ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ตัดสินใจวันพุธ (1 พ.ย.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฟด ฟันดส์ เรต ไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบ 22 ปีต่อไปอีก บอกว่าเพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก พร้อมกันนี้ ประธานเฟดย้ำยังไม่คิดถึงการลดดอกเบี้ยในขณะนี้
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) เป็นเวลา 2 วันเมื่อวันพุธ (1 พ.ย.) เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แถลงว่า การดำเนินการที่ดีที่สุดท่ามกลางความไม่แน่นอนหลายอย่างในขณะนี้คือ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะข้ามคืน เฟด ฟันดส์ เรต ไว้ที่ระดับ 0 5.25-5.50% ต่อไป และรอดูข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงานและระดับราคา ระหว่างตอนนี้ไปจนถึงการประชุมเอฟโอเอ็มซีครั้งต่อไปในเดือนหน้า
เขาสำทับว่า การควบคุมให้อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างยั่งยืนลงมาอยู่ที่ 2% เป็นกระบวนการที่ยาวนาน และเฟดยังไม่คิดถึงการลดดอกเบี้ยในขณะนี้
การตัดสินใจคงดอกเบี้ยเช่นนี้เป็นไปตามที่คาดการณ์กันอย่างกว้างขวาง และถือเป็นครั้งแรกที่เฟดคงดอกเบี้ยติดต่อกัน 2 รอบการประชุมนับจากที่เริ่มปรับใช้นโยบายการเงินคุมเข้มเมื่อปีที่แล้ว
ขณะเดียวกัน นับจากทำสถิติสูงสุดที่กว่า 7% ในเดือนมิถุนายน 2022 อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้ชะลอลงกว่าครึ่ง แม้ยังสูงกว่า 3% ก็ตาม โดยจากวิธีวัดค่าที่เฟดใช้ อัตราเงินเฟ้อเดือนกันยายนอยู่ที่ 3.4% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แต่หากไม่รวมราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่ผันผวน ตัวเลขจะอยู่ที่ 3.7% ซึ่งเท่ากับเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจากเดือนสิงหาคม
นักวิเคราะห์จำนวนมาก ซึ่งรวมถึงนักวิเคราะห์ที่ได้รับการว่าจ้างจากเฟด คาดว่า อเมริกาจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว
การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเท่ากับต้นทุนการกู้ยืมจากธนาคารเพิ่มขึ้น ซึ่งปกติแล้วจะกดดันกิจกรรมเศรษฐกิจและทำให้ตลาดแรงงานซบเซาลง
ทว่า เฟดตั้งข้อสังเกตว่า แม้ใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินแบบแข็งกร้าว แต่กิจกรรมเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง การจ้างงานชะลอลงแต่ยังแข็งแกร่งเช่นเดียวกัน ขณะที่อัตราว่างงานถือว่าต่ำอยู่
อย่างไรก็ดี พาวเวลยอมรับว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรคลัง อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน และต้นทุนทางการเงินอื่นๆ ที่พุ่งขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหากคงอยู่เช่นนี้ไปในระยะยาว และเจ้าหน้าที่เฟดจะจับตาตัวเลขเหล่านี้อย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาว่าจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกหรือไม่
การตัดสินใจคงดอกเบี้ยมีแนวโน้มกระตุ้นการคาดการณ์ว่า เฟดอาจยุติวงจรการขึ้นดอกเบี้ยและจะคงดอกเบี้ยต่อไปเช่นนี้อีกระยะหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น นักเศรษฐศาสตร์ของซิตี้ที่ตั้งข้อสังเกตว่า เฟดจะคงดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันและเงินเฟ้อจะยังคงเพิ่มขึ้นสูงกว่าเป้าหมายจนกระทั่งภาวะถดถอยทำให้ตลาดการเงินชะลอลงและดึงเงินเฟ้อลดลงตาม
ทว่า เอียน เชปเพิร์ดสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแพนธีออน แมคโครอิโคโนมิกส์ มองว่า เฟดยังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคม ซึ่งข้อมูลการจ้างงานและเงินเฟ้อจะเป็นกุญแจสำคัญ
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)