xs
xsm
sm
md
lg

พรรคขวาจัดแรงเกินคาด‘ศึกเลือกตั้งสภายุโรป’ ฝรั่งเศสสะเทือน ‘มาครง’เสี่ยงจัดโหวตใหม่แดนน้ำหอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพถ่ายจากจอทีวีแสดงให้เห็นกิริยาท่าทางของประธานาธิบดีเอมมานูเอง มาครง แห่งฝรั่งเศส ระหว่างกล่าวปราศรัยทางทีวีเมื่อคืนวันอาทิตย์ (9 มิ.ย.) ซึ่งเขาประกาศยุบสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งก็คือสภาล่างของฝรั่งเศส เพื่อจัดการเลือกตั้งกันใหม่ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้
พวกพรรคขวาจัด มาแรงในศึกเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรป เขย่าการเมืองฝรั่งเศสอย่างรุนแรง ส่งผลให้ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ตัดสินใจเสี่ยงวางเดิมพันครั้งสำคัญ ด้วยการประกาศจัดโหวตเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติแดนน้ำหอมเพื่อวัดคะแนนนิยมให้รู้ดำรู้แดงเสียเลยในปลายเดือนนี้

ถึงแม้ในการเลือกตั้งซึ่งสิ้นสุดลงในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกพรรคการเมืองสายกลางทั้งพวกที่เอียงขวาและเอียงซ้ายรวมกันแล้วยังครองเสียงข้างมากในรัฐสภายุโรปเอาไว้ได้ แต่กลุ่มก้อนทางพรรคฝ่ายขวาจัดและสายประชานิยม ก็สามารถคว้าชัยเป็นอันดับ 1 ทั้งในฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรีย และชนะเป็นพรรคอันดับ 2 ในเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้ ตามผลการนับคะแนนเบื้องต้น

อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานของคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งก็คือองค์กรบริหารของอียู จากบล็อกพรรคกลาง-ขวา ที่ใช้ชื่อว่า ยูโรเปียน พีเพิลส์ ปาร์ตี้ (อีพีพี) และเป็นกลุ่มซึ่งได้ที่นั่งในสภายุโรปคราวนี้มากที่สุด ประกาศว่า พร้อมจับมือกับพวกพรรคกลุ่มกลาง-ซ้ายอย่างพวกพรรคสังคมประชาธิปไตยและพรรคเสรีนิยม เพื่อสร้างป้อมปราการป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองขวาสุดโต่งและซ้ายสุดโต่งเข้าครองอำนาจ

ทั้งนี้ ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงกว่า 360 ล้านคนใน 27 ประเทศสมาชิกอียู ลงคะแนนเลือกสมาชิกรัฐสภายุโรปจำนวน 720 ที่นั่ง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันพฤหัสบดี (6) ถึงวันอาทิตย์ (9)

เห็นกันว่า รัฐสภายุโรปชุดใหม่ รวมทั้งคณะกรรมาธิการยุโรปชุดใหม่ซึ่งจะต้องผ่านการรับรองของรัฐสภา จะต้องรับมือกับปัญหาหนักหน่วงจำนวนมาก ตั้งแต่เรื่องสงครามในยูเครน ความตึงเครียดทางการค้าที่โหมกระพือจากการเป็นปฏิปักษ์ระหว่างอเมริกากับจีน สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม และแนวโน้มที่โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้มีนโยบายเน้นหนักเฉพาะผลประโยชน์ของอเมริกา อาจได้กลับสู่ทำเนียบขาวอีกรอบ

ที่ฝรั่งเศสนั้น ผลการนับคะแนนชี้ว่า พรรคขวาจัด เนชันแนล แรลลี (อาร์เอ็น) ของมารี เลอ เปน คว้าชัยชนะเป็นที่หนึ่งด้วยคะแนนเสียง 31.5% ทิ้งห่างพรรคสายกลาง เรอแนสซองซ์ ปาร์ตี้ของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง กว่าครึ่ง

มาครงปราศรัยในคืนวันอาทิตย์ว่า คงไม่สามารถทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้ พร้อมกับประกาศยุบสมัชชาแห่งชาติ หรือก็คือสภาล่างของฝรั่งเศส และจัดการเลือกตั้งสมาชิกสมัชชาชุดใหม่ในวันที่ 30 ที่จะถึง หรือ 1 เดือนก่อนที่ปารีสจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงทางการเมืองครั้งใหญ่ โดยที่พรรคเรอแนสซองส์ นั้นไม่สามารถครองเสียงข้างมากได้อยู่แล้วตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อ 2 ปีก่อน อาจจะเสียที่นั่งเพิ่ม สั่นคลอนอำนาจของมาครงที่มีวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไปจนถึงปี 2027 โดยที่เขาจะไม่สามารถลงสมัครได้อีก เนื่องจากอยู่ในสมัยที่สองของเขาแล้ว

ด้านเลอ เปน ประกาศว่า ถ้าประชาชนไว้วางใจ อาร์เอ็นพร้อมพลิกโฉมประเทศ ปกป้องผลประโยชน์ของฝรั่งเศส และยุติการย้ายถิ่นขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นนโยบายของผู้นำขวาจัดหลายคนในประเทศอื่นๆ ที่กำลังเฉลิมฉลองชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้

นอกจากฝรั่งเศสแล้ว ที่เยอรมนี ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป ปรากฏว่าประชาชนเมินเรื่องอื้อฉาวของพรรคเอเอฟดีที่มีนโยบายต่อต้านคนเข้าเมือง และพากันลงคะแนนให้พรรคนี้จนได้ที่นั่งสมาชิกสภายุโรปมากเป็นอันดับ 2 ด้วยคะแนน 16% ขณะที่พรรคโซเชียล เดโมแครตส์ของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ได้คะแนนเพียง 14% และทั้ง 3 พรรคซึ่งร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมของแดนดอยช์เวลานี้ได้คะแนนรวมกัน อยู่ที่ 30%

ที่อิตาลี พรรคขวาจัด บราเธอร์ส ออฟ อิตาลีของนายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนี ทำผลงานดีเกินคาด ด้วยคะแนนเลือกตั้งอันดับ 1 ที่ 28% เช่นเดียวกับ พรรคขวาจัด ฟรีดอม ปาร์ตี้ คว้าชัยชนะเป็นครั้งแรกในออสเตรีย

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้ว 2 กลุ่มก้อนพรรคกระแสหลักที่เป็นพวกโปรยุโรปคือ คริสเตียน เดโมแครตส์ และโซเชียลลิสต์ยังคงมีคะแนนนำในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่ผู้ที่สูญเสียหนักน่าจะเป็นกลุ่มก้อนพรรคกรีนส์ที่คาดว่า จะเสียที่นั่งในสภายุโรปราว 20 ที่นั่ง และหล่นไปอยู่อันดับ 6 รวมถึงกลุ่มรีนิว ยุโรปที่โปรธุรกิจและมีพรรคของมาครงรวมอยู่ด้วย

ผลการนับคะแนนที่ยังไม่มีการยืนยันขั้นสุดท้ายระบุว่า คริสเตียน เดโมแครตส์น่าจะได้ 189 ที่นั่ง เพิ่มขึ้น 13 ที่นั่ง, โซเชียล เดโมแครตส์ 135 ที่นั่ง ลดลง 4 ที่นั่ง, รีนิว ยุโรป 83 ที่นั่ง ลดลง 19 ที่นั่ง และกรีนส์ 53 ที่นั่ง ลดลง 18 ที่นั่ง ขณะที่กลุ่มก้อนพรรคขวาจัดใหญ่ 2 กลุ่ม คือ อีซีอาร์ และไอดี มีแนวโน้มได้ 72 ที่นั่ง และ 58 ที่นั่งตามลำดับ

การผงาดขึ้นมาของพรรคชาตินิยมขวาจัดและประชานิยมทั่วยุโรปเช่นนี้คาดว่า จะทำให้รัฐสภายุโรปทำงานยากขึ้นในการอนุมัติกฎหมายต่างๆ ตั้งแต่กฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงนโยบายเกษตรกรรมในช่วง 5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ดี พรรคขวาสุดโต่งในสภายุโรปไม่ได้ผนึกกำลังกันแนบแน่น แต่กลับแบ่งแยกเป็นขั้วต่างๆ อาทิ แม้มีแนวทางต่อต้านคนเข้าเมืองเหมือนกัน แต่แตกแยกอย่างชัดเจนในประเด็นบทบาทของยุโรปในการให้ความช่วยเหลือยูเครนสู้รบกับรัสเซีย

เซบาสเตียน ไมยาร์ด จากสถาบันฌาคส์ เดอลอร์ ชี้ว่า พรรคขวาจัดและพรรคประชานิยมจะไม่สามารถรวมเสียงกันได้ ซึ่งจะกลายเป็นการจำกัดอิทธิพลของพรรคเหล่านี้ในสภายุโรป

(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น