(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Europe’s political earthquakes point to geopolitical shifts
By DIEGO FASSNACHT
10/06/2024
ผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป ซึ่งบรรดาผู้ออกเสียงปฏิเสธไม่เอาข้อเสนอของพวกพรรคกรีนที่ให้เร่งใช้นโยบายแก้ปัญหาภูมิอากาศด้วยความเชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ทางสังคมและทางเศรษฐกิจไปด้วยในตัว ตลอดจนไม่เอานโยบายสนับสนุนสงครามในยูเครน คือเครื่องบ่งชี้ให้เห็นถึงกระแสคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในการเมืองของยุโรป ซึ่งจะส่งผลไปถึงการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ทางภูมิรัฐศาสตร์ในวงกว้างออกไปไม่เฉพาะแต่ในทวีปนี้เท่านั้น
การเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กำลังส่งคลื่นช็อกแรงๆ ไปทั่วทั้งทวีป ขณะเผยให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนอย่างสำคัญๆ ในภูมิทัศน์ทางการเมือง ตลอดจนกำลังส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในพลวัตทางภูมิรัฐศาสตร์
ผลการเลือกตั้งที่ออกมากำลังสร้างความอลหม่านว้าวุ่นมากเป็นพิเศษให้แก่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และพวกพรรคกรีน (Green) ทั้งหลายทั่วทั้งยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมนี
การเลือกตั้งคราวนี้ได้รับการพิสูจน์ออกมาแล้วว่าสร้างความหายนะอย่างเป็นพิเศษสำหรับ มาครง และเหล่าพันธมิตรของเขา กลุ่มพันธมิตรพรรคการเมืองแนวทางฝักใฝ่นิยมยุโรปของมาครง ได้รับบาดเจ็บจากความปราชัยอันร้ายแรง โดยกำลังตามหลังห่างอย่างไกลลิบจากคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคเนชั่นแนล แรลลี (National Rally หรือ RN) ที่เป็นพวกขวาจัด นำโดย มารีน เลอ เปน (Marine Le Pen)
จากการที่ RN ครองเสียงโหวตเอาไว้ได้ถึง 31.5% เปรียบเทียบพรรคของ มาครง ซึ่งได้แค่ 15.2% ประธานาธิบดีฝรั่งเศสผู้นี้จึงรู้สึกถูกบีบบังคับให้ต้องยุบสมัชชาแห่งชาติ (National Assemblyหรือก็คือสภาล่างของประเทศ) และจัดให้มีการเลือกตั้งก่อนกำหนดในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ขณะที่รอบสอง เลือกตั้งกันวันที่ 7 กรกฎาคม ความเคลื่อนไหวเช่นนี้คือสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นว่าวิกฤตทางการเมืองในฝรั่งเศสเวลานี้มีความร้ายแรงล้ำลึกขนาดไหน และ มาครง อยู่ในฐานะที่ไม่มั่นคงเพียงใด
(หมายเหตุผู้แปล - เรื่องเลือกตั้งรอบสอง ตามระบบเลือกตั้งในฝรั่งเศส กรณีที่ในการเลือกตั้งรอบแรก ไม่มีผู้สมัครคนใดได้เสียงโหวตถึงกึ่งหนึ่งของผู้ใช้สิทธิ จะเอาผู้ได้ที่ 1 และที่ 2 ในรอบแรก มาแข่งขันเพื่อตัดสินชี้ขาดกันในรอบสอง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Two-round_system)
สำหรับในเยอรมนี พรรคกรีนส์ (Greens) คือพรรคที่ประสบความเพลี่ยงพล้ำอย่างสาหัส โดยกำลังสูญเสียส่วนสำคัญของฐานเสียงสนับสนุนก่อนหน้านี้ของพวกเขาไปส่วนหนึ่งทีเดียว พรรคนี้ที่ครั้งหนึ่งได้รับความนิยมจากการผลักดันอย่างแข็งขันให้ใช้พวกนโยบายเพื่อภูมิอากาศอันแข็งกร้าว และการให้ความสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครน ต้องพบว่าส่วนแบ่งคะแนนโหวตของตนได้ลดฮวบลงอย่างน่าใจหายเหลือเพียงแค่ 11.9% เท่านั้น จากที่เคยได้ 20.5% ในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปครั้งที่แล้ว
ความเสื่อมทรุดเช่นนี้ย้ำให้เห็นถึงการที่สาธารณชนมีความรู้สึกผิดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ กับข้อเสนอที่เรียกกันว่า “Green New Deal” ตลอดจน “วาระดาวอส” (Davos agenda) ในวงกว้างมากขึ้น โดยที่ผู้ออกเสียงจำนวนมากเวลานี้กำลังปฏิเสธไม่เอาด้วยกับนโยบายเหล่านี้
(ข้อเสนอ Green New Deal หมายถึงข้อเสนอทางนโยบายซึ่งอิงอยู่กับความเชื่อที่ว่าการเร่งใช้นโยบายแก้ปัญหาภูมิอากาศจะสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายทางสังคมและทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การสร้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไปได้ด้วย https://en.wikipedia.org/wiki/Green_New_Deal#:~:text=Green%20New%20Deal%20(GND)%20proposals,undertaken%20by%20President%20Franklin%20D.)
(วาระดาวอส หรือ Davos agenda หมายถึงวาระสำคัญๆ ของการประชุมประจำปีของ World Economic Forum ซึ่งจัดขึ้นที่ดาวอส, สวิตเซอร์แลนด์ในช่วงเดือนมกราคม)
แนวโน้มที่ปรากฏโดดเด่นชัดเจนประการหนึ่งในตลอดทั่วทั้งการเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นในทุกๆ ชาติสมาชิกอียูครั้งนี้ ก็คือ การตอบโต้สะท้อนกลับอย่างรุนแรงใส่พวกผู้นำที่กำลังสนับสนุนการเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันทางทหารในยูเครน มาครง ซึ่งเป็นคนหนึ่งในหมู่ผู้ผลักดันการจัดส่งอาวุธไปให้เคียฟอย่างแข็งขัน และกระทั่งเป็นผู้เสนอให้พิจารณาความเป็นไปได้ที่จะจัดส่งทหารเข้าไปในยูเครนด้วยซ้ำไป ต้องพบว่าตัวเขาเองตกอยู่ทางข้างฝ่ายที่กำลังปราชัย เมื่อพวกผู้ออกเสียงแสดงการคัดค้านมากขึ้นทุกทีกับการที่จะให้การสู้รบขัดแย้งกับรัสเซียนี้ดำเนินต่อไป
อารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้ก้องสะท้อนขึ้นมาไกลเกินกว่าฝรั่งเศสเสียอีก เมื่อผู้ออกเสียงชาวเยอรมนีก็หันหลังให้แก่พวกพรรคที่ผลักดันให้ใช้จุดยืนแข็งกร้าวต่อรัสเซียเช่นเดียวกัน
ผลการเลือกตั้งที่ออกมาในฝรั่งเศส ซึ่งกำลังจุดประกายให้เกิดการถกเถียงอภิปรายกันเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ก็กำลังแสดงบทบาทเช่นเดียวกันนี้ในเยอรมนี ด้วยการที่ทั้งพรรค AfD (ย่อมาจากAlternative for Germany พรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี) ที่เป็นพรรคฝ่ายขวา และพรรค BSW (Bündnis Sahra Wagenknecht) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้าย-ชาตินิยมที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ๆ ต่างกำลังเก็บกวาดดอกผลเข้ามาได้อย่างสำคัญ จึงกลายเป็นแรงบีบคั้นแรงกล้าขึ้นทุกทีต่อรัฐบาลเยอรมนี
ความสนับสนุนที่ AfD ได้รับอยู่ พุ่งพรวดขึ้นเป็น 15.9% ส่วน BSW ที่ลงเลือกตั้งใหญ่ครั้งแรกก็ได้เสียงโหวตมาอย่างน่าประทับใจ 6.1% ทั้ง 2 พรรคซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจากประดานโยบายมุ่งหน้าใฝ่หาสันติภาพของพวกเขา ต่างฉวยคว้าประโยชน์จากคะแนนนิยมที่กำลังเสื่อมทรุดลงของพรรคกรีนส์ และพรรคอื่นๆ ในแนวร่วมคณะรัฐบาลผสมชุดปัจจุบัน
แล้วเนื่องจากเยอรมนีกำลังจะจัดให้มีการเลือกตั้งระดับรัฐในภาคตะวันออกของประเทศ ซึ่ง AfD และ BSW ต่างมีฐานเสียงที่เข้มแข็งเป็นพิเศษอยู่แล้ว ดังนั้นลู่ทางโอกาสที่พรรคทั้งสองจะสามารถสร้างอิทธิพลบารมีเพิ่มมากขึ้นจึงถือว่ากว้างขวางใหญ่โตทีเดียว
หาก AfD สามารถทำคะแนนจากการเลือกตั้งที่รัฐแซกโซนี (Saxony) ในระดับใกล้เคียงกับเสียงโหวตที่พวกเขาได้รับจากการเลือกตั้งของยุโรปคราวนี้แล้ว พรรคนี้ก็จะกวาดที่นั่งสภานิติบัญญัติในรัฐดังกลาวได้ชนิดเกือบเป็นเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด และน่าจะได้จัดตั้งรัฐบาลของรัฐหนึ่งในสหพันธรัฐเยอรมนี ผลลัพธ์ซึ่งออกมาแบบนั้นมีหวังคุกคามเสถียรภาพคณะรัฐบาลผสมของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ จนเป็นไปได้ทีเดียวที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งในระดับชาติครั้งใหม่
ในทันทีที่ผลการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ (9 มิ.ย.) ปรากฏออกมาอย่างชัดเจน คาร์สเทน ลินเนมานน์ (Carsten Linnemann) เลขาธิการของพรรค CDU (Christian Democratic Union of Germany พรรคสหภาพประชาธิปไตยแห่งเยอรมนี พรรคแนวกลางขวา ซึ่งเป็นฝ่ายค้านหลักในแดนดอยช์เวลานี้) ได้เรียกร้องให้ ชอลซ์ ยินยอมยื่นญัตติต่อสภาเพื่อจัดให้มีการลงคะแนนไว้วางใจ ที่อาจนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ ถ้าเขาเกิดไม่ได้คะแนนไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสภา
การเรียกคะแนนโหวตได้อย่างสดสวยของ AfD และ BSW ซึ่งต่างกำลังผลักดันเรียกร้องให้ยุติการสู้รบขัดแย้งในยูเครนกันทั้งคู่ เป็นการบ่งชี้ถึงการปรับเปลี่ยนทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในระดับที่กว้างขวางกว่าเยอรมนีเสียอีก พรรคการเมืองเหล่านี้ ก็เฉกเช่นเดียวกับบุคคลอย่างอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ให้น้ำหนักกับการใช้วิถีทางการทูตเพื่อแก้ไขเรื่องยูเครน ยิ่งกว่าโซลูชั่นทางการทหาร
ถ้ากลุ่มพลังทางการเมืองเหล่านี้มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น ยุโรปก็อาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในแบบแผนวิธีการแก้ไขปัญหาการสู้รบขัดแย้งยูเครน ตลอดจนความสัมพันธ์กับรัสเซีย
ความคิดเห็นที่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) แสดงเอาไว้บนแพลตฟอร์ม X เมื่อเร็วๆ นี้ ก็เป็นการสะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเช่นนี้เหมือนกัน ทั้งนี้ มัสก์ ตั้งคำถามเกี่ยวกับการวาดภาพลักษณ์ในทางลบให้แก่พรรค AfD พร้อมกับชี้ด้วยว่านโยบายต่างๆ ของพวกเขาไม่ได้ดูเป็นนโยบายของพรรคสุดโต่งเลย คำพูดเช่นนี้ของเขาตอกย้ำให้เห็นถึงกระแสการประเมินค่าตราประทับทางการเมืองและการจับกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองกันใหม่ในแวดวงระดับกว้างขวางยิ่งขึ้น ถ้าหากพิจารณาจากมติมหาชนที่กำลังมีวิวัฒนาการค่อยๆ พัฒนาอย่างแตกต่างไปจากเดิม
การเลือกตั้งระดับรัฐที่กำลังจะมีขึ้นในเยอรมนีตะวันออก อาจทำให้แนวโน้มเหล่านี้ยิ่งหนักแน่นชัดเจนมากขึ้นไปอีก จากการที่ AfD กำลังเป็นพรรคนำหน้าในรัฐทางแถบนี้อยู่แล้ว ชัยชนะที่อาจเกิดขึ้นมาได้ของพวกเขา สามารถที่จะทำให้คณะรัฐบาลผสมชุดปัจจุบันพังครืน และเร่งรัดให้มีการเลือกตั้งระดับชาติรวดเร็วขึ้น ฉากทัศน์เช่นนี้น่าที่จะหนุนค้ำเพิ่มพูนอิทธิพลของพวกพรรคที่มุ่งเน้นสันติภาพ และลดทอนฐานะครอบงำของฝ่ายผู้สนับสนุนสงคราม
น่าสังเกตด้วยว่า เฉพาะในหมู่ผู้ออกเสียงวัยหนุ่มสาว AfD เข้าป้ายในการเลือกตั้งยุโรปคราวนี้ ด้วยสัดส่วนคะแนนใกล้เคียงกับที่พรรค CDU ได้รับ ทั้งนี้ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว พรรคกรีนส์คือผู้คว้าคะแนนผู้ออกเสียงวัยหนุ่มสาวไปได้ราว 30% ทว่าในคราวนี้หล่นลงเหลือแค่ 12% ขณะที่ CDU และ AfD ได้เสียงโหวตของคนวัยนี้ไปพรรคละ 17%
แผ่นดินไหวทางการเมืองในยุโรปที่กำลังเกิดขึ้นมาในเวลานี้ มีอะไรมากเกินกว่าแค่เกิดการปรับเปลี่ยนของคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วมันเป็นตัวแทนของการขบคิดทบทวนอย่างลึกซึ้งของพวกนักยุทธศาสตร์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของยุโรป ในขณะที่พวกโครงสร้างทางอำนาจแบบดั้งเดิมเผชิญหน้าการท้าทายต่างๆ การจับกลุ่มเป็นพันธมิตรกันอย่างใหม่ๆ และการจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ กันใหม่ ก็กำลังปรากฏขึ้นมาให้เห็น
เสียงเพรียกหาสันติภาพและหนทางแก้ปัญหาด้วยวิถีทางการทูต ซึ่งก้องสะท้อนออกมาจากบุคคลทางการเมืองทั้งทางฟากยุโรปและทางฝั่งอเมริกา อาจส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอนาคตของทวีปนี้ ตลอดจนบทบาทของยุโรปบนเวทีโลกกันเสียใหม่
การเลือกตั้งยุโรปครั้งหลังสุดนี้ เน้นย้ำให้เห็นถึงการแบ่งข้างจับกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองกันใหม่ครั้งสำคัญ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังปรากฏขึ้นมาให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ การปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอ Green New Deal ตลอดจนพวกนโยบายสนับสนุนสงครามในสงคราม สมทบกับการผงาดขึ้นของพวกพรรคมุ่งเน้นแนวทางสันติภาพ คือสิ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงกระแสคลื่นที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในการเมืองของยุโรป
ขณะที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีกำลังเดินเรือไปในท่ามกลางน่านน้ำที่เต็มไปด้วยคลื่นลมอลหม่านเหล่านี้ ผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมาก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะต้องส่งอิทธิพลต่อภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในแวดวงที่กว้างขวางออกไป โดยมีการแตกกิ่งก้านขยายสาขาชนิดที่ล้ำเลยไปไกลกว่าทวีปนี้มากมายนักหนา
ดิเอโก ฟาสส์แนชท์, CFA เป็นนักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ และเป็นที่ปรึกษาการลงทุนให้แก่ลูกค้ารายบุคคลและระดับสถาบัน ก่อนหน้าที่เขาเข้าทำงานในแวดวงการเงิน เขาเคยได้รับเลือกให้อยู่ในสภาบริหาร (Deutschlandrat) ขององค์การเยาวชน (JU) ของพรรคคริสเตียน เดโมเครติก ยูเนียน (CDU) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักในเยอรมนีเวลานี้