นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงของจีน ประกาศเป้าหมายการเติบโตสำหรับปีนี้ที่ 5% พร้อมให้สัญญาเดินหน้าปฏิรูปโมเดลการเติบโต ลดความเสี่ยงจากการล้มละลายของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และรัฐบาลท้องถิ่นที่มีหนี้สินรุงรัง เวลาเดียวกันก็ประกาศเพิ่มงบประมาณการทหารเท่าปีที่แล้ว และใช้จุดยืนแข็งกร้าวยิ่งขึ้นกับไต้หวัน
การเติบโตอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ของจีนในปี 2023 ที่ผ่านมา ถูกมองว่าฟ้องถึงความไม่สมดุลเชิงโครงสร้างตั้งแต่การบริโภคภาคครัวเรือนที่อ่อนแอจนถึงผลตอบแทนการลงทุนที่ต่ำลง ทำให้มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเสนอโมเดลการเติบโตใหม่
นอกจากนั้น จีนยังเริ่มต้นปี 2024 ด้วยการเผชิญภาวะตลาดหุ้นผันผวนและภาวะเงินฝืดระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนับจากวิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 ไม่เพียงเท่านั้น วิกฤตอสังหาริมทรัพย์และปัญหาหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น ยังเพิ่มความกดดันเหล่าผู้นำจีนให้ต้องเร่งหานโยบายเศรษฐกิจใหม่ๆ
ขณะที่ “มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของจีน” คลายมนตร์ขลังลงไป นักเศรษฐศาสตร์บางคนโดยเฉพาะทางฝ่ายตะวันตก เริ่มนำจีนไปเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นแห่งช่วงทศวรรษที่สาบสูญ นับจากทศวรรษ 1990 พร้อมเรียกร้องการปฏิรูปที่ส่งเสริมเศรษฐกิจ และมาตรการส่งเสริมรายได้ของผู้บริโภค ถึงแม้มีเสียงโต้แย้งดังเช่นกันว่ามันเป็นการเปรียบเทียบแบบผิดฝาผิดตัว
ระหว่างการปราศรัยแถลงกิจการรัฐบาล โดยระบุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2024 ให้อยู่ที่ 5% เท่ากับปีที่ผ่านมา ณ วันแรกของการประชุมเต็มคณะของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ หรือรัฐสภาจีน ในวันอังคาร (5 มี.ค.) นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง บอกด้วยว่า จีนต้องไม่มองข้ามสถานการณ์เลวร้ายที่สุด แต่ต้องผลักดันการเปลี่ยนแปลงโมเดลการเติบโต ปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง ปรับปรุงคุณภาพ และส่งเสริมประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ไม่มีการระบุกำหนดเวลาหรือรายละเอียดเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่จีนเล็งดำเนินการ หลี่เพียงย้ำว่า เสถียรภาพคือพื้นฐานสำหรับทุกสิ่งที่จีนจะทำ
เขายังยอมรับว่า การบรรลุเป้าหมายการเติบโตจะไม่สำเร็จง่ายๆ และจำเป็นต้องใช้จุดยืนทางการคลังเชิงรุก รวมทั้งนโยบายการเงินที่รอบคอบ และสำทับว่า การบรรลุเป้าหมายการเติบโตนั้นต้องครอบคลุมถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการจ้างงานและรายได้ ตลอดจนถึงป้องกันและลดความเสี่ยง
ทั้งนี้ สำหรับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจจีนปีนี้จะขยายตัว 4.6% และลดเหลือ 3.5% ในปี 2028
ในคำแถลงของหลี่ระบุว่า จีนมีแผนใช้งบประมาณแบบขาดดุลในอัตรา 3% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจ ลดลงมาจาก 3.8% เมื่อปีที่แล้ว นอกจากนั้นยังเตรียมออกพันธบัตรคลังระยะยาวพิเศษมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน (139,000 ล้านดอลลาร์) ซึ่งจะไม่รวมอยู่ในงบประมาณ
โควตาการออกพันธบัตรพิเศษสำหรับรัฐบาลท้องถิ่นกำหนดไว้ที่ 3.9 ล้านล้านหยวน เทียบกับ 3.8 ล้านล้านหยวนในปี 2023 นอกจากนั้นจีนยังกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคที่ 3% และเล็งสร้างงานในเมืองกว่า 12 ล้านตำแหน่งในปีนี้ เพื่อคงอัตราว่างงานไว้ที่ราว 5.5%
ทอมมี สี หัวหน้าแผนกวิจัยประจำเกรทเตอร์ ไชน่าของโอซีบีซี แบงก์ ชี้ว่า จีนไม่มีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดหลายอย่างในการสนับสนุนเศรษฐกิจผ่านมาตรการใช้จ่ายทางการคลัง
แผนการงบประมาณในปีนี้ยังครอบคลุมการเพิ่มงบประมาณการทหาร 7.2% เท่ากับปี 2023
ทั้งนี้ จีนเพิ่มงบประมาณกลาโหมสองเท่านับจากที่สี จิ้นผิง เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว และจากงานวิจัยของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาด้านยุทธศาสตร์ ปีนี้เป็นปีที่ 30 ติดต่อกันที่จีนเพิ่มงบประมาณการทหาร
หลี่ หมิงเจียง ผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมจากวิทยาลัยนานาชาติศึกษา เอส. ราชารัตนัม ในสิงคโปร์ มองว่าถึงแม้จีนจะกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจซบเซา ทว่าเรื่องไต้หวันยังคงเป็นวาระสำคัญที่กระตุ้นให้จีนต้องทุ่มงบประมาณด้านการทหารอย่างจริงจังต่อเนื่อง
“จีนกำลังแสดงให้เห็นว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้าพวกเขาจะยกระดับแสนยานุภาพกองทัพให้ถึงจุดที่การันตีชัยชนะในสงครามได้อย่างแน่นอน หากจำเป็นต้องทำสงครามโดยไม่มีทางเลือก” หลี่ กล่าว
คำปราศรัยที่หลี่นำเสนอต่อรัฐสภาจีน ถึงแม้ยังคงเอ่ยถึงการ “รวมชาติ” กับไต้หวัน แต่เน้นย้ำว่าจะใช้แนวทางที่ “หนักแน่น” เพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าหมายดังกล่าว ขณะที่คำว่า “อย่างสันติ” ที่ถูกระบุไว้ในรายงานฉบับก่อนๆ ถูกตัดทิ้งไป
สำหรับเรื่องวิกฤตประชากรที่คุกคามโมเดลการเติบโตที่นำโดยผู้บริโภค ปรากฏว่าทำให้พวกผู้วางนโยบายของจีนประกาศในคราวนี้ว่า จะต้องปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการมีบุตร ควบคู่กับการเพิ่มสวัสดิการและบำนาญพื้นฐานสำหรับประชากรสูงวัยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น
ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น หลี่ประกาศอัดฉีดโครงการ “ที่เหมาะสม” และจัดหาเคหะชุมชนเพิ่มขึ้น ขณะที่ปักกิ่งกำลังหาวิธีแก้ไขปัญหาโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จที่มีอยู่มากมายและทำให้ผู้ซื้อบ้านกังวล
นอกจากนี้แม้หลี่ระบุว่า จีนต้องการควบคุมศักยภาพที่ล้นเกินของภาคอุตสาหกรรม แต่สำทับว่า รัฐบาลจัดสรรทรัพยากรเพิ่มสำหรับนวัตกรรมเทคโนโลยีและการผลิตขั้นสูง ซึ่งสอดคล้องกับการผลักดัน “พลังการผลิตใหม่” ของสี
จีนยังจะยกเลิกข้อจำกัดด้านการลงทุนของต่างชาติทั้งหมดในภาคการผลิต และกำหนดแผนการพัฒนาสำหรับควอนตัมคอมพิวติ้ง บิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อให้สามารถพึ่งพิงตัวเองด้านเทคโนโลยีได้
(ที่มา: รอยเตอร์, เอพี)