xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมในที่สุด ‘ไบเดน’ ตัดสินใจโจมตี ‘พวกฮูตี’ หลังปล่อยให้ก่อกวนเส้นทางเดินเรือทะเลแดงอยู่เป็นแรมเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


ยูเอสเอส ฮ็อปเปอร์ (DDG 70) หนึ่งในเรือพิฆาตสหรัฐฯ ที่ติดตั้งระบบอาวุธเอจิส
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Why Biden finally attacked the Houthis
By STEPHEN BRYEN
13/01/2024

สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรปรับเปลี่ยนจากการมุ่งป้องกันมาเป็นการรุกโจมตี หลังจากการใช้โดรนและขีปนาวุธของกลุ่มกบฏฮูตีเพื่อเล่นงานเส้นทางเดินเรือในทะเลแดงทำท่าบานปลายขยายตัวจนควบคุมไม่อยู่

ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมา กลุ่มฮูตี (หรือฮูษี Houthis) ได้เปิดการโจมตีเล่นงานการเดินเรือพาณิชย์ในทะเลแดง และจนถึงเวลานี้ยังคงมีการปฏิบัติการกันอยู่ [1] สหรัฐฯ ได้จัดส่งเรือพิฆาตที่ติดตั้งเอจิส (ระบบอาวุธแบบบูรณาการสำหรับเรือรบ AEGIS) จำนวนหนึ่งเข้าไปช่วยปกป้องคุ้มครองการเดินเรือระหว่างประเทศ โดยกำลังทำบทบาทหน้าที่สองด้านควบคู่กัน ทั้งการเข้าสกัดกั้นพวกโดรนและขีปนาวุธโจมตีของพวกฮูตี และการเข้าไปช่วยเหลือพวกเรือพาณิชย์ที่แจ้งว่าประสบเหตุร้าย

ทางด้านสหราชอาณาจักรได้จัดส่งเรือรบดีที่สุดลำหนึ่งของตน นั่นคือ เรือพิฆาต เอชเอ็มเอส ไดมอนด์ (HMS Diamond) [2] เข้าไปเช่นกัน อย่างไรก็ดี ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างบางประการทำให้สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรเข้าโจมตีใส่บรรดาที่มั่นทางทหารของฝ่ายฮูตีด้วยโดยระบุว่าเป็นการปฏิบัติการเพื่อการตอบโต้เอาคืน

มีความสงสัยข้องใจกันอย่างจริงจังเกิดขึ้นทั้งในฝ่ายสหราชอาณาจักรและฝ่ายสหรัฐฯ ว่า พวกเขาไม่ได้ประกอบอาวุธมาอย่างดีเพียงพอสำหรับรับมือกับฝูงอากาศยานไร้คนขับและขีปนาวุธที่ฮูตีประเคนเข้ามา เมื่อวันที่ 10 มกราคม กองกำลังของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรได้ยิงโดรนและขีปนาวุธตกไปรวม 21 ลำ ทว่ารัฐมนตรีกลาโหมสหราชอาณาจักร กรันต์ ชาปส์ (Grant Shapps) บอกว่าการทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำกันอย่างยั่งยืนได้ เขาหมายความว่ายังไง?

คำถามที่ว่าทำไมสถานการณ์รับมือพวกฮูตีจึงกำลังอยู่ในอาการจะควบคุมไม่อยู่กันแล้ว คำถามข้อนี้มี 2 คำตอบ คำตอบแรกเกี่ยวข้องกับจำนวนขีปนาวุธที่อยู่บนเรือรบลำหนึ่งๆ เรือรบสหรัฐฯ เวลานี้กำลังพึ่งพาอาศัยขีปนาวุธเอสเอ็ม-2 (SM-2) [3] ที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเอจิส

ตามการประมาณการของผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่ง [4] ให้ตัวเลขเอาไว้ดังนี้:

“พวกเรือพิฆาต [ติดตั้งระบบเอจิส] มีช่องสำหรับ VLS (vertical launching system ระบบยิงขีปนาวุธแนวดิ่ง) อยู่ 96 ช่อง ขณะที่พวกเรือลาดตระเวน (cruiser) [ชั้นทิคอนเดอโรกา Ticonderoga class] มี 122 ... อย่างไรก็ตาม ในแต่ละช่องเหล่านี้ พวกเขาจำเป็นต้องจัดอาวุธที่จะนำเข้าไปติดตั้งให้มีส่วนผสมที่เหมาะสม ดังนั้น พวกเขาจึงไม่สามารถใช้ช่องทั้งหมดเพียงเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศเท่านั้น

พวกอาวุธที่จะต้องนำมาติดตั้งผสมผสานกันอย่างเหมาะสมที่ว่านี้ มีทั้งขีปนาวุธ ESSM (ซึ่งสามารถนำขีปนาวุธชนิดนี้ 4 ลูกมาประกอบเข้าไปในช่องเพียงช่องเดียวได้) ขีปนาวุธ SM-2 (และเวอร์ชันใหม่กว่าที่ใช้เคียงคู่กัน คือ SM-6) ขีปนาวุธร่อน (cruise missile) แบบโทมาฮอว์ก (Tomahawk), ขีปนาวุธต่อสู้เรือดำน้ำ แบบ ASROC และขีปนาวุธต่อสู้ขีปนาวุธทิ้งตัว แบบ SM-3

อัตราส่วนที่แน่นอนชัดเจนสำหรับการผสมผสานอาวุธเหล่านี้จะเป็นเท่าใด ส่วนใหญ่แล้วขึ้นอยู่กับภารกิจที่เรือได้รับมอบหมาย และภัยคุกคามที่อาจจะต้องเผชิญ อย่างไรก็ดี ESSM อย่างน้อย 200 ลูก และ SM-2 หรือ SM-6 อีกราวๆ 100 ลูก ดูน่าจะเป็นการคาดเดาที่เข้าท่าเข้าที หรืออาจจะมากกว่านี้อีกนิดหน่อย”

สรุปแล้ว เรือพิฆาตเอจิสแต่ละลำมีขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศเพื่อรับมือกับพวกโดรนและขีปนาวุธของพวกฮูตีราวๆ 100 ลูก สำหรับเอชเอ็มเอส ไดมอนด์ นั้น ซี ไวเปอร์ (Sea Viper) [5] ของสหราชอาณาจักร คือระบบป้องกันภัยทางอากาศหลักที่ได้พึ่งพาอาศัย

“พวกเรือพิฆาตไทป์ 45 (Type 45) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า เรือพิฆาตชั้นดาริ่ง (Daring-class) ได้รับการออกแบบขึ้นมาอย่างเฉพาะเจาะจงให้ทำงานสอดคล้องกับระบบป้องกันภัยทางอากาศ ซี ไวเปอร์ (หรือ PAAMS) เรือพิฆาตไทป์ 45 แต่ละลำติดตั้งเอาไว้ด้วยระบบยิงขีปนาวุธแนวดิ่ง เอ 50 ซิลเวอร์ (A50 Sylver Vertical Launching System) ที่มีช่องบรรจุติดตั้งขีปนาวุธ 48 ช่อง ระบบนี้ออกแบบมาสำหรับการติดตั้งผสมผสานกันระหว่างขีปนาวุธแอสเทอร์ 15 (Aster 15) และแอสเทอร์ 30 (Aster 30) จำนวนรวมไม่เกิน 48 ลูก” ผู้เชี่ยวชาญรายนี้บอก

ทั้งเรือรบสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรต่างไม่สามารถติดตั้งเพิ่มเติมขีปนาวุธเมื่ออยู่กลางทะเล ดังนั้นเรือเหล่านี้จึงมีความสามารถอย่างจำกัดสำหรับ “การเข้าร่วมในการสู้รบ” ถ้าหากศึกสงครามเกิดการยืดเยื้อออกไปอย่างต่อเนื่อง

อย่างที่การโจมตีเมื่อวันที่ 10 มกราคมของพวกฮูตีสาธิตให้เห็นนั่นแหละ กลุ่มฮูตีกำลังเพิ่มจำนวนของการโจมตีประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ คลังแสงของกลุ่มฮูตีมีขนาดใหญโตแค่ไหนจึงกลายเป็นเรื่องที่กำลังท้าทายสมรรถนะในการป้องกันของสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร

ขีปนาวุธเพื่อการป้องกันเป็นอาวุธที่มีราคาแพงมาก ขีปนาวุธ SM-2 แต่ละลูกมีราคา 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ซี ไวเปอร์ ซึ่งอาจจะเป็นแอสเทอร์ 15 หรือแอสเทอร์ 30 ก็ได้นั้น สิ้นค่าใช้จ่าย 1 ล้านถึง 2 ล้านปอนด์สำหรับการยิงต่อครั้ง (1.25 ล้าน ถึง 2.5 ล้านดอลลาร์)

ตรงนี้ยังไม่ได้พิจารณาไปถึงปัญหาท้าทายในเรื่องการหาของใหม่ๆ เข้ามาทดแทนหลังจากที่ได้ยิงขีปนาวุธเหล่านี้ออกไปแล้ว ทั้งนี้ขีปนาวุธใหม่ๆ ไม่เพียงจะมีราคาแพงขึ้นกว่าของเดิม แต่ยังอาจต้องใช้ระยะเวลาเป็นแรมปีสำหรับการผลิตอีกด้วย

เรื่องนี้นำไปสู่คำตอบประการที่สองในเรื่องที่ว่าทำไมสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรจึงรู้สึกกันว่า การรับมือกับฮูตีกำลังกลายเป็นเรื่องบานปลายจนควบคุมกันไม่อยู่

สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมาช่วงไม่กี่วันมานี้ มีอะไรที่แตกต่างไปจากเมื่อก่อน? ความแตกต่างที่ดูน่าจะเป็นไปได้มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ

ประการแรก โดรนและขีปนาวุธที่ระดมยิงใส่เรือเอชเอ็มเอส ไดมอนด์ ของสหราชอาณาจักร และพวกเรือพิฆาตสหรัฐฯ ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 มกราคม เป็นอาวุธที่พวกฮูตีตั้งใจเล็งยิงเข้าใส่เรือรบเหล่านี้โดยตรง ถ้าหากการตีความเช่นนี้มีความถูกต้องแล้ว มันก็หมายความว่าพวกฮูตีตัดสินใจแล้วที่จะโจมตีเล่นงานเรือรบสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรกันตรงๆ

ความเป็นไปได้ประการที่สอง เป็นเรื่องภัยคุกคามของฮูตีและการตอบโต้ของสหรัฐฯ ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พวกผู้นำกลุ่มฮูตีกล่าวเตือนว่า พวกเขาจะโจมตีเรือรบสหรัฐฯ ถ้ากองกำลังอาวุธที่หนุนหลังโดยอิหร่านของพวกเขานี้ถูกวอชิงตันกำหนดเป็นเป้าหมายมุ่งเล่นงาน

ต่อมาในวันที่ 31 ธันาคม เรือสินค้าแบบบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัทเมอร์สก์ (Maersk) ชื่อ “หางโจว” (Hangzhou) ซึ่งชักธงสิงคโปร์ ได้แจ้งเหตุร้ายทางวิทยุสื่อสารว่ากำลังถูกเรือเล็กจำนวน 4 ลำโจมตี

ขณะที่กองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯ (US Central Commmand) ออกคำแถลงแจกแจงว่า “เรือเล็กเหล่านี้ ซึ่งมีต้นแหล่งมาจากพวกพื้นที่ในความควบคุมของฮูตีในเยเมน ได้ยิงอาวุธที่ใช้โดยหน่วยกำลังขนาดเล็ก ตลอดจนอาวุธขนาดเล็กเข้าใส่เรือเมอร์สก์ หางโจว ขณะแล่นเข้าไปจนอยู่ภายในระยะห่างราว 20 เมตร จากนั้นยังพยายามที่จะขึ้นไปบนเรือดังกล่าวอีกด้วย” [6]

ปรากฏว่า หมู่เฮลิคอปเตอร์จากเรือบรรทุกเครื่องบินยูเอสเอส ไอเซนฮาวร์ (USS Eisenhower) รวมทั้งพวกเฮลิคอปเตอร์ที่ส่งออกไปจากเรือพิฆาตเอจิส ยูเอสเอส เกรฟลี (USS Gravely) ได้เข้าสกัดกั้นเรือเล็ก 4 ลำดังกล่าว และหลังจากพวกเขาเพิกเฉยไม่ยอมรับฟังคำเตือน เรือสู้รบของฮูตีเหล่านี้จำนวน 3 ลำได้ถูกทำลายจากการถูกระดมยิง ส่วนลำที่ 4 หลบหนีไป

ฝ่ายฮูตีตอบโต้ [7] โดยแถลงว่า “ข้าศึกชาวอเมริกันต้องรับผลพวงต่อเนื่องของอาชญากรรมครั้งนี้ และความเคลื่อนไหวทางทหารของพวกเขาในทะเลแดงเพื่อมุ่งพิทักษ์คุ้มครองเรือต่างๆ ของอิสราเอลจะไม่สามารถป้องกัน” ไม่ให้ฮูตี “ประกอบหน้าที่ทางศาสนา ทางศีลธรรม และทางมนุษยธรรมของพวกเขา ในการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่บรรดาผู้ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในปาเลสไตน์และในกาซา”

แต่ยังมีความเป็นไปได้ประการที่สาม ซึ่งทรงความสำคัญยิ่งกว่าแค่การยิงต่อสู้ขับไล่ประดาเรือที่บรรทุกหน่วยคอมมานโดของพวกฮูตีเสียอีก กล่าวคือในการโจมตีของพวกเขาเมื่อวันที่ 10 มกราคม ฮูตีได้ยิงขีปนาวุธต่อสู้เรือที่เป็นขีปนาวุธแบบทิ้งตัว (ballistic missiles) หลายลูกเข้าใส่เรือรบสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ก่อนหน้านี้ พวกฮูตีเคยพึ่งพาแต่เฉพาะพวกโดรนกามิกาเซ และขีปนาวุธต่อสู้เรือที่เป็นขีปนาวุธร่อน (cruise missile) เท่านั้น

โดรนนั้นบินได้ช้ามาก และปกติแล้วถ้าไม่ใช้เครื่องยนต์เบนซินขนาดเล็กบวกกับใบพัด ก็เป็นพวกเครื่องยนต์ที่ได้พลังงานจากแบตเตอรี่ ทั้งนี้พวกฮูตีโดรนมีใช้สู้รบอยู่ 4 แบบใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่ กอเซฟ-1 (Qasef-1) กอเซฟ-2เค (Qasef-2K) ซัมมัด-2 (Sammad-2) และซัมมัด-3 (Sammad-3)

กอเซฟ-1 และกอเซฟ-2 เป็นอาวุธติดหัวรบขนาดเล็กที่ถูกส่งขึ้นไปดักรอการปรากฏตัวของข้าศึก (loitering munitions) สร้างขึ้นโดยอิงอยู่กับโดรน “อบาบิล” (Ababil) ของอิหร่าน แต่ละลำบรรทุกหัวรบ 30 กิโลกรัม สำหรับโดรนซัมมัดมีพิสัยทำการไกลกว่า มีความเป็นไปได้ว่าโดรนเหล่านี้ซึ่งถูกใช้ในเส้นทางเดินเรือใกล้ๆ กับช่องแคบบับ-เอล-มันเดบ (Bab-el-Mandeb straits) นั้น เป็นแบบที่มีพิสัยทำการระยะใกล้ๆ

เยเมนยังมีขีปนาวุธร่อนต่อสู้เรือแบบต่างๆ จำนวนหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม “สทรินดา” (Strinda) เรือบรรทุกน้ำมันของนอร์เวย์ ถูกโจมตีจากขีปนาวุธร่อนต่อสู้เรือลูกหนึ่งของฮูตี ทำให้เกิดความเสียหายบางส่วนแต่ยังประคองตัวหลบหนีไปได้

ในสงครามยูเครน ขีปนาวุธต่อสู้เรือแบบ เนปจูน อาร์360 (Neptune R360) [8] ลูกหนึ่งสามารถจมเรือรบมอสควา (Moskva) ที่เป็นเรือธงของกองเรือทะเลดำของรัสเซีย แต่นี่หมายความด้วยว่าขีปนาวุธเหล่านี้สามารถใช้เรดาร์เฝ้าติดตามและทำลายด้วยขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ

ปัญหาจะหนักหนาสาหัสกว่ากันมาก ถ้าขีปนาวุธที่ถูกยิงออกมาเป็นขีปนาวุธทิ้งตัว ซึ่งหมายความว่ามันได้พลังจากเครื่องยนต์จรวด ทำให้มันบินได้ด้วยความรวดเร็วกว่ากันเยอะ และนั่นก็ทำให้ฝ่ายป้องกันมีเวลาน้อยลงไปมากในการรับมือ

พวกฮูตีมีขีปนาวุธทิ้งตัวต่อสู้เรือแบบต่างๆ อยู่หลายแบบโดยได้รับมาจากอิหร่าน ขีปนาวุธเหล่านี้ถือเป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสในเส้นทางเดินเรือใกล้ๆ แนวชายฝั่งซึ่งมีพื้นที่ให้เคลื่อนไหวจำกัด โดยนี่แหละก็เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดซึ่งพวกชาติพันธมิตรเผชิญอยู่ในช่องแคบบับ-เอล-มันเดบ

มีความเป็นไปได้อย่างมากว่า การปรากฏตัวของพวกขีปนาวุธทิ้งตัวต่อสู้เรือที่ใช้เครื่องยนต์จรวด เป็นปัจจัยที่บังคับให้สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรต้องตัดสินใจในที่สุดที่จะเข้าโจมตีพวกฮูตี ไม่ใช่คอยเอาแต่ป้องกันอย่างเดียว

ทางเลือกอื่นนอกเหนือจากนี้มีเพียงการยุติเลิกพิทักษ์คุ้มกันการเดินเรือในทะเลแดง ทว่าย่อมจะส่งผลกระทบทางลบต่อยุโรปรวมทั้งสหราชอาณาจักร และยังทำให้อียิปต์ถูกลิดรอนทรัพย์สินสำคัญที่สุดของตนไปด้วย ซึ่งก็คือคลองสุเอซ ที่ทำรายรับให้ราวๆ เดือนละ 750 ล้านดอลลาร์

สตีเฟน ไบรเอน เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute

ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน

เชิงอรรถ
[1]https://substack.com/redirect/1bd93b98-c152-4bca-896f-08a4270be2dd?j=eyJ1IjoiN25tMiJ9.ArAjoe3w0B9T_qIn_sADWsrqWSMS2r8ZypYyWEAFxWc

[2]https://substack.com/redirect/5394ec6b-ab42-46dc-b97a-367e7621c6c1?j=eyJ1IjoiN25tMiJ9.ArAjoe3w0B9T_qIn_sADWsrqWSMS2r8ZypYyWEAFxWc

[3]https://substack.com/redirect/d5c94e0c-a127-4679-86ab-52067f254620?j=eyJ1IjoiN25tMiJ9.ArAjoe3w0B9T_qIn_sADWsrqWSMS2r8ZypYyWEAFxWc

[4]https://substack.com/redirect/c7b4e298-e6bf-477e-b9d0-941b88c63871?j=eyJ1IjoiN25tMiJ9.ArAjoe3w0B9T_qIn_sADWsrqWSMS2r8ZypYyWEAFxWc

[5] https://ukdefencejournal.org.uk/sea-viper-a-guide-to-the-missile-protecting-the-red-sea/?utm_source=substack&utm_medium=email

[6]https://substack.com/redirect/495d0766-082f-4f35-b64b-cc95e4cd9185?j=eyJ1IjoiN25tMiJ9.ArAjoe3w0B9T_qIn_sADWsrqWSMS2r8ZypYyWEAFxWc

[7]https://substack.com/redirect/4caab50f-c20b-4daa-90bb-d006036914bc?j=eyJ1IjoiN25tMiJ9.ArAjoe3w0B9T_qIn_sADWsrqWSMS2r8ZypYyWEAFxWc

[8]https://substack.com/redirect/70074a4f-9077-413e-8fd5-8ee192228586?j=eyJ1IjoiN25tMiJ9.ArAjoe3w0B9T_qIn_sADWsrqWSMS2r8ZypYyWEAFxWc
กำลังโหลดความคิดเห็น