(เก็บความจากเอเชียไทมส์www.atimes.com)
War cuts the heart out of humankind
By VIJAY PRASHAD
26/05/2024
จากเวียดนามไปจนถึงอิรัก และเวลานี้ก็คือที่กาซา บาดแผลที่เกิดมาจากสงครามเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเยียวยาให้หายได้อย่างง่ายดาย และบ่อยครั้งมันยังส่งทอดจากคนรุ่นหนึ่งต่อไปยังคนรุ่นต่อๆ ไปด้วยซ้ำ
ในอพาร์ตเมนต์ของเพื่อนผมในกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก พวกเขาเล่าให้ผมฟังเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าพวกเขาแต่ละคนได้รับผลกระทบอย่างไรกันบ้าง จากความน่าเกลียดน่ากลัวของสงครามผิดกฎหมายที่สหรัฐฯกระทำเอากับประเทศของพวกเขาเมื่อปี 2003
ทั้ง ยูซุฟ (Yusuf) และ อนิซา (Anisa) ต่างเป็นสมาชิกของสหพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอิรัก และทั้งคู่ต่างมีประสบการณ์ในการเป็น “ผู้สื่อข่าวชั่วคราว” (stringer) ให้แก่พวกบริษัทสื่อมวลชนตะวันตก ซึ่งเดินทางไปยังแบกแดดเพื่อการรายงานข่าวในท่ามกลางสงครามคราวนั้น
ครั้งแรกที่ผมเดินทางไปยังอพาร์ตเมนต์ของพวกเขาซึ่งตั้งอยู่ในย่านวาซิริยะห์ (Waziriyah) ที่ถือกันว่าเป็นถิ่นพำนักอาศัยชั้นดีทีเดียว เพื่อรับประทานอาหารค่ำนั้น ผมรู้สึกตกใจกับข้อเท็จจริงที่ว่า อนิซา –ซึ่งผมรู้จักมาก่อนแล้วว่าเป็นคนที่ไม่ใช่พวกเคร่งศาสนา—ใส่ผ้าคลุมปิดใบหน้าของเธอเอาไว้
“ฉันใส่ผ้าคลุมหน้านี่” อนิซา บอกกับผมในเวลาต่อมาในค่ำวันนั้น “เพื่อปิดรอยแผลเป็นตรงขากรรไกรและคอของฉัน แผลเป็นนี่มาจากตอนที่ฉันได้รับบาดเจ็บด้วยกระสุนปืนนัดหนึ่งซึ่งทหารสหรัฐฯคนหนึ่งยิงออกมา ขณะที่เขาตื่นตกใจหลังเจอ ไออีดี (IED หรือ improvised explosive device ระเบิดแสวงเครื่อง) ระเบิดตูมขึ้นมาข้างๆ จุดที่เขาลาดตระเวนอยู่”
ก่อนหน้านั้นในวันนั้น ยูซุฟ ได้พาผมตระเวนไปรอบๆ เมืองแบกแดดใหม่ (New Baghdad City) ซึ่งเมื่อปี 2007 เฮลิคอปเตอร์อะปาเช่ลำหนึ่งได้สังหารพลเรือนตายไปเกือบ 20 คน และทำให้เด็กบาดเจ็บไป 2 คน ในหมู่คนที่เสียชีวิตนั่นมี 2 คนเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ตอนนั้นทำงานให้แก่สำนักข่าวรอยเตอร์ คือ ซาเอด ชะมัก (Saeed Chmagh) กับ นามีร์ นูร์-เอลดีน (Namir Noor-Eldeen)
“ตรงนี้คือจุดที่พวกเขาถูกฆ่า” ยูซุฟ บอกผมขณะชี้ไปยังจัตุรัสข้างหน้า “และนี่คือจุดที่ ซาเลห์ (Saleh Matasher Tomal ซาเลห์ มาตาเชอร์ โตมัล) จอดรถมินิแวนของเขาเพื่อช่วยเหลือนำเอาร่างของ ซาเอด ที่ตอนนั้นยังไม่ตาย ออกมา แล้วตรงนี้คือจุดที่ ฮ.อาปาเช่ ลำนั้นยิงใส่รถมินิแวน ทำให้ลูก 2 คนของ ซาเลห์ คือ ซาจัด (Sajad) กับ ดูอาห์ (Duah) บาดเจ็บสาหัส”
ผมสนใจสถานที่ตรงนี้ เนื่องจากเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ถูกบันทึกเป็นภาพยนตร์เอาไว้โดยฝ่ายทหารสหรัฐฯ และต่อมาได้ถูกนำออกเผยแพร่ [1] โดย “วิกิลีกส์” (Wikileaks) ในฐานะที่เป็น “กรณีฆาตกรรมที่ถูกระบุว่าเป็นการเจอลูกหลง” (Collateral Murder) จูเลียน อาสซานจ์ (Julian Assange บรรณาธิการบริหาร และโฆษกของ วิกิลีกส์) ที่กำลังติดคุกอยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งเลยก็เพราะเขาเป็นผู้นำทีมงานที่เผยแพร่คลิปวิดีโอนี้ (เวลานี้เขาได้รับสิทธิ [2] ให้สามารถโต้แย้งในศาลสหราชอาณาจักร ซึ่งกำลังพิจารณาคดีที่สหรัฐฯต้องการให้ส่งตัวเขาไปดำเนินคดีในอเมริกาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน) โดยที่คลิปวิดีโอนี้คือสิ่งที่เป็นหลักฐานโดยตรงของอาชญากรรมสงครามอันน่าสยดสยองครั้งหนึ่งทีเดียว
“ในย่านที่อยู่อาศัยของพวกเรานี่ ไม่มีใครเลยที่ไม่ได้ถูกแตะต้องสัมผัสจากความรุนแรงคราวนั้น เราคือสังคมที่ถูกทำให้เกิดบาดแผลในจิตใจกันอย่างถ้วนหน้า” อนิซา พูดเช่นนี้กับผมในค่ำวันนั้น “อย่างเช่นเพื่อนบ้านของฉัน เธอสูญเสียคุณแม่ของเธอไปในเหตุการณ์ทิ้งระเบิดครั้งหนึ่ง ส่วนสามีของเธอก็ตาบอดจากการทิ้งระเบิดอีกคราวหนึ่ง”
เรื่องราวแบบนี้ถูกบรรจุเอาไว้ในโน้ตบุ๊กของผม มันเป็นเรื่องราวที่เหมือนไม่มีวันสิ้นสุด สำหรับทุกๆ สังคมที่ผ่านประสบการณ์การสงครามชนิดที่ชาวรอิรักเคยเผชิญมา และเวลานี้ชาวปาเลสไตน์กำลังเผชิญอยู่ ล้วนแล้วแต่มีรอยแผลเป็นที่ร้าวลึก มันเป็นเรื่องยากลำบากมากที่จะฟื้นตัวขึ้นมาจากความรุนแรงเช่นนี้
แผ่นดินที่ถูกวางยาพิษของฉัน
ผมกำลังเดินอยู่ใกล้ๆ กับเส้นทางโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh Trail) (๑) ในเวียดนาม เพื่อนๆ ของผมซึ่งกำลังนำผมชมพื้นที่แถวนี้ ชี้ไปยังท้องทุ่งซึ่งรายล้อมบริเวณนี้อยู่ และบอกว่าผืนดินนี้ถูกสหรัฐฯวางยาพิษเอาไว้สาหัสมาก ด้วยการโปรยสารเคมีพิษ “เอเจนต์ ออเรนจ์” (Agent Orange) (๒) ลงมา โดยที่พวกเขาคิดว่าจะทำให้ที่นี่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เป็นเวลาหลายชั่วอายุคนทีเดียว
สหรัฐฯทิ้ง [3] สารเคมีพิษต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่สุดคือเอเจนต์ออเรนจ์ เป็นจำนวนอย่างน้อย 74 ล้านลิตร ในดินแดนของกัมพูชา, ลาว, และเวียดนาม โดยพื้นที่ซึ่งถือเป็นจุดโฟกัสอยู่ตลอดหลายๆ ปีทีเดียว ก็คือเส้นทางลำเลียงขนส่งเส้นทางนี้ ซึ่งตัดจากทางภาคเหนือลงมาสู่ภาคใต้ ละอองสเปรย์ของสารเคมีเหล่านี้ติดอยู่ตามร่างกายของชาวเวียดนามอย่างน้อยที่สุด 5 ล้านคน และทำให้ผืนดินเหล่านี้อยู่ในสภาพพิกลพิการ
นักหนังสือพิมพ์หญิงชาวเวียดนามผู้หนึ่งชื่อ เจิ่น โต งา (Tran To Nga) ตีพิมพ์ [4] หนังสือที่ใช้ชื่อว่า Ma terre empoisonnée (ภาษาอังกฤษคือ My Poisoned Land แผ่นดินที่ถูกวางยาพิษของฉัน) ขึ้นมาเมื่อปี 2016 เพื่อเป็นหนทางหนึ่งในการเรียกร้องให้ผู้คนหันมาสนใจความโหดร้ายป่าเถื่อนนี้ ซึ่งยังคงส่งผลกระทบกับเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้เวลาผ่านไปกว่า 4 ทศวรรษแล้วหลังจากสหรัฐฯพ่ายแพ้ในสงครามนี้
ในหนังสือเล่มนี้ของเธอ งา บรรยายถึงเหตุการณ์ที่เธอในฐานะเป็นนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง ได้ถูกเครื่องบินแบบ แฟรชายด์ ซี-123 (Fairchild C-123) ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ โปรยใส่ด้วยสารเคมีแปลกๆ ชนิดหนึ่งเมื่อปี 1966 เธอเช็ดมันออกและเดินทางต่อไปโดยตัดผ่านป่า ขณะสูดดมยาพิษนี้ที่ถูกทิ้งลงมาจากฟากฟ้า
เมื่อลูกสาวของเธอคลอดออกมาในอีก 2 ปีถัดจากนั้น ทารกผู้นี้ก็เสียชีวิตลงตั้งแต่อยู่ในวัยแบเบาะ จากผลกระทบของเอเจนต์ออเรนจ์ที่ก่อให้เกิดขึ้นกับร่างกายของ งา “คนที่มาจากหมู่บ้านตรงนั้น” พวกมัคคุเทศก์นำทางของผมเล่าให้ผมฟัง ตั้งชื่อให้หมู่บ้านแห่งนั้นว่า “หมู่บ้านที่เด็กคลอดออกมาพิกลพิการร้ายแรงชั่วคนแล้วชั่วคนเล่า”
กาซา
ความทรงจำเหล่านี้หวนย้อนกลับมาอีกครั้งหนึ่งในเวลานี้ ภายในบริบทของดินแดนฉนวนกาซา บ่อยครั้งจุดโฟกัสมักอยู่ที่ผู้เสียชีวิตและความพินาศย่อยยับของภูมิทัศน์ที่สามารถมองเห็นได้ง่าย แต่มันยังมีส่วนประกอบที่คงทนถาวรของการสงครามสมัยใหม่อย่างอื่นๆ อีก ซึ่งเป็นส่วนที่ยากลำบากแก่การคำนวณให้เป็นตัวเลขรูปธรรมออกมา
มีเสียงของสงครามที่ดังกึกก้องกัมปนาท เสียงของการถล่มทิ้งระเบิดและเสียงของการกรีดร้องร่ำไห้ เสียงเหล่านี้ซึ่งบาดลึกเข้าไปในจิตสำนึกของเด็กๆ วัยเยาว์ และกลายเป็นรอยแผลติดตัวไปตลอดทั้งชีวิตของพวกเขา
ตัวอย่างเช่น มีเด็กๆ ในดินแดนกาซา ผู้ซึ่งเกิดเมื่อปี 2006 และเวลานี้อายุ 18 ปี พวกเขาได้เห็นสงครามครั้งต่างๆ ตั้งแต่ครั้งที่ปะทุขึ้นตอนที่พวกเขาคลอดออกมาในปี 2006 จากนั้นก็มีสงครามในปี 2008-09, ปี 2012, ปี 2014, ปี 2021, และสงครามที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ปี 2023-24 แล้วช่วงว่างระหว่างการถล่มทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ๆ เหล่านี้ ยังถูกคั่นด้วยการถล่มทิ้งระเบิดขนาดย่อมๆ ลงมา แต่ก็มีเสียงกัมปนาทพอๆ กัน และทำให้ผู้คนล้มตายได้เหมือนๆ กัน
นอกจากนั้นแล้ว คือเรื่องของฝุ่น การก่อสร้างสมัยใหม่มีการใช้วัสดุต่างๆ ที่มีพิษเจือปนอยู่อย่างหลากหลาย จริงๆ แล้วเมื่อปี 1982 องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงแสดงความรับรู้ [5] เกี่ยวกับปรากฏการณ์ชนิดหนึ่งที่เรียกชื่อกันว่า “โรคตึกเป็นพิษ” หรือ “โรคแพ้ตึก” (sick building syndrome หรือ SBS) ซึ่งหมายถึงการที่บุคคลคนหนึ่งล้มป่วยสืบเนื่องจากวัสดุมีพิษที่ใช้อยู่ในการก่อสร้างพวกอาคารสมัยใหม่
ลองจินตนาการดูเถอะว่า มีระบิด เอ็มเค84 (MK84 bomb) ขนาด 2,000 ปอนด์ลูกหนึ่งถูกทิ้งลงใส่อาคารหลังหนึ่ง แล้วลองจินตนาการถึงพวกฝุ่นพิษที่ลอยฟุ้งกระจายและตกค้างอ้อยอิงอยู่ทั้งในอากาศและบนพื้นดิน
นี่แหละคือสิ่งที่พวกเด็กๆ ในกาซากำลังหายใจเอาเข้าไปในเวลานี้ ขณะที่อิสราเอลทิ้ง [6] ระเบิดแห่งความตายเหล่านี้เป็นพันๆ หมื่นๆ ลูกลงใส่ย่านพำนักอาศัยแห่งต่างๆ เวลานี้มีซากปรักหักพังในกาซาจำนวนกว่า 37 ล้านตัน [7] เศษชิ้นส่วนหักพังเหล่านี้จำนวนมากอุดมไปด้วยพวกสารพิษ
พื้นที่สงครามทุกๆ พื้นที่ยังคงมีภัยอันตรายแม้กระทั่งภายหลังการหยุดยิงผ่านไปเป็นปีๆ แล้ว ในกรณีของสงครามครั้งนี้ในกาซา กระทั่งเมื่อความเป็นปรปักษ์สร่างซาลง ความรุนแรงก็จะยังไม่ยุติตามไปด้วย
ตอนต้นเดือนพฤศจิกายนปี 2023 กลุ่มเฝ้าติดตามสิทธิมนุษยชนทางการแพทย์-ยุโรป (Euro-Med Human Rights Monitor) ประมาณการ [8] ว่า อิสราเอลได้ทิ้งวัตถุระเบิดลงไปในกาซาแล้ว 25,000 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ 2 ลูก (ถึงแม้ว่า ก็อย่างที่พวกเขาชี้ออกมาให้เห็นแล้ว เมืองฮิโรชิมานั้นตั้งอยู่บนผืนดินเนื้อที่ 900 ตารางเมตร ขณะที่เนื้อที่ทั้งหมดของดินแดนฉนวนกาซาคือ 360 ตารางเมตร
เมื่อถึงสิ้นเดือนเมษายนปี 2024 อิสราเอลได้ทิ้ง [9] ระเบิดใส่กาซาเป็นจำนวนกว่า 75,000 ตัน ซึ่งจะเทียบเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ 6 ลูก สหประชาชาติประมาณการ [10] เอาไว้ว่าจะต้องใช้เวลา 14 ปีจึงจะสามารถเก็บกู้พวกวัตถุระเบิดที่ยังตกค้างไม่ระเบิดในกาซาได้หมด นี่หมายความว่าจวบจนกระทั่งไปถึงปี 2038 ก็จะยังมีประชาชนล้มตายบาดเจ็บกันอยู่ สืบเนื่องจากการถล่มทิ้งระเบิดของอิสราเอล
บนหิ้งของห้องรับแขกขนาดเล็กกะทัดรัดในอพาร์ตเมนต์ของ อนิซา และ ยูซุฟ มีธงปาเลสไตน์เล็กๆ วางอยู่ ถัดจากนั้นไปคือเศษระเบิดขนาดเล็กๆ ที่เจาะเข้าไปและทำลายตาข้างซ้ายของยูซุฟ บนหิ้งนั้นไม่มีอะไรอื่นนอกไปจากนี้แล้ว
วีเจย์ ปราสาด เป็นนักประวัติศาสตร์, บรรณาธิการ, นักหนังสือพิมพ์ เขาทำหน้าที่เป็นผู้เขียนข่าวและหัวหน้าผู้สื่อข่าวอยู่ที่ โกลบทร็อตเตอร์ (Globetrotter) และเป็นบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ เลฟต์เวิลด์บุ๊กส์ (LeftWord Books) ตลอดจนเป็นผู้อำนวยการของ ไทรคอนติเนนทอล: สถาบันเพื่อการวิจัยทางสังคม (Tricontinental: Institute for Social Research) ข้อเขียนชิ้นนี้ผลิตขึ้นโดย โกลบทร็อตเตอร์
เชิงอรรถ
[1] https://www.youtube.com/watch?v=zYTxuW2vmzk&rco=1
[2]https://www.bbc.com/news/articles/cw44l170xdwo
[3]https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK209597/
[4] https://www.editions-stock.fr/livre/ma-terre-empoisonnee-9782234079014/
[5]https://www.wondermakers.com/Portals/0/docs/Sick%20building%20syndrome%20by%20WHO.pdf
[6] https://edition.cnn.com/gaza-israel-big-bombs/index.html
[7]https://www.un.org/unispal/document/hostilities-in-the-gaza-strip-and-israel-ocha-flash-update-160/
[8]https://euromedmonitor.org/en/article/5908/Israel-hits-Gaza-Strip-with-the-equivalent-of-two-nuclear-bombs
[9]https://www.aljazeera.com/gallery/2024/4/23/photos-200-days-of-israels-war-on-gaza
[10]https://news.un.org/en/story/2024/04/1149051
หมายเหตุผู้แปล
(๑) เส้นทางโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh Trail) เป็นระบบเส้นทางอันสลับซับซ้อนตัดผ่านภูเขาและป่าทึบ ซึ่งเวียดนามเหนือใช้ในการนำเอากองทหารและสัมภาระต่างๆ แทรกซึมผ่านเข้าไปในเวียดนามใต้, กัมพูชา, และลาว ระหว่างช่วงสงครามเวียดนาม
เส้นทางสายนี้เริ่มถูกนำเอาใช้ในการปฏิบัติการในปี 1959 หลังจากคณะผู้นำของเวียดนามเหนือตัดสินใจใช้สงครามปฏิวัติ ในการรวมเวียดนามใต้ให้เข้าเป็นชาติหนึ่งเดียวกับเวียดนามเหนือ ในการนี้ งานที่จะต้องทำให้ลุล่วงคือการต่อเชื่อมพวกเส้นทางเก่าๆ จำนวนหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ผืนแผ่นดินแคบๆ ยาวๆ เหมือนด้ามกระทะในเวียดนามเหนือ ลงมาทางใต้ตามไหล่เขาสูงๆ ของเทือกเขาอันนัม (Annamese Cordillera) เข้าสู่ภาคตะวันออกของลาว และกัมพูชา แล้วจากนั้นก็เข้าสู่เวียดนามใต้ ทั้งนี้ เส้นทางโฮจิมินห์ เริ่มต้นที่บริเวณตอนใต้ของกรุงฮานอย ในเวียดนามเหนือ โดยที่เส้นทางสายหลักจะเบนไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เพื่อเข้าสู่ลาว ขณะที่มีเส้นทางสายแยกออกข้างๆ อยู่เป็นระยะๆ ซึ่งตัดไปทางตะวันออกเข้าสู่เวียดนามใต้ สำหรับเส้นทางสายหลักยังตัดต่อไปอีกทางใต้ เข้าไปในภาคตะวันออกของกัมพูชา และจากนั้นก็ไปจบลงในเวียดนามใต้ ตามจุดต่างๆ ทางด้านตะวันตกของจังหวัดด่าหลัต (Da Lat)
เริ่มตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1960 เครือข่ายของเส้นทางและปริมาณการจราจรได้เพิ่มขยายขึ้นมาอย่างสำคัญ กระนั้นก็ยังคงต้องใช้เวลาเดินทางกันมากกว่า 1 เดือนหากใช้เส้นทางนี้ไปจากเวียดนามเหนือสู่เวียดนามใต้ ถึงแม้ฝ่ายอเมริกันคอยโจมตีทิ้งระเบิดไม่ว่างเว้น แต่การสัญจรบนเส้นทางสายนี้แทบไม่ได้รับความกระทบกระเทือนอะไรนัก โดยมีการลงแรงใช้ความพยายามเพื่อปรับปรุงยกระดับเส้นทางนี้ให้ค่อยๆ ดีขึ้น ซึ่งเมื่อถึงปลายทศวรรษ 1960 บางช่วงบางตอนของเส้นทางก็สามารถรองงรับรถบรรทุกขนาดหนักได้ และคอยลำเลียงสิ่งของจำเป็นต่างๆไปให้แก่กองทหารหน่วยปกติจำนวนหลายแสนคนของเวียดนามเหนือซึ่งเคลื่อนไหวปฏิบัติงานอย่างคึกคักในเวียดนามใต้ เมื่อถึงปี 1974 เส้นทางนี้กลายเป็นชุดของถนนตัดผ่านป่าทึบที่มองเห็นกันได้อย่างชัดเจน (โดยที่บางช่วงบางตอนมีการลาดยางด้วย) อีกทั้งมีพวกสิ่งปลูกสร้างเพื่อการสนับสนุน ก่อสร้างเอาไว้ใต้ดิน เป็นต้นว่า โรงพยาบาล, คลังน้ำมันเชื้อเพลิง, ตลอดจนที่ซ่อนอาวุธ, และที่ซ่อนสัมภาระต่างๆ เส้นทางโฮจิมินห์ถือเป็นเส้นทางลำเลียงสายสำคัญที่กองกำลังเวียดนามเหนือใช้ในการรุกรานและเข้าครอบครองเวียดนามใต้ได้สำเร็จในปี 1975
(เก็บความจากเว็บไซต์เอนไซโคลพีเดีย บริเทนนิกา https://www.britannica.com/topic/Ho-Chi-Minh-Trail)
(๒)เอเจนต์ ออเรนจ์ (Agent Orange) สารเคมีที่มาจากการผสมสารฆ่าวัชพืชหลายๆ ชนิด ซึ่งกองทัพสหรัฐฯนำไปโปรยในเวียดนามช่วงปี 1962 ถึงปี 1971 ระหว่างสงครามเวียดนาม ด้วยวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ การทำให้ใบไม้ของต้นไม้ในพื้นที่ป่าซึ่งอาจถูกใช้เป็นที่ซุกซ่อนของพวกเวียดกงและกองกำลังเวียดนามเหนือ ร่วงหล่นลงมา และการทำลายพืชผลต่างๆ ที่อาจถูกใช้เป็นอาหารของพวกศัตรู สารเคมีที่ออกฤทธิ์ทำให้ใบไม้ร่วง ซึ่งถูกโปรยลงมาจากอากาศยานที่บินในระดับต่ำนี้ ประกอบด้วย บูทิล เอสเทอร์ (butyl esters) ที่ไม่บริสุทธิ์ ของกรด 2,4-dichlorophenoxyacetic acid (2,4-D)และ กรด 2,4,5-trichlorophenoxyacetic acid (2,4,5-T) ในปริมาณใกล้เคียงกัน นอกจากนั้นยังใส่ 2,3,7,8-tetrachlorodibenzo-p-dioxin—ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า “dioxin” และเป็นผลพลอยได้จากการผลิตกรด 2,4,5-T—เข้าไปในปริมาณเล็กน้อย ในสัดส่วนหลายหลากแล้วแต่วัตถุประสงค์ ทั้งนี้ dioxin มีพิษแม้กระทั่งในปริมาณน้อยมาก ประมาณกันว่า เอเจนต์ ออเรนจ์ ราว 50 ล้านลิตร –ซึ่งจะมี dioxin อยู่ในราว 170 กิโลกรัม—ถูกทิ้งลงไปในเวียดนาม เอเจนต์ ออเรนจ์ เป็นหนึ่งในสารฆ่าวัชพืชจำนวนมากที่ถูกใช้ในเวียดนาม อย่างอื่นๆ ยังมี เอเจนต์ ไวต์ (Agent White), เอเจนต์ เพอเพิล (Purple), เอเจนต์ บลู (Blue), เอเจนต์ พิงค์ (Pink), และ เอเจนต์ กรีน (Green) ชื่อเหล่านี้มาจากสีของแถบรหัสสีซึ่งพิมพ์อยู่รอบๆ ถังใส่สารฆ่าวัชพืชเหล่านี้
ในหมู่ชาวเวียดนาม การรับสารเอเจนต์ ออเรนจ์ เข้าไปในร่างกาย ได้รับการพิจารณาว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกรณีสูงอย่างผิดปกติของการแท้งลูก, โรคผิวหนัง, มะเร็ง, ความพิการของทารกแรกเกิด, และ รูปวิปริตแต่กำเนิด (congenital malformations) (บ่อยครั้งอยู่ในระดับสุดขั้วและผิดปกติมากๆ) ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา
ทหารสหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, และนิวซีแลนด์ จำนวนมาก ที่ได้รับสารเอเจนต์ ออเรนจ์ ในเวียดนามเป็นเวลานานๆ ก็มีอาการป่วยเป็นมะเร็งชนิดต่างๆ ตลอดจนความผิดปกติทางสุขภาพอย่างอื่นๆ ในเวลาต่อมา ถึงแม้มีความยากลำบากในการพิสูจน์ให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าการกล่าวอ้างของพวกเขาเป็นสิ่งที่ฟังขึ้นหรือไม่ แต่ในปี 1979 พวกทหารผ่านศึกสหรัฐฯก็ได้ยื่นฟ้องร้องแบบฟ้องหมู่ต่อผู้ผลิตยาฆ่าวัชพืช 7 รายที่ผลิตเอเจนต์ ออเรนจ์ ให้แก่กองทัพสหรัฐฯ คดีนี้ยุติลงโดยการประนอมยอมความนอกศาลเมื่อปี 1984 ด้วยการก่อตั้งกองทุนมูลค่า 180 ล้านดอลลาร์ เพื่อจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ฟ้องร้องและครอบครัวของพวกเขาราวๆ 250,000 คน นอกจากนั้น กระทรวงกิจการทหารผ่านศึกสหรัฐฯได้จ่ายค่าชดเชยเป็นการต่างหากให้แก่ทหารผ่านศึกราว 1,800 คน
(เก็บความจากเว็บไซต์เอนไซโคลพีเดีย บริเทนนิกา https://www.britannica.com/science/Agent-Orange)