China hints at its asymmetric warfare system aimed at dethroning US dollar
By Henry Johnston
20/01/2024
สำหรับจีนแล้ว สิ่งที่พวกเขากำลังกระทำไม่ใช่เป็นเรื่องของการนำเอาเงินหยวนเข้าแทนที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯภายในระบบการเงินปัจจุบันสักเท่าไรนักหรอก หากแต่เป็นการสร้างทางเลือกใหม่ที่แยกต่างหากจากระบบการเงินปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง
แทบไม่มีวันไหนเลยที่ผ่านเลยไปโดยไม่มีข่าวพาดหัวเกี่ยวกับเรื่องเงินหยวนของจีนกำลังได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นอีกในการค้าของโลก ในขณะที่กระบวนการหยุดใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯกำลังอยู่ในกระแสคึกคักเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ นั้น สกุลเงินตราของระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกก็พุ่งทะยานแรงได้รับการจับตามองอย่างใส่ใจ
กระบวนทัศน์ที่อยู่เคียงคู่มากับเงินดอลลาร์นั้น มีข้อสมมุติฐานว่าสกุลเงินตราใดๆ ก็ตามที่จะถูกนำมาใช้กันอย่างจริงจัง จักต้องได้รับความสนับสนุนด้วยกรอบโครงแม่บทของการเปิดเสรีทางการเงินอย่างเต็มที่ และการมีตลาดทุนซึ่งทั้งเปิดกว้างและหยั่งรากมั่นคง ขณะเดียวกัน การที่ดอลลลาร์ลุงแซมมีสภาพคล่องที่ใหญ่โตกว้างขวางมาก ยังเนื่องมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐฯมีการขาดดุลขนาดมหึมา –ปริมาณดอลลาร์จึงกำลังแพร่หลายไหลเวียนออกไปทั่วโลก—ทำให้ใครๆ อดสงสัยไม่ได้ว่าระบบอย่างที่พวกเรารู้จักกันอยู่ในปัจจุบันนี้จะสามารถทำงานต่อไปได้หรือ ถ้าหากสกุลเงินตราซึ่งทรงความสำคัญที่สุดของโลกไม่ได้เป็นของประเทศซึ่งประสบภาวะขาดดุลทางการค้าอย่างเรื้อรังยาวนาน
ประเทศจีนนั้นประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่าการทำให้เงินหยวนกลายเป็นเงินตราระหว่างประเทศคือวัตถุประสงค์ทางนโยบายประการหนึ่งของพวกเขา – และยังได้เดินหน้าไปในบางระดับในการบูรณาการเข้าอยู่ในระบบการเงินระดับโลก อย่างไรก็ตาม พวกเขาต่อต้านไม่เอาด้วยกับกระบวนการเปิดเสรีประเภทที่อาจทำให้สถานะของพวกเขาต้องยกระดับขึ้นไปอย่างสำคัญ จากการที่จะต้องเป็นสกุลเงินตราสำหรับเป็นทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ สิ่งที่ดูปรากฏให้เห็นกันอย่างชัดเจนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ จีนไม่ได้มุ่งหาทางผลักดันให้เงินหยวนได้มีที่ทางเพิ่มมากขึ้นในระบบปัจจุบันซึ่งมีฝ่ายตะวันตกเป็นผู้นำ –หรือกระทั่งหาทางโค่นเงินดอลลาร์ลงจากบัลลังก์ แล้วสถาปนาเงินหยวนขึ้นแทนที่— แต่กลับมุ่งสร้างโครงสร้างทางการเงินชนิดที่ให้หลักประกันเรื่องอำนาจอธิปไตยแห่งชาติ และการคุ้มครองป้องกันภัยจากความอ่อนเปราะต่างๆ ของระบบซึ่งยึดโยงอยู่กับดอลลาร์ที่มีการบริหารจัดการอย่างผิดพลาดเพิ่มมากขึ้นทุกที ทั้งนี้ยังเป็นการสร้างแบบ “จากรากฐานขึ้นไป” อีกด้วย โดยที่มันไม่ค่อยจำเป็นต้องระบุอ้างอิงหรอก ว่า จีนไม่ใช่เดินอยู่บนเส้นทางนี้แต่เพียงลำพังรายเดียวเท่านั้น
เคยมีช่วงเวลาที่ดูเหมือนกับเงินหยวนก้าวเดินไปบนเส้นทางซึ่งไม่อาจหยุดยั้งได้ เพื่อมุ่งไปสู่การกลายเป็นอะไรบางอย่างที่คล้ายคลึงกับการเป็นหุ้นส่วนชั้นผู้น้อยของเงินดอลลาร์ในระเบียบซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ที่ชอบอวดอ้างว่าเป็นระเบียบ “ที่ยึดโยงอยู่กับกฎเกณฑ์” ทั้งนี้หลังจากที่จีนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) เมื่อปี 2001 แล้ว ก็ได้เกิดการเร่งรัดกระแสการลงทุนของสหรัฐฯในโรงงานต่างๆ ของจีน ในปี 2007 นักประวัติศาสตร์ ไนออล เฟอร์กูสัน (Niall Ferguson) และนักเศรษฐศาสตร์ มอริตซ์ ชูลาริค (Moritz Schularick) ได้ขบคิดประดิษฐ์คำว่า “ชิเมอริกา” (Chimerica) ออกมา เพื่อบรรยายถึงความสัมพันธ์แบบต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ความคาดหวังเวลานั้นในประดาเมืองหลวงของโลกตะวันตกก็คือว่า จีนจะก้าวเดินอย่างสวยสดงดงามเข้าสู่วงโครจรทางการเงินของตะวันตก
แล้วก็ทำท่าจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ ขนาดขอบเขตของการใช้เงินหยวนมีการขยายตัวกว้างขวางออกไป เมื่อถึงปี 2015 มันก็กลายเป็นสกุลเงินตราที่ใช้กันมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ในทั่วโลก และในปี 2016 เงินหยวนได้รับการประทับตรารับรองจากองค์การผู้พิทักษ์ชั้นสูงของการเงินโลก –นั่นคือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) –ด้วยการเพิ่มเงินตราของจีนนี้เข้าไปในตะกร้าสกุลเงินตราสำคัญของโลกเพื่อการคำนวณสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDRs) ซึ่งใช้สำหรับการปล่อยกู้แก่พวกผู้กู้ที่เป็นภาครัฐ
มาถึงทุกวันนี้คำว่า Chimerica ไม่ค่อยได้ยินใครพูดกันแล้ว และเวลาเดียวกัน ขณะที่จีนยังคงเป็นสมาชิกรายหนึ่งของไอเอ็มเอฟซึ่งนำโดยวอชิงตัน มันก็ไม่ค่อยถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ เสียแล้วในปักกิ่งเวลานี้
เกิดอะไรขึ้นหรือ?
คำตอบต่อคำถามข้อนี้จำเป็นต้องตีวงอ้อมอธิบายกันสักเล็กน้อย การที่ต้องพึ่งพาอาศัยสกุลเงินตราของคนอื่น –อย่างในกรณีที่ต้องอยู่ใต้ระบบเงินดอลลาร์ สิ่งนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ที่แทบทุกคนประสบกันอยู่ — มันคือการเปิดประตูให้คุณต้องตกอยู่ใต้ความอ่อนเปราะ 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ ความอ่อนเปราะจากตลาด และความอ่อนเปราะทางการเมือง
อย่างแรกนั้นเป็นที่รู้จักกันดี และมีความเก่าแก่พอๆ กับตัวระบบเอง โดยเฉพาะสำหรับพวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ด้วยแล้ว มันหมายถึงการต้องบริหารจัดการสกุลเงินตรา 2 สกุล คือมือหนึ่งต้องยึดจับระดับมูลค่าของสกุลเงินตราภายในประเทศให้ดี ส่วนอีกมือหนึ่งยึดจับทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเอาไว้ เวลาเดียวกัน ถ้าเงินดอลลาร์เกิดแข็งค่าขึ้น หรือถ้าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯขยับขึ้น ก็จะเกิดความยุ่งยากติดตามมาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ ต้องเททุนสำรองเงินตราออกมาจนร่อยหรอ เพื่อปกป้องสกุลเงินตราแห่งชาติของพวกเขา แต่มันจะเป็นยังไงถ้าเกิดสิ่งที่ตรงกันข้ามขึ้นมา และสหรัฐฯซึ่งอยู่ในภาวะที่จักรวรรดิของพวกเขากำลังตกต่ำเสื่อมทรุด กระทำความชั่วร้ายกับสกุลเงินตราของพวกเขาเอง? สำหรับพวกที่เผชิญหน้าอยู่กับลู่ทางความเป็นไปได้ของการที่มูลค่าแท้จริงของดอลลาร์ที่พวกเขาถือครองอยู่กำลังตกต่ำลง –อย่างเช่นเมื่อคำนวณเปรียบเทียบกับพวกสินค้าโภคภัณฑ์— นี่ย่อมไม่ใช่เป็นเรื่องแค่ระดับเล็กๆ น้อยๆ แต่อย่างใด
สิ่งที่กล่าวมานี้ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นเพียงแค่ฉากทัศน์การสมมุติสถานการณ์แบบเฟ้อฝัน ในความเป็นจริงแล้ว วิกฤตการณ์ทางการเงินของช่วงปี 2008-2009 เป็นการเสนอบางสิ่งบางอย่างที่เสมือนบทเกริ่นนำให้มองเห็นได้ว่าเรื่องอย่างนี้ลงท้ายแล้วจะพัฒนาไปสู่ความเลวร้ายได้จนถึงขนาดไหน ทั้งนี้เพื่อพยุงเศรษฐกิจของตนในช่วงที่เจอวิกฤตคราวนั้น สหรัฐฯได้พิมพ์เงินดอลลาร์เป็นจำนวนมหาศาลอย่างชนิดที่ก่อนหน้านั้นไม่อาจนึกฝันจินตนาการกันได้ แน่นอนทีเดียวว่ามันไม่ใช่เหตุคล้องจ้องกันโดยบังเอิญหรอก ที่ไม่กี่วันหลังจาก เบน เบอร์นันกี้ (Ben Bernanke) ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในตอนนั้นประกาศการเอาตัวรอดของสหรัฐฯด้วยการพิมพ์แบงก์ออกมาอย่างมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์นั้นเอง ในเดือนมีนาคม 2009 ผู้ว่าการของธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (People’s Bank of China แบงก์ชาติของจีน) ก็ออกเอกสารสมุดปกขาวเล่มหนึ่งที่ใช้ชื่อเรื่องซึ่งมิได้แสดงถึงท่าทีอ่อนโยนนอบน้อมอะไรเลย นั่นคือ “ปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศ” (Reform the International Monetary System)
ถึงแม้ชนชั้นนำวอชิงตันมีความคุ้นเคยกับการปฏิบัติตนเหมือนกับพวกเขาได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับความผิดใดๆ เลยทั้งนั้นในเมื่อมันเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินดอลลาร์ – อย่างเช่นที่ จอห์น คอนนัลลี (John Connally) รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯในยุคทศวรรษ 1970 ครั้งหนึ่งถึงกับพูดว่า “สกุลเงินตราของเรา แต่มันเป็นปัญหาของพวกคุณ” [1] – แต่การพิมพ์เงินออกมาอย่างมหาศาลขนาดนั้นก็กลายเป็นจุดสร้างความอ่อนไหวให้แก่ฝ่ายจีน ซึ่งมีดอลลาร์สะสมเอาไว้อย่างมโหฬาร –ในรูปของทุนสำรอง โดยจำนวนมากทีเดียวเป็นพันธบัตรคลังสหรัฐฯ ทั้งนี้นับตั้งแต่ที่เข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี 2001
ทางการจีนดูเหมือนจะตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า การที่พวกเขาต้องพึ่งพิงดอลลาร์ขนาดนั้น ได้กลายเป็นความเสี่ยงขนาดใหญ่พอดูขึ้นมาเสียแล้ว ลู่ทางโอกาสที่สหรัฐฯผู้หมดสมรรถภาพมากขึ้นทุกทีอาจใช้สกุลเงินตราของตนเพื่อกระทำความเลวร้ายนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สามารถเพิกเฉยละเลยได้อีกต่อไปแล้ว ครั้งหนึ่ง เจ. พอล เกตตี้ (J. Paul Getty) เคยพูดปล่อยมุกเอาไว้ว่า “ถ้าคุณเป็นหนี้ธนาคาร 100 ดอลลาร์ นี่เป็นปัญหาของคุณ แต่ถ้าคุณเป็นหนี้ธนาคาร 100 ล้านดอลลาร์ นี่เป็นปัญหาของธนาคารแล้ว” ในกรณีนี้ จีนคือธนาคาร และสหรัฐฯคือลูกหนี้ และนี่จึงกลายเป็นปัญหาของจีนเป็นอย่างยิ่งไปเสียแล้ว
ถ้าหากวิกฤตปี 2008-2009 แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯไม่ได้มีความรู้สึกหวาดหวั่นสะทกสะท้านใดๆ สำหรับการพิมพ์แบงก์ออกมามากๆ เท่าที่พวกเขาเองต้องการเพื่อดับไฟไหม้ที่เกิดขึ้นมาภายในประเทศ อีกไม่กี่ปีต่อมา พวกเขาก็จะไม่มีความรู้สึกหวาดหวั่นสะทกสะท้านใดๆ เช่นกัน สำหรับการใช้ระบบการเงินมาเป็นอาวุธชิ้นหนึ่งเพื่อผลักดันจุดมุ่งหมายทางภูมิรัฐศาสตร์ของพวกเขาให้คืบหน้าไป --แม้กระทั่งเมื่อมันเป็นการต่อกรกับมหาอำนาจสำคัญระดับโลกรายหนึ่งก็ตามที แล้วตรงนี้แหละที่ส่วนประกอบประการที่สองเข้ามาสู่สมการ นั่นคือ ความเสี่ยงทางการเมือง นี่เป็นเรื่องใหม่แต่มันก็เริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลงการคาดคำนวณของทุกๆ คนไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว ถ้าหากบอกว่าการที่สหรัฐฯทำความชั่วร้ายให้แก่เงินดอลลาร์ของตนเอง ยังถือเป็นความเสี่ยงที่ดูจะอยู่ห่างไกลแล้ว การถูกตัดขาดจากดอลลาร์ที่ตนเองถือครองอยู่สืบเนื่องจากการเหล่ตาใส่วอชิงตันนั้นต้องถือเป็นความเสี่ยงอย่างใหม่และเป็นความเสี่ยงที่เป็นจริงเป็นจังเอามากๆ
การรัฐประหารยึดอำนาจในยูเครนที่สหรัฐฯวางแผนก่อขึ้นมาเมื่อปี 2014 แล้วแต่งตั้งรัฐบาลหุ่นที่เป็นปรปักษ์กับรัสเซียขึ้นในกรุงเคียฟ กลายเป็นการจุดชนวนติดตามมาด้วยการที่มอสโกดำเนินกระบวนการนำเอาคาบสมุทรไครเมียกลับเข้ามารวมเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขาอีกคำรบหนึ่ง ตลอดจนยังให้การสนับสนุนพวกกบฏในภูมิภาคดอนบาสส์ (Donbass หมายถึงดินแดนแคว้นลูฮันสก์ และแคว้นโดเนตสก์ ในภาคตะวันออกของยูเครน) ผลลัพธ์ก็คือ ไม่นานหลังจากนั้นและในปีต่อๆ มา รัสเซียก็ถูกฝ่ายตะวันตกตีกระหน่ำด้วยพวกมาตรการแซงก์ชั่นที่กวดขันรุนแรงขึ้นทุกที สำหรับก้าวเดินแต่ละก้าวของมอสโกที่ถูกฝ่ายตะวันตกกล่าวหาว่าเป็นก้าวเดินอันผิดพลาด –และบางครั้งกระทั่งไม่มีการให้เหตุผลใดๆ ทั้งสิ้นด้วยซ้ำ
ผู้ที่กำลังเฝ้าสังเกตเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ และตรึกตรองหาข้อสรุปต่างๆ ของพวกเขาเองอยู่อย่างเงียบๆ ก็คือจีน ไม่นานนักหลังจากไครเมีย มีบางสิ่งบางอย่างที่ดูแปลกๆ ปรากฏขึ้น กล่าวคือ กระบวนการทำให้เงินหยวนกลายเป็นเงินตราระหว่างประเทศ ดูเหมือนกับหยุดชะงักลงไป นิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ (The Economist) ชี้เอาไว้ในข้อเขียนชิ้นหนึ่ง [2] ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2017 ว่า การเข้าถึงนานาชาติของเงินหยวนนั้นในทางเป็นจริงแล้วกลับลดน้อยลงในระยะสองปีที่ผ่านมา โดยส่วนแบ่งในการค้าโลกของเงินตราสกุลนี้ได้ตกจาก 2.8% ในเดือนสิงหาคม 2015 เหลือเพียงแค่ 1.9% ในเดือนตุลาคม 2017 เวลาเดียวกัน ความหวังที่จะได้เห็นจีนดำเนินกระบวนการเปิดเสรีทางด้านบัญชีทุน –และดังนั้นก็จะเป็นการเปิดประตูให้เม็ดเงินลงทุนไหลบ่าเข้าสู่แดนมังกร— ก็ดูเหมือนว่าได้เกิดการถอยหลังกลับ
ดังนั้น ขอให้หวนกลับมาตอบคำถามของเรา: จีนได้ทรยศต่อเป้าหมายของพวกเขาเองที่จะขยายการใช้สกุลเงินตราของพวกเขาให้มากขึ้นใช่หรือไม่? คำตอบคือ ไม่ใช่เลย ถึงยังไงก็ควรจะต้องพูดว่าพวกเขาใช้ความพยายามในเรื่องนี้มากขึ้นเป็นสองเท่าด้วยซ้ำไป ทว่ากรอบโครงของสิ่งที่พวกเขากำลังทำเกี่ยวกับเรื่องนี้ดูเหมือนได้มีการปรับเปลี่ยนเสียใหม่แล้ว สำหรับพวกที่ยึดมั่นเหนียวแน่นอยู่ในคัมภีร์ของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) การที่จีนยังคงแสดงความลังเลต่อไปอีกในการทำให้สกุลเงินตราของพวกเขาสามารถแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินตราอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่สมบูรณ์นั้น สามารถตีตราประณามได้เพียงว่าคือการเข้าร่วมส่วนในความโน้มเอียงแบบพวกปฏิกิริยาต่อต้านการเปลี่ยนแปลง และการมีความปรารถนาที่จะเข้าควบคุมเท่านั้นเอง สิ่งที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนกับเป็นสิ่งที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เวลานี้ในฉับพลันทันใดมันก็กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ด้านการเงิน โซลตัน พอสซาร์ (Zoltan Pozsar) ผู้เขียนข้อวินิจฉัย เบรตตันวู้ดส์ 3 (Bretton Woods III thesis) และนักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ซึ่งด้วยสายตาอันแหลมคมที่คาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับระเบียบโลกที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของเขา ได้ยกระดับเขาก้าวขึ้นสู่สถานะที่แทบกลายเป็นตำนานในประชาคมทางการเงินนั้น กำลังก้าวเลยไปจากเสียงพูดจาเช่นนี้ของตลาด ไปสู่สิ่งที่เขาเชื่อว่ามันคือการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โตมโหฬาร ในระดับที่เป็นการเปลี่ยนแปลงพลิกผันของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งกำลังบังเกิดขึ้นเบื้องลึกลงไปจากพื้นผิวโลก เขาคิดว่าโดยอาศัยแสงสว่างจากการที่ระบบการเงินปัจจุบันกำลังถูกฝ่ายตะวันตกใช้เป็นอาวุธมากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายจีนก็ได้มาถึงข้อสรุปที่ว่าเป็นการไร้ประโยชน์ที่จะแค่เที่ยวหาทางถากถางเจาะไชเพื่อให้สกุลเงินตราของพวกเขามีที่ทางเพิ่มขึ้นมาอีกสักเล็กน้อยภายในโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของโลกตะวันตก
“ผมคิดว่าเหตุผลที่ทำไมกระบวนการนี้จึงหยุดชะงักลง ก็คือว่าพวกเขา (จีน) ตระหนักขึ้นมาว่ามันไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะดำเนินการให้สกุลเงินตราของพวกเขากลายเป็นสกุลเงินตราระหว่างประเทศขึ้นมา โดยกระทำผ่านระบบการเงินแบบตะวันตก โดยผ่านลอนดอน โดยผ่านนิวยอร์ก และโดยผ่านพวกเอกสารงบดุลบัญชีของสถาบันการเงินต่างๆ ของโลกตะวันตก ในเมื่อโดยพื้นฐานแล้วคุณก็ยังไม่ได้เข้าควบคุมเครือข่ายของสถาบันต่างๆ ซึ่งสกุลเงินตราของคุณกำลังเคลื่อนผ่านออกมาอยู่ดี” เขากล่าวเช่นนี้ในรายการของพอดแคสต์บลูมเบิร์ก [3] เมื่อเดือนกรกฏาคม 2023
ลองขบคิดคาดการณ์ล่วงหน้าไปอีกสักสองสามปี ถึงตอนนั้นสหรัฐฯน่าจะป่าวร้องตีตราประทับใส่จีนว่าเป็นนักปั่นค่าเงินตรา –ซึ่งเป็นทัศนะที่แม้กระทั่งไอเอ็มเอฟก็ไม่เห็นชอบสนับสนุน— แล้วก็เปิดสงครามการค้าด้วยความอาฆาตพยาบาทเพื่อเล่นงานแดนมังกร พวกเขามีแต่ต้องทำให้มันบานปลายขยายตัวมากขึ้นจากตรงนั้น ผลักดันให้ไปต่อจนถึงจุดสูงสุด ภายหลังจากที่ได้ปล้นชิงทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอันอุ่นหนาฝาคั่งของรัสเซียไปอย่างหน้าด้านๆ แล้วในปี 2022 โดยที่ความเคลื่อนไหวอย่างหลังนี้เองแหละซึ่งได้สร้างความตื่นตะลึงอย่างมหาศาลขึ้นในปักกิ่ง
เวลานี้สิ่งที่ชัดเจนก็คือว่า จีนมองเห็นความเสี่ยงทั้งหลายของระบบปัจจุบันที่ถือเงินดอลลาร์เป็นศูนย์กลาง และกำลังมีข้อสรุปว่ามันเป็นระบบที่มีความเสี่ยงสูงอย่างชนิดยอมรับไม่ได้ ทั้งจากสิ่งที่เราจะขอเรียกว่าเหตุผลทาง “ตลาด” และเหตุผล “ทางการเมือง”
สำหรับพวกที่ไม่สามารถขบคิดจินตนาการสิ่งอื่นใดได้อีก นอกเหนือไปจากระบบปัจจุบัน ความคิดของพวกเขาก็คือว่าสกุลเงินตราหนึ่งๆ ไม่สามารถมีสถานะระดับโลกได้อย่างแท้จริง ตราบใดที่มันยังคงไม่สามารถแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินตราอื่นๆ ได้อย่างสมบูรณ์ เงินหยวนเวลานี้สามารถแลกเปลี่ยนกับสกุลเงินตราอื่นๆ ได้ในด้านบัญชีเดินสะพัด (นี่หมายความว่ามันสามารถใช้แลกเปลี่ยนเป็นสินค้าและบริการต่างๆ ได้) ทว่ามันไม่สามารถแลกเปลี่ยนในบัญชีทุน (สำหรับการลงทุน)
มีเหตุผลต่างๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุผลอ้างอิง “ตามแบบแผนธรรมดา” อย่างสิ้นเชิง ซึ่งสามารถใช้อธิบายได้ว่าทำไมจีนจึงลังเลไม่ต้องการก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น ทางการจีนมีความระมัดระวังตัวอย่างชัดเจน ไม่ต้องการที่ให้มีเงินทุนไหลเข้าอย่างมากมายมหาศาล จนกระทั่งหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะตกเข้าไปอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถควบคุมเงินหยวนได้ ทั้งนี้การนำเอาทุนสำรองมูลค่าเป็นแสนๆ ล้านดอลลาร์เข้ามา ย่อมเสี่ยงที่ทำให้ค่าเงินหยวนแข็งโป๊กขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยนี่คือสภาวการณ์ที่ทางการจีนพยายามทำงานอย่างหนักหน่วงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 แล้ว นอกจากนั้นมันยังจะนำไปสู่การไหลทะลักเข้ามาของเงินทุนอย่างชนิดไม่อาจคาดทายล่วงหน้าได้และอย่างชนิดควบคุมไม่ได้ แต่สิ่งที่ พอสซา กำลังมีข้อสรุปนั้น มันยังลงลึกยิ่งกว่าเพียงแค่เป็นการคาดคำนวณทางเศรษฐกิจธรรมดาๆ เท่านั้น เขาเชื่อว่าฝ่ายจีนเวลานี้มองเห็นว่า การที่จะนำตัวเองบูรณาการเข้าไปในระบบปัจจุบันให้มากขึ้นอีกนั้น คือการพุ่งชนทางตันที่ไม่ให้ความหวังใดๆ
มองในแง่นี้ แรงผลักดันเพื่อให้ลดการใช้สกุลเงินดอลลาร์ จึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องการโค่นล้มแชมเปี้ยนเฮฟวีเวตคนปัจจุบันให้ตกลงจากบัลลังก์ และสถาปนาคนใหม่ขึ้นแทนที่เท่านั้น โดยสำหรับจีนและประเทศอื่นๆ ที่กำลังก้าวเดินไปบนเส้นทางสายนี้ มันยังเป็นเรื่องของอำนาจอธิปไตยและการบริหารจัดการความเสี่ยงแบบสุขุมรอบคอบ
แบบแผนวิธีที่จีนกำลังดำเนินการอยู่เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้เงินหยวนนั้น มีเสาหลักๆ รวม 3 เสาด้วยกัน ได้แก่ การส่งเสริมสนับสนุนให้มีการใช้เงินหยวนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้กับพวกคู่ค้าทั้งหลาย, การทำข้อตกลงสว็อปเงินตรากับพวกธนาคารกลางแห่งอื่นๆ, และการจัดหาเงินกู้ในสกุลเงินหยวนให้แก่ต่างประเทศ
เกี่ยวกับเสาหลักเสาแรก สิ่งที่จีนถือว่ามีความสำคัญมากเป็นพิเศษก็คือ ความสามารถที่จะจ่ายเงินค่านำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ของพวกเขาด้วยสกุลเงินตราของพวกเขาเอง บางทีเรื่องที่อาจได้รับการนับถือเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของความริเริ่มในแนวทางนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่จีนสามารถชำระหนี้ค่าน้ำมันซึ่งนำเข้าจากซาอุดีอาระเบียในรูปเงินหยวน ทั้งนี้ว่ากันที่จริง ในปีที่ผ่านมาธนาคารกลางของประเทศทั้งสองสามารถทำข้อตกลงสว็อปเงินตราฉบับหนึ่งกันได้แล้ว พร้อมกันนั้นมีรายงานว่าประเทศทั้งสองอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อชำระหนี้การค้าบางส่วนของพวกเขาด้วยสกุลเงินตราท้องถิ่น
สัญญาสว็อปเงินตรา เปิดทางให้ธนาคารกลางของสองฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนเงินตรากันได้ในอัตราแลกเปลี่ยนตายตัวและอัตราดอกเบี้ยตายตัว การสว็อปในลักษณะนี้เป็นหนทางที่ดีมากหนทางหนึ่งในการทำให้สกุลเงินตราของพวกคุณมีเสถียรภาพ และในการทำให้มันกลายเป็นสกุลเงินตราระหว่างประเทศขึ้นมา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นฝ่ายได้เปรียบหรือเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้า สำหรับจีนนั้น เป็นที่ชัดเจนว่าพวกเขาอยู่ในฝ่ายซึ่งเดินหนทางอย่างหลัง ขณะเดียวกัน การปล่อยกู้เป็นเงินหยวนก็ได้กลายส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) โดยภายใต้แผนการริเริ่มนี้มีการสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับการจัดทำโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงการทางด้านพลังงาน
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ จีนกำลังบริหารจัดการให้สกุลเงินตราของพวกเขาอยู่ในมือของพวกคู่ค้าทั่วโลก โดยที่ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการไหลทะลักของเงินทุนอย่างชนิดควบคุมไม่ได้ หรือจากที่ต้องบูรณาการเข้าไปในโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของฝ่ายตะวันตกเพิ่มมากขึ้นอีก
ปี 2023 คือปีที่สำคัญปีหนึ่งสำหรับเงินหยวน ตัวเลขสถิติธรรมดาๆ สองสามตัวแสดงให้เห็นว่าวงโคจรใน 2 ด้านของแดนมังกรนั้นอยู่ในฐานะที่กระเตื้องดีขึ้นเป็นอันมาก กล่าวคือ สัดส่วนของการใช้เงินหยวนเพื่อการชำระหนี้ข้ามพรมแดนนั้น ได้พุ่งสูงขึ้นจาก 1.9% ในเดือนมกราคม 2023 กลายเป็น 3.6% ในเดือนตุลาคม ขณะเดียวกันธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีนรายงว่า เงินหยวนได้ถูกใช้เพิ่มขึ้นมากในด้านการค้า นั่นคือเกือบๆ 30% ของสินค้าและบริการที่เคลื่อนย้ายเข้าและออกจากแดนมังกรทีเดียว มีการตกลงชำระหนี้กันเป็นสกุลเงินท้องถิ่นสกุลนี้
ภาพที่ตรงกันข้ามกับเรื่องนี้ก็คือ ถึงแม้ว่าตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศของจีนยังคงเติบโตต่อเนื่อง แต่การถือครองตราสารหนี้ของพวกนักลงทุนต่างชาติได้ลดต่ำลงจนมาอยู่ที่ราวๆ 2% พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เงินหยวนกำลังก้าวเดินไปข้างหน้าได้ก้าวยาวๆ สวยงามทีเดียวในเรื่องของการเป็นสกุลเงินตราเพื่อการค้า ทว่าแสดงบทบาทลดน้อยลงในฐานะที่เป็นสกุลเงินตราสำหรับการลงทุน และนี่ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ปักกิ่งปรารถนาอย่างเหมาะเหม็ง
ดังนี้แล้ว เมื่อนำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดมาบวกกัน มันจะออกมาเป็นยังไง? เงินหยวนไม่ได้กำลังเข้าแทนที่เงินดอลลาร์อะไรมากมายนักหรอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการเปลี่ยนแปลงพลิกผันพื้นผิวดินซึ่งอยู่ข้างใต้เท้าของเงินดอลลาร์ แต่ว่าเรากำลังบ่ายหน้าไปสู่อะไรบางอย่างซึ่งเวลานี้เพิ่งเริ่มต้นปะติดปะต่อกันรวมตัวกันให้เห็นลางๆ มันจะมีลักษณะแยกออกเป็นเสี่ยงๆ กันมากขึ้น และรวมศูนย์น้อยลง มันจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้าในสกุลเงินตราท้องถิ่นกันมากขึ้น, มีการใช้ระบบการชำระเงินและระบบการชำระหนี้ที่แตกต่างกันหลากหลายเพิ่มมากขึ้น –และในท้ายที่สุดก็ไปสู่การมีสถาบันทางการเงินและสถาบันทางการพัฒนาที่แตกต่างกันหลากหลายเพิ่มมากขึ้นด้วย พวกเครือข่ายทางการเงินจะผูกพันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับการไหลเวียนของการค้าและกับความเป็นกลุ่มพันธมิตรกันในทางภูมิรัฐศาสตร์ มีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะมีธนาคารกลางมากขึ้น ซึ่งรวมตัวเข้าอยู่ในพวกเครือข่ายธนาคารกลางที่ตัดขาดออกมาจากพวกสถาบันของฝ่ายตะวันตกและเงินดอลลาร์อย่างสมบูรณ์แบบ
ภายในโลกที่กำลังเชื้อเชิญหว่านเสน่ห์ดึงดูดเช่นนี้แหละ ที่เงินหยวนจึงจะสามารถยืนผงาดขึ้นมาได้
เฮนรี จอห์นสตันเป็นบรรณาธิการคนหนึ่งของ อาร์ที (RT) เครือข่ายข่าวโทรทัศน์ระหว่างประเทศที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลรัสเซีย เขาเคยทำงานทางด้านการเงินมาเป็นเวลากว่าสิบปี และเป็นผู้สอบได้ใบอนุญาต FINRA Series 7 และ Series 24
เชิงอรรถ
[1] https://corporatenetwork.com/the-dollar-is-our-currency-but-its-your-problem/#:~:text=As%20far%20back%20as%20the,%2C%20but%20it's%20your%20problem.%E2%80%9D
[2] https://www.economist.com/finance-and-economics/2017/10/14/the-internationalisation-of-chinas-currency-has-stalled
[3]https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-07-03/zoltan-pozsar-explains-the-coming-monetary-divorce
(อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่
https://www.rt.com/business/590794-yuan-dollar-global-dominance/)