xs
xsm
sm
md
lg

เหมือนประจานอเมริกา! สมัชชาใหญ่ UN ยกมือเห็นชอบ มติเรียกร้องหยุดยิงในกาซาในทันที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ลงมติเรียกร้องให้หยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมทันทีในฉนวนกาซา ที่เหมือนเป็นการตำหนิสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้สิทธิวีโต้ขัดขวางซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต่อเสียงร้องขอข้อตกลงหยุดยิงในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

การประชุมนัดพิเศษเริ่มต้นในช่วงบ่ายอังคาร (12 ธ.ค.) ตามเวลาในนครนิวยอร์ก ใช้เวลาหารือเพียงชั่วโมงเศษ ก่อนที่จะมีการลงมติเสียงส่วนใหญ่หรือเกิน 2 ใน 3 รับรอง โดยมีประเทศสนับสนุน 153 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง และงดออกเสียง 23 เสียง

ในมติเรียกร้องหยุดยิง ที่ใช้เวลาสั้นๆ ในวันอังคาร (12 ธ.ค.) ยังได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และการเข้าถึงตัวประกันเพื่อมนุษยธรรม เช่นเดียวกับปล่อยตัวประกันในทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข มตินี้บรรจุภาษาถ้อยคำที่หนักหน่วงกว่าการลงมติเมื่อเดือนตุลาคม โดยคราวนั้นที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เรียกร้อง "การหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมที่ยั่งยืน"

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ที่ทาง ริยาด มันซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ประจำสหประชาชาติ ยกย่องว่าเป็นการลงมติครั้งประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสที่ลากยาวเข้าสู่เดือนที่ 3 ในขณะที่คณะแพทย์และกลุ่มความช่วยเหลือต่างๆ แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในกาซาที่ถูกปิดล้อม โดยจนถึงตอนนี้มีผู้คนถูกสังหารแล้วมากกว่า 18,000 รายในฉนวนแห่งนี้ นับตั้งแต่สงครามปะทุขึ้น

อิสราเอลบอกว่าจะไม่หยุดปฏิบัติการด้านการทหารจนกว่าจะขุดรากถอนโคนพวกนักรบปาเลสไตน์ "ฮามาส" ซึ่งควบคุมฉนวนกาซา แก้แค้นกรณีที่พวกฮามาสบุกจู่โจมเล่นงานอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปราว 1,200 ราย และจับเป็นตัวประกันอีกประมาณ 240 คน โดยเวลานี้เชื่อว่ายังเหลือตัวประกันอีกกว่า 100 คน ที่ยังถูกควบคุมตัวในกาซา

ก่อนหน้าการลงมติ ดิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ ให้คำจำกัดความญัตตินี้ ว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าอับอาย ในความพยายามมัดมือมัดเท้าอิสราเอล พร้อมเตือนว่าปฏิบัติการของอิสราเอลในกาซาจะเดินหน้าต่อไปจนกว่าตัวประกันทุกคนจะได้รับการปล่อยตัว

นอกเหนือจากอิสราเอลแล้ว สหรัฐฯ ปาปัวนิวกินี ปารากวัย ออสเตรีย สาธารณรัฐเช็ก กัวเตมาลา ไลบีเรีย สหพันธรัฐไมโครนีเชียและนาอูรู เป็นบรรดาชาติที่โหวตคัดค้านมติในวันอังคาร (12 ธ.ค.)

แม้การโหวตหนึ่งของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ มีนัยสำคัญทางการเมืองและถูกมองในฐานะตัวถ่วงดุลทางศีลธรรม แต่มันไม่มีข้อผูกมัดใดๆ ต่างจากมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐฯ เพิ่งใช้สิทธิวีโต้มติเรียกร้องข้อตกลงหยุดยิงในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของ 15 ชาติสมาชิกขององค์กรที่ทรงอิทธิพลแห่งนี้

"เรามีเป้าหมายหนึ่งเดียวที่เป็นเอกเทศ หนึ่งเดียวนั่นคือ เพื่อปกป้องชีวิต" เดนิส ฟรานซิส ประธานสมัชชาสหประชาชาติ กล่าวเปิดประชุมวาระฉุกเฉินในช่วงบ่ายวันอังคาร (12 ธ.ค.) พร้อมเตือนว่าพลเรือนในกาซา ไม่มีที่ปลอดภัยให้หลบภัยจากการสู้รบและการทิ้งบอมบ์ถล่มทางอากาศแล้ว "แม้กระทั่งสงครามก็ยังมีกฎ และมันคือข้อบังคับที่เราต้องปัองกันไม่ให้มีการหันเหไปจากหลักการและค่านิยมเหล่านี้"

ท่ามกลางโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกระเบิดจนเหลือแต่ซากปรักหักพัง และการเข้าถึงน้ำ ยาและอาหารเป็นไปอย่างจำกัด พวกเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ เตือนว่าอาจมีพลเรือนกาซาเสียชีวิตจากโรคร้ายมากกว่าระเบิดและขีปนาวุธเสียอีก และบอกว่าความหิวโหยกำลังเป็นประเด็นที่หนักหนาสาหัสมากขึ้นเรื่อยๆ ในฉนวนแห่งนี้

ระหว่างกล่าวกับที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ลินดา โธมัส กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ บอกว่าวอชิงตัน "เห็นด้วยว่าสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในกาซาอยู่ในขั้นเลวร้าย และพลเรือนต้องได้รับการปกป้องภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ" แต่ขณะเดียวกัน เธอเรียกร้องประเทศต่างๆ สนับสนุนร่างมติฉบับแก้ไข ในการประณามพวกฮามาส ซึ่งมันไม่ผ่านความเห็นชอบ

"ข้อตกลงหยุดยิงในตอนนี้ อย่างดีที่สุดก็จะเป็นเพียงการหยุดยิงชั่วคราว แต่อย่างเลวร้าย มันจะก่ออันตราย" เธอกล่าว "มันอันตรายต่อประชาชนชาวอิสราเอล ซึ่งถูกโจมตีอย่างไม่หยุดหย่อน และเป็นอันตรายแก่ชาวปาเลสไตน์ ซึ่งคู่ควรได้รับโอกาสในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าแก่ตนเอง เป็นอิสระจากกลุ่มหนึ่งซึ่งหลบซ่อนอยู่เบื้องหลังพลเรือนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่"

(ที่มา : ซีเอ็นเอ็น)


กำลังโหลดความคิดเห็น