xs
xsm
sm
md
lg

การที่ ‘สหรัฐฯ’ ติดอาวุธให้ ‘ไต้หวัน’ คือพฤติการณ์ยั่วยุ ‘จีน’ อย่างชนิดไม่อาจยอมรับได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: จอห์น วอลซ์ ***



(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Arming Taiwan an unacceptable provocation
By JOHN WALSH
17/07/2023

วอชิงตันกำลังติดอาวุธให้ไต้หวัน ถือเป็นพฤติการณ์ยั่วยุท้าทายปักกิ่งอย่างชัดเจน และผลักดันให้สหรัฐฯ ขยับเข้าใกล้การเปิดศึกทำสงครามกับจีน ซึ่งก็เป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์รายหนึ่งเช่นกัน

เกาะไต้หวันกำลังถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นคลังวัตถุระเบิดเข้าไปทุกทีแล้ว จากการไหลบ่าเข้าไปของอาวุธยุทโธปกรณ์อเมริกัน และกำลังผลักไสประชาชนชาวไต้หวันให้ลื่นไถลลงสู่ “หุบเหวแห่งความหายนะ” นี่คือถ้อยคำของกระทรวงกลาโหมจีนในการแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อการที่สหรัฐฯ ขายอาวุธรวมเป็นมูลค่า 440 ล้านดอลลาร์ให้แก่เกาะแห่งนี้เมื่อไม่นานมานี้ แล้วมาถึงตอนนี้สหรัฐฯ ยังกำลังมอบอาวุธ –ไม่ใช่เพียงแค่ขายมัน-- ให้แก่ไต้หวัน ด้วยความเอื้อเฟื้อของผู้เสียภาษีชาวอเมริกัน

ยุทธศาสตร์ “ห่วงโซ่แห่งดินแดนวงล้อมชั้นแรก”

ไต้หวันเป็นเกาะๆ หนึ่งในบรรดาเกาะที่ตั้งเรียงรายอยู่รอบๆ แนวชายฝั่งทะเลของจีน ซึ่งบ่อยครั้งทีเดียวเรียกกันว่า ห่วงโซ่แห่งเกาะชั้นแรก (หรือเรียกให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกว่า ห่วงโซ่แห่งดินแดนวงล้อมชั้นแรก) (First Island Chain) เกาะเหล่านี้เป็นจำนวนมากเวลานี้ติดตั้งด้วยอาวุธล้ำยุคของสหรัฐฯ เต็มไปหมด นอกจากนั้น ยังร่วมขบวนด้วยบุคลากรทางทหารทำหน้าที่สนับสนุนและกองทหารสู้รบของสหรัฐฯ รวมแล้วก็เป็นจำนวนอีกหลายหมื่นคน

ห่วงโซ่แห่งดินแดนวงล้อมชั้นแรกนี้ ขยายจากตอนเหนือของหมู่เกาะญี่ปุ่น ลงมาตลอดทางใต้ไปจนถึงหมู่เกาะริวกิว (Ryukyu Islands) ซึ่งรวมเอาเกาะโอกินาวาอยู่ในนี้ด้วย แล้วก็ครอบคลุมถึงไต้หวัน และบริเวณตอนเหนือของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ผู้เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ซึ่งมีกำลังทหารประกอบด้วยบุคลากรประจำการ 500,000 คน และกองหนุนอีก 3 ล้านคน คือผู้ช่วยตัวเสริมที่ทรงอำนาจมากของห่วงโซ่สายนี้ ตามหลักนิยมทางทหารของสหรัฐฯ นั้น ถือว่าห่วงโซ่แห่งดินแดนวงล้อมชั้นแรกนี้คือฐานที่ตั้งเพื่อการ “สำแดงอำนาจ” และคอยจำกัดขัดขวางไม่ให้จีนสามารถเข้าถึงอาณาบริเวณทางทะเลที่อยู่ไกลออกไป

ไต้หวันอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของห่วงโซ่แห่งเกาะต่างๆ สายนี้ และยังได้รับการพิจารณาว่าคือจุดติดต่อเชื่อมโยงของยุทธศาสตร์ห่วงโซ่แห่งดินแดนวงล้อมชั้นแรกของอเมริกานี้อีกด้วย เมื่อตอนที่ จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส (John Foster Dulles) นักรบยุคสงครามเย็นผู้มีแนวคิดสายเหยี่ยวชนิดเข้มข้นดุดัน ซึ่งเวลานั้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทสสหรัฐฯ ได้ขบคิดจัดวางยุทธศาสตร์นี้ขึ้นมาในปี 1951 เขาให้ฉายาแก่เกาะไต้หวันว่า คือ “เรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีวันจม” ของอเมริกา

เวลานี้ไต้หวันคือหนึ่งในแหล่งที่มาของการวิวาทโต้แย้งกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แล้วอย่างที่ชอบพูดกันเสมอๆ ทว่าน้อยครั้งนักที่จะกระทำกันนั่นแหละ การที่เราจะเสาะแสวงหาสันติภาพได้สำเร็จนั้น จำเป็นที่เราจะต้องเข้าอกเข้าใจจุดยืนและทัศนะความคิดเห็นของพวกที่ถูกประทับตราว่าเป็นฝ่ายปรปักษ์ของเราด้วย ทั้งนี้ในสายตาของจีนนั้น ไต้หวันตลอดจนเกาะอื่นๆ ที่ประกอบติดตั้งอาวุธเพียบเหล่านี้แลดูไม่ต่างอะไรกับเป็นโซ่ตรวนที่มุ่งจองจำ และห่วงรัดคอที่มุ่งสังหารผลาญชีวิตของตน

สหรัฐฯ เองจะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไรเมื่อต้องตกอยู่ในสภาวการณ์ทำนองเดียวกันนี้? คิวบา ตั้งอยู่ห่างจากสหรัฐฯ เป็นระยะทางพอๆ กับความกว้างของช่องแคบไต้หวันที่แบ่งแยกเกาะไต้หวันออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ เราลองพิจารณาถึงปฏิกิริยาตอบโต้ของสหรัฐฯ ตอนที่เกิดข่าวลือเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จีนกำลังจัดตั้งสถานีดักฟังสัญญาณแห่งหนึ่งขึ้นที่คิวบา ปรากฏว่าในรัฐสภาอเมริกันทั้ง 2 พรรคใหญ่ต่างเกิดความเคลื่อนไหวตอบโต้ในทางเตือนภัยอันตรายขึ้นมาอย่างพร้อมเพรียงกัน และมีการออกคำแถลงซึ่งได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 พรรคใหญ่ระบุว่าการจัดตั้งสถานีเช่นนั้นขึ้นเป็นสิ่งที่ “ยอมรับไม่ได้”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nbcnews.com/politics/national-security/biden-administration-turning-blind-eye-chinese-provocations-rcna88347)

แล้วปฏิกิริยาตอบโต้จะออกมาขนาดไหนถ้าหากจีนช่วยเหลือติดอาวุธให้คิวบาแบบครบเครื่องเต็มที่ หรือจัดส่งทหารหลายร้อยคนไปที่นั่น อย่างที่สหรัฐฯ เพิ่งกระทำไปในไต้หวัน? มันไม่ใช่เรื่องยากเย็นเลยที่จะจินตนาการให้เห็นภาพ นอกจากนั้นเมื่อนึกย้อนหลังไปในอดีต ใครๆ ย่อมคิดออกในทันทีถึงเหตุการณ์การรุกรานคิวบาที่อ่าวเบย์ออฟพิกส์ (Bay of Pigs) ซึ่งเป็นการรุกรานที่ได้รับความอุปถัมภ์จากสหรัฐฯ ถัดจากนั้นมายังเกิดเหตุการณ์วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban missile crisis) ขึ้นมาอีก

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องชัดเจนว่าการที่สหรัฐฯ ติดอาวุธให้แก่ไต้หวัน คือพฤติการณ์ยั่วยุท้าทาย ซึ่งผลักไสสหรัฐฯ ให้ขยับเข้าใกล้การเปิดสงครามกับจีนมากยิ่งขึ้น โดยที่ต้องไม่ลืมว่าจีนก็เป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์รายหนึ่งเหมือนกัน

ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในไต้หวัน

ตาม “นโยบายจีนเดียว” (One China Policy) ที่ถือเป็นนโยบายอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ นั้น ไต้หวันคือส่วนหนึ่งของจีน สหประชาชาติก็ประกาศจุดยืนอย่างเดียวกันในปี 1971 ด้วยการผ่านญัตติ 2758 (ซึ่งยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า ญัตติว่าด้วยการยอมรับปักกิ่ง) ที่รับรองว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของจีนทั้งหมด และเป็นตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวของจีนในสหประชาชาติ

ในระยะไม่กี่ทศวรรษหลังๆ มานี้ บนเกาะไต้หวันได้มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนขบวนการหนึ่งพัฒนาขึ้นมา โดยที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party หรือ DPP) คือตัวแทนในด้านอารมณ์ความรู้สึกของขบวนการนี้ ไช่ อิงเหวิน แห่งพรรค DPP เป็นประธานาธิบดีของไต้หวันคนปัจจุบัน ทว่าในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา พรรค DPP พ่ายแพ้ให้แก่พรรค KMT (พรรคก๊กมิ่นตั๋ง) ซึ่งมีแนวนโยบายเป็นมิตรกับแผ่นดินใหญ่และปรารถนาที่จะสงวนรักษาสถานะเดิมเอาไว้ หรือก็คือปรารถนาที่จะให้อยู่ในภาวะ “ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์” ต่อไปอีกนั่นเอง

ไช่ จัดวางแผนการรณรงค์หาเสียงในปี 2022 ของพรรค DPP โดยมุ่งเน้นการแสดงความเป็นปรปักษ์กับปักกิ่ง ไม่ใช่สนอกสนใจประเด็นในระดับท้องถิ่น แล้วในเวลาเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลของเธอยังผ่านกฎหมายเพิ่มระยะเวลาบังคับให้ชายหนุ่มชาวไต้หวันต้องเข้ารับราชการทหารจาก 6 เดือนเป็น 1 ปี ไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยว่า ความเคลื่อนไหวแบบสายเหยี่ยวแข็งกร้าวเช่นนี้ ไม่ได้เป็นที่นิยมชมชื่นของประชากรผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี

ผลการสำรวจความคิดเห็นที่กระทำกันในปี 2022 แสดงให้เห็นว่าชาวไต้หวันเกินกว่าครึ่งหนึ่งอย่างมากมายท่วมท้น เวลานี้ต้องการให้สงวนรักษาสถานะเดิมเอาไว้ มีเพียง 1.3% เท่านั้นที่ต้องการให้รวมชาติเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับแผ่นดินใหญ่ในทันที ขณะเดียวกัน ก็มีเพียง 5.3% ต้องการให้ไต้หวันประกาศตัวเป็นชาติเอกราชในทันที
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.newsweek.com/taiwan-china-politics-identity-independence-unification-public-opinion-polling-1724546)

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในปีก่อนๆ แล้ว ในปี 2022 นี้พวกที่ถูกสอบถามความคิดเห็นจำนวน 28.6% ซึ่งถือเป็นเปอร์เซ็นต์สูงเป็นสถิติใหม่ บอกว่าพวกเขาต้องการให้ “ธำรงรักษาสถานะเดิมเอาไว้เรื่อยๆ ไปไม่ต้องมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด” ขณะที่อีก 28.3% เลือกให้คงสถานะเดิมเอาไว้ก่อน เพื่อจะได้ “ตัดสินใจในเวลาต่อไป” และอีก 25.2% เลือกที่จะคงสถานะเดิมเอาไว้ในตอนนี้โดยมีความคิดเห็นแล้วว่า เพื่อจะ “เดินหน้าไปสู่การเป็นเอกราช” ในเวลาข้างหน้า นี่เท่ากับว่าในเวลานี้รวมแล้ว 82.1% ทีเดียวที่ปรารถนาให้รักษาสถานะเดิมเอาไว้ก่อน

ไม่น่าประหลาดใจอะไรเลย ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันรายสำคัญๆ ทุกๆ รายเวลานี้จึงต่างประกาศว่าปรารถนาที่จะคงสถานะเดิมเอาไว้ อย่างไรก็ดี พวกผู้สมัครของพรรค DPP ยังแถลงแบบท้าทายเอาไว้ด้วยว่า ไม่มีความจำเป็นอะไรหรอกที่จะต้องประกาศให้ไต้หวันเป็นเอกราช เนื่องจากในสายตาของพวกเขานั้น เวลานี้ไต้หวันก็เป็นเอกราชอยู่แล้ว

สำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีน นโยบายที่พวกเขาประกาศออกมาอย่างชัดเจนก็คือ มุ่งแสวงหาทางนำเอาไต้หวันเข้ามารวมชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับแผ่นดินใหญ่ด้วยความสันติ โดยที่ปักกิ่งข่มขู่คุกคามที่จะใช้กำลังก็เพียงในกรณีถ้าหากขบวนการนักแบ่งแยกดินแดนประกาศเอกราชเท่านั้น เห็นกันได้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า ชาวไต้หวันนั้นไม่ได้มีความต้องการเห็นพวกเขาเองตกอยู่ในฐานะเดียวกันกับชาวยูเครน นั่นคือ อยู่ในขบวนแถวที่จะถูกไล่ต้อนให้ไปเป็นเหยื่อกระสุนในสงครามตัวแทนซึ่งแท้ที่จริงแล้วสหรัฐฯ คือผู้ที่ก่อขึ้นมา

ตรงจุดนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราน่าจะต้องลองมองสถานการณ์จากสายตาของจีน ลองพิจารณาว่า จีน ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นศัตรูของสหรัฐฯ นั้น มองสิ่งต่างๆ มองปัญหาต่างๆ อย่างไร และน่าจะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไรบ้างต่อพฤติกรรมแบ่งแยกดินแดนและประกาศเอกราชของไต้หวัน ทั้งนี้พวกเราชาวอเมริกันก็อาจจะหันมามองดูสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของเราเองอีกครั้ง เพื่อนำเอามาเปรียบเทียบวิเคราะห์กันดู

เมื่อตอนที่พวกรัฐในสมาพันธรัฐ (Confederate States) ประกาศแยกตัวออกจากสหรัฐฯ อเมริกาก็ได้เคลื่อนเข้าสู่สงครามกลางเมืองที่กลายเป็นสงครามครั้งนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ของตน โดยที่ทหารเสียชีวิตไปถึง 620,000 คน ยิ่งไปกว่านั้น หากไต้หวันในเงื้อมมือของพวกนักแบ่งแยกดินแดนจัดแจงประกาศเอกราชขึ้นมา โดยที่พวกเขาเหล่านี้ยังคงเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ชนิดที่ได้รับการประกอบอาวุธจากอเมริกาเสียด้วย มันจึงกลายเป็นตัวแทนซึ่งทำให้จีนต้องหวนนึกย้อนหลังกลับไปถึง “ศตวรรษแห่งความอับอายขายหน้า” ที่จีนถูกหยามหมิ่นจากน้ำมือของพวกนักล่าอาณานิคมชาวตะวันตก พิจารณาจากสภาวการณ์เหล่านี้แล้ว เห็นชัดเจนว่าการติดอาวุธให้แก่ไต้หวันคือการสร้าง “คลังแสงวัตถุระเบิด” ขึ้นมา แค่เกิดประกายไฟเพียงแวบเดียวก็อาจจุดชนวนทำให้เกิดการระเบิดอย่างวินาศสันตะโรขึ้น
(เรื่องจำนวนทหารที่เสียชีวิตในสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐฝ่ายเหนือกับรัฐฝ่ายใต้ของสหรัฐฯ คราวนี้ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nps.gov/nr/travel/national_cemeteries/death.html#:~:text=The%20number%20of%20soldiers%20who,and%20the%20Korean%20War%2C%20combined)

เป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ไปสู่ข้อสรุปที่ว่า สหรัฐฯ กำลังพยายามที่จะวางแผนการเพื่อให้เกิดสงครามตัวแทนขนาดใหญ่โตซึ่งจะครอบคลุมทั่วทั้งเอเชียตะวันออก โดยที่จะสร้างความเสียหายไม่เพียงเฉพาะแก่จีนเท่านั้น แต่ยังพวกคู่แข่งทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รายอื่นๆ อย่างเช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้อีกด้วย สหรัฐฯ จะออกมาจากสงครามดังกล่าวนี้โดยยืนผงาดอยู่ตรงจุดสูงสุด นี่ก็คือหลักลัทธิวูลโฟวิตซ์ (Wolfowitz Doctrine) ของพวกอนุรักษนิยมใหม่ (neo-conservative หรือ neocon) ที่นำเอามาใช้ในทางปฏิบัตินั่นเอง ทว่าสำหรับในยุคนิวเคลียร์แล้ว ยุทธศาสตร์เช่นนี้ย่อมหมายถึงความวิกลจริตอย่างเต็มสูบนั่นเอง
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักลัทธิวูลโฟวิตซ์ได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Wolfowitz_Doctrine#:~:text=The%20doctrine%20announces%20the%20U.S.,to%20be%20retaining%20that%20status.)

ถ้าจะมีชาวไต้หวันบางคนเกิดความหวังขึ้นมาว่า สหรัฐฯ จะเข้ามาช่วยเหลือพวกเขาแล้ว พวกเขาก็ควรไตร่ตรองให้จงหนักถึงโศกนาฏกรรมของยูเครน จวบจนถึงเวลานี้มีทหารยูเครนในระหว่าง 150,000 ถึง 200,000 คนทีเดียวที่เสียชีวิตไปแล้ว ขณะที่ชาวยูเครนอีกหลายล้านคนต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย

ไม่เพียงเท่านั้น สงครามตัวแทนของสหรัฐฯ ในลักษณะทำนองนี้ หากเกิดขึ้นมาในไต้หวันแล้วมันก็สามารถแปรเปลี่ยนกลายเป็นการสู้รบขัดแย้งอย่างเต็มขั้นระหว่างประเทศเจ้าของระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งและอันดับสองของโลกขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย ซึ่งแน่นอนทีเดียวว่าจะเป็นชนวนทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำใหญ่ระดับโลก และบางทีกระทั่งจะเกิดการตอบโต้กันด้วยอาวุธนิวเคลียร์อีกด้วย นอกจากนั้นประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ยังเพิ่งหลุดปากให้คำมั่นสัญญาที่จะจัดส่งทหารไปสู้รบกับกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ถ้าหากความเป็นศัตรูกันระหว่างจีนกับไต้หวันระเบิดตูมตามขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ สถานการณ์จึงอยู่ในภาวะน่ากลัวอันตรายยิ่งเสียกว่าในยูเครนด้วยซ้ำไป

ไม่ควรส่งอาวุธไปให้ไต้หวัน

เมื่อพิจารณาสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมดแล้ว การติดอาวุธให้ไต้หวันจึงเท่ากับการร้องขอความยุ่งเหยิงวุ่นวายในระดับโลกนั่นเอง ไต้หวันกับปักกิ่งย่อมสามารถที่จะรอมชอมความไม่เห็นพ้องต้องกันของพวกเขาด้วยตัวพวกเขาเอง พูดกันอย่างตรงไปตรงมา การที่สองฝ่ายนี้มีความหมางเมินไม่เห็นพ้องต้องกัน ถึงอย่างไรมันก็ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของอเมริกาสักหน่อย

ดังนั้น พวกเราในสหรัฐฯ จะต้องหยุดยั้งรัฐบาลของพวกเราไม่ให้ติดอาวุธแก่ไต้หวัน นอกจากนั้นเรายังจำเป็นต้องเรียกร้องให้นำทหารของเรากลับออกมาจากเอเชียตะวันออกอีกด้วย เอเชียตะวันออกนั้นอยู่ห่างไกลจากอเมริกาเหลือเกินขนาดมีมหาสมุทรใหญ่ขวางกั้นอยู่ และไม่ได้มีมหาอำนาจใดๆ ในภูมิภาคดังกล่าวกำลังเป็นภัยคุกคามสหรัฐฯ เลย พวกเราไม่ได้เจอกับสถานการณ์ที่มีเรือรบจีนแล่นอยู่บริเวณนอกชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของเรา และพวกเรายังไม่ต้องเจอกับการที่มีกองทหารจีนหรือมีฐานทัพจีนตั้งอยู่ภายในซีกโลกของเราไม่ว่าตรงไหนก็ตามที

จีนกำลังเรียกร้องให้วอชิงตันและปักกิ่งอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และให้ความสัมพันธ์ต่างๆ ระหว่างพวกเราเป็นความสัมพันธ์ที่มุ่งให้ทุกๆ ฝ่ายต่างเป็นผู้ชนะ ดังนั้นจึงขอให้พิจารณาฝ่ายจีนด้วยสายตาเช่นนี้กันดีกว่า

แล้วขอให้พวกเราช่วยกันหาทางนำเอากองทหาร เรือดำน้ำ เครื่องบินทิ้งระเบิด จรวดชนิดต่างๆ และเรือรบทั้งหลายของเราให้ออกไปจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก ก่อนที่อาวุธเหล่านี้จะเกิดโซซัดโซเซปะทะกันจนบานปลายกลายเป็นการสู้รบขัดแย้งขึ้นมา หรือกลายเป็นเครื่องมือสำหรับการปฏิบัติการจัดฉากสร้างสถานการณ์เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ

เราพึงต้องระลึกเอาไว้อยู่เสมอถึงเหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย (Gulf of Tonkin incident) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นมาด้วยรายงานข่าวเท็จที่ว่าเวียดนามเข้าโจมตีเรือลำหนึ่งของสหรัฐฯ แล้วจึงนำไปสู่การออกญัตติอ่าวตังเกี๋ย (Gulf of Tonkin Resolution) ซึ่งก็คือคำประกาศสงครามกับเวียดนามในทางพฤตินัยนั่นเอง ในท้ายที่สุดแล้วมีผู้คนจำนวนเป็นล้านๆ คนทีเดียวที่ต้องสูญเสียชีวิตของพวกเขาไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในสงครามที่โหดเหี้ยมชวนขนพองสยองกร้าวคราวนั้น
(เรื่องเหตุการณ์อ่าวตังเกี๋ย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Gulf_of_Tonkin_incident)
(เรื่องญัตติอ่าวตังเกี๋ย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Gulf_of_Tonkin_Resolution)

และเราก็ต้องตระหนักด้วยว่า กระทั่งเรื่องสงครามเวียดนามดังกล่าวนี้ จะแลดูเหมือนกับแค่เป็นการทะเลาะโต้เถียงกันหลังโรงเรียนไปเลย เมื่อเปรียบเทียบกับหายนะภัยขนาดใหญ่โตมโหฬารที่จะเกิดขึ้นมาได้เมื่อเกิดสงครามระหว่างสหรัฐฯ-จีน

บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกทางเว็บไซต์ Antiwar.com

จอห์น วี วอลซ์ เคยเป็นอาจารย์ด้านสรีรวิทยาและประสาทวิทยาอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ชาน (Chan Medical School) แห่งมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ จวบจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ เขาเขียนบทความในประเด็นว่าด้วยสันติภาพและการดูแลสุขภาพให้แก่สื่อต่างๆ หลายหลาก เป็นต้นว่า ซานฟรานซิสโกครอนิเคิล (San Francisco Chronicle), อีสต์เบย์ไทมส์(EastBayTimes)/ซานโฮเซเมอร์คิวรีนิวส์(San Jose Mercury News), เอเชียไทมส์, แอลเอโปรเกรสสีฟ (LA Progressive), Antiwar.com, เคาน์เตอร์พันช์ (CounterPunch) และอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น