xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ประชุม MLC ชงความก้าวหน้าสามอนาคต ทั้งกายภาพ แก้ปัญหาความมั่นคงใหม่ สร้างโอกาสเติบโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เศรษฐา” ประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ครั้งที่ 4 เสนอ Advancement of Three Futures พัฒนาการเชื่อมโยงด้านกายภาพ แก้ปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ร่วมกัน และสร้างโอกาสเติบโตใหม่

วันนี้ (25 ธ.ค.) เวลา 15.30 ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 4 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ภายใต้หัวข้อ “Join Hands on the Building of a Community of Shared Future and Modernization among Mekong-Lancang Countries” ซึ่งมีจีนและเมียนมาเป็นประธานร่วม โดยเมื่อเสร็จสิ้น นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยสาระสำคัญการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเกียรติในการประชุมผู้นำ the 4th Mekong-Lancang Cooperation (MLC) ซึ่งถือเป็นครั้งที่เปิดโอกาสให้ทบทวนความคืบหน้าและหารือเกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของ MLC โดยชื่นชมความก้าวหน้าของ MLC ทั้ง 3 เสาความร่วมมือ และ 5 สาขาความร่วมมือหลักมาอย่างต่อเนื่อง ขอบคุณจีนสำหรับการสนับสนุนต่อกองทุนพิเศษ MLC (Mekong-Lancang Cooperation Special Fund) ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งด้านการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน เศรษฐกิจและการค้าข้ามแดน การเกษตร สาธารณสุข และความมั่นคงทางอาหาร

ซึ่งนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า MLC ควรเสริมสร้างความเป็นผู้นำร่วมกัน สร้างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่มีสันติภาพและเจริญรุ่งเรือง และได้เสนอ “ความก้าวหน้าของสามอนาคต Advancement of Three Futures” เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

1. MLC จำเป็นต้องพัฒนาความร่วมมือในการเชื่อมต่อด้านกายภาพ ส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนุภูมิภาคและภูมิภาค ต่อยอดเครือข่ายความเชื่อมโยงภายใต้ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ระเบียงการพัฒนาเศรษฐกิจแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Economic Development Belt) และระเบียงการค้าระหว่างประเทศทางบกและทางทะเลแห่งใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor) เพื่อเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาค

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงภูมิภาค โครงการ Landbridge จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่ออ่าวไทยกับมหาสมุทรอินเดีย โครงการนี้จะเป็นประตูสู่ตลาดโลกและห่วงโซ่คุณค่าสําหรับอนุภูมิภาค และได้เชิญชวนให้จีนมีส่วนร่วมในการลงทุนกับโครงการนี้ โดยพร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นที่จะเร่งก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพื่อเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว รวมทั้ง ส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ พัฒนาตามแนวชายแดนและการอำนวยความสะดวกการค้าชายแดน และการค้าข้ามแดน เสริมสร้างการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว (one stop service) การสร้างพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (common control areas) ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจแบบไร้รอยต่อจะช่วยให้การขนส่งสินค้าเกษตรและการไปมาหาสู่กันดำเนินได้อย่างรวดเร็ว กระตุ้นเศรษฐกิจของพื้นที่ชายแดน

2. แก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ร่วมกัน โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ การหลอกลวงทางโทรคมนาคม และการฉ้อโกงออนไลน์ เพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และความมั่นคงของชาติของเรา ซึ่งรวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมลภาวะหมอกควันข้ามแดน พัฒนา ‘ข้อริเริ่มอากาศสะอาด’ ภายใต้กรอบความร่วมมือ MLC เพื่อรักษาสุขภาพและสวัสดิภาพของประชาชน รวมทั้ง ความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ ผ่านการประสานงานระหว่างศูนย์ความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Water Resources Cooperation Center) กับสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat)

3. สร้างโอกาสการเติบโตใหม่ ไทยสนับสนุนการพัฒนาระเบียงนวัตกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC innovation corridor) สร้างระบบนิเวศให้นวัตกรรม การเติบโตที่ยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านสีเขียว โดยนายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงคำมั่นที่ได้ประกาศในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อเดือนกันยายน ว่า ประเทศไทยจะยกระดับความพยายามในการส่งเสริมการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และส่งเสริมการดำเนินการที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (climate actions) ทั้งนี้ รวมทั้งการตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศสมาชิกฯ เป็นสองเท่าภายใน 2 ปีข้างหน้า ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในภูมิภาค ให้ความปลอดภัยและการคุ้มครองด้านกงสุลแก่นักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ในฐานะที่ไทยจะรับตำแหน่งประธานร่วม (ในห้วงปี 2567-2568) ในการประชุมครั้งนี้ ไทยพร้อมทำงานอย่างใกล้ชิดกับทุกประเทศ ขับเคลื่อนวาระของกรอบความร่วมมือ MLC ส่งเสริมความร่วมมือกับ ACMECS เพื่อสนับสนุนการพัฒนาของอนุภูมิภาคให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และนายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้ร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในอนุภูมิภาค

อนึ่ง กรอบ MLC พัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยเมื่อปี 2555 โดยประกอบด้วย 3 เสาความร่วมมือ ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน และสังคมและวัฒนธรรม โดยมี 5 สาขา ความร่วมมือหลัก ได้แก่ ความเชื่อมโยง ศักยภาพในการผลิต เศรษฐกิจข้ามพรมแดน ทรัพยากรน้ำ และการเกษตรขจัดความยากจน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีเอกสารผลลัพธ์ ได้แก่ 1) ปฏิญญาเนปยีดอ 2) แผนดำเนินการระยะ 5 ปี ของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (ค.ศ. 2023-2027) และ 3) ข้อริเริ่มร่วมเรื่องการพัฒนาระเบียงนวัตกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขงล้านช้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น