รัสเซียยิงขีปนาวุธถล่มท่าเรือเมืองโอเดซา ทางภาคใต้ของยูเครนในวันเสาร์ (23 ก.ค.) จากคำกล่าวอ้างของยูเครน ปฏิบัติการที่เรียกเสียงประณามจากสหรัฐฯ สหประชาชาติ และเคียฟ และคุกคามข้อตกลงที่ลงนามหนึ่งวันก่อนหน้านี้ สำหรับปลดล็อกการส่งออกธัญพืชจากท่าเรือต่างๆ ริมทะเลดำ และคลี่คลายวิกฤตอาหารขาแคลนทั่วโลกอันเนื่องมาจากสงคราม อย่างไรก็ตาม มอสโกปฏิเสธว่าไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเหตุโจมตีดังกล่าว
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ระบุการโจมตีครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่สามารถไว้วางใจมอสโกว่าจะปฏิบัติตามข้อตกลง อย่างไรก็ตาม สถานีโทรทัศน์สาธารณะ Suspilne ของเคียฟ รายงานอ้างกองทัพยูเครนเผยว่า ขีปนาวุธไม่ได้ก่อความเสียหายสำคัญใดๆ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลรายหนึ่งบอกว่าเตรียมเดินหน้ากลับมาส่งออกธัญพืชออกจากท่าเรือต่างๆ ริมทะเลดำอีกครั้ง
ข้อตกลงที่ลงนามโดยมอสโกกับเคียฟเมื่อวันศุกร์ (22 ก.ค.) และมีสหประชาชาติกับตุรกีเป็นคนกลาง ได้รับยกย่องว่าเป็นการผ่าทางตันครั้งสำคัญของการสู้รบที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 5 เดือน นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานประเทศเพื่อนบ้าน มันถูกมองว่ามีความสำคัญยิ่งสำหรับการสกัดราคาอาหารโลกที่กำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการเปิดทางส่งออกธัชพืชจากท่าเรือต่างๆ ริมทะเลดำ ในนั้นรวมถึงโอเดซา
เจ้าหน้าที่สหประชาชาติในวันศุกร์ (22 ก.ค.) แสดงความหวังว่าจะมีการดำเนินการตามข้อตกลงในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ดังนั้นปฏิบัติการโจมตีท่าเรือโอเดซา จึงเรียกเสียงประณามจากสหประชาชาติ สหภาพยุโรป สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมนี และอิตาลี
อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมรัสเซียเผยว่าเจ้าหน้าที่รัสเซียบอกกับอังการา วา มอสโกไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตีที่โอเดซา ในส่วนของรัสเซีย ถ้อยแถลงของกระทรวงกลาโหมและกองทัพระหว่างแถลงสรุปในตอนเย็นวันเสาร์ (23 ก.ค.) ต่างไม่ได้พาดพิงใดๆ ถึงเหตุขีปนาวุธโจมตีในโอเดซา
กองบัญชาการภาคใต้ของยูเครน อ้างว่าขีปนาวุธคาลิเบอร์ของรัสเซีย 2 ลูก พุ่งใส่สถานีสูบน้ำแห่งหนึ่งของท่าเรือ ส่วนอีก 2 ลูก ถูกกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศสอยร่วงก่อน ขณะที่โฆษกกองทัพอากาศยูเครนระบุว่า ขีปนาวุธเหล่านั้นถูกยิงออกมาจากเรือรบที่ประจำการอยู่ในทะเลดำใกล้แคว้นไครเมีย
Suspilne รายงานโดยอ้างโฆษกกองบัญชาการภาคใต้ของยูเครน ระบุการโจมตีไม่โดนพื้นที่จัดเก็บธัญพืชของท่าเรือ "เคราะห์ร้ายที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ โครงสร้างของท่าเรือได้รับความเสียหาย" มัคซีม มาร์เชนโก ผู้ว่าการแคว้นโอเดซากล่าว
กระนั้น โอเล็กซานด์ร คาบราคอฟ รัฐมนตรีโครงสร้างพื้นฐาน เขียนบนเฟซบุ๊กระบุว่า "เรายังคงเดินหน้าเตรียมการทางเทคนิคสำหรับเริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรจากท่าเรือต่างๆ ของเรา"
การโจมตีดังกล่าวดูเหมือนเป็นการละเมิดเงื่อนไขของข้อตกลงเมื่อวันศุกร์ (22 ก.ค.) ซึ่งจะอนุญาตผ่านเข้าออกท่าเรือโอเดซาและท่าเรืออื่นๆ อีก 2 แห่งของยูเครนอย่างปลอดภัย "มันเป็นเครื่องพิสูจน์เพียงอย่างเดียว นั่นคือ มันไม่สำคัญว่ารัสเซียจะพูดหรือสัญญาอะไร พวกเขาจะหาทางไม่ปฏิบัติตามคำสัญญญาเหล่านั้น" ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ระบุในวิดีโอที่โพสต์บนเทเลแกรม
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ขอประณามอย่างหนักแน่นต่อเหตุโจมตีครั้งนี้ โฆษกสหประชาชาติระบุ พร้อมบอกว่าการบังคับใช้ข้อตกลงอย่างเต็มรูปแบบเป็นสิ่งสำคัญ "ผลผลิตเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับจัดการกับวิกฤตอาหารโลก และคลี่คลายความทุกข์ทรมานของประชาชนหลายล้านคนทั่วโลกที่ต้องการมัน"
ส่วน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า อเมริกาขอประณามอย่างแข็งกร้าวต่อเหตุโจมตีท่าเรือโอเดซาของยูเครน พร้อมบอกว่ารัสเซียต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อวิกฤตอาหารโลกที่กำลังหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ "การโจมตีบ่อนทำลายการทำงานของยูเอ็น ตุรกีและยูเครน สำหรับนำอาหารที่จำเป็นป้อนสู่ตลาดโลก" บลิงเคนกล่าวในถ้อยแถลง
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตุรกี ระบุในถ้อยแถลงว่า "ในการติดต่อระหว่างเรากับรัสเซีย ฝ่ายรัสเซียบอกกับเราว่า พวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ เลยกับการโจมตีนี้ และพวกเขากำลังตรวจสอบเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและละเอียดถี่ถ้วน" พร้อมบอกว่า "ข้อเท็จจริงที่เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทันทีหลังเราจัดทำข้อตกลงกันเมื่อวาน มันจึงสร้างความกังวลแก่เราเป็นอย่างมาก"
ยูเครนวางทุ่นระเบิดในน้ำใกล้ท่าเรือต่างๆ ของพวกเขา ส่วนหนึ่งในมาตรการป้องกันตนเองระหว่างสงคราม แต่ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว จะมีผู้ชี้ทางสำหรับพาเรือล่องไปตามช่องทางที่ปลอดภัย จากนั้นทางศูนย์ประสานงานร่วม (JCC) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่มาจาก 4 ฝ่ายในข้อตกลง จะรับหน้าที่ตรวจตราการขนส่งทางเรือจากทะเลดำไปยังช่องแคบบอสพอรัส ของตุรกี และออกสู่ตลาดโลก
ทุกฝ่ายตกลงกันในวันศุกร์ (22 ก.ค.) จะไม่มีการโจมตีสินค้าเหล่านี้ และทาง JCC จะเป็นผู้คลี่คลายปัญหาสำหรับความเคลื่อนไหวต้องห้ามใดๆ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศยูเครนเขียนบนเฟซบุ๊กว่า "การโจมตีด้วยขีปนาวุธของรัสเซีย คือการที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ถ่มน้ำลายใส่หน้าของกูเตอร์เรส และประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน" ส่วนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเคียฟ ระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า "เครมลินยังคงใช้อาหารเป็นอาวุธ รัสเซียต้องรับผิดชอบ"
มอสโกปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตอาหารโลก โดยกล่าวโทษมาตรการคว่ำบาตรตะวันตกที่ทำให้การส่งออกอาหารและปุ๋ยเป็นไปอย่างล่าช้า รวมถึงยูเครนสำหรับวางทุ่นระเบิดในเส้นทางที่มุ่งหน้าสู่ท่าเรือต่างๆ
การที่กองเรือทะเลดำของรัสเซีย ปิดกั้นท่าเรือต่างๆ ของยูเครน มาตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการรุกรานในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทำให้ธัญพืชติดค้างมากกว่า 10 ล้านตัน เช่นเดียวกับเรือจำนวนมาก
เซเลนสกี ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะช่วยให้ยูเครนสามารถส่งออกผลผลิตธัญพืชประมาณ 20 ล้านตันที่เก็บเกี่ยวได้ในปีที่แล้ว ซึ่งจะมีมูลค่ารวมถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในส่วนความขัดแย้ง เขาบอกกับหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ว่าจะไม่มีข้อตกลงหยุดยิงใดๆ หากไม่สามารถทวงคืนดินแดนที่สูญเสียไปกลับมา
(ที่มา : รอยเตอร์)