xs
xsm
sm
md
lg

สุดอึ้ง! ภาพดาวเทียมใหม่พบ “ฐานทัพเรือเรียม” ฐานลับทหารจีนในกัมพูชาใกล้ตราด "ผุดท่าจอดเรือบรรทุกเครื่องบิน" ผู้เชี่ยวชาญเตือน “ไทย” ระวังให้ดีพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - ภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดแสดงให้เห็นการเติบโตของฐานทัพเรือเรียมที่ได้ทุนจีนทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชาว่ามีความก้าวหน้าและดูมีราคาแพงและมีความสามารถกว่าตามแผนเดิม ท่ามกลางการเผชิญหน้าระหว่างปักกิ่ง-วอชิงตัน ผู้เชี่ยวชาญเตือนไทยให้จับตาความเคลื่อนไหวฐานทัพทุนจีนใกล้จังหวัดตราดไว้ให้ดี หลังกัมพูชาได้จีนเพิ่มสมรรถนะทางทะเล ห่วงพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

เรดิโอฟรีเอเชียรายงานวันพุธ (15 พ.ย.) ว่า ภาพถ่ายดาวเทียมที่ถูกถ่ายไว้ในวันจันทร์ (13) พบความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่เห็นสะพานยาวที่สามารถให้เรือบรรทุกเครื่องบินเข้ามาจอดทอดสมอได้เกิดขึ้นภายในฐานทัพเรือเรียม (Ream Base) ตั้งอยู่ในจังหวัดพระสีหนุ (Preah Sihanouk) ห่างจากจังหวัดตราดออกไปทางทะเลแค่ 200 กม. และห่างออกไปไม่ถึง 30 กม.จากเกาะฟู้ก๊วก (Phu Quoc island) ของเวียดนาม

ฐานทัพเรือเรียมแห่งนี้ได้รับเงินทุนจีนเข้ามาพัฒนา และสหรัฐฯ วิตกว่าปักกิ่งจะเข้ามาใช้ทางการทหาร แต่ทว่าทั้งปักกิ่งและพนมเปญต่างออกมาปฏิเสธเสียงแข็ง

เรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่า มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในการพัฒนาฐานทัพเรือแห่งนี้ใน 1 ปีที่ผ่านมา อ้างอิงจากภาพถ่ายดาวเทียม

นับตั้งแต่กรกฎาคมที่ผ่านมา สื่อสหรัฐฯ ได้รายงานถึงการผุดของสะพานยาวตรงกลางฐานทางตะวันตกที่สามารถให้เรือบรรทุกเครื่องบินเข้ามาจอดได้ มีการถมทะเลออกไปเพิ่มขึ้น และมีการก่อสร้างเพิ่มขึ้น

“พวกเขาเคลียร์พื้นที่เพิ่มมากขึ้นทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของฐานทัพ” ทอม ชูการ์ต (Tom Shugart) นักวิเคราะห์ทางการเมืองประจำโครงการการป้องกันที่สถาบันธิงแทงก์ศูนย์เพื่อความมั่นคงใหม่ของอเมริกา (Center for a New American Security)

ชูการ์ตเป็นผู้ติดตามการก่อสร้างฐานทัพเรือเรียมจากเงินทุนของปักกิ่งมาตั้งแต่ต้น เปิดเผยว่าพื้นที่ใหม่ที่มีการขยายออกไปอยู่ราว 75 เอเคอร์

ซึ่งสะพานยาวสำหรับเรือบรรทุกเครื่องบินที่กองทัพกัมพูชายังไม่มีประจำกองทัพปรากฏในภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดของบริษัท Planet Labs

ชูการ์ตกล่าวต่อว่า “ด้านยาวของสะพานคือ 330 เมตร (มากพอที่จะให้เรือบรรทุกเครื่องบินจีนเข้ามาจอดได้) และด้านยาวน้อยกว่าคือ 250 เมตรนั้นเพียงพอสำหรับเรือรบประเภทอื่นๆ ของกองทัพจีน PLA เข้ามาเทียบท่า

ตามภาพถ่ายดาวเทียมผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า “แท็งก์เก็บเชื้อเพลิง 4 แท็งก์กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างทางตะวันออกของฐานทัพ ซึ่งแต่ละอันมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 20 เมตร

และมีอาคารสำนักงานจำนวนหนึ่งรวมไปถึง ที่พักทหาร อาคารสำนักงานฐานทัพ และห้องเชิงปฏิบัติการ ปรากฏกลางฐานทัพและทิศตะวันตกเฉียงเหนือของฐานทัพ

เรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่า ถือเป็นการก่อสร้างพัฒนาอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายนปี 2022 ที่มีการทำพิธีเปิดฐานทัพเรือเรียมแห่งนี้ โดยมีรัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชาและเอกอัครราชทูตจีนอยู่ในพิธี

มีความเป็นไปได้ว่าฐานทัพเรียมจะถูกใช้เป็นฐานทัพเรือเชิงยุทธศาสตร์ของปักกิ่งแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลายเป็นฐานทัพนอกประเทศแห่งที่ 2 ของจีน

เอช.ไอ.ซัตตัน (H.I. Sutton) บล็อกเกอร์ทางการทหารชื่อดังกล่าวแสดงความเห็นในเว็บไซต์ Naval News ว่า ฐานทัพเรียมนั้นดูมีราคาแพงมากกว่าเดิมและมีความสามารถมากกว่าตามรายงานก่อนหน้าที่เคยชี้

เขากล่าวในบทความว่า ฐานทัพเรียมดูมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งตามความเห็นเขามองว่าเป็น 1 ในไม่กี่แห่งตลอดทั้งมหาสมุทรอินเดีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

“สงครามในยูเครนเตือนให้เรารู้ว่าความสามารถในการซ่อมบำรุงและการซ่อมแซมเรือรบนั้นมีความสำคัญต่อการสู้รบระยะยาว” และกล่าวต่อว่า “จีนไม่ต้องการเผชิญหน้าต่อความท้าทายที่รัสเซียกำลังประสบในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน”

ซึ่งขนาดของฐานและการก่อสร้างชี้ให้เห็นว่าไม่ได้ถูกออกแบบสำหรับกองทัพเรือกัมพูชาที่ใช้เรือรบขนาดเล็ก และแทบจะไม่มีเรือรบที่มีความยาวเกินกว่า 50 เมตร

ส่งผลทำให้ซัตตันสรุปว่า อย่างแทบไม่ต้องสงสัยว่าฐานทัพเรือเรียมนี้เป็นฐานทัพเรือจีนนอกประเทศ

รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช (Assoc.Prof. Dr. Dulyapak Preecharush) ประจำสถาบันอาเซียนศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องนี้ว่า “ไทยสมควรที่ต้องวิตกต่อสิ่งนี้”

ในการให้สัมภาษณ์ ดร.ดุลยภาค เปิดเผยว่า “ฐานทัพอาจเพิ่มความสามารถทางนาวีของกัมพูชาต่อพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชาในอ่าวไทย”

พร้อมกันนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังชี้ว่านี่ถือเป็นพื้นที่สำคัญที่มีทรัพยากรธรรมชาติและน้ำมันอยู่

เรดิโอฟรีเอเชียรายงานว่า ไทยและกัมพูชามีพื้นที่พิพาททับซ้อนทางทะเลระหว่างกันราว 26,000 ตารางกิโลเมตรในอ่าวไทย และที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศอยู่ในระหว่างการหารือถึงพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน

ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เตือนต่อว่า “ในอนาคตฐานทัพแห่งนี้อาจเป็นภัยคุกคามทางความมั่นคงทางทะเลต่อไทย” พร้อมเสริมว่าทั้งฐานทัพเรียมและเขตเศรษฐกิจพิเศษดาราสาคร (Dara Sakor) นั้นไม่ห่างจากสนามบินอู่ตะเภาของไทยที่สร้างโดยกองทัพสหรัฐฯ ในยุคสงครามเย็น

ดร.ดุลยภาค กล่าวต่อว่า “การเข้ามามีอิทธิพลเชิงยุทธศาสตร์ในกัมพูชาและที่อ่าวไทยสามารถยั่วยุให้สหรัฐฯ เพิ่มความเกี่ยวพันเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้นกับไทยในการถ่วงดุลกับจีนที่เป็นผลมาจากการปรับความสมดุลทางยุทธศาสตร์ของไทยที่มีต่อชาติมหาอำนาจทั้งสอง”

สื่อดิพโพลแมตรายงานวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลไทยมีเหตุผลทางด้านความมั่นคงที่ต้องวิตกถึงความก้าวหน้าทางนาวีของกัมพูชาจากปัญหาพื้นที่ทับซ้อนที่มีร่วมกัน ซึ่งอย่างไรก็ตาม สื่อเชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศชี้ว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยมองการปรับปรุงฐานทัพเรียมของกัมพูชาให้มีความทันสมัยมากขึ้นนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากการลงทุนสนับสนุนโปรเจกต์จากจีนที่เกิดขึ้นไปตามแนวชายฝั่งกัมพูชา

โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษดาราสาคร ซึ่งบนเว็บไซต์กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของไทยได้กล่าวถึงโครงการโครงการดาราสาคร (Dara Sakor) ว่า เป็นโครงการตามยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีนอยู่บนจังหวัดเกาะกงใกล้กับจังหวัดตราด

โดยรัฐบาลกัมพูชาได้ลงนามในข้อตกลงการพัฒนากับ Union Development Group (UDG) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัท Tianjin Wanlong Group ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน เมื่อปี 2551 เพื่อสร้างโครงการเขตทดลองการพัฒนาแบบบูรณาการระหว่างจีนกับกัมพูชา (Cambodia - China Comprehensive Investment and Development Pilot Zone) ขึ้น ซึ่งตามการมองของรัฐบาลไทยมองว่าเป็นการลงทุนทางเศรษฐกิจตามปกติ แต่ทว่าภายในโครงการนี้มีการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติดาราสาคร (Dara Sakor International Airport) อยู่ด้านใน ซึ่งสื่อดิพโพลแมตมองว่า โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้สามารถถูกนำมาใช้ในทางการทหารได้

สื่อผู้เชี่ยวชาญนโยบายต่างประเทศมองว่า ในเชิงการแข่งขันโครงการเศรษฐกิจพิเศษดาราสาครจะเป็นคู่แข่งโครงการอีสทิร์น อีโคโนมิก คอร์ริดอร์ หรือ EEC ของไทย ที่นั้นเสียเปรียบในแง่ไทยมีค่าแรงแพงกว่าและจะเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้นหลังการปรับค่าแรงครั้งใหญ่ปีนี้








กำลังโหลดความคิดเห็น