ยูเครนระบุอาจนำเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 บางส่วนซึ่งได้รับจากพวกชาติพันธมิตรตะวันตก ไปประจำที่ฐานทัพประเทศอื่นๆ เพื่อป้องกันการโจมตีของรัสเซีย ขณะมอสโกย้ำการกระทำเช่นนั้นจะถือฐานทัพเหล่านั้นเป็นเป้าหมายการโจมตีที่ชอบธรรมของฝ่ายตน ในอีกด้านหนึ่ง กระทรวงกลาโหมรัสเซียอ้างยึดชุมชนสำคัญในแคว้นโดเนตสก์ได้อีกแห่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ชุมชนที่ยูเครนสามารถยึดคืนได้ระหว่างปฏิบัติการตอบโต้กลับครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว
เวลานี้ทั้ง เบลเยียม เดนมาร์ก นอร์เวย์ และเนเธอร์แลนด์ ต่างรับปากจะจัดหาเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 แบบต่างๆ ที่ผลิตในอเมริกา รวมแล้วกว่า 60 ลำให้เคียฟ โดยขณะนี้นักบินยูเครนกำลังฝึกบินเครื่องบินรุ่นนี้กันอยู่ในหลายประเทศทางยุโรป ก่อนที่จะได้รับมอบ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มต้นในช่วงปลายปีนี้
พลอากาศจัตวา เซอร์ฮี โฮลุบต์ซอฟ ผู้อำนวยการฝ่ายการบินแห่งกองทัพอากาศยูเครน ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุเรดิโอ ฟรี ยุโรป/เรดิโอ ลิเบอร์ตี้ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (10 มิ.ย.) ว่า เครื่องเอฟ-16 จำนวนหนึ่งที่ได้รับมาจะจัดเก็บไว้ที่ฐานทัพอากาศนอกยูเครน เพื่อไม่ให้เป็นเป้าหมายการโจมตีของรัสเซีย
นายทหารอาวุโสแห่งกองทัพอากาศยูเครนผู้นี้กล่าวเสริมว่า เครื่องบิน เอฟ-16 ที่ได้รับมานี้ จะนำมาใช้แทนที่เครื่องบินซึ่งได้รับความเสียหายและอยู่ระหว่างการซ่อมแซม รวมทั้งใช้สำหรับการฝึกนักบินยูเครนในต่างประเทศด้วย
เขายังตั้งข้อสังเกตว่า เอฟ-16 สามารถช่วยยูเครนปกป้องพื้นที่แนวหน้าและแคว้นที่อยู่ติดชายแดนจากพวกระเบิดร่อน (glide bomb) ของรัสเซียที่สร้างความเสียหายใหญ่หลวงแก่กำลังพล และเขตที่อยู่อาศัยของยูเครน ซึ่งรวมถึงเมืองคาร์คิฟ
ทั้งนี้ ระเบิดร่อนคือพวกระเบิดขนาดใหญ่ยุคโซเวียต ที่นำมาติดตั้งระบบนำวิถีอันแม่นยำ และปล่อยจากเครื่องบินที่บินอยู่นอกเขตป้องกันภัยทางอากาศ
ตามรายงานของอาร์ที สื่อทางการรัสเซีย แดนหมีขาวเรียกอุปกรณ์ระบบนำวิถีซึ่งนำมาติดตั้งกับลูกระเบิดธรรมดาทั้งหลายนี้ว่า อุปกรณ์นำทางติดปีก UMPK (Universal Glide and Correction Module โมดูลนำทางและปรับแก้ทิศทางสากล) พร้อมระบุว่า UMPK ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า คือระบบแอนะล็อกของอุปกรณ์ทำให้ระเบิดธรรมดากลายเป็นระเบิดฉลาดที่สามารถพุ่งเข้าทำลายเป้าหมายได้อย่างแม่นยำทำนองเดียวกันนี้ของฝ่ายสหรัฐฯ ที่ใช้ชื่อว่า JDAM (Joint Direct Attack Munition วัตถุระเบิดเพื่อใช้ในการโจมตีร่วม)
โฮลุบต์ซอฟเชื่อว่า ถ้าเอฟ-16 สามารถผลักดันให้เครื่องบินรบของรัสเซียต้องถอยร่นจากเส้นแบ่งเขตแดนอย่างน้อย 30-50 กิโลเมตร จะถือเป็นจุดเปลี่ยนและอย่างน้อยทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในน่านฟ้าระหว่างกองทัพอากาศของสองประเทศ
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เคยเตือนว่า มอสโกอาจพิจารณาโจมตีฐานทัพของชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่อนุญาตให้นำเครื่องบินรบที่ใช้ในยูเครนไปจอด เพราะเท่ากับว่า นาโตเข้าสู่การสู้รบขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนโดยตรง และดังนั้นฐานทัพดังกล่าวจะถูกถือเป็นเป้าหมายการโจมตีอันชอบธรรมของฝ่ายรัสเซีย
ในเดือนมีนาคม ประมุขทำเนียบเครมลินย้ำคำเตือนนี้อีกครั้ง และสำทับว่า เนื่องจากเอฟ-16 สามารถติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ได้ ดังนั้น รัสเซียจึงจำเป็นต้องพิจารณาประเด็นนี้ด้วยระหว่างการวางแผนปฏิบัติการสู้รบ
เมื่อวันจันทร์ (10) อันเดร คาร์ตาโปลอฟ ประธานคณะกรรมาธิการการทหารของสภาล่างรัสเซีย ก็กล่าวย้ำกับสำนักข่าวอาร์ไอเอ โนวอสตีของทางการหมีขาวว่า ฐานทัพของนาโตที่อนุญาตให้เอฟ-16 ใช้เป็นฐานเปิดการโจมตีรัสเซียจะถือเป็นเป้าหมายที่ชอบธรรมของมอสโก
เวลานี้พวกชาติพันธมิตรตะวันตกกำลังพยายามเพิ่มการสนับสนุนทางทหารแก่เคียฟ ขณะที่กองทหารรัสเซียเปิดฉากโจมตีตลอดแนวรบระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยฉวยโอกาสที่ความช่วยเหลือทางทหารของอเมริกาที่จัดส่งไปยูเครนเกิดการชะงักล่าช้าเป็นเวลานานหลายเดือน
ขณะนี้ยูเครนกำลังต้านทานการบุกของรัสเซียใกล้เมืองคาร์คิฟ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ เมืองนี้ที่เป็นเมืองเอกของแคว้นชื่อเดียวกัน ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน และอยู่ห่างจากชายแดนติดรัสเซียไม่ถึง 30 กิโลเมตร
นอกจากนั้น ฝ่ายรัสเซียยังเดินหน้าบุกอย่างช้าๆ ในแคว้นโดเนตสก์ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของยูเครน โดยเมื่อวันจันทร์ กระทรวงกลาโหมรัสเซียอ้างว่า เข้ายึดชุมชนสตาโรมายอร์สก์ได้ ทว่า ทางเคียฟยังไม่ได้ออกมายอมรับ รวมทั้งยังไม่สามารถตรวจสอบอย่างอิสระ
หากเสียชุมชนดังกล่าวจริง จะส่งผลลบเชิงสัญลักษณ์ต่อเคียฟ เนื่องจากเป็นหนึ่งในไม่กี่ชุมชนที่ยูเครนสามารถยึดคืนมาได้ระหว่างปฏิบัติการตอบโต้กลับครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว
ปัจจุบัน อเมริกาและพันธมิตรอื่นๆ ในนาโตกำลังตอบโต้การรุกคืบหน้าในช่วงนี้ของรัสเซีย ด้วยการอนุญาตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ยูเครนใช้อาวุธที่จัดส่งไปให้ในการโจมตีเข้าไปในดินแดนรัสเซียแบบจำกัด โดยหวังทำให้รัสเซียไม่สามารถทุ่มกำลังพลสำหรับปฏิบัติการโจมตีขนาดใหญ่ใกล้คาร์คิฟและพื้นที่ชายแดนอื่นๆ ได้
ทว่า สัปดาห์ที่แล้ว ปูตินตอบโต้ด้วยการเตือนว่า มอสโกสงวนสิทธิในการจัดส่งอาวุธทันสมัยทัดเทียมกันไปให้แก่พวกกองกำลังซึ่งเป็นศัตรูของฝ่ายตะวันตกในทั่วโลก
อนึ่ง ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ สวิตเซอร์แลนด์กำลังจะจัดการประชุมนานาชาติเพื่อสันติภาพขึ้นที่เมืองลูเซิร์น โดยที่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี วาดหวังว่า จะเป็นโอกาสสำหรับยูเครนในการระดมการสนับสนุนเพิ่ม อย่างน้อยก็ให้ตนเองมีฐานะต่อรองที่ดีขึ้น หากต้องเข้าเจรจาสันติภาพกับรัสเซียในที่สุด
(ที่มา : เอพี, เอเอฟพี, อาร์ที, เอเจนซีส์)