xs
xsm
sm
md
lg

สมคบคิดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์! ผู้นำปาเลสไตน์ชี้สหรัฐฯ ต้องรับผิดชอบในกาซา หลังวีโต้มติคณะมนตรี UN

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มาห์มูด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ระบุเมื่อวันเสาร์(9 ธ.ค.) สหรัฐฯ ต้องรับผิดชอบเหตุนองเลือดที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ผู้หญิงและคนชราชาวปาเลสไตน์ หลังจากอเมริกาใช้สิทธิวีโต้มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้หยุดยิงในในฉนวนกาซา

ถ้อยแถลงจากทำเนียบประธานาธิบดีของอับบาส ระบุว่า "ท่านประธานาธิบดีให้คำจำกัดความจุดยืนของอเมริกาว่า ก้าวร้าวและไร้ศีลธรรม ละเมิดอย่างโจ่งแจ้งต่อทุกค่านิยมและหลักการด้านมนุษยธรรม และสหรัฐฯ ต้องรับผิดชอบเหตุนองเลือดที่เกิดกับเด็กๆ ผู้หญิงและคนชราปาเลสไตน์ในกาซา สืบเนื่องจากพวกเขาให้การสนับสนุนอิสราเอล"

การใช้สิทธิวีโต้ของวอชิงตัน ณ ที่ประชุมนัดพิเศษของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันศุกร์ (8 ธ.ค.) ได้กัดเซาะความพยายามต่างๆ ที่มุ่งหน้าสู่การหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมในทันทีในฉนวนกาซา ภายใต้การนำของ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ และบรรดาชาติอาหรับทั้งหลาย

โรเบิร์ต วู้ด รองเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ให้คำอธิบายจุดยืนคัดค้านใช้สิทธิวีโต้ โดยบอกว่าร่างมตินี้ "ห่างจากความเป็นจริง" ขัดแย้งกับคำแนะนำของสหรัฐฯ ล้มเหลวในการประณามการโจมตีก่อการร้ายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ของพวกฮามาส พร้อมอ้างว่าการหยุดยิงโดยปราศจากเงื่อนไขจะเป็นการเปิดทางให้นักรบกลุ่มนี้โจมตีซ้ำรอยในภายหลัง

อิสราเอลยกย่องการใช้สิทธิวีโต้ของสหรัฐฯ แต่สหรัฐอาหรับเอเมิเรตส์ ผู้เสนอญัตติบอกว่ารู้สึกผิดหวังอย่างมากต่อผลการลงมติครั้งนี้

อับบาส ระบุในวันเสาร์ (9 ธ.ค.) ว่า "นโยบายของสหรัฐฯ ทำให้อเมริกากลายเป็นผู้สมคบคิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การกำจัดชาติพันธุ์และอาชญากรรมสงคราม ที่ก่อโดยกองกำลังผู้รุกรานอิสราเอล ต่อชาวปาเลสไตน์ในกาซา เวสต์แบงก์ และเยรูซาเลม"

กูเตอร์เรส เรียกประชุมฉุกเฉินตามหลังการสู้รบที่ลากยาวมานานหลายสัปดาห์ในกาซา เข่นฆ่าผู้คนไปเกือบ 17,500 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก

สงครามนี้มีต้นตอจากการที่พวกนักรบฮามาส บุกโจมตีนองเลือดเล่นงานอิสราเอลอย่างไม่คาดคิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปราว 1,200 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และตัวประกันไปอีกประมาณ 240 คน ซึ่งกระตุ้นให้อิสราเอลเปิดปฏิบัติการโจมตีตอบโต้

(ที่มา : รอยเตอร์/อาร์ทีนิวส์


กำลังโหลดความคิดเห็น