สหรัฐฯ ในวันพุธ (18 ต.ค.) ขัดขวางมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่เรียกร้องให้หยุดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับนักรบปาเลสไตน์ เพื่อเปิดทางไหลบ่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่ฉนวนกาซา
วอชิงตันใช้สิทธิวีโต้ คัดค้านมติที่ร่างโดยบราซิล ซึ่งประณามความรุนแรงทั้งมวลที่กระทำกับพลเรือน และเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันในทันทีและไม่มีเงื่อนไข "สหรัฐฯ ผิดหวังที่มตินี้ไม่พาดพิงสิทธิในการปกป้องตนเองของอิสราเอล" ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ บอกกับคณะมนตรีความมั่นคง
ถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 วัน ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติพิจารณามติหนึ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส โดยเมื่อวันจันทร์ (16 ต.ค.) สหรัฐฯ ร่วมด้วยสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ลงมติคัดค้านเสียงเรียกร้อง "ให้หยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม" ที่เสนอโดยรัสเซีย โดยอ้างว่ามติดังกล่าวไม่มีการพาดพิงใดๆ ถึงพวกฮามาส
จีน กาบอง โมซัมบิก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เห็นชอบกับรัสเซีย แต่สมาชิกอื่นๆ อีก 6 ชาติงดออกเสียง ทั้งนี้มาตรการหนึ่งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ประกอบด้วยรัฐสมาชิก 15 ประเทศ จำเป็นต้องได้รับคะแนนโหวตอย่างน้อย 9 เสียง
ฮามาส เปิดปฏิบัติการโจมตีอิสราเอลอย่างไม่คาดคิด เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปมากกว่า 1,400 ราย ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่านักรบกลุ่มนี้จับผู้คนไปเป็นตัวประกันอีกอย่างน้อย 199 ราย
นับตั้งแต่นั้น อิสราเอลเปิดปฏิบัติการทางอากาศโจมตีแก้แค้นถล่มกาซา สังหารผู้คนไปเกือบ 3,000 ราย นอกจากนี้ อิสราเอลยังตัดน้ำตัดไฟ เส้นทางลำเลียงอาหารและยาในฉนวนแห่งนี้ และแจ้งให้ชาวบ้านมากกว่า 1 ล้านคนในทางเหนือของกาซา อพยพลงไปทางใต้ ในขณะที่พวกเขาเตรียมพร้อมเปิดปฏิบัติการยกพลบุกทางภาคพื้น
เมื่อวันอังคาร (17 ต.ค.) เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์เปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 500 ราย ในเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลอัล-อาห์ลี ในเมืองกาซา ซิตี ซึ่งทั้งอิสราเอล และฮามาสต่างปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดดังกล่าว
แม้ถูกคัดค้านจากสหรัฐฯ ข้อเสนอของบราซิลได้รับเสียงสนับสนุนจาก 12 ชาติ ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ เอกวาดอร์ โมซัมบิก กาบอง แอลเบเนีย บราซิล มอลตา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กานาและฝรั่งเศส ที่เห็นชอบกับมตินี้ ส่วน รัสเซียและสหราชอาณาจักร งดออกเสียง
จาง จุน เอกอัครราชทูตจีน ประจำสหประชาชาติ กล่าวหาสหรัฐฯ ชี้นำคณะมนตรีความมั่นคงในทางที่ผิด ด้วยว่าแสดงเจตนาว่าจะไม่คัดค้านระหว่างการพูดคุยเจรจาเกี่ยวกับมติดังกล่าว ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ (13 ต.ค.) "ปฏิกิริยาของเราคือช็อกและผิดหวัง" เขากล่าว พร้อมเรียกการวีโต้ครั้งนี้ว่า "ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น"
แหล่งข่าวระบุว่า บราซิล คิดมาตลอดว่า ด้วยการที่วอชิงตันปิดปากเงียบอยู่ตลอดระหว่างพูดคุยเจรจา ทำให้พวกเขาเชื่อว่าอเมริกาคงจะไม่วีโต้มติดังกล่าว
กิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูตอิสราเอล ประณามคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ว่าเอาแต่หมกมุ่นยึดติดอยู่กับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม แทนที่มุ่งเน้นไปที่การปลดปล่อยฉนวนกาซาจากฮามาส
การเดินหน้าโหวตมีขึ้นพร้อมกับที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เดินทางถึงอิสราเอลในวันพุธ (18 ต.ค.) และ ไบเดน ได้ให้สัญญาว่าจะมอบแรงสนับสนุนอย่างหนักแน่นแก่อิสราเอล ระหว่างพบปะกับ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล
ในช่วงค่ำวันพุธ (18 ต.ค.) ทำเนียบนายกรัฐมนตรีของเนทันยาฮู แถลงว่าอิสราเอลจะไม่ขัดขวางความช่วยเหลือที่เข้าสู่ฉนวนกาซาผ่านอียิปต์ พร้อมเผยว่าการตัดสินใจดังกล่าว เป็นการตอบสนองต่อคำร้องขอของประธานาธิบดีไบเดน
(ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์)