(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Austin: GIs might have to fight Russians in Europe
By STEPHEN BRYEN
07/12/2023
พวกวุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกัน พากันวอล์กเอาท์ประท้วงออกมาจากที่ประชุมบรรยายสรุปสถานการณ์เป็นการลับ ซึ่งคณะบริหารไบเดนจัดขึ้นมาเพื่อโน้มน้าวสภาสูงให้ยินยอมอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเพิ่มเติมก้อนโตแก่ยูเครน โดยที่ในการบรรยายสรุปครั้งนี้ซึ่งรัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน เป็นผู้พูดสำคัญคนหนึ่ง เขามุ่งสาธยายถึงภัยคุกคามที่จะติดตามมาจากรัสเซีย หากปล่อยให้ยูเครนพังครืนลงไป
ในความพยายามที่จะโน้มน้าวให้รัฐสภาเห็นดีเห็นงามกับข้อเสนอของบประมาณช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ยูเครน เมื่อวันอังคาร (5 ธ.ค.) ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ได้ร่ายเวทย์มนตร์ปลุกผีภัยคุกคามจากรัสเซีย
ออสตินกล่าวว่า ถ้าหากคองเกรสไม่ยอมจัดสรรงบประมาณจำนวน 61,000 ล้านดอลลาร์เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนแล้ว มันก็ “มีความเป็นไปได้อย่างมาก” ที่กองทหารสหรัฐฯซึ่งประจำการอยู่ทางภาคพื้นดินในยุโรปจะต้องสู้รบทำศึกกับรัสเซีย
ปรากฏว่าพวกวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน –ด้วยเหตุผลต่างๆ กันหลายหลาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อพิพาทต่อรองกับคณะบริหารไบเดนในเรื่องการผูกพันความช่วยเหลือก้อนนี้เข้ากับการปรับเปลี่ยนนโยบายความมั่นคงชายแดนของสหรัฐฯ—ได้พากันวอล์กเอาท์ออกจากที่ประชุมบรรยายสรุปสถานการณ์ ภายหลังดำเนินไปได้เพียง 20 นาที
ภัยคุกคามที่ออสตินพยายามจินตนาการให้ที่ประชุมคราวนี้ฟังก็คือว่า รัสเซียนั้นหลังจากเสร็จสิ้นกับเรื่องยูเครนแล้ว จะไม่หยุดยั้งเพียงแค่นั้น แต่จะเปิดฉากโจมตีที่อื่นๆ ต่อไปในยุโรป ถึงแม้ว่าเมื่อพิจารณากันแบบภววิสัยตามเนื้อผ้าแล้ว มันไม่มีหลักฐานใดๆ เลยว่ารัสเซียกำลังคุกคามใครที่ไหนในยุโรป
นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องที่ว่ามีชาวรัสเซียไม่มากมายอะไรหรอกซึ่งคิดว่าเหล่านายพลของพวกเขาควรที่จะข่มขู่คุกคามยุโรป ยิ่งกว่านั้นในความเป็นจริงแล้ว ยุโรปต่างหากที่กำลังจัดหาจัดส่งทั้งความช่วยเหลือทางทหารอย่างมหึมา รวมทั้งเรื่องข่าวกรอง และความช่วยเหลือทางเทคนิคไปให้แก่ยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซีย นอกเหนือจากการช่วยฝึกอบรมกองทหารยูเครน และการช่วยเหลือยูเครนพัฒนาแผนสงครามของพวกเขา คลังอาวุธต่างๆ ของยุโรป ซึ่งเดิมทีมุ่งหมายเพื่อเอาไว้ใช้สำหรับการป้องกันตนเองของนาโต้ กำลังถูกจัดส่งไปให้เคียฟ คลังอาวุธเหล่านี้น่าจะไม่มีอะไรมาทดแทนเติมเต็มไปอีกหลายสิบปีทีเดียว ถ้าไม่ใช่ถึงขนาดตลอดกาล
จากมุมมองของรัสเซีย ผู้กระหายแย่งยึดดินแดนชาวบ้านตัวจริงเสียงจริงก็คือนาโต้ต่างหาก ทั้งนี้ทั้งนั้น นาโต้ยังคงขยายตัวไปในแหลมบอลข่านและในยุโรปตะวันออก ถึงแม้รัสเซียได้ส่งเสียงเตือนครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งคำมั่นสัญญาทั้งหลายที่ได้ให้ไว้แก่รัสเซียก็ล้วนแต่ถูกละเมิดอย่างโจ่งแจ้ง (ฝ่ายรัสเซียได้รับคำยืนยันค้ำประกันจากฝ่ายตะวันตกอยู่บ่อยครั้ง เริ่มตั้งแต่คำสัญญาจาก บิลล์ คลินตัน ตอนที่ยังเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯอยู่ ที่ว่า จะไม่ขยายองค์การนาโต้)
การขยายตัวขององค์การนี้ที่ผ่านมา มีความหมายว่าคือการประกอบอาวุธตะวันตกคุณภาพสูงสุดให้แก่พวกชาติสมาชิกนาโต้รายใหม่ๆ บวกกับการสร้างฐานทัพต่างๆ สำหรับให้นาโต้ไว้ใช้บนดินแดนของพวกเขา และดังนั้นจึงเป็นการข่มขู่คุกคามโดยตรงต่อรัสเซีย
หนึ่งในเหตุผลหลายๆ ประการที่รัสเซียเข้าครองอำนาจเหนือดินแดนยุโรปตะวันออกส่วนใหญ่ในตอนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ก็คือเพื่อสร้างกันชนด้านความมั่นคงปลอดภัยขึ้นมา แน่นอนล่ะนี่ย่อมไม่ใช่เหตุผลประการเดียว ทางรัสเซียยังมีความกระตือรือร้นที่จะครอบครองทรัพยากรต่างๆ ในประเทศเหล่านี้อีกด้วย เราๆ ท่านๆ คงจะระลึกได้ว่ารัสเซียประสบกับความวิบัติหายนะและการสูญเสียประชากรไปอย่างใหญ่โตขนาดไหนจากฝีมือของพวกนาซีและเหล่าพันธมิตรของพวกเขา
ทั้งหมดเหล่านี้ไม่ได้หมายความเลยว่ารัสเซียจะไม่ปรารถนาช่วงชิงกลับคืนสิ่งที่พวกเขาได้สูญเสียไปให้แก่การขยายตัวของนาโต้ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แล้วก้อ ใช่ครับ เป็นความจริงแน่นอนทีเดียวว่า “การปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ของรัสเซียนั้น สามารถถือได้ว่าเป็นการช่วงชิงดินแดนในยูเครนอย่างหนึ่ง
ทว่าแทบไม่มีสัญญาณเอาเลยว่ารัสเซียมีเจตนารมรณ์ที่จะขยายตัวใดๆ ในยุโรปตะวันออก หรือไปยังพวกรัฐริมทะเลบอลติก และในทางเป็นจริงแล้วไม่ได้มีข่าวกรองไม่ว่าชนิดไหนเลยซึ่งสนับสนุนข้อวินิจฉัยของออสตินในเรื่องการรุกรานของแดนหมีขาว ถ้าหากมันมีข่าวกรองที่เป็นรูปธรรมใดๆ คุณย่อมสามารถพนันได้เงินมาอย่างแน่นอนด้วยการวางเดิมพันว่า คณะบริหารไบเดนจะต้องเปิดทางให้รัฐสภารับทราบไปเรียบร้อยแล้ว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคณะบริหารไบเดนเองได้แบมือขอเงินเพิ่มเติมสำหรับใช้ในสงครามยูเครนอยู่แล้วเช่นนี้)
ตรงกันข้ามมันกลับมีเหตุผล 3 ประการซึ่งเป็นการให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือแก่ข้อสมมุติฐานในทางตรงกันข้าม ซึ่งก็คือว่า รัสเซียนั้นไม่ได้กำลังมีเจตนารมณ์ที่จะขยายตัวออกไปนอกพื้นที่การสู้รบขัดแย้งที่ยูเครนหรอก
เหตุผลประการแรกคือด้านพฤติกรรม ในภาวะที่คลังแสงเพื่อทำสงครามของนาโต้กำลังอยู่ในระดับร่อยหรอลงต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา รัสเซียย่อมสามารถฉวยประโยชน์อาศัยความได้เปรียบจากความอ่อนแอเช่นนี้ และเคลื่อนกำลังพลของตนเข้าโจมตีเล่นงานเป้าหมายต่างๆ ของนาโต้ –ตัวอย่างเช่น การปฏิบัติการต่างๆ ของนาโต้ในโปแลนด์ หรือในแหลมบอลข่าน— แต่นี่พวกเขามิได้ทำเช่นนั้นเลย
ฝ่ายรัสเซียกลับแสดงออกซึ่งความบันยะบันยังอย่างไม่เคยปรากฏให้เห็นมาก่อน และกระทั่งอดทนอดกลั้นต่อประดาเที่ยวบินของอากาศยานหาข่าวกรองซึ่งปฏิบัติการอย่างดุเดือดแข็งกร้าว ตลอดจนต่อการเอ็กเซอร์ไซส์ทางนาวีในทะเลดำของนาโต้ ซึ่งเป็นความวิตกกังวลด้านความมั่นคงที่ฝ่ายรัสเซียมีความรู้สึกอ่อนไหวอย่างรุนแรงเป็นพิเศษมาโดยตลอด ต้องไม่ลืมว่า ทะเลดำไม่ได้เป็นเพียงประตูหลังสำหรับเข้าสู่ยูเครนเท่านั้น แต่มันยังเป็นเส้นทางสำหรับการเข้าท้าทายรัสเซียเองอีกด้วย
รัสเซียยังคงแสดงให้เห็นถึงความบันยะบันยัง แม้กระทั่งเมื่อตอนที่ยูเครนใช้โดรนเข้าโจมตีสนามบินภายในดินแดนของรัสเซีย แห่งซึ่งกำลังมีเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ประจำการอยู่
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bbc.com/news/world-europe-66573842)
เครื่องบินดังกล่าวเหล่านี้จำนวน 2 ลำ ถ้าหากไม่ถึงขั้นถูกทำลายยับทีเดียวก็ต้องได้รับความเสียหายไม่ใช่น้อยๆ การโจมตีทำนองนี้จำเป็นต้องได้รับความสนับสนุนด้านข่าวกรองจากนาโต้ ซึ่งอันดับแรกเลยคือจากสหรัฐฯ และไม่มีข้อสงสัยใดๆ ว่าฝ่ายรัสเซียเข้าอกเข้าใจเรื่องอย่างนี้เป็นอย่างดี กระนั้นฝ่ายรัสเซียก็อดทนอดกลั้นต่อการโจมตีครั้งนี้ในระดับหนึ่ง และไม่ได้ดำเนินฝีก้าวใดๆ เพื่อขยายการสู้รบขัดแย้งให้กว้างขวางใหญ่โตยิ่งขึ้น
ยังมีหลักฐานบางอย่างที่ชี้ว่า การโจมตีใส่ฐานทัพอากาศ โซลต์ซี-2 (Soltsy-2 airbase) ของรัสเซีย ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศคราวนี้ เป็นฝีมือของโดรนยูเครนที่ปล่อยออกมาจากเอสโตเนีย เนื่องจากโดรนยูเครนนั้นไม่ได้มีพิสัยทำการที่จะไปไกลถึงฐานทัพอากาศแห่งนี้ได้
ตัวอย่างอื่นๆ ของการบันยะบันยังของฝ่ายรัสเซีย ยังรวมถึงกรณีเรือรบ “มอสควา” (Moskva) ที่เป็นเรือธงของกองเรือทะเลดำของรัสเซีย ถูกฝ่ายยูเครนโจมตีจนจมลงทะเลด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐฯ, ความพยายามหลายต่อหลายครั้งที่จะทำลายสะพานข้ามช่องแคบเคิร์ช (Kerch Strait bridge) ซึ่งเชื่อมระหว่างรัสเซียกับคาบสมุทรไครเมีย, และการใช้โดรนโจมตีหลายต่อหลายครั้งใส่กรุงมอสโก ซึ่งก็รวมไปถึงคราวที่พยายามโจมตีออฟฟิศของปูตินในทำเนียบเครมลิน ในความพยายามที่รัสเซียระบุว่าเป็นความพยายามที่จะลอบสังหารปูติน
(กรณีจมเรือรบ “มอสควา” ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nbcnews.com/politics/national-security/us-intel-helped-ukraine-sink-russian-flagship-moskva-officials-say-rcna27559)
(เรื่องโจมตีสะพานช่องแคบเคิร์ช ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nytimes.com/2023/09/02/world/europe/russia-ukraine-kerch-strait-bridge.html)
(เรื่องความพยายามโจมตีทำเนียบเครมลิน ดูเพิ่มเติมได้ที่
https://www.washingtonpost.com/world/2023/05/03/vladimir-putin-attack-drones-kremlin/)
เหตุผลประการที่สองที่ทำให้มองรัสเซียว่ามีความลังเลใจไม่ปรารถนาที่จะขยายการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ ก็คือว่าการกระทำเช่นนั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล รัสเซียเองเพิ่งเรียนรู้ได้รับบทเรียนว่าสงครามยูเครนนั้นมีราคาแพงลิบลิ่วขนาดไหน ถึงแม้ในท้ายที่สุดพวกเขากำลังชนะสงครามภายหลังดำเนินการสู้รบมาเป็นเวลาเกือบๆ 2 ปีก็ตามที ยิ่งถ้าสงครามวงกว้างในยุโรประเบิดขึ้น มันก็จะต้องเพิ่มเครื่องบินขับไล่และเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯและชาติยุโรป ซึ่งจะเป็นตัวสร้างความทุกข์ยากลำบากให้แก่รัสเซียมากขึ้นอีก – แม้กระทั่งถ้าหากว่ากองกำลังภาคพื้นดินของนาโต้ประสบปัญหาฉกาจฉกรรจ์ต่างๆ ก็ตาม ทั้งนี้ตามการศึกษาชิ้นหนึ่งของบริษัทแรนด์ (RAND)
(เรื่องรัสเซียกำลังเป็นผู้ชนะสงครามในยูเครน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.economist.com/leaders/2023/11/30/putin-seems-to-be-winning-the-war-in-ukraine-for-now)
(รายงานการศึกษาของแรนด์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rand.org/content/dam/rand/pubs/research_reports/RR1200/RR1253/RAND_RR1253.pdf)
ค่าใช้จ่ายใหญ่โตที่สุดสำหรับรัสเซียนั้น ก็คือเรื่องกำลังคนและการบาดเจ็บล้มตายจากสงคราม การประมาณการตัวเลขจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายที่แท้จริงเป็นสิ่งที่ทำได้ลำบาก เพราะทั้งฝ่ายยูเครนและฝ่ายรัสเซียต่างก็ไม่ต้องการบอกความจริง หรือไม่ก็เลือกที่จะไม่พูดอะไรเลย
กระนั้นข้อเท็จจริงที่ว่า รัสเซียจำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวระดมเกณฑ์คนเข้ากองทัพของตน –แม้กระทั่งการอุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นด้วยการใช้พวกนักโทษ – ย่อมเป็นสิ่งบ่งบอกให้เห็นว่าสงครามคราวนี้ได้คร่าชีวิตทหารไปเป็นจำนวนมาก เวลาเดียวกันมันย่อมหมายความด้วยว่าความนิยมชื่นชมสงครามคราวนี้ในรัสเซีย อาจจะถูกคุกคามเสียหายได้ ถ้าหากจำนวนของผู้ที่ถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บพุ่งขึ้นสูงเกินไป
(เรื่องการใช้นักโทษเป็นทหาร ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.newsweek.com/russia-recruited-prisoners-convicts-ukraine-war-1849292#:~:text=Russia%20has%20recruited%20over%20100%2C000%20convicts%20from%20penal%20colonies%20to,February%202022%2C%20Newsweek%20has%20found.)
เป็นเรื่องยากที่จะเชื่อว่ารัสเซียจะขยายสงครามให้ใหญ่โตมากขึ้นไปอีก เมื่อคำนึงถึงผลกระทบซึ่งมีต่อกำลังพลของพวกเขา เช่นเดียวกับที่จะเชื่อว่าสงครามนี้จะยังคงได้รับความสนับสนุนจากประชาชนชาวรัสเซีย ผู้ซึ่งทราบดีถึงวิธีการต่อต้านคัดค้านการสู้รบขัดแย้งเมื่อมันเริ่มกัดพวกเขาอย่างจมเขี้ยว ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า นี่แหละคือสิ่งที่บีบบังคับรัสเซียให้ต้องถอยออกมาจากอัฟกานิสถาน โดยเริ่มต้นถอนตัวในเดือนพฤษภาคม 1988 และเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์1989 (กระนั้น มันก็ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้ มิฮาอิล กอร์บาชอฟ Mikhail Gorbachev อยู่รอดปลอดภัย หรือสามารถป้องกันความพยายามก่อการรัฐประหารยึดอำนาจของเขา ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://faculty.washington.edu/aseem/afganwar.pdf)
เหตุผลประการที่สามซึ่งเป็นปัจจัยคัดค้านไม่ให้รัสเซียขยายการสู้รบขัดแย้งในเวลานี้ ได้แก่ ผลกระทบที่ไม่ได้คาดหมายกันมาก่อนจากการที่ฝ่ายตะวันตกดำเนินการแซงก์ชั่นคว่ำบาตรรัสเซีย
สิ่งที่ปรากฏออกมาให้เห็นกันก็คือ เพื่อตอบโต้กับ “การปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในยูเครนของปูติน นาโต้และประเทศอื่นๆ จำนวนมากได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯหรือกับสหภาพยุโรปในการบังคับใช้มาตรการแซงก์ชั่นรัสเซียอย่างหนักหน่วง เรื่องนี้ผลักดันรัสเซียให้เข้าไปอยู่ในอ้อมกอดของจีน และบังคับรัสเซียให้ต้องขบคิดทบทวนอนาคตของตนเสียใหม่ เหนือสิ่งอื่นใดเลยมันหมายถึงการที่ทรัพยากรทั้งหลาย, การค้า, และระบบการเงินของรัสเซีย เกิดการปรับตัวเปลี่ยนแปลงใหม่โดยถอยห่างออกจากยุโรปและฝ่ายตะวันตก
นี่คือปัจจัยใหม่ที่มีลักษณะชี้ขาดประการหนึ่ง ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงโรดแมปทางยุทธศาสตร์สำหรับรัสเซีย มันเป็นตัวซึ่งบ่อนทำลายลดทอนน้ำหนักโดยตรงต่อข้อโต้แย้งที่อ้างว่ารัสเซียต้องการเข้าโจมตียุโรปต่อไปอีกเพื่อให้ได้รับผลบางอย่างบางประการที่พวกเขาปรารถนา ในเมื่อความจริงกลับเห็นกันได้ว่าทางรัสเซียมีความสนใจในยุโรปหรือสหรัฐฯลดน้อยลงทุกทีๆ เราย่อมสามารถที่จะพูดได้อย่างปลอดภัยไม่ผิดพลาดว่า มาตรการแซงก์ชั่นที่ล้ำเกินไปจากหลักกฎหมายของฝ่ายตะวันตกนี่แหละ กำลังกลายเป็นการทำความผิดพลาดในทางยุทธศาสตร์อย่างขาดการยั้งคิดครั้งใหญ่ครั้งสุดของนาโต้ และของหุ้นส่วนตลอดจนเพื่อนมิตรของนาโต้ ตลอดจนของสหภาพยุโรปด้วย
กระทั่งถ้าหากมีการทำความตกลงสันติภาพว่าด้วยยูเครนขึ้นมาได้ และยุโรปตลอดจนสหรัฐฯยกเลิกการแซงก์ชั่นที่บังคับใช้เล่นงานรัสเซีย บางทีมันก็อาจจะสายเกินไปที่จะกอบกู้ฟื้นคืนสิ่งซึ่งถูกทำให้เสียหายยับเยินไปแล้ว สำหรับการสมานสานต่อความผูกพันใดๆ ต่อไปในอนาคตข้างหน้า รัสเซียจะไม่ปฏิเสธการค้าขายกับฝ่ายตะวันตก แต่พวกเขาน่าที่จะทำความตกลงทางธุรกิจด้วยเฉพาะส่วนที่เข้ากันได้กับเงื่อนไขต่างๆ ของพวกเขาเท่านั้น มันไม่น่าเป็นไปได้ที่รัสเซียจะยินยอมให้พวกบริษัทตะวันตกเข้าไปเปิดดำเนินงานภายในรัสเซียอีกครั้ง และประเทศนี้จะยิ่งจับมือร่วมทีมกับจีนมากขึ้นอีกสำหรับการพัฒนาทางเทคโนโลยีและการพัฒนาด้านอาวุธ กล่าวโดยสรุปฝ่ายตะวันตกได้ยื่นหนังสือขอหย่าร้าง และฝ่ายรัสเซียก็ตกลงยอมรับคำตัดสินสุดท้ายในทางกฎหมายไปเรียบร้อยแล้ว
จากเหตุผลต่างๆ ที่ระบุเอาไว้ข้างต้นนี้ ข้อโต้แย้งของรัฐมนตรีกลาโหมออสติน จึงเป็นข้อโต้แย้งที่ทั้งผิดพลาดและชักนำให้เกิดความเข้าใจผิด
ตอนที่พวก ส.ว.พรรครีพับลิกัน เดินผละออกมาเป็นแถวจากที่ประชุมบรรยายสรุปสถานการณ์แบบปิดลับ ซึ่งคณะบริหารไบเดนจัดขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับวุฒิสภา ในความพยายามที่จะเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวสภาสูงให้สนับสนุนการจัดสรรเงินทองแก่ยูเครนเพิ่มเติมขึ้นอีกนั้น พวกเขาหลายคนโต้แย้งว่าเหตุผลข้ออ้างต่างๆ ของคณะบริหารไบเดนยังคงวนเวียนอยู่ที่เดิมและไม่ได้มีความน่าเชื่อถือเลย ความพยายามของไบเดนในการขู่กรรโชกวุฒิสภาคราวนี้จึงไม่ได้ผลอะไร
ต่อจากนี้ไป พวกไบเดนยังจะงัดอะไรออกมาเพื่อผลักดันเรื่องนี้อีก?
สตีเฟน ไบรเอนเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายเจ้าหน้าที่ของคณะอนุกรรมการตะวันออกใกล้ แห่งคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ รวมทั้งเคยเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหมด้านนโยบายของสหรัฐฯ ปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute
ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน