กระทรวงกลาโหมไต้หวันเปิดเผยในวันศุกร์ (24 พ.ย.) ว่าเรือรบลำหนึ่งของออสเตรเลีย แล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน น่านน้ำแคบๆ ที่อ่อนไหวที่กั้นกลางระหว่างเกาะปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตยแห่งนี้กับจีน ในช่วงเวลาแห่งความยุ่งยากในด้านความสัมพันธ์ด้านการทหารระหว่างแคนเบอร์รากับปักกิ่ง
เรือลำดังกล่าวซึ่งไม่มีการเปิดเผยชื่อ เข้าสู่ช่องแคบในวันพฤหัสบดี (23 พ.ย.) และล่องไปทางทิศใต้ จากการเปิดเผยของกระทรวงกลาโหมไต้หวัน พร้อมเผยว่าไทเปเฝ้าสังเกตการณ์การล่องเรือดังกล่าวโดยตลอด แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติม
รอยเตอร์ระบุว่าได้ติดต่อสอบถามความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวไปยังรัฐบาลออสเตรเลีย แต่ยังไม่ได้รับคำตอบกลับมา
การล่องเรือครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยากลำบากในความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างออสเตรเลียกับจีน ในขณะที่ 2 ชาติพยายามหาทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกัน
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แคนเบอร์รา คว่ำครวญต่อเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับเรือรบลำหนึ่งของจีน กับเรือลำหนึ่งของกองทัพเรือออสเตรเลีย ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น อันส่งผลให้นักประดาน้ำของออสเตรเลียรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บ
กระทรวงกลาโหมของออสเตรเลีย ระบุว่า นักดำน้ำในกองทัพเรือของประเทศ "น่าจะได้รับบาดเจ็บ" จากคลื่นโซนาร์ที่เรือรบจีนปล่อยออกมา พร้อมกับกล่าวหาว่า รัฐบาลปักกิ่งดำเนินการในทะเลอย่างไม่ปลอดภัย และไม่เป็นมืออาชีพ
ริชาร์ด มาร์เลส รองนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และรัฐมตรีกลาโหมออสเตรเลีย กล่าวว่า เรือพิฆาตของจีนแล่นเข้าใกล้เรือรบ "เอชเอ็มเอเอส ทูวูมบา" ของออสเตรเลีย ขณะที่ทีมนักดำน้ำกำลังแกะอวนที่ติดใบพัดเรือ
"แม้เรือของจีนได้รับการสื่อสารจากทูวูมบา แต่อีกฝ่ายยังคงแล่นเข้ามาในระยะใกล้ และหลังจากนั้นไม่นาน มีการตรวจพบว่าเรือจีนใช้งานโซนาร์ในลักษณะที่สร้างความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของนักดำน้ำชาวออสเตรเลีย ซึ่งถูกบังคับให้ขึ้นจากทะเล" มาร์เลส กล่าวในถ้อยแถลง โดยไม่เปิดเผยจำนวนนักดำน้ำที่อยู่ในเหตุการณ์
นอกจากนี้ มาร์เลส ระบุเสริมว่า นักดำน้ำได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ซึ่งแพทย์เชื่อว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับคลื่นโซนาร์ที่ปล่อยออกมาจากเรือของจีน
ที่ผ่านมา กองทัพเรือสหรัฐฯ ส่งเรือแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันราวเดือนละครั้ง ในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็นการล่องเรือตามปกติ อย่างไรก็ตาม จีนออกมาส่งเสียงโวยวายและคัดค้านเป็นประจำต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าว
ส่วนไต้หวัน ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ส่งเสียงคร่ำครวญมาคลาดต่อความเคลื่อนไหวด้านการทหารซ้ำแล้วซ้ำเล่าของจีนรอบๆ เกาะแห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่องแคบไต้หวัน
ความตึงเครียดข้ามช่องแคบยิ่งทวีความหนักหน่วงขึ้น ในขณะที่ไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลปฏิเสธคำกล่าวอ้างอธิปไตยของจีน กำลังมุ่งสู่ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี และสมาชิกรัฐสภาในวันที่ 13 มกราคมปีหน้า
(ที่มา : รอยเตอร์/เอเจนซี)