ส.ส.บางบอน ก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก เล่าเหตุการณ์วันฟังคำพิพากษา เรียกร้องสิทธิประกันตัว คดี 112 ยกคดี "ลุงพล" โทษสูง 20 ปี ยังได้ประกัน บอกตัวเองละอายใจได้อภิสิทธิ์ประกันชี้ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
เมื่อวันที่ (22 ธ.ค. 2566) น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม. พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กเล่าเหตุการณ์ในวันที่ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษา ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการทวีตข้อความและรีทวีตข้อความผู้อื่น มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ผ่านไป 1 สัปดาห์ หลังฟังคำพิพากษา อยากจะเขียนโพสต์เพื่อเป็น time stamp เผื่อว่าประเทศไทยในอนาคตจะต่างจากวันนี้”
น.ส.รักชนก ระบุต่อว่า 13 ธ.ค. 2566 คือวันฟังคำพิพากษาคดี 112 และ พ.ร.บ.คอม เช้านั้น พี่ทิม พี่ต๋อม พี่กล้า ยานาวา เต้ ยุดยา เพื่อนสส. เพื่อนๆ และป้า ๆ อีกหลายคนมารอที่ศาลอาญา รัชดา ให้กำลังใจแต่เช้า พี่ต๋อม หัวหน้าพรรคก้าวไกล รับเป็นนายประกันในคดีให้
ศาลตัดสินว่าผิดข้อหาหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ม.112 และ พ.ร.บ.คอม ระหว่างฟังคำพิพากษามีแต่คำถามในหัว เราพิสูจน์กับศาลไปแล้วว่าเราไม่ได้เป็นคนโพสต์ และทำให้ดูว่าการตัดต่อภาพเพื่อการใส่ร้ายกันมันง่ายแค่ไหน ผู้ฟ้องไม่ได้เห็นโพสต์เองด้วยซ้ำ เพียงแต่เอารูปมาจากในกลุ่มไลน์ ซึ่งเราโดนตัดต่อรูปไปโจมตีทุกวัน
ศาลพิพากษา จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา จากนั้นเจ้าหน้าที่บอกให้เอาของมีค่าออกให้หมด รองเท้าที่ใส่มาเป็นส้นสูง ซึ่งมันก็เริ่ดระดับนึง ก็ถอดออกด้วย เหลือแค่เสื้อผ้ากับกุญแจมือ ทนายถามว่าต้องใส่กุญแจมือด้วยหรือ ซึ่งไอซ์ก็เพิ่งทราบภายหลังว่าแม้แต่คดีหนักๆ อย่างฆ่าคนตาย หรือคอร์รัปชั่นโทษสูงๆ ก็ยังไม่ต้องใส่กุญแจมือเลย
เพื่อนเรา ผู้ช่วยเราร้องไห้ แต่เราไม่ร้อง ในใจไม่มีความกลัว ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่เคยกลัวอะไร นอกจากผี อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด พร้อมอยู่แล้ว เราเดินเท้าเปล่าไปที่ลิฟค์ ซึ่งเป็นลิฟต์ตัวเดียวกับที่ใช้รับส่งนักโทษ ถูกพาตัวไปรวมกับนักโทษเด็ดขาด อยู่ห้องเดียวกัน
ใต้ถุนศาลก็มีอะไรน่าสนใจหลายอย่าง ส้วมในศาลค่อนข้างสกปรก ฝาที่นั่งพังแหล่ไม่พังแหล่ ไม่มีกระดาษชำระ ประตูห้องน้ำจะมีขนาดครึ่งนึงของประตูปกติ แค่ยืนขึ้นก็สามารถสบตากับคนที่อยู่ด้านนอกได้ และเมื่อเหลือบมองห้องข้างๆ ก็จะเห็นเค้าทำธุระโดยตลอด
เพื่อนสส.และเพื่อนๆ หลายคนมาเยี่ยมที่ใต้ถุนศาล เกาะราวกั้น ส่วนเราเกาะลูกกรง ยืนคุยกันจนหมดเรื่องคุย เลยเปลี่ยนมาชวนคนที่อยู่ในห้องขังคุยแทน ครึ่งนึงเป็นคดียาเสพติด มีทุกรูปแบบ แต่ทุกคนเป็นเพียงรายย่อย ส่วนใหญ่ไม่กล้าซัดทอด อีก 1 ใน 3 เป็นคดีฉ้อโกง บัญชีม้า ลักทรัพย์
ไอซ์ว่าสัดส่วนคดีของผู้ต้องขังในเรือนจำ ก็สะท้อนอะไรหลายๆ อย่างในสังคมเราได้เหมือนกัน ผู้เสพ ผู้ค้ารายย่อย ออกไปแล้วก็กลับเข้ามา ไม่มีการบำบัดอย่างต่อเนื่องและถูกวิธี ไม่ได้รับการฝึกอาชีพที่จะขยายให้ขอบเขตความเป็นไปได้ของทางเลือกในอาชีพมากขึ้น
ไม่มีกระบวนการเพิ่มพูนความรู้ที่นำไปใช้ได้จริงๆ โลกนอกห้องขังทั้งก่อนและหลังเข้าไปก็คือโลกเดิม ยาเสพติดยังเข้าถึงง่าย ไร้มาตรการควบคุมที่เคร่งครัด สังคมก็ประณามคนเสพคนรายย่อย ส่วนตัวการใหญ่ “เจอ จ่าย จบ”
ญาติๆ สามารถมาเยี่ยมนักโทษได้ แต่วันนั้นโทรศัพท์ใต้ถุนศาลพัง หลายคนที่ลางานมารอเยี่ยม ญาติผู้ต้องขังต้องรอนานขึ้น ประมาณสามโมงกว่าๆ ทนายเดินมายกนิ้วโป้งให้ ก็รู้ว่าน่าจะได้ประกัน พอได้ออกมา กอดเพื่อนๆ รีบขับรถไปสภาเพื่อให้ทันโหวตร่างระเบียบการประชุมก้าวหน้า ผ่านวันไปแบบรีบๆ มีทุกอารมณ์ แต่ก็งงๆไม่ตกผลึก เป็นวันที่ทั้งน่าจดจำที่สุดและไม่น่าจดจำที่สุดในชีวิต
เกี่ยวกับคำพิพากษา แน่นอนว่าไอซ์น้อมรับ แม้จะตระหนักดีว่าทั้งตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้และกระบวนการวิธีพิจารณามีปัญหา นี่ไม่ใช่ความคิดเห็นแต่เป็นข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ตอนนี้มีผู้ถูกกล่าวหาคดี 112 ที่อยู่ในห้องขัง และยังไม่ได้สิทธิ์ในการประกันตัว อย่างน้อย 15 คน
มีผู้ถูกกล่าวหาคดีการเมืองอื่นๆ ที่อยู่ในห้องขัง และยังไม่ได้สิทธิ์ในการประกันตัวอย่างน้อย 37 คน และมีผู้ที่รอฟังคำพิพากษาอีกหลายสิบคนในปีหน้า สิทธิ์การประกันตัวเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ที่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีที่ยังไม่สิ้นสุดพึงจะได้รับ อย่างเช่น คดีปรากฏแก่สาธารณะชน คดีเจตนาฆ่า ลุงพล-น้องชมพู่ ที่โดนโทษสูงมากถึง 20 ปี ศาลยังให้ประกันตัวออกมาเพื่ออุทธรณ์สู้คดีได้
ไอซ์ก็ขอเรียกร้องมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมเดียวกัน ให้กับนักโทษทางการเมืองทุกๆ คดี หรือกระบวนการยุติธรรมของประเทศนี้ กำลังจะสื่อสารกับสังคมว่าผู้ต้องหาคดีการเมืองที่เกิดการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการแสดงออก เป็นการกระทำผิดร้ายแรงมากกว่าคดีฆ่าคนตายโดยเจตนา
ฝั่งอนุรักษ์นิยมจารีต อาจดีใจที่ศัตรูทางการเมืองของคุณถูกกฎหมายที่มีปัญหาและกระบวนการที่อยุติธรรมกำจัด แต่อยากให้ลองฉุกคิดสักนิด ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมถึงเวลา มันไม่เลือกหรอกว่าอยู่ฝั่งไหน มันทำร้ายเราทุกคน เราจะส่งต่อสังคมที่บิดเบี้ยวแบบนี้ต่อให้คนรุ่นถัดไปจริงๆ เหรอ
“สุดท้ายแม้ไอซ์จะดีใจที่ได้ประกันตัวออกมาสู้คดี แต่ก็รู้สึกละอายใจที่สิทธิในการได้รับการประกันตัวในคดี 112 ซึ่งควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน กลายเป็น “อภิสิทธิ์” หลายคนที่โดนคดี 112 ยังไม่ได้รับการประกันตัว เช่น คุณวารุณี ซึ่งถูกลงโทษเพียง 1 ปี 6 เดือนเท่านั้นเอง” น.ส.รักชนก ระบุ