xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ’ กำลังสูญเสียความได้เปรียบด้าน ‘สงครามเรือดำน้ำ’ สืบเนื่องจาก ‘จีน’ ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว-รวมทั้งได้ตัวช่วยอย่าง ‘รัสเซีย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แกเบรียล ฮอนราดา ***


เรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ (SSBN) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ อาจถูกจีนตรวจจับได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีต ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น เทคโนโลยีการตรวจจับเรือดำน้ำที่อิงอาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ระดับเทระเฮิรตซ์
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US yielding its submarine warfare edge over China
By GABRIEL HONRADA
22/11/2023

ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของจีน และการเซถลาของสหรัฐฯ หมายความว่าฐานะเหนือกว่าใครๆ อย่างสุดกู่ในเรื่องการทำสงครามใต้น้ำที่อเมริกาเคยครองมายาวนานกำลังจบสิ้นลงแล้ว

การที่จีนมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในด้านเทคโนโลยีเรือดำน้ำและในด้านสมรรถนะการตรวจจับเรือดำน้ำ กำลังกลายเป็นการท้าทายฐานะอันมั่นคงแข็งแกร่งมาอย่างยาวนานของสหรัฐฯ ในเรื่องการทำสงครามใต้ทะเล ซึ่งระดับความเก่งกาจเหนือกว่าใครๆ ทั้งหมดเคยอยู่ในสภาพที่ทิ้งห่างคนอื่นๆ อย่างสุดกู่ ขณะเดียวกัน การไล่กระชั้นเข้ามาของปักกิ่ง ยังทำท่าจะเป็นภัยคุกคามต่อการปฏิบัติการด้านเรือดำน้ำของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ทรงความสำคัญยิ่งยวดอีกด้วย

วอลล์สตรีทเจอร์นัล (Wall Street Journal หรือ WSJ) สื่ออเมริกันทรงอิทธิพลรายงาน [1] เอาไว้ว่า พัฒนาการต่างๆ ของจีนในระยะหลังๆ นี้บ่งชี้ให้เห็นว่าช่วงห่างในด้านสมรรถนะเรือดำน้ำระหว่างคู่แข่งขัน 2 รายนี้กำลังหดแคบลงเรื่อยๆ โดยที่สภาพเช่นนี้ส่งผลกระทบกระเทือนอย่างสำคัญต่อการวางแผนทางทหารของสหรัฐฯ ซึ่งรวมไปถึงเรื่องความเป็นไปได้ที่จีนจะเข้ารุกรานไต้หวัน

รายงานของ WSJ บอกว่า ในตัวอย่างหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เรือดำน้ำโจมตีขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ลำใหม่ลำหนึ่งของจีน ถูกพบเห็นว่าใช้ระบบขับเคลื่อนแบบ pump-jet ซึ่งเป็นเทคโนโลยีลดเสียงที่ก่อนหน้านี้พบเห็นได้เฉพาะในเรือดำน้ำสหรัฐฯ รุ่นล่าสุดเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ภาพถ่ายดาวเทียมยังเผยให้เห็นว่า ฐานการผลิตเรือดำน้ำของจีนที่เมืองหูลูต่าว (Huludao) มณฑลเหลียวหนิง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแดนมังกร ในส่วนที่ใช้สำหรับการสร้างลำตัวเรือ ปรากฏว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม บ่งชี้ให้เห็นว่าสมรรถนะการผลิตได้เพิ่มสูงขึ้น

WSJ พูดอีกว่าจีนยังเพิ่มพูนความสามารถของตนในการตรวจจับเรือดำน้ำของข้าศึก ด้วยการก่อสร้างเครือข่ายตัวเซ็นเซอร์ใต้น้ำ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “กำแพงเมืองจีนใต้น้ำ” (Underwater Great Wall) ในภูมิภาคที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ อย่างเช่นทะเลจีนใต้ และบริเวณใกล้ๆ เกาะกวม

รายงานชี้ว่า ด้วยเครือข่ายโซนาร์ เครื่องบินตรวจการณ์ที่ได้รับการปรับปรุงยกระดับดีขึ้น และเฮลิคอปเตอร์ติดตั้งเครื่องมือสำหรับเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากโซนาร์ เหล่านี้ได้เพิ่มพูนสมรรถนะด้านการตรวจจับเรือดำน้ำของจีนขึ้นมาอย่างสำคัญ

ทางด้านสหรัฐฯ ได้ตอบโต้ด้วยการนำเอาทรัพยากรทางนาวีออกมาประจำการในมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มพูนการประสานงานกับเหล่าพันธมิตรทั้งหลาย อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหลายรายโต้แย้งว่าสหรัฐฯ จำเป็นจะต้องมียุทธศาสตร์ใหม่ๆ และทรัพยากรใหม่ๆ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามใต้ทะเลที่กำลังวิวัฒนาการแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ ของจีน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขาเอ่ยถึงความจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องบินตรวจการณ์และเรือดำน้ำโจมตีเพิ่มมากขึ้นอีก เพื่อคอยเฝ้าแกะรอยและคอยกำหนดเป้าหมายเล่นงานเรือดำน้ำที่แล่นได้เงียบกริบขึ้นมากของจีน

WSJ บอกว่า พลวัตใต้ทะเลที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้มีความสอดคล้องไปกันได้กับเรื่องที่จีนอาจจะเข้ารุกรานไต้หวันในเร็วๆ นี้ พร้อมกับชี้ว่าในฉากทัศน์เช่นนี้ เรือดำน้ำของสหรัฐฯ จะเป็นอาวุธชิ้นสำคัญยิ่งยวดและถึงขั้นอาจกลายเป็นตัวตัดสินชี้ขาดทีเดียว ทว่าสมรรถนะของฝ่ายจีนที่ปรับปรุงยกระดับขึ้นมาแล้วก็อาจเพิ่มความสลับซับซ้อนและบ่อนทำลายการปฏิบัติการฝ่ายสหรัฐฯ

เวลาเดียวกันนั้น สหรัฐฯ ยังต้องเผชิญความท้าทายในการประคับประคองขนาดของกองเรือในระดับปัจจุบันเอาไว้ [2] ทั้งนี้สืบเนื่องจากเรือหลายลำหมดอายุใช้งานและถึงเวลาต้องปลดประจำการ ขณะที่อัตราการต่อเรือใหม่ๆ ยังคงอยู่ในระดับต่ำ จึงยิ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวต่างๆ ในเชิงยุทธศาสตร์ ในยามที่ต้องเผชิญหน้ากับกองกำลังเรือดำน้ำของจีนที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต

นอกเหนือจากการขับเคลื่อนด้วย pump jet และความสามารถในการผลิตเรือดำน้ำที่เพิ่มขึ้นแล้ว ช่วงก่อนหน้านี้เอเชียไทมส์ยังได้รายงานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเรือดำน้ำของจีนระยะหลังๆ นี้ในอีกหลายแง่มุม

จีนกำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในเรื่องเทคโนโลยีเรือดำน้ำ และการตรวจจับเรือดำน้ำ
เอเชียไทมส์รายงานเอาไว้ในเดือนกันยายน [3] ว่า คณะนักวิจัยจีนได้บุกเบิกพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจจับเรือดำน้ำที่อิงอาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่ระดับเทระเฮิรตซ์ (terahertz-based submarine detection technology) ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในเรื่องสมรรถนะของการทำสงครามใต้น้ำ ทั้งนี้เทคโนโลยีนี้มีศักยภาพที่จะเป็นการท้าทายอย่างสำคัญต่อการปฏิบัติการด้านเรือดำน้ำของสหรัฐฯ

เครื่องมือตรวจจับแบบใหม่นี้ทำงานในช่วงแถบคลื่นความถี่ระดับเทระเฮิรตซ์ นั่นคือช่วงระหว่างคลื่นไมโครเวฟกับการแผ่รังสีอินฟราเรด และสามารถระบุจำแนกการสั่นไหวบนผิวน้ำที่มีขนาดน้อยนิดเพียงแค่ 10 นาโนเมตร ซึ่งเกิดขึ้นจากพวกต้นกำเนิดเสียงความถี่ต่ำที่อยู่ในทะเลเปิด

การระบุจำแนกการสั่นไหวเหล่านี้ทำให้สามารถชี้ตำแหน่งของเรือดำน้ำ รวมทั้งเป็นประโยชน์ในการรวบรวมข่าวกรองสำหรับใช้เพื่อการวิเคราะห์เอกลักษณ์ของเสียง (หรือที่นิยมเรียกกันว่าลายเซ็นของเสียง noise signatures) เพื่อวินิจฉัยว่าเรือดำน้ำลำนั้นๆ เป็นรุ่นไหนแบบใด เทคโนโลยีชนิดนี้ ซึ่งสามารถที่จะประกอบเข้าไปกับพวกโดรนใต้น้ำ จึงเป็นตัวแทนแสดงให้เห็นถึงการก้าวกระโดดไปได้ไกลมากครั้งหนึ่งของจีนในด้านการระบุจำแนกเรือดำน้ำของสหรัฐฯ ตลอดจนมีศักยภาพที่จะสามารถใช้ตอบโต้การปฏิบัติการแบบปิดลับมุ่งหลบหลีกอำพรางของเรือดำน้ำสหรัฐฯ

ไม่เพียงเท่านั้น ก่อนหน้านั้นไม่นาน เอเชียไทมส์ได้รายงานเอาไว้ในเดือนสิงหาคม [4] ว่า คณะนักวิจัยจีนได้ใช้แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์มาระบุจำแนกฟองอากาศเล็กๆ ที่สร้างขึ้นมาโดยเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อนหน้านี้แทบไม่เคยถูกใช้ในการตรวจจับอะไรกันเลย

พวกเขาค้นพบว่า คลื่นสัญญาณความถี่ต่ำมากๆ (extremely low frequency หรือ ELF) ที่เกิดขึ้นจากฟองอากาศเหล่านี้ มีความชัดเจนยิ่งกว่านักหนาเมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาณที่ตรวจจับได้โดยใช้เครื่องตรวจจับความผิดปกติของสนามแม่เหล็กรุ่นก้าวหน้า (advanced magnetic anomaly detector) ที่กำลังนิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

ฟองอากาศเหล่านี้เกิดขึ้นมาสืบเนื่องจากการเปลี่ยนกลับไปกลับมาของพลังงานจลน์และพลังงานศักย์ในขณะที่เรือดำน้ำกำลังแล่นอยู่ ซึ่งนำไปสู่ภาวะปั่นป่วนวุ่นวาย และการเกิดเอกลักษณ์ หรือลายเซ็นเฉพาะตัวทางแม่เหล็กไฟฟ้า โดยผ่าน magnetohydrodynamic (MHD) effect

อันที่จริงเทคนิคในการตรวจจับเรือดำน้ำแบบไม่อาศัยการดักจับเสียง เป็นสิ่งที่รู้จักกันมาหลายทศวรรษแล้ว ทว่าเพิ่งกลายเป็นไอเดียซึ่งสามารถนำมาปฏิบัติจริงๆ กันได้ในช่วงนี้ สืบเนื่องจากความก้าวหน้าต่างๆ ในเรื่องพลังการประมวลผล ทั้งนี้ เรโซลูชันด้านตัวเซ็นเซอร์ที่ปรับปรุงยกระดับดีขึ้นเรื่อยๆ พลังการประมวลผล และการทำงานได้อย่างอัตโนมัติของเครื่องจักร ทำให้สามารถขยายแถบช่วงของสัญญาณต่างๆ ที่สามารถตรวจจับได้ จึงนำไปสู่จำแนกแยกแยะสัญญาณที่เมื่อก่อนไม่อาจระบุจำแนกกันได้

ในอีกด้านหนึ่ง รัสเซียอาจจะมีบทบาทมากในการยกระดับเทคโนโลยีเรือดำน้ำของจีน โดยเป็นไปได้ที่จีนกำลังต่อเรือดำน้ำเจเนอเรชันหน้าโดยได้รับความช่วยเหลือจากความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคของรัสเซีย

เมื่อเดือนตุลาคม เอเชียไทมส์รายงาน [5] เรื่องความเป็นไปได้ที่จีนจะร่วมมือกับรัสเซียในการต่อเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ชั้นไทป์ 396 (Type 096) ของแดนมังกร ซึ่งคาดหมายกันว่าจะสามารถนำออกปฏิบัติงานได้ภายในทศวรรษนี้
(เรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวที่สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ หรือ ballistic missile submarine ใช้อักษรย่อว่า SSBN ที่มาจากคำบรรยายคุณสมบัติต่างๆ ของเรือประเภทนี้ นั่นคือ Sub-surface, ballistic, nuclear ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wiktionary.org/wiki/SSBN#:~:text=SSBN%20(plural%20SSBNs),missiles%20armed%20with%20nuclear%20weapons และ https://en.wikipedia.org/wiki/Ballistic_missile_submarine -ผู้แปล)

ไทป์ 096 อาจได้รับประโยชน์จากความช่วยเหลือทางเทคโนโลยีของรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเพิ่มพูนสมรรถนะทางด้านการอำพรางตัวจากการถูกตรวจจับ (stealth capabilities) ไทป์ 096 ได้รับการคาดหมายกันว่าจะมีความทัดเทียมกับพวกเรือดำน้ำรัสเซียระดับล้ำยุคทั้งหลาย [6] ทั้งในด้านการอำพรางตัว ตัวเซ็นเซอร์ และระบบอาวุธ ซึ่งจะเพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนอย่างสำคัญให้แก่ความพยายามของสหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตรในการติดตามแกะรอยเรือดำน้ำของจีนในยุทธบริเวณแปซิฟิก

ภาพคอนเซ็ปต์เรือดำน้ำชั้นอาร์คทูรุส (Arcturus class) ของกองทัพเรือรัสเซีย ซึ่งจะเป็นเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัว (SSBN) ชั้นใหม่ที่เข้าแทนที่ชั้นโบเรย์ (Borei class) ผู้รับผิดชอบออกแบบเรือดำน้ำรุ่นนี้คือ กรมออกแบบรูบิน (Rubin Design Bureau) ซึ่งเผยแพร่ภาพคอนเซ็ปต์ของอาร์คทูรุส ในงานเอ็กซ์โปกองทัพปี 2022 ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2023 กรมออกแบบรูบินประกาศว่า เรือดำน้ำชั้นอาร์คทูรุส จะเริ่มเข้าแทนที่เรือชั้นโบเรย์ตั้งแต่ปี 2037 เป็นต้นไป (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Arcturus-class_submarine)
การพัฒนาของไทป์ 096 อาจจะได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีเรือดำน้ำซึ่งก้าวหน้าไปไกลของรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอย่างเช่นการเดินเรือได้อย่างเงียบกริบ และการขับเคลื่อนพลังนิวเคลียร์

รัสเซียเคยช่วยเหลือจีนก่อนหน้านี้มาแล้วในการต่อเรือชั้นไทป์ 093 ที่เป็นเรือดำน้ำโจมตีอเนกประสงค์พลังนิวเคลียร์ (nuclear attack submarine ใช้อักษรย่อว่า SSN) ของแดนมังกร ซึ่งทำให้มีเหตุผลความเป็นไปได้ที่ไทป์ 096 จะไม่ใช่ข้อยกเว้น

ความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวนี้สามารถที่จะเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นหุ้นส่วนกันทางยุทธศาสตร์ “อย่างไร้ข้อจำกัด” ระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งจีนกำลังได้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของรัสเซีย ส่วนรัสเซียก็กำลังพึ่งพาอาศยจีนมากขึ้นสืบเนื่องจากถูกแซงก์ชันจากฝ่ายตะวันตก

ความเป็นหุ้นส่วนกันนี้ยังอาจจะขยายไปสู่เรื่องการจัดหาจัดส่งยูเรเนียมเสริมสมรรถนะขั้นสูง (highly enriched uranium) จากโรซาตอม (Rosatom) รัฐวิสาหกิจด้านนิวเคลียร์ของรัสเซียไปให้แก่จีน ยูเรเนียมชนิดนี้สามารถใช้ทั้งในการทำอาวุธนิวเคลียร์ และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ของจีน

เรือดำน้ำกำลังมีท่าทางจะกลายเป็นเรือประเภทหลักสำหรับการสงครามในการสู้รบขัดแย้งเกี่ยวกับไต้หวันระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่มีศักยภาพจะเกิดขึ้นมาได้ ในบทความชิ้นหนึ่งที่จัดทำให้แก่สถาบันนาวีสหรัฐฯ (US Naval Institute) ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนมีนาคม 2023 [7] ไมค์ สวีนีย์ (Mike Sweeney) ได้กล่าวถึงเรือดำน้ำ แทนที่จะเป็นเรือบรรทุกเครื่องบิน ว่าจะเป็นเรือประเภทที่มีอิทธิพลครอบงำเหนือการสงครามทางนาวีในอนาคต

สวีนีย์บอกว่า พวกเรือผิวน้ำจะตกอยู่ในสภาพอ่อนแอเกินไป เมื่อต้องเผชิญหน้าทั้งเครื่องบินที่ตั้งฐานอยู่บนภาคพื้นดิน ขีปนาวุธต่อสู้เรือ ตลอดจนเรือดำน้ำ ด้วยเหตุนี้จึงกำลังทำให้การสงครามใต้ทะเลเพิ่มความสำคัญกลายเป็นตัวหลักตัวแกนมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะพิจารณาสมรรถนะด้านการทำสงครามใต้น้ำของจีน เขาโต้แย้งว่ากระบวนการปรับปรุงกองทัพเรือให้ทันสมัยของจีนยังคงตามไม่ทันสหรัฐฯ ในเรื่องเทคโนโลยีเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ เขาชี้ด้วยว่าสมรรถนะในการทำสงครามต่อสู้เรือดำน้ำของจีนอยู่ในสภาพได้รับการลงทุนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาเป็นเวลายาวนานแล้ว

เขาบอกว่าจีนยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มพูนสมรรถนะด้านการทำสงครามใต้ทะเลของตน เพื่อให้สามารถก้าวเข้าสู่ฐานะการเป็นมหาอำนาจทางนาวีระดับโลกรายหนึ่งได้ เวลาเดียวกัน สวีนีย์ยอมรับว่า กองกำลังเรือดำน้ำของกองทัพเรือสหรัฐฯ ก็เผชิญข้อจำกัดหลายๆ อย่างในแปซิฟิก สืบเนื่องจากความจำกัดทางด้านจำนวนเรือ วัฏจักรของการซ่อมบำรุง และจากพันธกรณีที่มีอยู่ทั่วโลก

เขาชี้ว่าการปรับเปลี่ยนด้วยการหันมาทุ่มงบประมาณให้แก่เรือ SSBN (เรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวติดหัวรบนิวเคลียร์ได้) ชั้นโคลัมเบีย (Columbia-class) มีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการต่อเรือดำน้ำประเภทอื่นๆ อย่างเช่น เรือชั้นโอไฮโอ (Ohio-class) ที่เป็นเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ติดตั้งขีปนาวุธร่อน (cruise missile nuclear submarine ใช้อักษรย่อว่า SSGN)

ภาพวาดเรือดำน้ำนิวเคลียร์ติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัว (SSBN) ชั้นโคลัมเบีย (Columbia-class ) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ  ซึ่งออกแบบมาเพื่อแทนที่ชั้นโอไฮโอ (Ohio-class) เรือลำแรกในชั้นนี้ เริ่มต่อตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 โดยมีกำหนดขึ้นระวางเข้าประจำการได้ในปี 2031  เดิมทีเรือดำน้ำลำนี้จะใช้ชื่อว่า ยูเอสเอส โคลัมเบีย (USS Columbia) เพราะคาดหมายกันว่า เรือดำน้ำโจมตีลำเดิมที่ใช้ชื่อนี้  USS Columbia (SSN-771) จะถูกปลดประจำการไปก่อนแล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อกองทัพเรือสหรัฐฯเปลี่ยนใจหันมายืดอายุใช้งานของ SSN-771 เรือดำน้ำลำใหม่จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ยูเอสเอส ดิสทริคต์ ออฟ โคลัมเบีย USS District of Columbia (SSBN-826)  (ดูเพิ่มเติมได้ที่  https://en.wikipedia.org/wiki/Columbia-class_submarine และ https://en.wikipedia.org/wiki/USS_District_of_Columbia)
เขาเสนอแนะว่าเพื่อปรับปรุงสมรรถนะในการทำสงครามใต้ทะเลของสหรัฐฯ สำหรับการรับมือต่อกรกับจีน กองทัพเรือสหรัฐฯ สมควรพิจารณาการปรับเปลี่ยนเรือดำน้ำ SSBN ชั้นโคลัมเบีย บางลำให้กลับมาแสดงบทบาทตามแบบแผนธรรมดา (conventional roles นั่นคือไม่ทำหน้าที่เป็นกองกำลังอาวุธนิวเคลียร์เพื่อการป้องปรามเป็นสำคัญ อย่างในกรณีที่เป็นเรือ SSBN -ผู้แปล) หรือนำเอาพวกเรือดำน้ำ SSGN แบบที่ผ่านการดัดแปลงให้ทำหน้าที่อื่นๆ เข้าประจำการก่อนกำหนดที่ตั้งเอาไว้

สวีนีย์ชี้ว่า การเปลี่ยนผ่านแสนยานุภาพทางนาวีให้เข้าสู่การพึ่งพาอาศัยเรือดำน้ำเช่นนี้ เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการธำรงรักษาฐานะความเหนือล้ำกว่าของสหรัฐฯ ในภูมิทัศน์ทางยุทธศาสตร์ปัจจุบันนี้ ทำนองเดียวกับที่ในอดีตกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้เคยปรับเปลี่ยนจุดเน้นหนักจากเรือรบประเภทเรือประจัญบาน (battleship) มาเป็นเรือบรรทุกเครื่องบิน

เชิงอรรถ
[1] https://www.wsj.com/world/china/us-submarine-dominance-shift-china-8db10a0d?st=pbtfpndhj9rprxy&reflink=desktopwebshare_permalink
[2] https://asiatimes.com/2023/11/us-navy-taps-3d-printers-to-rescue-its-sub-making-plan/
[3] https://asiatimes.com/2023/09/chinas-terahertz-tech-heralds-the-future-of-underwater-war/
[4] https://asiatimes.com/2023/08/china-claims-breakthrough-in-us-nuke-sub-detection/
[5] https://asiatimes.com/2023/10/china-russia-in-a-nuclear-sub-counter-to-aukus/
[6] https://asiatimes.com/2022/08/russias-next-gen-nuclear-sub-designed-for-arctic-war/
[7] https://www.usni.org/magazines/proceedings/2023/march/submarines-will-reign-war-china
กำลังโหลดความคิดเห็น