ทางการสโลวะเกียในวันพฤหัสบดี (16 พ.ค.) ตั้งข้อหาพยายามลอบสังหารผู้นำ ต่อชายคนที่ถูกรวบตัวเอาไว้ทันควันหลังใช้อาวุธปืนระดมยิงนายกรัฐมนตรีโรเบิร์ต ฟิโก พร้อมระบุว่าเขาก่อเหตุเพียงลำพังคนเดียว ขณะที่เหตุการณ์ระทึกขวัญคราวนี้ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันพุธ (15) กำลังสร้างความปั่นป่วนทางการเมืองให้แก่ประเทศเล็กๆ ในยุโรปกลางแห่งนี้ ตลอดจนทั่วทั้งยุโรปอีกด้วย
ฟิโก ซึ่งปัจจุบันอายุ 59 ปี ยังคงมีอาการบาดเจ็บสาหัส ทว่าอยู่ในสภาพคงที่แล้ว ภายหลังถูกยิงด้วยปืนพกที่ช่วงท้องถึง 5 นัด เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลผู้หนึ่งบอก ขณะที่ ปีเตอร์ เพลเลกรินี ว่าที่ประธานาธิบดีสโลวะเกีย ซึ่งเป็นพันธมิตรทางการเมืองของฟิโก กล่าวว่าเขาได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีผู้นี้ที่โรงพยาบาล กระนั้นก็ยืนยันว่า อาการของฟิโก “ยังคงสาหัสมาก”
ตามการเปิดเผยของ เมทัส ซูทัจ เอสท็อก รัฐมนตรีมหาดไทย ผู้ต้องหาก่อเหตุลอบสังหารคราวนี้ ซึ่งมีชื่อว่า จูราจ ซินตูลา นักเขียนนักกวีวัย 71 ปี ระบุในการสอบปากคำเบื้องต้นว่า เขาตัดสินใจกระทำเรื่องนี้ภายหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสโลวะเกียรอบตัดสินเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ออกมาว่า เพลเลกรินี พันธมิตรของฟิโกเป็นผู้ชนะ
ซึ่งเรื่องนี้เป็นการสะท้อนถึงการแตกแยกแบ่งขั้วและความเกลียดชังกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ภายในแวดวงการเมืองและสังคมของสโลวะเกีย
นอกจากนั้น การลอบสังหารครั้งนี้ยังเกิดขึ้นขณะที่ใกล้การเลือกตั้งรัฐสภายุโรปเข้าไปทุกที ท่ามกลางความกังวลของฝ่ายอื่นๆ ว่า พวกนักการเมืองประชานิยมและชาตินิยมแบบฟิโก อาจกวาดที่นั่งได้เพิ่มขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น หลายประเทศในยุโรปยังวิตกว่า ฟิโกที่โปรรัสเซียออกนอกหน้า อาจพาสโลวะเกียตีตัวออกห่างจากตะวันตกมากขึ้นไปอีก
นายกรัฐมนตรี 4 สมัยของสโลวะเกียผู้นี้กำลังทักทายกลุ่มผู้สนับสนุน ขณะถูกผู้ก่อเหตุใช้ปืนกราดยิง รองนายกรัฐมนตรีโทมัส ทาราบา ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า ฟิโกพ้นขีดอันตรายแล้ว ส่วนโรเบิร์ต คาลินา รัฐมนตรีกลาโหม เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวที่โรงพยาบาลซึ่งฟิโกรักษาตัวว่า แพทย์ใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อช่วยชีวิตผู้นำโปรรัสเซียผู้นี้
เจ้าหน้าที่รัฐบาลสโลวะเกียระบุว่า ฟิโก ถูกยิงที่หน้าศูนย์วัฒนธรรมในเมืองฮันด์โลวา ที่อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือห่างจากเมืองหลวงเกือบ 140 กิโลเมตร เขาเดินทางมาที่เมืองนี้เพื่อร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร และหลังประชุมเสร็จก็เดินออกมาทักทายกลุ่มผู้สนับสนุน จึงถูกยิงเผาขนดังกล่าว
ที่ผ่านมา ฟิโกมักเป็นผู้นำที่จุดชนวนข้อพิพาทในสังคม แต่การกลับสู่อำนาจเมื่อปีที่แล้วพร้อมกับการส่งสัญญาณชัดเจนขึ้นในการสนับสนุนรัสเซียและต่อต้านอเมริกาสร้างความกังวลในหมู่ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป ว่า เขาอาจนำสโลวะเกียที่เป็นส่วนหนึ่งของอียูและนาโต ตีตัวออกห่างจากตะวันตกมากขึ้น
นับจากเข้ารับตำแหน่งสมัยที่ 4 รัฐบาลของฟิโกได้ระงับการจัดส่งอาวุธให้ยูเครน ทำให้เหล่านักวิจารณ์กังวลว่า เขาจะนำสโลวะเกียละทิ้งแนวทางโปรตะวันตก เจริญรอยตาม วิกตอร์ ออร์บัน นายกรัฐมนตรีประชานิยมของฮังการี ขณะที่ประชาชนหลายพันออกไปชุมนุมประท้วงนโยบายของฟิโกทั้งในเมืองหลวงและเมืองต่างๆ ทั่วประเทศครั้งแล้วครั้งเล่า
การพยายามลอบสังหารฟิโกคราวนี้ยังเกิดขึ้น ขณะที่การเมืองยุโรปร้อนระอุ เนื่องจากกำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภายุโรปในอีก 3 สัปดาห์ ท่ามกลางความกังวลมากขึ้นว่า นักการเมืองประชานิยมและชาตินิยมแบบฟิโกอาจกวาดที่นั่งเพิ่มในสภายุโรป
อย่างไรก็ดี การพยายามลอบสังหารฟิโกทำให้พวกนักการเมืองสโลวะเกีย ละวางความขัดแย้งทางการเมืองชั่วคราว เช่น ประธานาธิบดีซูซานา คาปูโตวา ที่เป็นศัตรูทางการเมืองของฟิโก และกำลังจะลงจากตำแหน่ง ได้ออกมากล่าวปราศรัยทางทีวีว่า การลอบทำร้ายฟิโกยังถือเป็นการโจมตีประชาธิปไตยอีกด้วย และความรุนแรงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ พร้อมเรียกร้องให้สังคมยุติการใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังที่จะนำไปสูการกระทำที่น่ารังเกียจ
ทั้งนี้ การเลือกตั้งไม่นานมานี้ ที่นำฟิโกและพันธมิตรกลับสู่อำนาจยิ่งตอกย้ำความแตกแยกในสังคม ซึ่งถูกกระตุ้นจากสงครามในยูเครนที่เป็นเพื่อนบ้านด้านตะวันออกของสโลวะเกีย
เกเบอร์ ซีเมอร์ นักข่าวสายการเมืองของ Ujszo.com ชี้ว่า การกลับสู่อำนาจของฟิโกสะท้อนสัญญาณว่า สังคมสโลวะเกียแตกแยกออกเป็นสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งต้องการเป็นมิตรกับรัสเซีย ส่วนอีกฝ่ายผลักดันให้กระชับสัมพันธ์กับอียูและตะวันตกแน่นแฟ้นขึ้น
อย่างไรก็ดี เขาสำทับว่า ไม่คิดว่าความแตกแยกดังกล่าวจะกลายเป็นการทำร้ายร่างกายกัน
รัฐมนตรีมหาดไทยเห็นด้วยว่า ความตึงเครียดทางการเมืองกำลังผลักสโลวะเกียอยู่บนขอบเหวของสงครามกลางเมือง และเรียกร้องให้ยุติการแสดงความคิดเห็นที่กระตุ้นความเกลียดชังเช่นที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียในขณะนี้ทันที
ขณะเดียวกัน ผู้นำทั่วโลกต่างตกใจและกังวลกับข่าวการพยายามลอบสังหารฟิโก เช่น ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของอเมริกา เจนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และอัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ต่างประณามการใช้ความรุนแรงดังกล่าว
นายกรัฐมนตรีเป็ตร์ ฟียาลา ของสาธารณรัฐเช็ก ขอให้ฟิโกฟื้นตัวโดยเร็ว และสำทับว่า ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
ทั้งนี้ สาธารณรัฐเช็ก และสโลวะเกียเคยรวมกันเป็นประเทศเชโกสโลวะเกียจนถึงปี 1992
(ที่มา : เอพี, เอเจนซีส์)