(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
More Bakhmut fighting may see war end – or expand
By STEPHEN BRYEN
01/08/2023
สหรัฐฯ และนาโตกำลังทุ่มเทวางเดิมพันมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองขึ้นในรัสเซีย ทว่าให้ระวังไว้ว่า พวกแคนดิเดตแข็งแกร่งที่สุดซึ่งดูน่าจะก้าวขึ้นสืบทอดอำนาจต่อจากวลาดิมีร์ ปูติน ได้ในเวลานี้ ก็คือพวกรัสเซียสายแข็งกร้าว ดังนั้น ความสำเร็จของเรื่องนี้ถ้าหากจะเกิดขึ้น มันก็จะกลายเป็นยาขมมากกว่าน้ำผึ้งหอมหวาน
ไม่ว่าทางวอชิงตันจะประกาศออกมาอย่างไรก็ตามที แต่รัฐบาลรัสเซียกำลังคาดหมายว่าดินแดนของตนจะถูกโจมตีเพิ่มขึ้นอย่างมากมายแน่นอน –โดยเฉพาะกรุงมอสโก และบางทีอาจจะพวกเมืองท่าต่างๆ ของรัสเซีย— ด้วยความประสงค์ที่จะพยายามสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลปูติน
เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ยังคอยแถลงอยู่เรื่อยๆ ว่า จะไม่มีการนำเอาอาวุธสหรัฐฯ ไปใช้เล่นงานดินแดนรัสเซีย ทว่านี่เป็นการโกหกแบบตาใสๆ เท่านั้น ทั้งโดรน ของสหรัฐฯ และพวกขีปนาวุธร่อน (cruise missile) ของสหรัฐฯ อย่างเช่น Himars บวกด้วยพวกเครื่องกระสุนลูกระเบิดลูกปรายที่จัดหาจัดส่งให้โดยสหรัฐฯ ต่างถูกยูเครนนำเอาไปใช้เป็นประจำทุกวันโดยเล็งเป้าถล่มใส่ดินแดนรัสเซีย
เช่นเดียวกับ สตอร์ม แชโดว์ (Storm Shadow หรือ SCALP-EG) ของสหราชอาณาจักร-ฝรั่งเศส ขีปนาวุธร่อนความแม่นยำสูงของทั้งสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสแบบนี้ ปัจจุบันผลิตโดย MBDA (ที่เป็นกิจการร่วมค้าของพวกบริษัทฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และอิตาลี)
(ขีปนาวุธร่อนชนิดนี้ สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสร่วมกันพัฒนาขึ้นมา โดยในสหราชอาณาจักรเรียกชื่อว่า สตอร์ม แชโดว์ ขณะที่ในฝรั่งเศสเรียกเป็นอักษรย่อว่า SCALP-EG ซึ่งมาจาก Système de Croisière Autonome à Longue Portée - Emploi Général"; หรือคำแปลในภาษาอังกฤษว่า “Long Range Autonomous Cruise Missile System - General Purpose” ระบบขีปนาวุธร่อนอัตโนมัติพิสัยทำการไกล - อเนกประสงค์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Storm_Shadow --ผู้แปล)
สหรัฐฯ ไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งเช่นกันว่า โดรน โกลบอลฮอว์ก (Global Hawk) ลำหนึ่งกำลังสอดแนมสืบความลับอะไรอยู่บนดินแดนรัสเซีย ทั้งนี้เป็นที่สันนิษฐานกันว่ามันกำลังช่วยเหลือยูเครนในการเล็งเป้าหมายบรรดาทรัพย์สินต่างๆ ทั้งทางการทหารและด้านพลเรือนของฝ่ายรัสเซีย
สหรัฐฯ นั้นยอมรับอย่างเปิดเผยว่าตนได้วางแผนและจัดหาจัดส่งโดรนกามิกาเซ กึ่งดำน้ำได้ให้แก่ยูเครน เพื่อใช้ในการโจมตีสะพานข้ามช่องแคบเคิร์ช (Kerch Strait bridge) ที่เชื่อมระหว่างไครเมีย กับรัสเซีย จนทำให้ยูเครนสามารถแอบเข้าไปโจมตีสะพานดังกล่าวของรัสเซียได้
การปฏิบัติการเช่นนี้สร้างผลกระทบอย่างสำคัญต่อมอสโก ซึ่งแถลงแสดงความเชื่ออย่างเปิดเผยว่าตนกำลังทำสงครามอยู่กับองค์การนาโตที่นำโดยสหรัฐฯ
ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าเพนตากอน หรือว่าวอชิงตันในวงกว้างขวางกว่านั้นจะพูดจาว่าอย่างไร แต่ความเป็นจริงก็คือคณะบริหารไบเดนกำลังขยับเข้าใกล้ขอบแห่งสงครามอันใหญ่โตกว้างขวางยิ่งขึ้นอีกในยุโรป
โอกาสสำหรับที่สงครามในยูเครนจะมีการตกลงรอมชอมกันได้ ไม่ใช่ยากเย็นเต็มทีเท่านั้น หากยังจะดูแปลกแยกไม่เข้าเรื่องเข้าราวมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย ถ้าหากว่าวอชิงตันตั้งจุดมุ่งหมายของสงครามครั้งนี้เอาไว้อย่างที่มันปรากฏออกมาให้เห็น
ในวันที่ 5 และ 6 สิงหาคมนี้ ซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าภาพจัดรายการประชุม ที่ใช้ชื่อว่าการประชุมสันติภาพว่าด้วยยูเครน โดยที่ชาติต่างๆ ราว 30 ชาติเข้าร่วม ซึ่งดูเหมือนจะมีอิหร่านด้วย ทว่ารัสเซียนั้นไม่ได้รับเชิญ นี่เป็นการบ่งบอกว่าการประชุมสันติภาพดังกล่าวนี้เป็นโชว์แบบโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าจะเป็นเรื่องเอาจริงเอาจังอะไร
อีกไม่ช้าไม่นานจากนี้ไป โดยบางทีน่าจะเร็วๆ นี้แหละ รัสเซียคงจะต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นคือถ้าไม่ถือว่าสงครามในยูเครนเป็นการไล่ตามไขว่คว้าสิ่งที่ไม่ได้ดอกผลอะไร และดังนั้นจึงต้องเลิกราไป ก็จะต้องตัดสินใจเดินหน้าติดตามเล่นงานพวกที่คอยหนุนหลังและพวกที่คอยเป็นซัปพลายเออร์ให้แก่สงครามคราวนี้ด้วย
ถ้ารัสเซียตัดสินใจผละจากไป รัฐบาลรัสเซียชุดนี้จะต้องล้มครืน ถ้ารัสเซียยืนหยัดต่อไปอีก ฝักฝ่ายที่เป็นนักชาตินิยมแนวคิดแข็งกร้าวในแดนหมีขาวก็จะเป็นผู้ได้รับชัยชนะงามๆ และเรียกร้องต้องการให้รัสเซียขยายสงครามออกไป มาถึงจุดนั้น ปูติน จะต้องตัดสินใจปรับเปลี่ยนสูตรผสมของรัฐบาลของเขาเสียใหม่เพื่อสะท้อนความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ หรือไม่ก็ต้องตัดสินใจไม่ลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งอีกสมัยในปี 2024
ถ้า ปูติน ก้าวลงจากอำนาจ จะมีผู้สมัครที่ต้องการเข้าแทนที่เขาจำนวนหนึ่ง เป็นพวกที่มาจากหน่วยงานความมั่นคง และจากฝ่ายทหาร ทั้งนี้ ผู้ที่มีโอกาสคว้าชัยชนะมากที่สุดน่าจะมาจากพวกฝ่ายขวาชาตินิยมแข็งกร้าว ไม่ใช่มาจากฝ่ายซ้ายที่อ่อนปวกเปียก
ไม่มีใครสามารถพูดได้ด้วยความแน่ใจแม้สักน้อยนิดว่า ฝ่ายทหารของรัสเซียนั้นมีคุณภาพในเรื่องความหยุ่นตัวมากน้อยแค่ไหนในการสู้รบที่ยูเครนปัจจุบันนี้ ทั้งสองฝ่ายดูเหมือนถูกล็อกกันเอาไว้ในการสู้รบที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในภูมิภาคดอนบาส (แคว้นโดเนตสก์ และแคว้นลูฮันสก์ ทางภาคตะวันออก) และในพื้นที่แคว้นซาโปริเซีย ทางภาคใต้ เมื่อวินิจฉัยจากหลักฐานทางกายภาพ ฝ่ายยูเครนได้สูญเสียทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลจำนวนมาก รัฐมนตรีกลาโหม เซียร์เก ชอยกู ของรัสเซีย กล่าวอ้างว่า ยูเครนสูญเสียทหารไป 20,000 คนในเดือนกรกฎาคม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://sputnikglobe.com/20230731/ukraine-lost-20824-soldiers-2227-pieces-of-equipment-during-battles-in-july---shoigu-1112274153.html)
สำหรับความสูญเสียของฝ่ายรัสเซีย เป็นสิ่งที่วินิจฉัยได้ลำบากกว่ามาก ถ้าหากรัสเซียยังคงยืนหยัดอยู่ในสงครามต่อไป คำถามที่จะต้องเกิดขึ้นก็คือพวกเขาจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใดในการบดบี้ยังความปราชัยให้แก่ฝ่ายยูเครน ซึ่งเวลานี้เผชิญปัญหาขาดแคลนกำลังคนอยู่
มองจากทัศนะมุมมองหนึ่งของแนวรบแห่งสงคราม ดูเหมือนว่ายูเครนที่ได้รับความช่วยเหลือโดยตรงจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร กำลังหวังที่จะเจาะทะลุทะลวงอะไรได้บ้าง และทำลายผ่านแนวป้องกันแนวแรกของรัสเซียในภาคใต้ เวลาเดียวกันนั้นก็กำลังหวังที่จะเข้าควบคุมพื้นที่ด้านปีกรอบๆ เมืองบัคมุต และ –ถ้าหาก เซเลนสกีชนะ— กระทั่งยึดเมืองบัคมุตกลับคืนไป
เพียงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง เซเลนสกีได้ไปปรากฏตัวในเมืองชาซิฟ ยาร์ (Chasiv Yar) ถือเป็นครั้งแรกที่เขาเดินทางไปที่นั่น นับตั้งแต่ก่อนหน้าที่เมืองบัคมุตจะแตก เซเลนสกีเชื่อว่า ด้วยความช่วยเหลือที่เขากำลังได้รับจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ตลอดจนจากพวกกองพลน้อยคุณภาพสูงที่เพิ่งผ่านการอบรมจากนาโตมาสดๆ ร้อนๆ เขาอาจจะสามารถพลิกสถานการณ์ได้สำเร็จ
สิ่งที่เกิดขึ้นในบัคมุต อาจนำมาซึ่งการสิ้นสุดของสงครามยูเครนได้ทีเดียว โดยอาจจะไปสู่ชัยชนะของฝ่ายยูเครน หรือการกำชัยของฝ่ายรัสเซียก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
ถ้ารัสเซียชนะ ยูเครนอาจจะต้องยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ของฝ่ายรัสเซียสำหรับการยอมรอมชอมสู่สันติภาพ หากยูเครนมีชัย รัสเซียจะถูกบังคับให้ถอนกำลังของพวกเขาบางส่วนออกไปจากภาคตะวันออกของยูเครน รวมทั้งยังอาจจะต้องสูญเสียพวกพื้นที่สำคัญยิ่งยวดในภาคใต้ กระทั่งไครเมียด้วย
รัสเซียยังมีทางเลือกอยู่อีกทางหนึ่ง เป็นทางเลือกซึ่งมีอันตรายมาก ได้แก่ การขยายสงครามออกไปนอกดินแดนยูเครน ตัวอย่างเช่นเข้าไปในโปแลนด์ หรือพวกรัฐบอลติก (ลิทัวเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย) ปูตินพูดออกมาอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนแล้วว่าเขาไม่ได้นิยมชมชื่นกับเรื่องการขยายสงครามออกไป –ทว่า ปูติน ยังคงมีอิทธิพลบารมีเหลืออยู่ในรัสเซียมากเพียงพอที่จะทัดทานกระแสนี้หรือไม่ ขณะที่แรงบีบคั้นจากภายนอกต่อระบอบปกครองของเขากำลังเพิ่มทวีขึ้นทุกที และขณะที่ความไม่พอใจภายในประเทศเกี่ยวกับสงครามคราวนี้อาจหนุนนำให้รัสเซียเดินหน้าไปสู่ความแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น?
ในพิธีตรวจพลสวนสนามทางทะเลอย่างเอิกเกริกครึกโครมที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เนื่องใน “วันกองทัพเรือ” ประจำปีของรัสเซีย ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม ปูติน กล่าวปราศรัยโดยที่ไม่ได้มีการเอ่ยถึงสงครามยูเครนเลย ทั้งๆ ที่วันกองทัพเรือ เวียนมาถึง 1 วันหลังจากมีโดรนหลายลำเข้าไปโจมตีถึงกรุงมอสโก เรื่องนี้หมายความว่ามอสโกกำลังอยู่ในภาวะต้องการปฏิเสธความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมากระนั้นหรือ? ในการสวนสนามทางทะเลปีนี้ ถึงแม้มีเรือผิวน้ำและเรือดำน้ำจำนวนมากเข้าร่วมอย่างเคย ทว่าไม่มีการนำเอาเรือดำน้ำนิวเคลียร์ออกมาโอ่อวดเลย รวมทั้งไม่มีอากาศยานนาวีของรัสเซียปรากฏตัวให้เห็น นับว่าแตกต่างจากการสำแดงแสนยานุภาพในวันกองทัพเรือปีก่อนๆ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.msn.com/en-us/news/other/putin-s-missing-nuclear-subs-jets-at-navy-day-hint-at-security-fears/ar-AA1eAjxd)
สิ่งที่ชัดเจนแจ่มแจ้งก็คือว่า สงครามคราวนี้ไม่สามารถปล่อยทิ้งเอาไว้เช่นนี้โดยไม่ตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดลงไปได้อีกนานนักแล้ว สหรัฐฯ และนาโตนั้นกำลังวางเดิมพันทุ่มให้แก่เรื่องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในรัสเซีย ทว่าสิ่งที่พวกเขาอาจจะได้รับจริงๆ อาจจะเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการเลยก็ได้
การเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในรัสเซียอาจจะกลายเป็นยาขมสำหรับนาโตได้ทีเดียว
สำหรับรัสเซียนั้นกำลังวางเดิมพันทุ่มให้การคว้าชัยชนะในยูเครน ทว่ามันจะเป็นการสู้รบที่ยากลำบากและยืดเยื้อยาวนานจนเกินไปแล้ว
ส่วนยูเครนกำลังหวังที่จะปล่อยหมัดเด็ดออกไป ด้วยการได้ชัยชนะที่มีผลตัดสินชี้ขาดบางอย่างบางประการขึ้นมา และต้องการขับไล่ฝ่ายรัสเซียให้ออกไปเสีย
โต๊ะพนันตัวนี้กำลังเปิดกว้างให้ฝ่ายต่างๆ วางเดิมพันกันอย่างเต็มที่
สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ในบล็อก Substack, Weapons and Strategy ของผู้เขียน