใหม่ครั้งนี้แท้ที่จริงแล้วคือการเข้าไปฉวยคว้าสินทรัพย์ภาครัฐมูลค่าราวๆ 260,000 ล้านดอลลาร์ของรัสเซีย และใช้เล่ห์กลทำให้มันมีสีสันของการถ่ายโอนกันอย่างถูกกฎหมาย ด้วยการกำหนดเงื่อนไขใช้มันในกระบวนการซึ่งถือว่ามันเป็นหลักประกันทางการเงินอย่างหนึ่งรองรับเงินกู้ที่อเมริกันปล่อยให้แก่ยูเครน การกระทำเช่นนี้คือการละเมิดกฎหมายด้านการเงินระหว่างประเทศอย่างโจ๋งครึ่ม ขณะที่เงินกู้ดังกล่าวในท้ายที่สุดก็จะไหลเข้าสู่กระเป๋าของอุตสาหกรรมการทหารสหรัฐฯ และพวกนักการเมืองอเมริกัน

สามารถกล่าวได้ว่า วอชิงตันกำลังทำให้สงครามตัวแทนของตนในยูเครน กลายเป็นการประกอบกิจการที่มีการกำหนดต้นทุนลงบัญชีกันอย่างชัดเจน อีกทั้งมีการหาเงินกู้เข้ามาได้ด้วยตนเอง โดยที่มีพวกยุโรปทำตัวเป็นผู้ค้ำประกัน ด้วยการกระทำเช่นนี้ วอชิงตันก็กำลังสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ให้แก่เกียรติยศและความภาคภูมิใจแห่งชาติของรัสเซีย คำถามสำคัญจึงมีอยู่ว่า รัสเซียจะทำอย่างไรต่อจากนี้ไป เมื่อพิจารณาถึง “วัฒนธรรมแบบอิงอาศัยบริบทอย่างสูง” ของพวกเขา?

ในคำปราศรัยของปูตินเมื่อวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายนที่อ้างอิงไว้ข้างต้น สิ่งหนึ่งซึ่งถูกละไว้อย่างเป็นนัยๆ และไม่ค่อยมีใครสังเกตพบเห็นกัน ได้แก่การที่เขากล่าวเท้าความทบทวนอย่างยาวเหยียดเกี่ยวกับการที่ฝ่ายตะวันตกได้เคยทรยศหักหลังรัสเซียอย่างไรบ้าง แล้วก็ปล่อยทิ้งค้างเอาไว้อย่างนั้น โดยไม่มีการตั้งข้อสังเกตต่อไปว่าแล้วรัสเซียก้าวไปเจอเรื่องน่าเศร้าเสียใจเหล่านี้กันอย่างไรตลอดประวัติศาสตร์ของตนเอง

ถ้าหากการยินยอมอย่างเต็มอกเต็มใจของรัสเซีย ต่อการถูกหยามหมิ่นระดับชาติอย่างแรงครั้งแล้วครั้งเล่า ราวกับถูกหิมะกลิ้งตัวลงจากภูเขาเข้าถล่มกดทับไม่ขาดสายเช่นนี้ มีเหตุผลเพียงแค่เนื่องจากความอ่อนแอของรัสเซียแล้ว แน่นอนทีเดียวว่านั่นเป็นเรื่องของอดีตสมัยเท่านั้น รัสเซียทุกวันนี้สามารถยืนผงาดในฐานะเป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลก, เป็นมหาอำนาจทางทหารที่เกรียงไกรรายหนึ่ง, และเป็นมหาอำนาจรายเดียวบนพื้นพิภพนี้ที่มีศักยภาพทางยุทธศาสตร์ซึ่งสามารถทำให้สหรัฐฯกลายเป็นเศษขี้เถ้าเทอร์โมนิวเคลียร์ได้ กระนั้นก็ตามที พวกบุคคลชั้นบริวารอย่างเช่น เลขาธิการองค์การนาโต้ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) กลับกำลังออกมาข่มขู่รัสเซียว่า ตัวเขาคือหัวหน้าของ “กลุ่มพันธมิตรอาวุธนิวเคลียร์” กลุ่มหนึ่ง

ตรงนี้เองที่ทำให้จำเป็นต้องทำความเข้าใจให้ดี เกี่ยวกับคำชี้แจงอธิบายเพิ่มเติมคำปราศรัยของปูตินครั้งนี้ ของรองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซีย ดมิตริ เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) ทั้งนี้ เมดเวเดฟย้ำเอาไว้ว่าเขาขอพูดขยายความถึง “สิ่งที่เขา (ปูติน) บอกเอาไว้เป็นนัยๆ อย่างระมัดระวังในคำปราศรัยของเขา”

เมดเวเฟดชี้จุดสำคัญออกมาให้เห็น 4 จุดด้วยกัน นั่นคือ
**ดินแดนใหม่ๆ ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียไปแล้วตั้งแต่ปี 2022 จะ “ยังคงเป็นของรัสเซียไปตลอดกาล”
**กำลังมีการพัฒนา “ฉากทัศน์ของความวิบัติหายนะ” ให้แก่ระบอบปกครองเคียฟ
**เขตพื้นที่เพื่อสุขอนามัยที่รัสเซียจะสร้างขึ้นมาตรงบริเวณพรมแดนด้านตะวันตกของตนเพื่อป้องกันไม่ให้พวกผู้ก่อการร้ายเข้ามาโจมตีนั้น อาจจะถูกขยายออกไปจนถึงบริเวณพรมแดนของยูเครนที่ติดต่อกับโปแลนด์ ซึ่งกำลังกลายเป็นที่มั่นเตรียมการสำหรับการคุกคามที่นาโต้จะใช้เล่นงานโจมตีรัสเซีย
**“ท่านประธานาธิบดี (ปูติน) ไม่ได้พูดถึงสิ่งนี้ (ชะตากรรมในอนาคตของดินแดนภาคตะวันตกของยูเครน) โดยตรง แต่มันเป็นที่ชัดเจนว่า ดินแดนดังกล่าวนี้ ถ้าหากเป็นความปรารถนาของประชาชนที่กำลังพำนักอาศัยอยู่ที่นั่นแล้ว ก็สามารถที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียได้”

แน่นอนที่สุดว่า มันไม่ใช่ความบังเอิญหรอกที่ ปูติน ลงจากเครื่องบินในกรุงเปียงยางตอนเช้าวันที่ 18 มิถุนายนนี้ เพื่อเยือนเกาหลีเหนือ หรือเรื่องที่กองเรือภาคแปซิฟิกของรัสเซีย เปิดการฝึกทางนาวีขนาดใหญ่ [4] ตั้งแต่วันที่ 18 จนถึง 28 มิถุนายนในมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณทะเลญี่ปุ่น (sea of Japan) กับทะเลโอคอตสก์ (Okhotsk)

ในบริบทของการไปเยือนเกาหลีเหนืออย่างเป็นรัฐพิธีของเขาคราวนี้ ปูติน ได้เขียน [5] เอาไว้ในบทความซึ่งส่งไปตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์โรดง ซินมุน (Rodong Sinmun) ของเกาหลีเหนือว่า “เรามีความซาบซึ้งใจเป็นอย่างสูงสำหรับการที่ สปปก. (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี --ชื่อทางการของเกาหลีเหนือ) ให้ความสนับสนุนอย่างแน่วแน่มั่นคงแก่การปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียในยูเครน ... เราจะ ...ร่วมกันคัดค้านการใช้มาตรการจำกัดกีดกันตามอำเภอใจฝ่ายเดียวอย่างผิดกฎหมาย (นี่ย่อมหมายถึงการใช้มาตรการแซงก์ชั่นของฝ่ายตะวันตกนั่นเอง) และทำให้สถาปัตยกรรมแห่งความมั่นคงปลอดภัยชนิดที่มีความเท่าเทียมและปราศจากการแบ่งแยกเกิดขึ้นมาในยูเรเชีย”

อีกประการหนึ่ง ถ้าหากเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ชาติหนึ่ง ได้รับการบรรจุเอาไว้ในวงกลมวงแรกของการคาดคำนวณทางยุทธศาสตร์ของรัสเซีย [6] ในฐานะที่เป็นพันธมิตรรายหนึ่งแล้ว อิหร่านก็สามารถที่จะถูกบรรจุอยู่ในฐานะเช่นนี้ด้วยได้หรือไม่ โดยที่อิหร่านนั้นคือประเทศที่อยู่ไม่ไกลเลยจากธรณีประตูของความเป็นประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ –และจุดที่สำคัญมากก็คือ สิ่งเหล่านี้อาจสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมาได้บ้าง? แท้ที่จริง รัสเซียได้ออกมาเตือนเมื่อไม่นานมานี้ว่า ตนจะใช้วิธีตอบโต้แบบอสมมาตร ต่อการที่ดินแดนของตนถูกโจมตีด้วยพวกอาวุธฝ่ายตะวันตก อีกทั้งเป็นที่กล่าวหากันว่าพวกบุคลากรของนาโต้ได้เข้าช่วยเหลือการโจมตีเหล่านั้นด้วย—อันเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏตัวอย่างมาก่อนเลย แม้กระทั่งในช่วงที่เกิดการประจันหน้ากันอย่างดุเดือดของยุคสงครามเย็น— แถมตัวเลขาธิการขององค์การนาโต้ยังออกมาส่งเสียงเอะอะโวยวายอย่างเปิดเผยว่าสนับสนุนการโจมตีเช่นนี้ด้วย

ในหนังสือของ สโตรบ ทัลบอตต์ (Strobe Talbott) เรื่อง “The Russia Hand ” (ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2002) เขาเล่าเรื่องที่เคยเป็นผู้ติดตามอยู่ข้างๆ บิลล์ คลินตัน ระหว่างที่ คลินตัน ซึ่งเวลานั้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนกรุงมอสโกในปี 1995 คลินตัน บอกกับ ทัลบอตต์ โดยใช้ถ้อยคำภาษาเปรียบเทียบแบบที่เขาชอบพูด ว่าตามสัญชาตญาณของเขานั้น พวกชนชั้นนำรัสเซียกำลังอยู่ในอาการโกรธขึ้งบึ้งตึง และไม่สามารถกลืนกิน “ขี้” ที่กำลังถูกยัดเยียดใส่ปากของพวกเขาเพิ่มเติมยิ่งกว่านี้แล้ว โดยที่ในทางเป็นจริงนั้น แผนการมุ่งขยายองค์การนาโต้ไปทางตะวันออก (ซึ่งก็คือไปยังพวกประเทศที่เคยเป็นชาติพันธมิตรของอดีตสหภาพโซเวียต หรือกระทั่งเคยเป็นสาธารณรัฐอยู่ในอดีตสหภาพโซเวียต -ผู้แปล) กำลังเป็นรูปเป็นร่างอยู่บนกระดานวางแผนในทำเนียบขาวเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ตอนนั้น
(สโตรบ ทัลบอตต์ Strobe Talbott เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งขึ้นชื่อว่ามีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับรัสเซียเป็นพิเศษ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Strobe_Talbott)

อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังต้องใช้เวลาอีกหนึ่งเสี้ยวศตวรรษทีเดียว นั่นคือจนกระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 จึงได้ออกมาต้านทานการข่มเหงรังแกของสหรัฐฯซึ่งๆ หน้า แน่นอนอยู่แล้วว่า การออกมา “อธิบายประกอบ” อย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้ของ เมดเดเวฟ ย่อมไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้หรอก หากปราศจากการอนุมัติจากตัวปูตินเอง

ความท้าทายสำหรับช่วง 2 ปีข้างหน้าก็คือว่า รัสเซียอาจจะประมาณการเอาไว้สูงเกินไปเกี่ยวกับความเต็มอกเต็มใจของสหรัฐฯและอียู ที่จะยินยอมอ่อนข้อให้แก่การเรียกร้องอย่างถูกต้องชอบธรรมของมอสโกในเรื่องความมั่นคงที่มีความเท่าเทียมและไม่ถูกแบ่งแยก

ในอีกด้านหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องลู่ทางอนาคตของระยะเวลาที่ยาวนานไปกว่านั้น รัสเซียก็ไม่ควรประมาณการจนต่ำเกินไปเกี่ยวกับการดึงดันปฏิเสธอย่างดื้อรั้นของพวกมหาอำนาจที่กำลังเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ของยุโรป –หมายถึงสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, และเยอรมนี— ในเรื่องการยอมรับการผงาดขึ้นมาของรัสเซีย ในฐานะที่เป็นความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งอย่างไรเสียพวกเขาก็ต้านทานไม่ไหวและจะต้องหันมาคืนดีด้วย

นายกรัฐมนตรี วิกตอร์ ออร์บัน (Viktor Orhan) ของฮังการี พูดออกมาด้วยความถูกต้องแม่นยำทีเดียวในการประมาณการว่า มันจะเป็นความไร้เดียงสาโดยแท้จริง ถ้าหากขืนทึกทักเอาว่าคณะผู้นำชุดใหม่ของอียูจะผ่อนผันยินยอมโอนอ่อนพวกนโยบายที่มีต่อยูเครนและรัสเซียลงมา ภายหลังผลการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเมื่อเร็วๆ นี้ทำให้พวกพรรคฝ่ายขวาได้ก้าวขึ้นครองอำนาจ

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/russias-post-war-dilemmas-in-ukraine/

เชิงอรรถ

[1]http://en.kremlin.ru/events/president/news/74285
[2]https://www.pm.gc.ca/en/news/statements/2024/06/16/summit-peace-ukraine-joint-communique-peace-framework
[3] https://www.whitehouse.gov/briefing-room/statements-releases/2024/06/14/g7-leaders-statement-8/#:~:text=We%2C%20the%20Leaders%20of%20the,community%20confronts%20multiple%20interconnected%20crises.
[4] https://tass.com/defense/1804713
[5] https://tass.com/politics/1804703
[6] https://tass.com/politics/1804765
[7] https://tass.com/world/1804707
กำลังโหลดความคิดเห็น