xs
xsm
sm
md
lg

ความตกลงเพื่อการป้องกันฉบับใหม่ซึ่งสหราชอาณาจักร-ยูเครนลงนามกันเร็วๆ นี้ ที่จริงแล้วคือข่าวดีข่าวใหญ่สำหรับรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เซียร์เก โปเลตาเอฟ


ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน (ขวา) และนายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ค ของสหราชอาณาจักร (ซ้าย) สวมกอดกันภายหลังลงนามในเอกสารความตกลงด้านความมั่นคงระหว่างสองประเทศ ภายหลังการพบปะหารือกันในกรุงเคียฟ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2024
Here's why the new British-Ukrainian defense agreement is great news for Russia
By Sergey Poletaev
18 Jan, 2024

ความตกลงด้านความมั่นคงระหว่างสหราชอาณาจักรกับยูเครน ที่น่าจะกลายเป็นโมเดลหนึ่งสำหรับดีลทำนองเดียวกันระหว่างเคียฟกับชาติสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่ม จี7 ด้วยนั้น ได้รับการประโคมจากเคียฟว่าจะสร้างความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นให้ฐานะของตนในการสู้รบกับมอสโก ทว่าในความเป็นจริงแล้วมันไม่ได้ทำอะไรซึ่งเป็นเพิ่มพูนโอกาสดังที่ว่านี้เลย ตรงกันข้าม กลับกลายเป็นเครื่องยืนยันรับรองแก่รัสเซียว่า สามารถที่จะทำลายรัฐยูเครนซึ่งทำตัวเป็นปรปักษ์ โดยที่ไม่ต้องเสี่ยงมากเกินไป เพราะฝ่ายตะวันตกจะไม่เข้ามาแทรกแซงเกี่ยวข้องโดยตรง

ชนชั้นนำของยูเครนมีความฝังจิตฝังใจกับการหาทางให้ได้รับการค้ำประกันความมั่นคงปลอดภัยจากฝ่ายตะวันตกมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 แล้ว ตลอดระยะเวลาหลายๆ ปีเหล่านี้ ขณะที่เคียฟเที่ยวแสวงหาความขัดแย้งกับรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น พวกเขาก็ยิ่งพยายามที่จะแอบซ่อนตัวอยู่ข้างหลังของกลุ่มก๊วนซึ่งมีสหรัฐฯเป็นผู้นำ ด้วยความคาดหวังว่าสักวันหนึ่งจะได้เข้าร่วมอยู่ในองค์การนาโต้และสหภาพยุโรป

สภาพเช่นนี้ลากยาวเรื่อยมาจนในที่สุดก็นำไปสู่การเริ่มต้นการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซีย เมื่อประมาณเกือบๆ 2 ปีก่อน ขั้นตอนแรกของสงครามนี้ทำท่าจบลงด้วยการเจรจากันในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 2022 โดยจากสิ่งที่ตกลงกันได้แล้วในเวลานั้น เคียฟอยู่ในฐานะที่จะได้รับการค้ำประกันด้านความมั่นคงปลอดภัย ตราบเท่าที่พวกเขายังคงปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งให้สัญญาเอาไว้ โดยผู้ที่ได้รับการสันนิษฐานว่าจะกลายเป็นผู้ค้ำประกัน ได้แก่ ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, และสหรัฐฯ

เวลานี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันอย่างสมบูรณ์ว่าทำไมข้อตกลงดังกล่าวนี้จึงมีอันล้มครืนลงไป แต่ดูเหมือนกับว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ เซเลนสกี มีปัญหากับเรื่องการค้ำประกันความมั่นคงนี่แหละ มีรายงานว่าเขาคิดว่าการค้ำประกันเหล่านี้หมายถึงฝ่ายตะวันตกจะเข้าสู้รบต่อต้านรัสเซียกันอย่างตรงไปตรงมาทีเดียว ทว่า บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรในเวลานั้น) ซึ่งไปเยือนกรุงเคียฟในตอนนั้น ดูเหมือนจะพูดออกมาว่า ไม่ว่าตัวเขาหรือคนอื่นๆ ก็จะไม่ยอมตกลงเอาด้วยกับเงื่อนไขเช่นนี้หรอก อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายตะวันตกจะช่วยเหลือการสู้รบของยูเครนด้วยการจัดหาอาวุธและเงินทองให้

ในปีถัดมา ฝ่ายยูเครนอยู่ในสภาพที่เต็มไปด้วยความองอาจอวดกล้า เคียฟมองเห็นว่าความพ่ายแพ้ของกองทหารรัสเซียเป็น “ของตาย” ที่ต้องบังเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอนที่สุดแล้ว และกล่าวย้ำว่าการที่ฝ่ายตะวันตกมีความสนใจที่จะรับยูเครนเข้าไปอยู่ในนาโต้ เป็นเพราะต้องการที่จะควบคุมแสนยานุภาพทางทหารซึ่งถูกทึกทักเอาว่าดีเยี่ยมของพวกเขาเอาไว้นั่นเอง พวกเขายังอ้างว่ายูเครนต่างหากจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมกลุ่มนาโต้ เพราะถ้าหากแต่ละประเทศตกลงให้การค้ำประกันความมั่นคงแก่เคียฟเป็นรายๆ ไป มันน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าด้วยซ้ำ เนื่องจากเคียฟสามารถที่จะพิจารณาได้ว่าฝ่ายตะวันตกเสนอให้อะไรมาบ้าง และใช้ความพยายามเพื่อบงการชักจูงให้ได้เงื่อนไขต่างๆ ตามที่เคียฟปรารถนา

ดูเหมือนว่า ชนชั้นนำของยูเครนไม่ได้รู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อนเอาเลย กับข้อเท็จจริงที่ว่า พวกเขายังไม่เคยได้รับการเชื้อเชิญกันจริงๆ จังๆ ให้เข้าร่วมองค์การนาโต้ และกับเรื่องที่ว่าฝ่ายตะวันตกไม่ได้แสดงความร้อนอกร้อนใจที่จะต้องเร่งให้การค้ำประกันทางการทหารแก่เคียฟ แม้กระทั่งในตอนที่กองทหารของฝ่ายเคียฟสาธิตให้เห็นว่าสามารถสร้างผลงานความก้าวหน้าในสมรภูมิ

สิ่งต่างๆ ดำเนินไปในเส้นทางเช่นนี้จวบจนกระทั่งถึงเดือนกรกฎาคม 2023 ขณะที่กระแสอวดโอ่อย่างเกินจริงเกี่ยวกับการรุกตอบโต้ของยูเครนกำลังถูกป่าวร้องกันเกรียวกราวนั้นเอง การประชุมซัมมิตขององค์การนาโต้ได้เปิดขึ้นที่ วิลนีอุส (เมืองหลวงของลิทัวเนีย) เคียฟออกมาประกาศในทันทีว่ามันเป็นซัมมิตทรงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยทีมของเซเลนสกีคาดหมายว่าระหว่างการประชุมครั้งนี้ ลู่ทางโอกาสของพวกเขาที่จะเข้าร่วมอยู่ในกลุ่มพันธมิตรนี้ก็จะได้รับการแผ้วถางจนราบรื่นในท้ายที่สุด –ถึงแม้มันอาจหมายถึงยังต้องรอคอยกันไปอีกเป็นปีๆ ก่อนจะได้เป็นสมาชิกจริงๆ หรือว่าจะต้องยอมยุติการยังคงอ้างกรรมสิทธิ์เหนือ ไครเมีย และ ดอนบาสส์ (Donbass ภูมิภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกของยูเครน ที่ประกอบด้วยแคว้นโดเนตสก์ กับแคว้นลูฮันสก์ -ผู้แปล) ยูเครนก็พร้อมแล้วที่จะยอมรับเงื่อนไขใดๆ ก็ได้ทั้งนั้น ขอแต่ให้ได้เข้าอยู่ใต้ร่มขององค์การนาโต้อย่างที่วาดหวังมานาน

อย่างไรก็ดี ในซัมมิตที่วิลนิอุสครั้งนี้ พวกตัวแทนของนาโต้เพียงแค่ส่งเสียงพูดจาซ้ำซากไม่กี่คำ พร้อมกับแนะนำให้ฝ่ายยูเครนไปเจรจากับพวกประเทศกลุ่ม จี7 ในลักษณะคุยทีละประเทศ เพื่อดูว่าพวกเขาจะเสนอเงื่อนไขอะไรออกมาบ้าง

คำสัญญาไม่ได้หมายถึงการค้ำประกัน

ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไปอีก 6 เดือน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนปัจจุบันก็เดินทางมายังเคียฟ และในระหว่างช่วงพักจากเวลาของการถ่ายภาพเซลฟี่กับพวกพนักงานรถไฟผู้หญิงเหมือนอย่างเคยๆ เขาก็ได้ลงนามในความตกลงระหว่างสหราชอาณาจักรกับยูเครน ซึ่งถือเป็นข้อตกลงทวิภาคีลักษณะเช่นนี้ระหว่างเคียฟกับชาติตะวันตกเป็นฉบับแรก

เหตุการณ์นี้ไม่ได้รับความเอาใจใส่อย่างกว้างขวางอะไรนัก ทว่าในหมู่พวกผู้เชี่ยวชาญซึ่งได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความตกลงฉบับนี้ ทัศนะของพวกเขาก็แตกต่างไปกันคนละทิศคนละทางอย่างเห็นชัด สำหรับพวกปรปักษ์ของ ริชี ซูแน็ค ในสหราชอาณาจักรแล้ว คนเหล่านี้ยืนกรานว่ามันเป็นเพียงมุกทางด้านพีอาร์เท่านั้น นั่นคือเป็นความพยายามอย่างหนึ่งเพื่อหาทางขยับเรตติ้งที่กำลังดำดิ่งลงมาของเขา (ซึ่งเมื่อนับถึงตอนนี้ถือว่าอยู่ในระดับต่ำเตี้ยชนิดทำสถิติใหม่แล้ว) สำหรับในรัสเซีย ผู้เชี่ยวชาญบางคนเรียกมันว่าเป็นเศษกระดาษที่ไร้ความหมายโดยที่ยังไม่ทันได้อ่านเอกสารฉบับนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วนด้วยซ้ำ ส่วนพวกนักวิเคราะห์ชาวยูเครนนั้น พวกเขาประกาศว่าความตกลงนี้คือ หลักหมายบอกระยะทางที่สำคัญมาก เป็นชั่วขณะแห่งการแบ่งยุคแบ่งสมัยเลยทีเดียว รวมทั้งพยายามที่จะเสนอขายความตกลงฉบับนี้ว่ามันมีความสำคัญยิ่งเสียกว่าการได้เข้าไปเป็นสมาชิกนาโต้จริงๆ ด้วยซ้ำ

ความตกลงฉบับนี้ก็มีความสำคัญจริงๆ นั่นแหละ และคุ้มค่าทีเดียวที่จะอ่านกันอย่างใส่ใจ ประการแรก คำขวัญสำคัญที่สุดของระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา (ซึ่งปกติแล้วจะต้องมีการประกาศกันเสมอ ในนามของกลุ่มพันธมิตรชาติตะวันตกทั้งมวล) ได้ถูกบรรจุเข้าไปในตัวบทของความตกลงฉบับนี้ด้วย ดังนี้: “สหราชอาณาจักรจะให้ความสนับสนุนแก่ยูเครนอย่างต่อเนื่องตราบนานเท่านานเท่าที่ยังเป็นที่ต้องการ ทั้งนี้เพื่อให้ยูเครนสามารถป้องกันตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ” หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง มันก็เหมือนกับที่ บอริส จอห์นสัน พูดเอาไว้นั่นแหละ -เราจะไม่สู้รบเพื่อพวกคุณหรอกนะ แต่เราจะทำสิ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อช่วยเหลือพวกคุณ

ประการที่สองสำหรับระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า –นั่นคือตลอดระยะเวลาที่ความตกลงฉบับนี้มีผลบังคับใช้— เอกสารฉบับนี้บอกว่าจะไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางดินแดนใดๆ ทั้งสิ้น “ผู้เข้าร่วมทำความตกลงนี้จะทำงานร่วมกัน และทำงานกับหุ้นส่วนอื่นๆ ของยูเครน เพื่อให้แน่ใจว่ากองทัพและกองกำลังความมั่นคงของยูเครนจะสามารถฟื้นฟูบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน ให้กลับคืนมาได้อย่างเต็มที่ภายในเส้นเขตแดนของพวกเขาซึ่งเป็นที่รับรองของนานาชาติ”

ส่วนสำหรับข้อผูกพันจริงๆ ในส่วนของสหราชอาณาจักรนั้น ตัวเนื้อหาของความตกลงฉบับนี้ระบุเอาไว้เพียงประการเดียวเท่านั้น นั่นคือ:
“ในกรณีที่ฝ่ายรัสเซียใช้กำลังอาวุธเข้าโจมตียูเครนขึ้นมาในอนาคต แล้วผู้เข้าร่วมทำความตกลงฉบับนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอ ทางผู้เข้าร่วมจะปรึกษาหารือกันภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมงเพื่อวินิจฉัยตัดสินมาตรการต่างๆ ที่จำเป็น สำหรับการตอบโต้หรือการป้องปรามการรุกรานดังกล่าว”

ความตกลงฉบับนี้ ระบุต่อไปว่า “สหราชอาณาจักรให้สัญญารับรองว่า ในสภาวการณ์ต่างๆ เหล่านี้ และด้วยการกระทำที่สอดคล้องกับข้อกำหนดทางกฎหมายและทางรัฐธรรมนูญของตนเอง สหราชอาณาจักรจะ: จัดหาจัดส่งให้แก่ยูเครน ทั้งความช่วยเหลือด้านความมั่นคงอย่างรวดเร็วและยั่งยืน, อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารทันสมัยตลอดทุกๆ ปริมณฑลที่จำเป็น, และความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ”

จำนวนความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในอนาคตดังกล่าวนี้ จะสอดคล้องกับความช่วยเหลือทางทหารที่สหราชอาณาจักรจัดหาจัดส่งให้แก่ยูเครนในปัจจุบัน ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ในระหว่าง 2,300 ล้านปอนด์ (2,900 ล้านดอลลาร์) ถึง 2,500 ล้านปอนด์ (3,200 ล้านดอลลาร์) ในปี 2023 และปี 2024

ในส่วนอื่นๆ ของเอกสารฉบับนี้ เราพบแต่ข้อความที่เขียนแบบกว้างๆ ไม่ได้เป็นข้อผูกพันแต่อย่างใด – เป็นต้นว่า ระบุว่าทั้งสองจะ “ทำงานร่วมกันในเรื่องการร่วมมือกันและการเป็นหุ้นส่วนกันอย่างหยั่งรากลึกยิ่งขึ้น ... สร้างความเข้มแข็งยิ่งขึ้นให้แก่ความสัมพันธ์ในระยะยาว (ระหว่างสองฝ่าย) ... จัดหาจัดส่งคำแนะนำและความสนับสนุน ... สร้างคุณูปการต่างๆ ที่สำคัญ ... สร้างกลุ่มทำงานร่วมกลุ่มต่างๆ ขึ้นมา...” และ ฯลฯ ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงซึ่งเป็นถ้อยคำโวหารน้ำท่วมทุ่งแบบนักเทคโนแครตอย่างเคยๆ เป็นถ้อยคำโวหารที่ฟังดูสุภาพสละสลวย ทว่าส่วนใหญ่ที่สุดว่างเปล่าไร้แก่นสารสาระ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับ ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี เดินออกมาที่ระเบียงด้านนอกห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน  ในภาพที่ถ่ายเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2023  ทั้งนี้ ไบเดนทำตัวเป็นหัวหน้าทีมของคณะผู้นำชาติตะวันตก คอยปลุกปลอบให้ความหวังแก่เซเลนสกี ในการเป็นตัวแทนของสหรัฐฯและตะวันตกเข้าสู้รบตัดทอนกำลังของรัสเซีย ทว่าระมัดระวังที่จะไม่นำตัวเองเข้าไปผูกพันแทรกแซงโดยตรง
แต่ถึงแม้ความตกลงฉบับนี้โดยทั่วไปแล้วมีลักษณะโดดเด่นในเรื่องที่ไร้ข้อผูกพันจริงจัง กระนั้นมันก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่ายูเครนเวลานี้กำลังถูกนำเข้าไปพัวพันยุ่งเหยิงอยู่ในโครงข่ายสายใยแห่งอิทธิพลและการควบคุมของฝ่ายตะวันตก เอกสารฉบับนี้ในทางปฏิบัติแล้วกำลังเน้นย้ำว่า กิจกรรมทุกๆ อย่างของรัฐยูเครนจะหมุนโคจรอยู่รอบๆ ผลประโยชน์ทั้งหลายของสหราชอาณาจักร: ตั้งแต่อุตสาหกรรมกลาโหม ไปจนถึงการก่อสร้างทั้งทางด้านพลเรือนและทางทหาร, ความมั่นคงด้านข้อมูลข่าวสาร, การต่อสู้ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นและการก่ออาชญากรรมแบบที่คนร้ายรวมตัวเป็นแก๊งก๊วน, การกระจายความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม, และประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป ความตกลงฉบับนี้ในทางเป็นจริงแล้วทำให้พวกสถาบันการเงินระดับโลกสามารถเข้าถึงยูเครนได้แบบไร้ข้อจำกัดกันทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น ในบรรดาการปฏิรูปสไตล์ตะวันตกจำนวนหนึ่งซึ่งยูเครนมีข้อผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามนั้น ความตกลงฉบับนี้มีการเน้นย้ำเป็นพิเศษในเรื่องที่ว่า “อำนาจควบคุมแบบประชาธิปไตยของฝ่ายพลเรือนเหนือกองทัพ (คือ) เครื่องบ่งชี้สำคัญประการหนึ่งของการที่กองทัพไม่ได้ถูกแปรให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง” ตรงนี้ดูแล้วช่างเหมือนเอามากๆ ว่าคือความพยายามของเซเลนสกีในการเรียกร้องให้ฝ่ายตะวันตกสนับสนุนตัวเขาในความขัดแย้งที่มีอยู่กับ (พลเอก) ซานุจซี (ผู้บัญชาการกองทัพยูเครนในเวลานี้)

ทำไมเรื่องนี้ต้องถือว่ามีความสำคัญ?

ยูเครนรีบประกาศอย่างรวดเร็วว่า ดีลระหว่างซูแน็ค-เซเลนสกีคราวนี้ จะกลายเป็นตัวอย่างหนึ่งสำหรับความตกลงทำนองเดียวกันระหว่างเคียฟกับพวกประเทศ จี7 รายอื่นๆ (ฝรั่งเศสแสดงท่าทีแล้วว่าบางทีอาจจะลงนามในเอกสารทำนองเดียวกันนี้ในเดือนกุมภาพันธ์) ความตกลงลักษณะเช่นนี้จะทำหน้าที่เสมือนเป็นกระดูกสันหลังทางกฎหมายอย่างหนึ่งให้แก่นโยบายของฝ่ายตะวันตกในเรื่องยูเครน ซึ่งสามารถที่จะอธิบายให้เข้าใจได้อย่างง่ายๆ เลยว่า: ต่อจากนี้ไป เคียฟคือเครื่องมือในความควบคุมของฝ่ายตะวันตก

มันเป็นสิ่งที่ส่งสัญญาณชัดเจนให้ชาวยูเครนทั้งหลายได้รับรู้รับทราบ: พวกคุณคือด่านรักษาการณ์ด่านหน้าของพวกเรา, อาวุธของพวกเรา, ท่อนซุงใหญ่สำหรับกระแทกประตูเมืองของพวกเรา, ตลอดจนอะไรอย่างอื่นๆ อีก กระนั้นพวกคุณก็จะไม่ใช่หนึ่งในพวกเรา พวกเราจะไม่นำเอาตัวพวกเราเองเข้าไปอยู่ในความเสี่ยงเพื่อผลประโยชน์ของพวกคุณหรอก และมันไม่มีที่ทางใดๆ สำหรับพวกคุณหรอกภายใต้ร่มคุ้มครองขององค์การนาโต

สำหรับในส่วนของรัสเซียนั้น มอสโกจะเข้าอกเข้าใจความตกลงสหราชอาณาจักร-ยูเครนฉบับนี้ ในลักษณะดังต่อไปนี้: ฝ่ายตะวันตกจะไม่ยอมผ่อนปรนอ่อนข้อ ฝ่ายตะวันตกจะทำให้ชีวิตของพวกคุณยากลำบาก “ไปอย่างยาวนานที่สุด ตราบนานเท่านานเท่าที่ยังเป็นที่ต้องการ” และฝ่ายตะวันตกจะพยายามทำให้เกิดความแน่ใจขึ้นมาว่ายูเครนจะยังคงเป็นกองกำลังตัวเทนของพวกเขาในการเล่นงานพวกคุณ อย่างไรก็ดี ฝ่ายตะวันตกจะไม่เข้าเกี่ยวข้องในการสู้รบขัดแย้งนี้โดยตรง

จากเส้นทางดำเนินของการสู้รบขัดแย้งคราวนี้ มันแสดงให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ของฝ่ายตะวันตกนั้นกำลังล้มเหลว กล่าวคือ ความสนับสนุนทางด้านการส่งกำลังบำรุงให้แก่ยูเครนอยู่ในลักษณะขาดแคลนไม่เพียงพอ, ทรัพยากรต่างๆ ของยูเครนเองกำลังร่อยหรอลงทุกที, กองทัพของยูเครนกำลังอ่อนแอลงเรื่อยๆ และไม่สามารถยังความพ่ายแพ้ให้แก่รัสเซียในสมรภูมิ นี่หมายความว่าเคียฟอาจจะประสบกับการพังทลายครั้งใหญ่ นานทีเดียวก่อนหน้ารัสเซียจะเริ่มต้นประสบกับความท้าทายที่มีความสาหัสจริงจัง

อย่างที่เราได้กล่าวเอาไว้แล้วก่อนหน้านี้ เป้าหมายของรัสเซียคือการป้องกันไม่ให้ยูเครนถูกฝ่ายตะวันตกนำไปใช้เป็นท่อนซุงใหญ่กระทุ้งประตูเมืองของแดนหมีขาว แล้วเนื่องจากรัสเซียไม่สามารถที่จะทำข้อตกลงฉันมิตรกับคณะผู้นำในเคียฟ (โดยที่จะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ไปเป็นเวลาอย่างน้อยอีก 10 ปี ถ้าหากพวกประเทศ จี7 อื่นๆ เดินตามตัวอย่างของสหราชอาณาจักรด้วยการลงนามในดีลคล้ายๆ กัน) มอสโกก็มีทางเลือกอีกเพียงทางเดียวเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่ อันได้แก่การถอดถอนรื้อทำลายรัฐยูเครนที่ทำตัวเป็นปรปักษ์ลงไป ข้อดีประการหนึ่งก็คือว่า สัญญาซูแน็ค-เซเลนสกี ทำให้มอสโกเกิดความแน่ใจขึ้นมาว่าสามารถกระทำเรื่องนี้ได้โดยที่ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายมากเกินไป เมื่อพิจารณาจากการที่ฝ่ายตะวันตกไม่ได้มีแผนการที้จะเข้ามาแทรกแซงโดยตรงในสงครามนี้

สำหรับยูเครน เรื่องนี้คือข่าวร้ายอย่างแท้จริง ถ้าหากเคียฟอย่างน้อยที่สุดยังคงหลงเหลือความสามารถในการมองการณ์ไกลอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการลงนามในความตกลงที่ไร้ความหมายเช่นนี้ไปแล้วฉบับหนึ่ง พวกเขาก็ควรที่จะพยายามหาทางจัดให้มีการสนทนาบางรูปบางแบบกับมอสโกขึ้นมา ในขณะที่ทางเลือกนี้ยังคงสามารถเกิดขึ้นมาได้ ทว่าแทนที่จะกระทำเช่นนั้น ทีมของเซเลนสกีกลับยังคงเดินหน้าผลักไสประเทศชาติของพวกเขาไปสู่การถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง

เซียร์เก โปเลตาเอฟ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการของโครงการวัตฟอร์ (Vatfor project)

(ต้นฉบับภาษาอังกฤษ เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ RT ซึ่งเป็นเครือข่ายข่าวโทรทัศน์ระหว่างประเทศ และเว็บไซต์ข่าวของทางการรัสเซีย ทั้งนี้สามารถตามไปอ่านได้ที่ https://www.rt.com/news/590822-uk-ukraine-defense-agreement/)

กำลังโหลดความคิดเห็น