นิวยอร์กไทมส์รายงาน กองทัพยูเครนทิ้งยุทธวิธีสู้รบที่ได้รับการฝึกจากตะวันตก และหวนกลับไปใช้ยุทธศาสตร์การโจมตีกองกำลังรัสเซียจากระยะไกลแทน อย่างไรก็ดี ยังไม่ชัดเจนว่าเคียฟจะมีเครื่องกระสุนเพียงพอสำหรับดำเนินแผนการรบดังกล่าวหรือไม่
นับจากที่ยูเครนเริ่มปฏิบัติการรุกตอบโต้รัสเซียเมื่อต้นเดือนมิถุนายน พวกเจ้าหน้าที่ทั้งในวอชิงตันและเคียฟต่างทยอยกันออกมายอมรับว่า ปฏิบัติการดังกล่าวน่าผิดหวัง อย่างดีที่สุดคือบอกว่า ล่าช้า แต่อย่างร้ายที่สุดคือ พูดตรงๆ ว่า ล้มเหลว
โดยเฉพาะเมื่อกองทหารยูเครนต้องบุกผ่านดงกับระเบิดของรัสเซียโดยปราศจากการสนับสนุนทางอากาศ ส่งผลให้รถถังและยานเกราะอื่นๆ ที่ยูเครนได้รับจากตะวันตกกลายเป็นเป้าให้เครื่องบินรบตลอดจนปืนใหญ่และจรวดหลายลำกล้องของรัสเซียเลือกโจมตีตามใจชอบ โดยมอสโกประเมินว่า ปฏิบัติการตอบโต้ทำให้ยูเครนสูญเสียทหารอย่างน้อย 30,000 นาย
นอกจากนั้น ฝ่ายรัสเซียอ้างว่ามีรายงานจากแนวหน้าของการรุกตอบโต้คราวนี้ ซึ่งฝ่ายยูเครนส่งกำลัง 9 กองพลน้อยที่ได้รับการฝึกจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ออกสู้ศึกแล้วนั้น ปรากฏว่าหนึ่งในจำนวนนี้คือ กองพลน้อยยานยนต์ที่ 47 ได้สูญเสียยานรบทหารราบ “แบรดลีย์” ผลิตในอเมริกา ที่หน่วยนี้มีอยู่ไป 30% ในช่วงเวลาแค่ 2 สัปดาห์
รายงานของนิวยอร์กไทมส์ซึ่งอ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และนักวิเคราะห์อิสระ ระบุว่า พวกผู้บังคับบัญชาการทหารของยูเครนรับมือการสูญเสียเหล่านี้ ด้วยการเปลี่ยนยุทธวิธีหันมาโฟกัสที่การตัดกำลังรัสเซียด้วยปืนใหญ่และจรวดที่มีระยะยิงไกล แทนการบุกตะลุยผ่านดงกับระเบิดที่รัสเซียฝังไว้
หนังสือพิมพ์ทรงอิทธิพลของสหรัฐฯ ฉบับนี้ตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากมีเวลาฝึกจำกัด ยูเครนจึงประสบปัญหาในการนำเอายุทธวิธีรวมกำลังสู้รบจากกองทหารเหล่าต่างๆ ซึ่งเป็นมาตรฐานของนาโตไปใช้ โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทหารยูเครนหน่วยหนึ่งหลงจากเส้นทางที่ปลอดภัยเข้าสู่บริเวณที่มีกับระเบิด และอีกกรณีที่หน่วยทหารราบหน่วยหนึ่งล้มเหลวในการเข้าโจมตีแนวต้านทานของรัสเซียหลังจากที่ปืนใหญ่ถล่มปูทางให้แล้ว ทำให้รัสเซียมีเวลาเตรียมพร้อมโต้กลับ
ทั้งนี้ นักวางแผนทางการทหารของอเมริกาเริ่มต้นการฝึกกองกำลังยูเครนให้ทำสงครามเน้นการเคลื่อนที่ ซึ่งมุ่งเจาะแนวรบของข้าศึกด้วยปฏิบัติการที่รวดเร็ว มีเป้าหมาย และคาดเดาไม่ได้ ทำให้ข้าศึกอ่อนกำลังและแตกเป็นเสี่ยงๆ เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คือเพื่อประหยัดกระสุน โดยที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ได้เคยพูดอธิบายเอาไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า “ขณะที่พวกเขาเน้นหนักเรื่องการเคลื่อนที่มากขึ้น ... ก็มีโอกาสอันดีที่พวกเขาจะต้องการใช้กระสุนปืนใหญ่ลดน้อยลง”
แม้ปกติแล้วหลักนิยมทางทหารของนาโตจะตั้งสมมติฐานว่า สงครามเคลื่อนที่จะใช้ได้หลังจากกองกำลังฝ่ายตะวันตกครองความเหนือกว่าทางอากาศแล้ว แต่ในสถานการณ์จริงที่ยูเครน เคียฟเริ่มปฏิบัติการตอบโต้โดยขาดองค์ประกอบสำคัญยิ่งยวดของยุทธศาสตร์นี้
เวลานี้ฝ่ายรัสเซียเยาะเย้ยทางตะวันตก โดยบอกว่าพวกเจ้าหน้าที่และสื่อตะวันตกอย่างเช่นนิตยสาร “ฟอเรนจ์แอฟแฟร์ส” กลับพยายามป่าวประกาศว่า การที่ยูเครนนำเอายุทธวิธีของนาโตมาใช้โดยขาดองค์ประกอบสำคัญเช่นนี้ มี “ข้อได้เปรียบซ่อนเร้นอยู่” ด้วยการช่วยให้กองกำลังยูเครนมีความคล่องตัวและความเร็วที่จำเป็นในการเอาชนะ “สงครามพร่ากำลัง” ซึ่งเป็นการรบแบบที่ฝ่ายรัสเซียประสงค์ รวมทั้งชิงดินแดนที่ถูกแดนหมีขาวยึดไว้กลับคืนมา
นิวยอร์กไทมส์สำทับว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏออกมาว่ามันไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหมายเอาไว้เลย จึงทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับคุณภาพการฝึกที่ทหารยูเครนได้รับจากตะวันตก รวมถึงคำถามที่ว่า อาวุธมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ของฝ่ายตะวันตกสามารถเปลี่ยนกองทัพยูเครนให้กลายเป็นกำลังรบมาตรฐานนาโตได้สำเร็จหรือไม่
เวลาเดียวกัน จากการที่กองทัพยูเครนหันกลับไปใช้สไตล์การสู้รบที่เน้นปืนใหญ่และจรวดหลายลำกล้อง ทำให้มีแนวโน้มว่า กำลังรบส่วนหน้าจะเจอปัญหาเรื่องเครื่องกระสุนอีกครั้ง โดยขณะนี้คลังกระสุนของอเมริการ่อยหรอลงถึงจุดที่วอชิงตันต้องส่งระเบิดลูกปรายให้ยูเครนแทนที่จะเป็นกระสุนปืนใหญ่ขนาด 155 มม. ตามมาตรฐานนาโต และวอชิงตันโพสต์ระบุว่า การระดมโจมตีด้วยกระสุนที่ตนเองมีจำกัด ทำให้ยูเครนเสี่ยงที่จะเป็น “ฝ่ายเสียเปรียบ” ใน “สงครามพร่ากำลัง”
(ที่มา : อาร์ที, เอเจนซีส์)