(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Wider European war on the horizon
By STEPHEN BRYEN
13/06/2024
พวกนักยุทธศาสตร์ของนาโต้ดูเหมือนคิดเห็นกันว่า ในรัสเซียกำลังมีแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ยุติการบุกยูเครนและหันมาหาทางให้มีการหยุดยิง ทว่าพวกเขาน่าจะผิดพลาดครั้งใหญ่เสียแล้ว
มีอันตรายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องที่สงครามยูเครนกำลังแผ่ลามออกไปในยุโรป ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามระดับทั่วยุโรปขึ้นมาไม่เคยพุ่งสูงเท่านี้มาก่อนเลย
ความเห็นชนิดเป็นฉันทามติกันโดยทั่วไปในหมู่พวกผู้เชี่ยวชาญการทหารก็คือว่า ยูเครนกำลังพ่ายแพ้สงครามสู้รบกับรัสเซียนี้ แม้จะเป็นไปอย่างช้าๆ ทว่าไม่สามารถยับยั้งได้ แต่เรื่องนี้จะมีความหมายอะไรกันบ้าง?
พิจารณากันตามเนื้อผ้าแล้ว ยูเครนไม่ได้มีทหารจำนวนมากเพียงพอที่จะสู้รบกับฝ่ายรัสเซียได้อย่างต่อเนื่องต่อไปอีกแล้ว อัตราการเผาผลาญทุนทางด้านกำลังพลของยูเครน อยู่ในระดับหลายร้อยคนต่อวัน และสมรภูมิในเวลานี้ถูกบรรยายกันว่าเป็น “เครื่องบดเนื้อ” เนื่องจากตัวเลขการบาดเจ็บล้มตายที่สูงลิ่ว
รัสเซียนั้นมีกองกำลังสำรองขนาดใหญ่ของเหล่านักรบที่ผ่านการฝึกมาแล้ว โดยประมาณการกันว่าอยู่ในราวๆ ครึ่งล้านคน ส่วนยูเครนแทบไม่เหลือกำลังสำรองใดๆ ที่ยังไม่ได้ถูกนำเอามาเข้าประจำการแล้ว
กระนั้นก็ตาม ยุทธศาสตร์เพื่อปิดเกมของรัสเซียกลับยังคงคลุมเครือไร้ความชัดเจน บางครั้งฝ่ายรัสเซียบอกว่าพวกเขาต้องการที่จะสร้าง “เขตพื้นที่กันชน” ขึ้นมาเพื่อปกป้องคุ้มครองดินแดนของรัสเซียไม่ให้ถูกโจมตี
อย่างไรก็ดี ด้วยการนำเอาพวกขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) และขีปนาวุธร่อน (cruise missile) ที่มีพิสัยยิงได้ไปไกลๆ เข้ามาใช้กันในยูเครน ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่รัสเซียจะสร้างพื้นที่กันชนซึ่งมีประสิทธิภาพ ยกเว้นมันจะแผ่ขยายออกไปจนเกือบจะถึงแม่น้ำดนิเปอร์ (Dnieper River) กระทั่งถึงขนาดนั้นแล้ว เขตกันชนที่ว่าก็จะยังไม่สามารถปกป้องแคว้นซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia) หรือคาบสมุทรไครเมีย (Crimea) ได้อยู่นั่นเอง
นาโต้เวลานี้กำลังนำเอาเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 เข้ามาในยูเครน โดยที่มีรายงานระบุว่าจะให้ปฏิบัติการจากพวกสนามบินในโรมาเนีย เอฟ-16 เหล่านี้จะติดตั้งขีปนาวุธร่อน JASSM ที่มีพิสัยยิงไปได้ไกล และขีปนาวุธชนิดยิงจากอากาศสู่อากาศแบบ AIM-120
รัสเซียจะรู้สึกว่าจำเป็นต้องทำลายการปฏิบัติการของ เอฟ-16 จากพวกฐานทัพอากาศในโรมาเนียเช่นนี้หรือไม่ หรือว่านาโต้จะระงับแนวความคิดใช้สนามบินเหล่านี้ในการปล่อย เอฟ-16 ขึ้นสู่ฟากฟ้าบินฝ่าวงล้อมศัตรูออกไปปฏิบัติการโจมตีถึงดินแดนรัสเซียเสียแล้ว ทั้งนี้มีบางฝ่ายบางคนคาดการณ์กันเอาไว้ว่า พิจารณาจากสถานที่ตั้งดังกล่าวนี้ เป้าหมายที่จะถูกเล็งถล่มโจมตี ย่อมเป็นคาบสมุทรไครเมียนั่นเอง
ไครเมียถือเป็นจุดอ่อนไหวอย่างยิ่งยวดของรัสเซีย เมื่อเร็วๆ นี้ ยูเครนได้เปิดฉากซัลโวหนักหน่วงด้วยขีปนาวุธพิสัยทำการไกลๆ ใส่พวกเป้าหมายในคาบสมุทรแห่งนี้ โดยครอบคลุมทั้งประดาสนามบินและท่าเรือต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองเซวาสโตโปล (Sevastopol) เชื่อกันว่าอีกไม่ช้าไม่นาน ยูเครนยังจะพยายามทำลายสะพานเคิร์ช (Kerch bridge) อีกคำรบหนึ่ง
(เมืองเซวาสโตโปล Sevastopol เป็นเมืองใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรไครเมีย และเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งในทะเลดำ เมืองนี้มีฐานะเป็นท่าเรือและฐานทัพเรือแห่งสำคัญมาโดยตลอด ทั้งนี้ตั้งแต่ที่เมืองเซวาสโตโปลได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี 1783 มันก็เป็นฐานทัพสำคัญของกองเรือทะเลดำ ของรัสเซียเรื่อยๆ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Sevastopol)
(สะพานเคิร์ช Kerch bridge หรือ สะพานข้ามช่องแคบเคิร์ช Kerch Strait Bridge หรือบางทีเรียกว่า สะพานไครเมีย Crimean Bridge เป็นสะพานข้ามช่องแคบเคิร์ช ระหว่างแหลมตามัน Taman Peninsulaในรัสเซีย กับแหลมเคิร์ช Kerch Strait ของไครเมีย สะพานนี้มีลักษณะเป็นสะพานคู่ขนานกัน 2 สะพาน โดยสะพานหนึ่งเป็นถนน 4 เลน ส่วนอีกสะพานหนึ่งเป็นทางรถไฟรางคู่ รัสเซียสร้างสะพานแห่งนี้ขึ้นในปี 2014 หลังจากผนวกไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตน ตัวสะพานมีความยาว 19 กิโลเมตร ถือเป็นสะพานยาวที่สุดในยุโรป ในระหว่างสงครามรัสเซียรุกรานยูเครน สะพานนี้ถูกโจมตีมาแล้วหลายครั้ง โดยที่ยูเครนอ้างว่าเป็นฝีมือของฝ่ายตน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Crimean_Bridge)
ขีปนาวุธเหล่านี้ส่วนใหญ่ที่สุดนาโต้คือผู้ที่จัดหาให้ (และส่วนใหญ่ที่สุดแล้วเป็นขีปนาวุธอเมริกัน) และขีปนาวุธพวกนี้ทั้งหมดล้วนแล้วแต่กำหนดเป้าหมายสำหรับเข้าโจมตี โดยอิงอยู่กับพิกัดที่ได้รับแจ้งจากนาโต้
นาโต้นั้นใช้ทั้งเครื่องบินสอดแนม, เรดาร์พิสัยไกล, และดาวเทียม เพื่อระบุพิกัดที่ถูกต้องแม่นยำให้แก่พวกลูกค้าชาวยูเครนของพวกเขา เท่าที่ผ่านมาฝ่ายรัสเซียที่ต้องพึ่งพาอาศัยการป้องกันภัยทางอากาศเพื่อพยายามขจัดปัดเป่าไม่ให้ตนเองต้องประสบกับความเสียหายส่วนใหญ่ที่สุด จนถึงตอนนี้ยังคงค่อนข้างเงียบเชียบไม่ค่อยได้แสดงปฏิกิริยาอะไรกับการโจมตีเหล่านี้
การโจมตีไครเมียเช่นนี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางทหารที่แท้จริงใดๆ เนื่องจากยูเครนขาดแคลนกองกำลังภาคพื้นดินที่จำเป็นสำหรับการสู้รบเปิดสมรภูมิอย่างจริงจังขึ้นที่นั่น แนวความคิดจึงมีอยู่เพียงว่าเพื่อสร้างความอับอายขายหน้าให้แก่ฝ่ายรัสเซีย ทว่าผลลัพธ์ที่ออกมาบางทีอาจจะเป็นตรงกันข้าม
ขณะที่แรงกดดันเช่นนี้ทวีขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นที่คาดหมายได้ว่ารัสเซียอาจตอบโต้ด้วยการใช้กำลังโจมตีกลับอย่างดุโหดรุนแรง ถ้าหากไม่ใช่การเข้าโจมตีเมืองคาร์คิฟ ก็อาจจะเป็นเมืองโอเดสซา หรือกรุงเคียฟ หรือไม่ก็บางส่วนหรือกระทั่งทั้งหมดของที่กล่าวมาข้างต้นนี้
รัสเซียนั้นมีจรวดที่มีพิสัยยิงได้ไกลๆ ในจำนวนมากมายกว่าที่นาโต้สามารถจัดหาจัดส่งให้แก่ยูเครน ขณะที่ทางฝ่ายเคียฟเองก็ไม่ได้มีการป้องกันภัยทางอากาศหลงเหลืออยู่ในระดับที่เพียงพอให้สามารถพิทักษ์คุ้มครองเมืองใหญ่ต่างๆ ของตนให้พ้นจากความหายนะ ดังนี้แล้ว ยุทธศาสตร์ของนาโต้คืออะไรกันแน่ นอกเหนือจากการมุ่งลงโทษรัสเซียให้ได้ขณะที่ยูเครนยังคงกำลังพ่ายแพ้ในสงคราม?
มันดูเหมือนกับว่านาโต้กำลังพยายามทำให้ฝ่ายรัสเซียเกิดความแน่ใจว่า พวกเขาจะต้องจ่ายด้วยราคาแพงลิบลิ่วสำหรับการทำให้ยูเครนปราชัย บางฝ่ายบางคนในนาโต้อาจคิดว่าการยืนหยัดเช่นนี้จะทำให้เกิดแรงกดดันเพิ่มขึ้นภายในรัสเซีย ซึ่งต้องการที่จะให้แดนหมีขาวถอยออกมาและยุติการปฏิบัติการรุกโจมตีล่าสุดของพวกเขา แม้กระทั่งอาจจะมองหาทางให้มีการหยุดยิง
ทว่าโชคร้าย มันไม่มีเหตุผลใดๆ เอาเลยที่จะทำให้เชื่อได้ว่า สามารถบีบคั้นรัสเซียจนเกิดความตระหนักแน่แก่ใจขึ้นมาและระงับการปฏิบัติการโจมตียูเครนของพวกเขา หรือหันมาพิจารณาเรื่องการหยุดยิง โดยที่เรื่องหลังนี้ถึงแม้มีการพูดจากันมากมาย แต่ก็อยู่ในลักษณะที่จะออกมาในทางทำให้ยูเครนเป็นฝ่ายได้เปรียบ ไม่ใช่ฝ่ายรัสเซีย
น่าสังเกตว่า ฝ่ายรัสเซียเพิ่งส่ง “สาร” ของพวกเขาเองไปยังวอชิงตันด้วยเหมือนกัน โดยการจัดส่งกองเรือรบและเรือดำน้ำนิวเคลียร์ไปยังคิวบา
วอชิงตันจะได้รับสารดังกล่าวและบังเกิดความเข้าใจตามที่ฝ่ายรัสเซียต้องการหรือไม่นั้น ไม่มีความชัดเจน ว่ากันที่สัตย์ที่จริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างชี้ไปในทิศทางตรงกันข้ามเสียมากกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างกระจ่างในเวลานี้ก็คือ รัสเซียกำลังเพิ่มความโกรธเกรี้ยวมากขึ้นเรื่อยๆ จากการโจมตีใส่ดินแดนของพวกเขาและการโจมตีใส่ไครเมีย
แรงกดดันจริงๆ ที่เกิดขึ้นภายในคณะผู้นำรัสเซีย จึงกลายเป็นเรื่องของการต้องยกระดับเพิ่มขึ้นอย่างสำคัญสำหรับการโจมตีใส่พวกเป้าหมายต่างๆ ของฝ่ายยูเครน “สาร” เหล่านี้ได้ถูกส่งผ่านแลกเปลี่ยนกันในการพบปะหารือแบบภายในหลายๆ ครั้งในเดือนนี้ระหว่างการประชุมซัมมิตทางเศรษฐกิจเซนต์ปิเตอร์สเบิร์ก ที่เมืองเซนต์ปิเตอร์สเบิร์ก ของรัสเซีย
ตัวปูตินเองยังไม่ได้พูดออกมา อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ได้ประกาศออกมาดังๆ แต่สำหรับพวกระดับถัดลงมาในคณะผู้นำของรัสเซียนั้น กำลังส่งเสียงแสดงความโกรธเกรี้ยวและความหงุดหงิดไม่พอใจ โดยที่กำลังมองหาทางระเบิดใส่ทั้งฝ่ายยูเครนและทั้งนาโต้
พวกผู้นำยุโรปบางส่วน ที่กำลังสูญเสียความสนับสนุนทางทางการเมืองอย่างน่ากลัวอันตรายภายในบ้านของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส อาจเลือกที่จะให้เกิดสงครามขนาดใหญ่โตยิ่งขึ้น ในความพยายามที่จะพลิกผันมติมหาชนให้เปลี่ยนมาในทางเป็นประโยชน์แก่พวกเขา
การจัดส่งกองทหารและการเสนอจัดส่งเครื่องบินขับไล่ตลอดจนอาวุธต่างๆ สามารถที่จะถูกตีความได้ว่าเป็นความมุ่งหมายอย่างเจตนาที่จะไปสู่สงครามยุโรปซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางยิ่งขึ้น ข้อเท็จจริงก็คือ การที่สหรัฐฯดูเหมือนกำลังอยู่เบื้องหลังการใช้ฐานทัพต่างๆ ในโรมาเนียสำหรับการปฏิบัติการของ เอฟ-16 อาจจะเป็นวิธีการของไบเดนที่จะก่อสงครามขึ้นในยุโรป และช่วยชีวิตโชคชะตาทางการเมืองที่กำลังจมดิ่งย่ำแย่ของเขา
(หรือไม่บางที ไบเดน อาจจะไม่ได้รู้อะไรเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่พวกที่คอยดูแลแนะนำเขาคือพวกที่ปรุงยุทธศาสตร์ “ใหม่” ชนิดนี้ขึ้นมา ด้วยความหวังที่จะรักษารูปทรงหน้าตาของนายใหญ่ของพวกเขาเอาไว้)
แนวความคิดเช่นนี้เป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากพลังในการป้องกันตั้งรับศึกสงครามของนาโต้นั้น อยู่ในสภาพที่อ่อนเปราะอย่างน่าละอาย การนำเอากลุ่มพันธมิตรนี้และอนาคตของยุโรปมาเสี่ยงภัยเช่นนี้ เพื่อเป็นหนทางที่จะได้อยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก ในตัวมันเองคือเรื่องที่น่าอัปยศอดสู และบางทีอาจเข้าขั้นเป็นอาชญากรรมทีเดียว ถ้าหากเป็นความจริง
ในเวลาเดียวกันนั้น มันไม่ได้มีเครื่องพิสูจน์ยืนยันใดๆ เลยว่า มติมหาชนจะสนับสนุนสงครามที่ขยายตัวใหญ่โตขึ้นมา ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เป็นไปได้มากยิ่งกว่าก็คือว่า ความรู้สึกต่อต้านสงครามในยุโรปที่ถูกเหนี่ยวรั้งยับยั้งเอาไว้ จะถึงขั้นเกิดระบิดตูมตามขึ้นมา ทั้งจากฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย และบางทีกระทั่งจากฝ่ายกลางด้วยซ้ำ
นาโต้กำลังขยับใกล้อันตรายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในการเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นกลุ่มพันธมิตรของผู้รุกราน อันจะนำมาซึ่งการแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ ของกลุ่มพันธมิตรนี้ และการที่องค์การนี้จะถูกปฏิเสธไม่เป็นที่ยอมรับ
สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้สื่อข่าวอาวุโสอยู่ที่เอเชียไทมส์ เขาเคยทำงานเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ
ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน
หมายเหตุผู้แปล
มีรายงานข่าวเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ว่า สหรัฐฯไม่เอาแล้วกับแผนการนำเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16
ซึ่งกำลังจัดส่งไปให้ยูเครนอย่างน้อยจำนวนหนึ่งไปประจำการอยู่นอกยูเครน โดยทางเจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาวออกมาพูดเรื่องนี้อย่างชัดเจน จึงขอรวบรวมและเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติมในที่นี้ ดังนี้:
ไม่เอาแล้ว! แผนการนำ เอฟ-16 ไปประจำนอกยูเครน‘ทำเนียบขาว’แถลงชัดเจน หลัง‘รัสเซีย’ขู่หนักสงครามจะลุกลามบานปลาย
โดย อาร์ที,สำนักข่าวแห่งชาติชาวยูเครน,ยูโรเมดาน เพรส
19/06/2024
เครื่องบินรบ เอฟ-16 ที่วอชิงตันกำลังจัดส่งไปให้เคียฟ จะประจำอยู่ในดินแดนของยูเครน ไม่ใช่ในประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นรัฐสมาชิกองค์การนาโต้ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ประกาศเรื่องนี้ระหว่างให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ข่าวพีบีเอส (PBS) ในสหรัฐฯ ทั้งนี้ตามรายงานข่าวทั้งจากสื่อรัสเซียและสื่อยูเครน
อาร์ที สื่อของทางการรัสเซียบอกว่า ซัลลิแวนเปิดเผยแผนการนี้กับพีบีเอส หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ได้ลงนามกันในข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคีอายุ 10 ปีเมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเนื้อหาสำคัญของข้อตกลงฉบับนี้ วอชิงตันให้คำมั่นสัญญาที่จะหนุนหลังเคียฟอย่างต่อเนื่องในการสู้รบขัดแย้งกับมอสโก
เซเลนสกี ประกาศภายหลังการลงนามในข้อตกลงดังกล่าวว่า สหรัฐฯได้ให้สัญญาที่จะจัดหาจัดส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้แก่ยูเครน ไม่ใช่เพียงแค่พวกระบบป้องกันภัยทางอากาศ “แพตริออต” เท่านั้น แต่ยังพวกเครื่องบินขับไล่ไอพ่น “เป็นฝูงๆ” ซึ่งประกอบด้วย เอฟ -16 ตลอดจนเครื่องบินรุ่นอื่นๆ
นอกจากสหรัฐฯแล้ว ยังมีเบลเยียม, เดนมาร์ก, นอร์เวย์, และเนเธอร์แลนด์ ที่ได้ให้คำมั่นสัญญาจัดส่งเครื่องบิน เอฟ-16 ซึ่งรวมๆ กันแล้วอาจจะเป็นจำนวนถึง 60 ลำ ให้แก่ยูเครน ภายในสิ้นปีนี้ โดยที่เคียฟได้พูดเอาไว้ในหลายๆ วาระโอกาส บ่งชี้ว่าเครื่องบินขับไล่ซึ่งฝ่ายตะวันตกจัดส่งให้เหล่านี้ อาจจะไปประจำอยู่นอกยูเครน ในดินแดนของพวกประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นสมาชิกนาโต้ ซึ่งจะทำให้เครื่องบินเหล่านี้อยู่ใน “ความปลอดภัย”
ขณะที่รายงานของสำนักข่าวแห่งชาติชาวยูเครน (Ukrainian National News หรือUNN) ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เมื่อถูกผู้สัมภาษณ์ของพีบีเอสถามว่า “ยูเครนได้บ่งชี้แสดงท่าทีอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะว่า เอฟ-16 ที่พวกเขาจะเริ่มได้รับในอนาคตอันใกล้นี้ จะถูกนำไปประจำอยู่นอกยูเครน ไม่ทราบว่าตามแผนการดังกล่าว จะนำเอา เอฟ-16 ไปประจำการในประเทศนาโต้รายหนึ่งใช่หรือไม่?
ซัลลิแวนตอบว่า ตามแผนการแล้วจะมีการเอา เอฟ-16 เหล่านี้ไปไว้ในยูเครน และตามข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคีที่ท่านประธานาธิบดี (คือ โจ ไบเดน) กับประธานาธิบดีเซเลนสกี ได้ลงนามกันไป ก็ยิ่งเน้นย้ำในเรื่องนี้ นั่นคือเราต้องการช่วยเหลือยูเครนให้มีสมรรถนะนี้ (มี เอฟ-16) มันจึงควรเป็นสมรรถนะที่ตั้งประจำอยู่ในยูเครน
ทางด้านยูโรเมดาน เพรส (Euromaidan Press)สื่อยูเครนอีกรายหนึ่งรายงานว่า ก่อนที่ซัลลิแวนออกมาบอกกับพีบีเอสคราวนี้ เซอร์ฮีย์ โฮลุบต์ซอฟ (Serhiy Holubtsov) ผู้บัญชาการด้านการบิน แห่งกองบัญชาการกองทัพอากาศยูเครน เคยออกมาพูดว่า เครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 จำนวนหนึ่งที่พวกชาติหุ้นส่วนกำลังส่งมอบมาให้ตามความต้องการของกองทัพยูเครนนั้น จะถูกนำไปเก็บที่ฐานทัพอากาศแห่งต่างๆ ซึ่งมีความปลอดภัย นอกประเทศยูเครน เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องบินเหล่านี้ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของฝ่ายรัสเซีย
ตามการแถลงของ โฮบุบต์ซอฟ สนามบินต่างๆ ภายในประเทศ ซึ่งยุทโธปกรณ์ทางการบินของยูเครนกำลังไปรวมพลกันอยู่ในเวลานี้ ได้ถูกรัสเซียโจมตีแทบจะทุกคืนทั้งจากโดรนและจากขีปนาวุธร่อน รวมแล้วหลายสิบลูก เวลาเดียวกัน ผู้บัญชาการด้านการบินแห่งกองทัพอากาศยูเครนผู้นี้ บอกด้วยว่า ยูเครนเวลานี้มีสนามบินจำนวนหนึ่งสำหรับรองรับ เอฟ-16 อยู่แล้ว และทางกองทัพทราบแล้วถึงจำนวนของเครื่องบินที่จะได้นำเข้าประจำการในปีนี้
ยูโรเมดาน เพรส รายงานด้วยว่า ผู้บัญชาการกองทัพยูเครน โอเลคซานดร์ ซีร์สกี (Oleksandr Syrskyi)
แถลงระบุว่ารัสเซียกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ที่มุ่งเปิดการรุกอย่างดุเดือดเข้มข้นและขยายการปฏิบัติการสู้รบ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำให้กองกำลังของฝ่ายยูเครนอ่อนล้าก่อนการมาถึงของเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16
ตามปากคำของ ซีร์สกี กองทัพรัสเซียเข้าใจดีว่าการป้องกันทางอากาศของยูเครนจะมีความแข็งแรงมากขึ้นอย่างสำคัญ ด้วยการเพิ่มเติมเข้ามาของ เอฟ-16 จึงเป็นการลดทอนโอกาสการประสบความสำเร็จของรัสเซีย
ทั้งนี้ ฝ่ายยูเครนคาดหมายว่า เอฟ-16 ลำแรกๆ จะมาถึงยูเครนในฤดูร้อนนี้ โดยเป็นเครื่องบินที่จัดส่งมาให้จากเนเธอร์แลนด์,เบลเยียม, นอร์เวย์, และเดนมาร์ก
อย่างไรก็ตาม ยูโรเมดาน เพรส รายงานด้วยว่า ยูเครนได้วิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯเมื่อไม่นานมานี้ โดยระบุว่า สหรัฐฯ “กำลังจงใจชะลอ” การฝึกนักบินยูเครนให้สามารถบิน เอฟ-16 ได้ ซึ่งเรื่องนี้เองเป็นเหตุผลที่ทำไมยูเครนจะยังไม่มีนักบินที่ได้รับการฝึกแล้วเป็นจำนวนเพียงพอที่จะขึ้นบินเครื่อง เอฟ-16 ที่จะได้รับมาทั้งหมดได้ เมื่อถึงสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ วอชิงตันอธิบายกับเคียฟว่า มีหลายประเทศที่ต่อแถวอยู่หน้าพวกนักบินยูเครนสำหรับสิทธิในการเข้ารับการฝึก โดยที่สหรัฐฯไม่สามารถทำผิดข้อตกลงผูกพันที่มีอยู่กับประเทศเหล่านั้นได้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ อาร์ทีรายงานรายละเอียดว่า อเล็กซานดรา อุสติโนวา (Aleksandra Ustinova) ประธานคณะกรรมาธิการจัดหาอาวุธของรัฐสภายูเครน ได้กล่าวหาในระหว่างการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เดอะ ไทมส์ ของสหราชอาณาจักร ซึ่งนำมาตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯกำลัง “แก้ตัว” สำหรับการที่ตนเองล้มเหลวไม่อาจเตรียมการเพื่อให้มีนักบินยูเครนในจำนวนเพียงพอขึ้นบิน
เอฟ-16
อาร์ทีบอกว่า เวลานี้พวกนักบินยูเครนกำลังได้รับการฝึกที่สหรัฐฯและเดนมาร์ก ขณะที่มีโปรแกรมฝึกอีกโปรแกรมหนึ่งวางแผนจัดขึ้นที่โรมาเนีย ทว่ายังคงไม่ได้เริ่มต้นกันเลย
อุสติโนวาบอกกับเดอะไทมส์ว่า จนถึงเวลานี้มีนักบินยูเครนเพียง 8 คนเท่านั้นที่เข้ารับการฝึกในสหรัฐฯ ณ ฐานทัพกองกำลังรักษาดินแดนทางอากาศแห่งชาติมอร์ริส (Morris Air National Guard Base) ในเมืองทูซอน รัฐแอริโซนา ขณะทีอีก 12 คนกำลังฝึกอยู่ที่เดนมาร์ก
เธอกล่าวว่า ความล่าช้าในการเตรียมการเช่นนี้หมายความว่า น่าจะมีนักบินยูเครนที่ได้รับการฝึกอย่างเต็มที่สำหรับขึ้นบิน เอฟ-16 ภายในสิ้นปีนี้เพียงแค่ 20 คน โดยที่คำขอของยูเครนก่อนหน้านี้ให้สหรัฐฯช่วยจัดนักบินยูเครนเข้าฝึกในโครงการเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 10 คน ได้ถูกปฏิเสธ
รายงานของอาร์ทีกล่าวอีกว่า เว็บไซต์ข่าว “โพลิติโก” (Politico) ของสหรัฐฯ รายงานไว้ก่อนหน้านั้นราว
1 สัปดาห์ว่า ความพยายามของยูเครนที่จะให้นักบินของตนได้เข้าฝึกบิน เอฟ-16 ในโครงการอบรมของฝ่ายตะวันตกเพิ่มเติมขึ้นอีก 30 คน ได้ถูกปฏิเสธ โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯบอกกับสื่อรายนี้ว่า พวกนักบินยูเครนซึ่งอยู่ในโปรแกรมแล้ว ต้องประสบปัญหาอุปสรรคขวางกั้นทางด้านภาษากันอยู่ ขณะที่ฐานทัพที่ทูซอนสามารถฝึกนักบินได้ครั้งละ 12 คน และมีพวกนักบินจากประเทศอื่นๆ เข้าแถวรอกันอยู่ก่อนแล้ว
อย่างไรก็ตาม อุสติโนวา กล่าวอย่างไม่พอใจกับเดอะไทมส์ โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับเหตุผลของฝ่ายสหรัฐฯสำหรับการชะลอล่าช้า พร้อมกับเสนอแนะว่านี่คือความจงใจของอเมริกา
“เหตุผลพวกนี้มันไม่ใช่ข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนัก มันเป็นคำแก้ตัว และพวกเขามีคำแก้ตัวออกมาอยู่เรื่อยๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า” เธอย้ำ พร้อมกับสันนิษฐานว่า ความล่าช้าในการฝึกนักบินยูเครนเช่นนี้ น่าจะมีแรงจูงใจจากการที่วอชิงตันหวาดกลัวว่า การปรากฏตัวออกมาของ เอฟ-16 สหรัฐฯกันอย่างใหญ่โตพร้อมเพรียงในการสู้รบขัดแย้งที่ยูเครน อาจถูกมอสโกมองว่าคือการผนวกรวมเอายูเครนเข้าไปอยู่ในนาโต้ “นี่มันคือเหตุผลทางการเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ” เธอกล่าวหา
สมาชิกรัฐสภาหญิงยูเครนผู้นี้เน้นว่า ยูเครนจำเป็นต้องใช้ เอฟ-16 เพื่อผ่อนเพลาประสิทธิภาพของการที่ฝ่ายรัสเซียกำลังใช้อุปกรณ์ติดตั้งกับลูกระเบิดธรรมดาจนทำให้กลายเป็นระเบิดร่อน (glide bomb) ซึ่งสามารถเข้าโจมตีเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ และกลายเป็นอาวุธอย่างหนึ่งซึ่งก่อความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพในการสู้รบขัดแย้งที่ยูเครน “ระเบิดพวกนี้มีขนาดมหึมาตั้งแต่ 500 กิโล จนถึง 1,500 กิโล” และสำหรับเคียฟแล้ว หนทางแก้ไขอย่างเดียวที่จะ “สอยให้มันร่วงลงได้คือ การใช้เครื่องบินเข้าต่อสู้กับเครื่องบิน”
รายงานของอาร์ทีตบท้ายว่า มอสโกได้เตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า การที่ฝ่ายตะวันตกจัดส่งอาวุธไปให้ยูเครน
จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเส้นทางของการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ได้ มีแต่จะทำให้มันยืดเยื้อนานออกไป ทำให้มีการนองเลือดเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
โดยที่ อันเดรย์ คาร์ตาโปลอฟ (Andrey Kartapolov) ประธานคณะกรรมาธิการกลาโหมของสภาล่างรัสเซีย ได้ออกมาตอบโต้การแถลงของฝ่ายเคียฟเกี่ยวกับแผนการที่จะนำเอา เอฟ-16 บางส่วนไปประจำอยู่นอกยูเครนว่า หากเครื่องบินเหล่านี้บินขึ้นจากพวกฐานทัพในต่างประเทศ และถูกใช้ในการโจมตีกองกำลังของฝ่ายรัสเซียแล้ว ทั้งเครื่องบินเหล่านี้ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกที่เครื่องบินเหล่านี้ประจำการอยู่ จะได้รับการพิจารณาว่าเป็น “เป้าหมายที่ถูกต้องตามกฎหมาย” สำหรับการเข้าโจมตีของรัสเซีย
(ที่มา:https://www.rt.com/russia/599557-us-f16-stationed-in-ukraine/,https://www.rt.com/news/599527-ukraine-attacks-us-f16s/,https://unn.ua/en/news/us-presidential-adviser-plans-to-deploy-f-16-fighters-to-ukraine, และhttps://euromaidanpress.com/2024/06/20/us-natsec-advisor-sullivan-f-16s-to-be-based-in-ukraine-not-abroad/)