ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ ออกมาอธิบายชัดๆ ทำไมวอชิงตันจึงยังไม่สามารถจัดหาจัดส่งเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 ไปช่วยเหลือการรุกตอบโต้ใหญ่ของยูเครนในเวลานี้ โดยเขาหยิบยกทั้งเรื่องระยะเวลาและเงินงบประมาณซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการจัดหาจัดส่งอาวุธประเภทนี้ ซึ่งมีราคาลำละ 200 ล้านดอลลาร์ (ราว 6,800 ล้านบาท)
เมื่อถูกผู้สื่อข่าวซักไซ้ระหว่างการแถลงข่าวในวันอังคาร (18 ก.ค.) ที่ผ่านมา ภายหลังการหารือผ่านออนไลน์กับพวกพันธมิตรในกลุ่มช่วยเหลือยูเครน ว่า ทำไมยูเครนจึงยังไม่ได้รับเครื่องบินขับไล่อเมริกันรุ่นนี้เสียที มิลลีย์ก็ตอบว่า จุดโฟกัสเวลานี้ควรอยู่ที่พวกปืนใหญ่และจรวดหลายลำกล้อง ตลอดจนระบบป้องกันภัยทางอากาศมากกว่า ขณะที่เอฟ-16 จะเป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถจัดหาให้ได้ในระยะใกล้ๆ นี้
“ลองทำแบบฝึกหัดคิดเลขเร็วๆ กันดูนะครับ เอฟ-16 จำนวน 10 ลำก็ราคา 2,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 68,000 ล้านบาท)” เขากล่าว “ฝ่ายรัสเซียมีพวกเครื่องบินทั้งรุ่นเจเนอเรชันที่ 4 และที่ 5 อยู่หลายร้อยลำ ดังนั้นถ้าหากพวกเขาจะพยายามแข่งขันให้ทัดเทียมกับฝ่ายรัสเซีย ในแบบหนึ่งต่อหนึ่ง –หรือกระทั่ง แบบสองต่อหนึ่ง— คุณก็กำลังพูดถึงเครื่องบินจำนวนมากทีเดียว”
นายทหารประจำการอาวุโสที่สุดของสหรัฐฯรายนี้แจกแจงอีกว่า จะต้องใช้เวลา “เป็นปีๆ” ในการฝึกพวกนักบินยูเครนให้ทำงาน “ด้านการบำรุงรักษาและการประคับประคอง” เครื่องบินตามที่ควรจะต้องกระทำ ตลอดจน “การทำให้ได้ความสนับสนุนทางการเงินในระดับนั้นเข้ามา” พร้อมกับกล่าวเสริมว่า “คุณกำลังพูดถึงเรื่องเงินงบประมาณอีกหลายพันล้านดอลลาร์ เพิ่มเติมจากที่ได้รับความสนับสนุนมาแล้วนะ”
ก่อนหน้านี้ ขณะที่พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บอกว่า จะมีการจัดฝึกอบรมแก่นักบินยูเครนให้บิน เอฟ-16 โดยผ่านทางกลุ่มแนวร่วมนานาชาติที่กำลังหาทางช่วยเหลือให้เคียฟได้รับเครื่องบินรุ่นนี้ ทว่าวอชิงตันกลับยังไม่เคยอนุญาตอย่างเป็นทางการให้พวกชาติยุโรปในกลุ่มแนวร่วมดังกล่าวดำเนินการฝึกอบรมจริงๆ เลย เว็บไซต์ข่าว โพลิติโค ของสหรัฐฯรายงานเอาไว้เช่นนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ คือหน่วยงานที่เห็นกันว่าจะต้องเป็นผู้ออกคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการถ่ายโอนพวกคู่มือการฝึก เครื่องมืออุปกรณ์จำลองเที่ยวบิน และวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งจำเป็นสำหรับการฝึกไปให้แก่ประเทศที่จะเป็นผู้ฝึก ทว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้มีการขยับเรื่องนี้ โดยที่โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แกร์รอน การ์น ชี้ว่า คำขอในเรื่องนี้ “ยังอยู่ระหว่างการศึกษาทบทวน”
เคียฟ ได้รบเร้าครั้งแล้วครั้งเล่าให้พวกชาติตะวันตกที่หนุนหลัง จัดหาจัดส่งแสนยานุภาพทางอากาศให้แก่ตนเพิ่มเติม โดยที่เอ่ยปากเรียกร้องต้องการเอฟ-16 อย่างเฉพาะเจาะจงอยู่ในหลายๆ โอกาส ถึงแม้รัฐมนตรีต่างประเทศ ดมิตริ คูเลบา ของยูเครน แถลงเอาไว้ว่า ยูเครนควรจะได้เอฟ-16 ลำแรกๆ เข้าประจำการได้ภายในปลายเดือนมีนาคม 2024 มันก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าการแสดงความเห็นล่าสุดของ มิลลีย์ คราวนี้ จะมีผลอย่างไรต่อตารางเวลาดังกล่าว
การรุกตอบโต้ครั้งใหญ่ของยูเครนที่มีการโหมประโคมและเฝ้ารอคอยมานาน ได้เปิดฉากขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทว่าบุกได้ล่าช้ามากเมื่อเผชิญกับการตั้งป้อมป้องกันอย่างแข็งแกร่งของฝ่ายรัสเซีย ตามรายงานของโพลิติโค เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯ บางรายเชื่อว่า ยูเครนจะได้รับความสนับสนุนแค่ไหนในอนาคต จะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของการปฏิบัติรุกตอบโต้ครั้งนี้ ถึงแม้ประธานาธิบดีโวโลดีมร์ เซเลนสกี ออกมากล่าวโทษว่า ที่ยูเครนรุกคืบไม่ค่อยออกเป็นเพราะความล่าช้าในการจัดส่งความช่วยเหลือทางทหารของฝ่ายตะวันตก
ยืนกรานการรุกตอบโต้ของเคียฟยังไม่ได้ล้มเหลว
ระหว่างการแถลงข่าวคราวนี้ พล.อ.มิลลีย์ ยังยืนยันว่ากองทัพยูเครนไม่ได้ประสบความล้มเหลวในการรุกตอบโต้ฝ่าแนวป้องกันของฝ่ายรัสเซีย โดยบอกว่าเขาคาดหมายมาโดยตลอดว่าการปฏิบัติการนี้จะนองเลือดและยืดเยื้อ
“พวกเขายังเพิ่งอยู่ในขั้นตอนต้นๆ เท่านั้น และยังเร็วเกินไปนักหนาที่จะทำการประเมินผลอย่างเฉพาะเจาะจงใดๆ”
“ผมคิดว่ายังมีการสู้รบอีกมากมายที่จะต้องดำเนินต่อไปอีก และผมจะยังคงยืนยันสิ่งที่เราได้พูดเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว นั่นคือ นี่จะเป็นเรื่องที่ยาวนาน มันจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก มันจะเป็นเรื่องที่นองเลือด” เขากล่าวต่อ
นิวยอร์กไทมส์รายงานข่าวเมื่อวันเสาร์ (15 ก.ค.) ว่า หลังจากสูญเสียอาวุธต่างๆ ที่นำออกมาใช้ในการรุกตอบโต้นี้ไป 20% ในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ ประธานาธิบดีเซเลนสกี ของยูเครน ก็ได้สั่งหยุดพักการปฏิบัติการนี้เอาไว้ชั่วคราวเพื่อรอรวบรวมสะสมพวกเครื่องกระสุนให้เพิ่มมากขึ้น
เมื่อถูกสอบถามในวันอังคาร (18) ว่า การรุกตอบโต้ที่ดำเนินมาจนถึงเวลานี้ถือว่าประสบความล้มเหลวใช่หรือไม่ มิลลีย์ตอบว่า “มันยังอย่างห่างไกลจากความล้มเหลว ผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ยังเร็วเกินไปมากที่จะประเมินผลออกมาเช่นนั้น”
ด้านรัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน ของสหรัฐฯ ซึ่งร่วมการแถลงข่าวจากเวทีเดียวกัน แสดงความเห็นพ้องกับประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของเขา โดยกล่าวว่า “มันจะดำเนินต่อไปในฐานะที่เป็นการสู้รบซึ่งดุเดือดหนักหน่วง อันเป็นสิ่งที่เราคาดหมายไว้แล้ว และผมเชื่อว่าฝ่ายที่ทำได้ดีที่สุดในแง่ของการประคับประคองตัวเอาไว้ได้ บางทีน่าจะเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบเมื่อถึงตอนท้ายที่สุด”
มิลลีย์ อ้างว่า กองทหารยูเครนกำลัง “รุกคืบหน้าได้อย่างสม่ำเสมอ” แต่เนื่องจากมีทหารรัสเซียจำนวนหลายแสนคนถูกส่งมาประจำอยู่ในตำแหน่งป้องกัน “นี่จึงเป็นการสู้รบที่ยากลำบากมาก มันเป็นการสู้รบที่ดุเดือดมาก และมันน่าจะต้องใช้ระยะเวลามากพอดูที่จะต้องมีการสูญเสียในระดับสูง”
(ที่มา : อาร์ที)