xs
xsm
sm
md
lg

เหตุผลง่ายๆ ชัดๆ ที่ทำให้ ‘ไต้หวัน’ อยู่ในฐานะเป็น ‘ชาติที่ใครๆ (ก็) มองไม่เห็น’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: จอร์จ คู ***


ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน (ภาพ: Wikimedia Commons)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Invisible for a reason
By GEORGE KOO
06/11/2023

เหตุผลง่ายๆ ชัดๆ ที่ทำให้ ‘ไต้หวัน’ อยู่ในฐานะเป็น ‘ชาติที่ใครๆ (ก็)มองไม่เห็น’


เพื่อนรักของพวกเราคนหนึ่งที่ไม่ได้พบหน้าเจอะเจอกันมาระยะหนึ่งแล้ว ได้เชื้อเชิญพวกเราให้เข้าร่วมชมภาพยนตร์เรื่อง “Invisible Nation” (ชาติที่ใครๆ มองไม่เห็น) ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เมื่อคืนวันพฤหัสบดี (2 พ.ย.) ที่ผ่านมา มันเป็นโอกาสดีที่จะได้เยี่ยมเยียนพบปะเพื่อนเก่าและได้รับแจกอาหารค่ำแบบเบาๆ ตามที่คณะผู้จัดงานให้สัญญาไว้ อย่างไรก็ดี เมื่อตอนที่พวกเราไปถึงที่นั่น กล่องอาหารได้ถูกหยิบไปจนหมดเกลี้ยงเสียแล้ว นั่นกลายเป็นอันดับแรกของรายการความผิดหวังต่างๆ ที่พวกเราประสบในคราวนี้

“Invisible Nation” ถูกระบุว่าเป็นภาพยนตร์สารคดีว่าด้วยไต้หวัน และกำลังเริ่มนำออกมาฉายกันทั่วทั้งสหรัฐฯ พิจารณาด้วยมาตรฐานต่างๆ ตามประเพณีของแวดวงวิชาการวารสารศาสตร์ ภาพยนตร์สารคดีย่อมได้รับการคาดหมายว่าจะให้ข้อมูลข่าวสารและให้การศึกษาโดยเสนอข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างบริสุทธิ์มิได้เจือปนด้วยอคติ และปล่อยให้ท่านผู้ชมเป็นผู้หาข้อสรุปด้วยตัวพวกเขาเอง ปรากฏว่า “Invisible Nation ” กลับกลายเป็นผลงานที่ล้อเลียนคุณสมบัติดีๆ ทั้งหลายของภาพยนตร์สารคดี มันเจือปนไปด้วยการยกย่องเชิดชู ไช่ อิงเหวิน อย่างไม่มีกระดากขวยเขิน ตลอดจนรับรองอวยกันสุดฤทธิ์ว่าไต้หวันเป็นโมเดลหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ที่ https://www.imdb.com/title/tt28853268/)

ข้อบกพร่องผิดพลาดของ “Invisible Nation” นั้นมีอยู่มากมาย แต่ส่วนใหญ่ที่สุดมาจากการจงใจตัดทิ้งประวัติศาสตร์ตลอดจนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบุคคล

ภาพยนตร์เรื่องนี้วาดภาพประวัติศาสตร์ของไต้หวันว่าเริ่มต้นขึ้นด้วยการที่ชาวดัตช์เข้าปกครองเกาะแห่งนี้เป็นอาณานิคม รวมทั้งอวดอ้างว่ามีอยู่ครั้งเดียวเท่านั้นที่มีรัฐบาลหนึ่งได้เข้าปกครองทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และเกาะไต้หวัน นั่นคือในช่วงเวลาระหว่างปี 1945 จนถึงปี 1949 รัฐบาลชุดที่ว่านั้นคือรัชสมัยสั้นๆ ของเจียง ไคเช็ค และพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang หรือ KMT พรรคชาตินิยม) ซึ่งประกาศอ้างสิทธิเหนือไต้หวันอีกคำรบหนึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง และยุติลงเมื่อเขาต้องหลบหนีออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปอยู่ที่ไต้หวัน

การเสนอภาพเช่นนี้อย่างสถานเบาที่สุดก็ต้องบอกว่าพยายามชักจูงให้ผู้ชมเข้าใจผิด และอย่างสถานหนักที่สุดต้องบอกว่ามันเป็นการโกหกอย่างไม่มีความยับยั้งชั่งใจกันเลย

โคซิงกา ผู้ปลดปล่อยไต้หวันให้เป็นอิสระ ไม่ได้ถูกพูดถึงในภาพยนตร์

หนังสารคดีเรื่องนี้บกพร่องล้มเหลวมากที่ไม่ได้มีการเอ่ยถึง โคซิงกา (Koxinga) ซึ่งมีชื่อจริงว่า เจิ้ง เฉิงกง (Zheng Chenggong) ผู้นำในช่วงปลายราชวงศ์หมิง ที่ต่อต้านการเข้ายึดครองจีนแผ่นดินใหญ่ของพวกแมนจู และล่าถอยมาปักหลักที่ไต้หวันด้วยการขับไล่พวกดัตช์ให้ออกไปจากเกาะแห่งนี้ ในท้ายที่สุดแล้วหลานชายของเจิ้ง ได้ยอมจำนนต่อราชสำนักจักรพรรดิแมนจูแห่งราชวงศ์ชิงในกรุงปักกิ่ง และแล้วระยะเวลาหลายๆ ศตวรรษนับแต่นั้นมา ไต้หวันกลายเป็นส่วนหนึ่งของจีน จวบจนกระทั่งรัฐบาลปักกิ่งพ่ายแพ้ในสงครามทางทะเลครั้งหนึ่งต่อญี่ปุ่น และไต้หวันก็ถูกยกให้แก่ญี่ปุ่นในปี 1895
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โคซิงกา ได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Koxinga)

“Invisible Nation” ยังไม่ได้เอ่ยถึงปฏิญญาพอตสดัม (Potsdam Declaration) เช่นกัน คำประกาศฉบับนี้ซึ่งระบุรายละเอียดต่างๆ ที่ญี่ปุ่นต้องปฏิบัติสำหรับการยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในสงครามโลกครั้งที่สอง ร่างขึ้นมาโดยฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งมีการกำหนดให้ญี่ปุ่นต้องส่งคืนเกาะไต้หวันแก่จีนด้วย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Potsdam_Declaration)

ตลอดทั้งสงครามครั้งนั้น สหรัฐฯ ยืนยันเรื่อยมาถึงการรับรองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน การรับรองเช่นนี้ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องออกไปอีกเมื่อตอนที่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ของสหรัฐฯ ไปเยือนจีนในปี 1972 แล้วจากนั้นก็ได้รับการย้ำยืนยันอีกครั้งโดยประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ตลอดจนจากประธานาธิบดีอเมริกันทุกๆ คนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

หนังล้อเลียนภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้กระทำอย่างถูกต้องแล้ว ที่มองการกระทำต่างๆ ของ หลี่ เติงฮุย (Lee Teng-hui) ว่าเท่ากับเป็นการหันหลังในทางการเมืองไม่เอาด้วยกับการปกครองแบบบังคับกดขี่ของรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง ในปี 1988 หลี่ได้สืบทอดอำนาจต่อจาก เจียง จิงกั๋ว (Chiang Ching-kuo) บุตรชายของ เจียง ไคเช็ค ที่เป็นผู้นำในการล่าถอยจากแผ่นดินใหญ่มาอยู่ที่ไต้หวันในปี 1949 เจียงผู้บุตรชายขึ้นครองอำนาจในไต้หวันในปี 1978 และเริ่มต้นกระบวนการเปิดเสรีตลอดจนผ่อนคลายการควบคุมเกาะแห่งนี้ เขาได้เลือกสรร หลี่ ให้มาเป็นรองประธานาธิบดีของเขา เนื่องจาก หลี่ เป็นคนที่เกิดในไต้หวัน
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ หลี่ เติงฮุย ได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Lee_Teng-hui)

บางที เจียงอาจจะไม่ได้รับรู้เลยว่า หลี่ยังมีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า อิวาซาโตะ มาซาโอะ (Iwasato Masao) อีกด้วย ในความเป็นจริง เป็นที่ทราบกันดีว่า หลี่/อิวาซาโตะ ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองไต้หวันที่พูดภาษาญี่ปุ่น ได้เคยบอกกับพวกบุคคลผู้ทรงเกียรติจากญี่ปุ่นที่เดินทางไปเยือนไต้หวันว่า ความจงรักภักดีของเขานั้นเอนเอียงไปทางข้างญี่ปุ่นมากกว่าไปทางจีน

ยังมีข้อเท็จจริงว่า พี่ชายของเขาถูกฆ่าตายขณะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกองทัพสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และชื่อของเขาได้รับการจารึกเอาไว้บนหิ้งบูชาในศาลเจ้ายาสุคุนิ (Yasukuni Shrine) ในกรุงโตเกียว ท่ามกลางผู้เสียชีวิตจากสงครามคนอื่นๆ รวมไปถึงนักโทษอาชญากรสงครามบางคนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงๆ ตามที่ถูกกล่าวหา

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงพำนักอาศัยอยู่ในไต้หวันต่อมา พวกเขานำเอาแซ่แบบคนจีนมาใช้ และผสมกลมกลืนเข้ากับสังคมชาวท้องถิ่น คำถามที่ว่าพวกเขาจงรักภักดีกับฝ่ายไหนกันแน่ รวมทั้งอิทธิพลของชาวญี่ปุ่นที่ประมาณการกันว่ามีอยู่เป็นจำนวนเรือนแสนและยังพำนักอาศัยเคียงข้างลูกหลานของพวกเขา มีอิทธิพลต่อการเมืองของไต้หวันมากน้อยแค่ไหนและอย่างไร ยังคงเป็นเรื่องที่มิได้มีการศึกษาวิจัยกันอย่างจริงจัง

เฉินสุยเปี่ยนก็ถูกมองข้าม

ในกรณีของหลี่ หลังจากเขาเข้าทำหน้าที่อยู่ในคณะผู้นำของรัฐบาลไต้หวันแล้ว เขาก็ค่อยๆ บ่อนทำลายและสร้างความอ่อนแอให้แก่องค์การของ KMT ซึ่งเป็นการแผ้วถางทางสำหรับให้ไต้หวันเลือกประธานาธิบดีคนแรกของตนที่มาจากฝ่ายค้าน อันได้แก่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic
Progressive Party หรือDPP) เป็นการยุติการปกครองที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องถึง 55 ปีของพรรค KMT

กระนั้นก็ตามที ชื่อของ เฉิน สุยเปี่ยน ที่ควรได้รับการกล่าวถึงอย่างให้ความสำคัญในหนังสารคดีเรื่องนี้
กลับไม่ได้ถูกเอ่ยอ้างอิงแม้สักครั้งเดียว
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับเฉินสุยเปี่ยน ได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/Chen_Shui-bian)

เฉินไม่เพียงกลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากพรรค DPP เท่านั้น แต่เขายังดำเนินการชักใยอย่างเฉลียวฉลาดและสามารถทำให้ฝ่ายค้านเกิดการแตกแยก จนกระทั่งกลายเป็นประธานาธิบดีไต้หวันเพียงคนเดียวเท่านั้นซึ่งชนะได้ครองตำแหน่งโดยได้รับคะแนนโหวตไม่ถึง 40% เขายังกลายเป็นประธานาธิบดีไต้หวันคนแรกที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุกในทันทีในตอนสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่งของเขา จากพฤติการณ์ทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเมามัน

เขาเป็นประธานาธิบดีชนิดที่สร้างความเสื่อมเสียให้แก่ชื่อเสียงของระบอบประชาธิปไตยใดๆ ก็ตามที และใครๆ ย่อมลำบากใจที่จะประณาม แวเนสซา โฮป (Vanessa Hope) ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ สำหรับการละทิ้งไม่เอา เฉิน เข้ามาอยู่ในเรื่องราวที่เธอต้องการเล่า

นอกเหนือจากการเป็นรอยแปดเปื้อนในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของไต้หวันแล้ว เฉินยังเป็นผู้ออกคำสั่งให้เขียนตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์สำหรับเด็กนักเรียนกันเสียใหม่อีกด้วย โดยสิ่งที่ถูกลบทิ้งไปอย่างสิ้นเชิงในตำราเรียนที่ได้รับการแก้ไขใหม่หล่านี้ก็คือ การอ้างอิงใดๆ ก็ตามทีที่เชื่อมโยงไต้หวันเข้ากับประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม, และต้นกำเนิดแห่งชาติพันธุ์ของจีน

ชาวไต้หวันวัยเยาว์ทั้งชั่วอายุคนทีเดียวที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาโดยไม่มีความรู้ว่า บรรพบุรุษของพวกเขาหาได้จู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมาจากพื้นดิน หากแต่เดินทางมาที่เกาะแห่งนี้ โดยข้ามช่องแคบไต้หวันจากพื้นที่ตอนใต้ของมณฑลฝู่เจี้ยนของจีน เป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายชั่วอายุคน

พวกเขาไม่มีความรู้เลยเช่นกันว่า ภาษาถิ่นไต้หวันนั้นเกือบจะเหมือนกันเป๊ะกับภาษาถิ่น “หมิ่นหนาน” (Minnan dialect) ของพื้นที่ภาคใต้ฝู่เจี้ยน นั่นคือถ้าหากพวกเขาได้มีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์จีนแล้ว
พวกเขาก็จะทราบว่าย้อนหลังไปได้ไกลถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น ประมาณราวๆ 200 ปีก่อน ค.ศ. ทางแผ่นดินใหญ่ก็มีความรู้เกี่ยวกับพื้นที่นอกชายฝั่งของเกาะไต้หวันกันแล้ว
(ภาษาถิ่นหมิ่นหนาน ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/Southern_Min)

ไม่ค่อยน่าประหลาดใจอะไรที่พวกคนหนุ่มสาวหัวร้อนทั้งรุ่นอายุ ซึ่งเป็นหัวหอกก่อการประท้วงดอกทานตะวัน (Sunflower protest) ขึ้นมาเมื่อปี 2014 จึงพากันแผดเสียงร้องเรียกหาเสรีภาพ ทว่าไม่ได้มีความเข้าใจซาบซึ้งว่าเศรษฐกิจของไต้หวันนั้นพึ่งพาอาศัยการค้าที่กระทำกับแผ่นดินใหญ่ ทุกๆ ปีมูลค่าการได้เปรียบดุลการค้าที่ไต้หวันมีกับแผ่นดินใหญ่ มีขนาดใหญ่โตจนกระทั่งยิ่งกว่าเพียงพอที่จะชดเชยการขาดดุลการค้าทั้งหมดที่ไต้หวันมีอยู่กับส่วนอื่นๆ ที่เหลือของโลก นี่คือผลพวงต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายที่ผ่านการไตร่ตรองอย่างรอบคอบของปักกิ่ง ซึ่งมุ่งให้สิทธิประโยชน์เป็นพิเศษแก่ไต้หวัน
(การประท้วงดอกทานตะวัน ดูเพิ่มเติมได้ที่https://en.wikipedia.org/wiki/Sunflower_Student_Movement)

พวกผู้ประท้วงดอกทานตะวัน ไม่ได้มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงระดับเดียวกับพวกผู้ประท้วงในฮ่องกงปี 2019 อย่างไรก็ดีพวกเขาก็มีการทำลายทรัพย์สินสาธารณะ, บุกเข้าไปในอาคารัฐสภา, และแสดงการดูหมิ่นเหยียดหยามพวกเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากสาธารณชน ทั้งหมดเหล่านี้ต่างมีบันทึกเอาไว้ในหนังล้อเลียนภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ แต่เนื่องจากมันกระทำไปในนามของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
ดังนั้นมันจะเป็นเรื่องใหญ่โตอะไรนักหนาเมื่อมีการละเมิดทำผิดกฎหมายอะไรกันบ้างบนเส้นทางของการต่อสู้?

แน่นอนทีเดียว ไม่ใช่ว่าเยาวชนของไต้หวันเป็นพวกหัวขี้เลื่อยไปเสียทั้งหมดหรอก คนมีสติปัญญาที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงต่างเข้าใจดีว่าอนาคตของพวกเขาอิงอยู่กับเศรษฐกิจแผ่นดินใหญ่ที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จำนวนมากพำนักอาศัยอยู่บนแผ่นดินใหญ่ และกำลังทำงานกับพวกบริษัทไต้หวันที่ตั้งอยู่ในจีน มีบางคนกระทั่งกำลังทำงานให้แก่บริษัทต่างๆ ของคนท้องถิ่นในจีนด้วยซ้ำ
เด็กๆ ขบวนการดอกทานตะวันอาจจะไม่แยแสกับเรื่องเศรษฐกิจ, ตำแหน่งงาน, หรืออาชีพ แต่พวกคนหนุ่มสาวที่มีหัวคิดเอาจริงเอาจังนั้นสนอกสนใจ

ภาพลักษณ์ ‘หัวก้าวหน้า’ ของพรรค DPP

เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการเสนอคำพูดข้อสังเกตและคำปราศรัยจำนวนมากของ ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของไต้หวัน สำหรับคนดังๆ ออกสื่อบ่อยๆ คนอื่นๆ ซึ่งปรากฏตัวใน “Invisible Nation” ด้วยนั้น ประกอบด้วยพวกที่ยกย่องชมเชยเธอและพวกที่ติดตามเธอ และมีกระทั่งรัฐมนตรีอาวุโสที่เป็นคนข้ามเพศ หนังเรื่องนี้ยังโอ่อวดว่าไต้หวันเป็นที่หนึ่งรวดเร็วกว่าใครๆ เพื่อนในเอเชียในเรื่องการยอมรับการแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกัน และการพิทักษ์คุ้มครองสิทธิต่างๆ ของชาว LGBTQ –แน่นอนทีเดียว นี่เป็นกรอบความคิดแบบหัวก้าวหน้าซึ่งกระทั่งนำหน้าสหรัฐฯ ไปหลายก้าว

ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังบรรจุเอาไว้ด้วยคลิปตอนที่อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) แอบแวะเยือนไต้หวันอย่างไม่คาดหมาย ถึงแม้การกระทำนี้เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับคำแนะนำที่ทุกๆ ฝ่ายให้แก่เธอ แต่ก็สร้างความตื่นเต้นยินดีมากมายให้แก่ ไช่ และพรรค DPP ก็ดูเอาเถอะ สตรีทรงอำนาจที่สุดในวอชิงตันพบปะหารือกับประธานาธิบดีสตรีคนแรกของไต้หวัน –มันไม่สามารถหาอะไรที่จะดีงามยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว

บุญรักษาแท้ๆ ที่ “Invisible Nation ” ไม่ได้มีภาพวิดีโอตอนที่ ไช่ สวมสายสะพายแบบประกวดนางงามให้แก่เพโลซี นอกจากนั้นสิ่งที่ไม่ได้บรรจุเอาไว้ในหนังเลย ยังได้แก่การถกเถียงกันเรื่องที่เพโลซีทำเช่นนี้ย่อมเท่ากับเป็นการก้าวข้ามเส้นสีแดงห้ามล่วงล้ำที่ปักกิ่งขีดเอาไว้ จึงก่อให้เกิดความตึงเครียดเหนือช่องแคบไต้หวันขึ้นมาอย่างใหญ่โต และเร่งให้มีคำข่มขู่คุกคามออกมาจากกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ที่ว่าจะต้องเจอกับปฏิกิริยาตอบโต้แบบเป็นศัตรูกัน

มีผู้คนจำนวนมากที่ทางทีมผู้สร้างหนังเรื่องนี้ควรที่จะไปสัมภาษณ์สอบถามความเห็น แต่ก็ไม่ได้ทำ พวกเขาควรไปสัมภาษณ์ชาวไต้หวันที่กำลังพำนักอาศัยและทำงานอยู่บนแผ่นดินใหญ่เกี่ยวกับทัศนะมุมมองของพวกเขาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ พวกเขายังควรสัมภาษณ์ประชาชนที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ชนิดขาดลอยในไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้นิยมชมชื่นสถานะเดิม ไม่เอาทั้งการรวมชาติและการแยกตัวเป็นเอกราช

พวกเขายังควรไปสอบถามผู้คนตามท้องถนน ว่าพวกเขามีความคิดเห็นอย่างไรกับความสัมพันธ์กับลุงแซม โดยตั้งคำถามคมๆ อย่างเช่น สหรัฐฯ จะเข้ามาต่อสู้เคียงข้างกองทหารของไต้หวันจริงๆ หรือ? พวกเขารู้สึกยังไงในเรื่องที่วอชิงตันกำลังบีบบังคับรัฐบาลไช่ ให้ต้องยอมซื้ออาวุธที่ตกรุ่นล้าสมัยแล้ว?

พวกเขารู้สึกยังไงเกี่ยวกับการถูกบังคับให้ต้องซื้อเนื้อหมูที่มีการปนเปื้อนจากเกษตรกรอเมริกัน? พวกเขาคิดยังไงกับการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ใช้วิธีบีบบังคับให้บริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง คอมพานี (TSMC) ต้องโยกย้ายโรงงานผลิตชิประดับก้าวหน้าของตนไปยังรัฐแอริโซนา แล้วจากนั้น TSMC กลับต้องเผชิญทั้งปัญหาแรงงานที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ต้นทุนค่าใช้จ่ายบานปลาย และการก่อสร้างต้องชะลอออกไปหลายครั้ง? ไบเดนได้แสดงให้เห็นความเคารพใดๆ ต่อ “อธิปไตย” ของไต้หวันบ้างหรือไม่?

ไต้หวันอยู่ในฐานะเป็น “ชาติที่ใครๆ มองไม่เห็น” ก็ด้วยเหตุผลธรรมดาเข้าใจได้ง่ายๆ นั่นคือ ไต้หวันไม่ได้เป็นชาติอะไรกับเขาสักหน่อย แต่เป็นมณฑลหนึ่งของจีน ง่ายๆ อย่างนี้แหละ

จอร์จ คู เกษียณอายุจากบริษัทให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances ปัจจุบันเขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการบริษัท Freschfield แพลตฟอร์มใหม่ทางด้านการก่อสร้างแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น