xs
xsm
sm
md
lg

สี จิ้นผิงประกาศกับชนชั้นนำอเมริกัน จีนจะไม่สู้รบในสงครามร้อนหรือสงครามเย็นกับใครทั้งนั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา ***


ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน กล่าวคำปราศรัยกับผู้นำนักธุรกิจ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และนักวิชาการชาวอเมริกัน 400 คน ในงานเลี้ยงดินเนอร์ที่นครซานฟรานซิสโก เมื่อค่ำวันพุธ (15 พ.ย.) หลังจากที่เขาเจรจาหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เป็นเวลาหลายชั่วโมงในวันเดียวกัน
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Xi: China won’t fight hot war with anyone
By JEFF PAO
17/11/2023

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ใช้โอกาสกล่าวปราศรัยกับพวกสมาชิกชนชั้นนำของสหรัฐฯ ในการย้ำว่า จีนไม่ได้ปรารถนาสู้รบในสงครามเย็นหรือสงครามร้อนกับใครทั้งนั้น และในเรื่องการรวมชาติกับไต้หวัน จีนต้องการเลือกใช้สันติวิธี ทว่าก็จะไม่ยกเลิกความเป็นไปได้ที่จะต้องหันไปใช้วิธีการทางทหาร

ประเทศจีนไม่ได้มีความตั้งใจใดๆ ที่จะเข้าสู้รบในสงครามร้อนกับใครๆ หรือที่จะท้าทายสหรัฐฯ หรือเขี่ยสหรัฐฯ ให้ตกลงจากเก้าอี้ ผู้นำสูงสุดของแดนมังกรประกาศเช่นนี้กับสมาชิกหลายร้อยคนของชนชั้นนำชาวอเมริกันในงานซึ่งจัดขึ้นที่นครซานฟรานซิสโกเมื่อคืนวันพุธ (15 พ.ย.) ที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนกล่าวปราศรัยเช่นนี้กับผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์ที่ประกอบด้วยบรรดาผู้นำภาคธุรกิจ เจ้าหน้าที่รัฐบาล และนักวิชาการ จำนวนรวมประมาณ 400 คน โดยในหมู่ผู้คนเหล่านี้ก็มีเช่น ทิม คุก (Tim Cook) แห่งบริษัทแอปเปิล ลอเรนซ์ ฟิงค์ (Laurence Fink) ของแบล็กร็อก (BlackRock) และแอลเบิร์ต บัวร์ลา (Albert Bourla) ของไฟเซอร์ (Pfizer)

“ไม่ว่าในขั้นตอนใดของการพัฒนาที่เราอาจก้าวไปถึง ประเทศจีนจะไม่มีการเสาะแสวงหาความเป็นเจ้าครอบงำคนอื่นหรือการแผ่ขยายอำนาจ และจะไม่มีการบังคับให้คนอื่นๆ ต้องทำตามความปรารถนาของตนเอง” สีกล่าวในตอนหนึ่งของคำปราศรัยของเขา “จีนไม่เสาะแสวงหาพื้นที่เขตอิทธิพล และจะไม่สู้รบในสงครามเย็นหรือสงครามร้อนกับใครทั้งนั้น”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fmprc.gov.cn/zyxw/202311/t20231116_11181541.shtml)

เขาบอกว่า ประเทศจีน “ไม่เคยวางเดิมพันอยู่ข้างฝ่ายตรงข้ามกับสหรัฐฯ” และ “ไม่มีความตั้งใจใดๆ ที่จะท้าทายสหรัฐฯ หรือที่จะเขี่ยสหรัฐฯ ลงจากเก้าอี้” เขากล่าวต่อไปว่า จีนนั้น “พร้อมแล้วที่จะเป็นหุ้นส่วนและเพื่อนมิตรของสหรัฐฯ”

สี ยังใช้โอกาสนี้เปิดตัวแผนการระยะเวลา 5 ปีที่จะเชื้อเชิญคนหนุ่มสาวชาวอเมริกัน 50,000 คนเดินทางมาจีนตามโครงการต่างๆ ทางด้านการแลกเปลี่ยนและการศึกษา เขาบอกอีกว่าปักกิ่งยินดีต้อนรับนักการเมืองสหรัฐฯ ตลอดจนประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ ให้มาเยือนจีน

มีคอมเมนเตเตอร์หลายรายแสดงความคิดเห็นว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของ สี ในทริปเยือนสหรัฐฯ เที่ยวนี้คือการส่งเสริมสนับสนุนพวกธุรกิจอเมริกันให้เพิ่มการลงทุนในประเทศจีน

“พวกผู้นำสหรัฐฯ แสดงท่าทีอออกมาชัดเจนแล้วว่า พวกเขาไม่ได้ต้องการให้การแยกขาดจากกัน (ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน) เกิดขึ้นมาจริงๆ” บรูซ แอนดรูว์ส (Bruce Andrews) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการรัฐบาล (chief government affairs officer) ของบริษัทอินเทลคอร์ป (Intel Corp) ซึ่งเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ พูดเช่นนี้ระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อของทางการจีน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://quanmin.baidu.com/sv?source=share-h5&pd=qm_share_search&vid=4413786514922235879#/)

“เราทำงานกับพวกบริษัทเทคโนโลยีด้านต่างๆ อย่างกว้างขวางทีเดียว รวมทั้งพวกบริษัทยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ โรงงานผลิตรถยนต์ และบริษัทดูแลสุขภาพ เราเห็นพวกเขาทั้งหมดต่างกำลังมีนวัตกรรมต่างๆ ที่ยิ่งใหญ่” เขากล่าว “เราเชื่อว่ามีโอกาสอันสำคัญและมีคุณค่าสำหรับอินเทลที่จะทำงานร่วมกับบรรดาบริษัทและหุ้นส่วนชาวจีนทั้งหลาย”

ประเด็นปัญหาไต้หวัน

สี กับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ใช้เวลา 4 ชั่วโมงเมื่อวันพุธ (15 พ.ย.) ที่คฤหาสน์ฟิโลลี (Filoli estate) ซึ่งเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์นอกเมืองซานฟรานซิสโก เพื่อพบปะหารือข้างเคียงการประชุมระดับผู้นำของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperationหรือ APEC) พวกเขาได้พูดเจรจากันเป็นเวลา 2 ชั่วโมง แต่เรื่องสำคัญๆ อย่างเช่น ประเด็นปัญหาไต้หวัน และการควบคุมการส่งออกชิปก็ยังคงมิได้รับการแก้ไขคลี่คลาย

“คำถามไต้หวันคือประเด็นปัญหาที่สำคัญที่สุดและอ่อนไหวที่สุดในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ เสมอมา” สีบอกกับไบเดนระหว่างพวกเขาหารือกันในวันพุธ “ฝ่ายสหรัฐฯ ควรทำตามคำแถลงที่ตัวเองให้ไว้ในเรื่อง ‘ไม่สนับสนุนไต้หวันประกาศเอกราช’ ด้วยการยุติการติดอาวุธให้ไต้หวัน และให้ความสนับสนุนการรวมชาติอย่างสันติของประเทศจีน”

“จีนจะรวมชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ในท้ายที่สุด” เขากล่าวย้ำ

สี บอกกับไบเดนว่าจีนนั้นปรารถนามากกว่าที่จะแก้ไขประเด็นปัญหาไต้หวันโดยผ่านการรวมชาติกันอย่างสันติ แต่จากนั้นเขาก็ “พูดต่อทันทีถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นไปได้ว่าอาจจะต้องมีการใช้กำลังกัน” ทั้งนี้ตามรายงานข่าวของรอยเตอร์ซึ่งอ้างอิงคำพูดของเจ้าหน้าที่อาวุโสสหรัฐฯ คนหนึ่ง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.taiwannews.com.tw/en/news/5040953)

“ประธานาธิบดีไบเดนตอบสนองอย่างชัดเจนมากว่า จุดยืนที่มีมาอย่างยาวนานของสหรัฐฯ ก็คือ ... ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ” เจ้าหน้าที่ผู้นี้บอก “ประธานาธิบดีสีตอบอย่างนี้: ครับ สันติภาพ ... มันก็ดีอยู่หรอก แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราก็จำเป็นต้องก้าวไปยังหนทางแก้ไขแบบทั่วๆ ไปมากขึ้น”

เจ้าหน้าที่หลายคนบอกว่า สีกำลังพยายามที่จะชี้ว่าจีนไม่ได้เตรียมการสำหรับรุกรานไต้หวันอย่างขนานใหญ่ ทว่านี่ก็ไม่ทำให้สหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงวิธีการในการพิจารณาปัญหานี้

“ความสำเร็จของการพบปะหารือระหว่างสี-ไบเดนคราวนี้ก็คือ ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงให้เห็นว่ามีความสนใจที่จะทำให้ความสัมพันธ์ของพวกเขามีเสถียรภาพ” เลา ซุยไก (Lau Siu-kai) ที่ปรึกษาของสมาคมจีนแห่งฮ่องกงและมาเก๊าศึกษา (Chinese Association of Hong Kong and Macau Studies) บอกกับสถานีวิทยุโทรทัศน์ฮ่องกง (Radio Television Hong Kong หรือ RTHK)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://news.rthk.hk/rthk/ch/component/k2/1728149-20231116.htm)

“แต่ในความเป็นจริงแล้ว สองประเทศไม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โตอะไรในความสัมพันธ์ของพวกเขา โดยที่พวกเขาไม่สามารถประนีประนอมกันได้ในประเด็นปัญหาหลักๆ อย่างเช่น ไต้หวัน ทะเลจีนใต้ และเรื่องของเทคโนโลยีชั้นสูง” เลา กล่าวต่อ

ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2022 สี ได้กล่าวเอาไว้ในรายงานต่อที่ประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 20 (20th National Congress) ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า จีนจะไม่ยกเลิกหนทางเลือกที่อาจจะเข้ายึดครองไต้หวันโดยใช้กำลัง เขาบอกว่าปักกิ่งจะสงวนรักษาทุกๆ หนทางเลือกที่จำเป็นสำหรับการแก้ไขเรื่องนี้เอาไว้ในมือ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gov.cn/xinwen/2022-10/25/content_5721685.htm)


การติดต่อสื่อสารระหว่างทหารกับทหาร

ในการพบปะหารือกันระหว่าง สี-ไบเดน ครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้แก่การสนทนาและความร่วมมือกันในด้านต่างๆ หลายหลาก โดยรวมไปถึงการฟื้นการติดต่อสื่อสารระหว่างทหารกับทหารในระดับสูง การพูดจาประสานงานนโยบายกลาโหมจีน-สหรัฐฯ (China-US Defense Policy Coordination Talks) และการพบปะต่างๆ ตามความตกลงเพื่อการปรึกษาหารือด้านการเดินเรือทางทหารจีน-สหรัฐฯ (China-US Military Maritime Consultative Agreement meetings) โดยที่การสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างผู้บังคับบัญชาระดับยุทธบริเวณ (theater commanders) จะกระทำกัน “บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันและเคารพกัน”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.news.cn/politics/leaders/2023-11/16/c_1129977979.htm)

ไบเดนบอกว่า ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญสำหรับการที่ผู้นำของสหรัฐฯ และของจีนสามารถ “หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาและติดต่อพูดคุยกับอีกฝ่ายหนึ่ง” เมื่อใดก็ตามที่มีเรื่องพึงกังวลสนใจใดๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับสองประเทศ เขาบอกด้วยว่าสหรัฐฯ จะยึดมั่นในข้อตกลงที่ว่า “มีนโยบายจีนเดียว (One China policy)”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2023/11/16/remarks-by-president-biden-in-a-press-conference-woodside-ca/)

ภายหลังจาก แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในเวลานั้น เดินทางไปเยือนไต้หวันเมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ปักกิ่งได้ตัดช่องทางการติดต่อสื่อสารทั้งหมดที่มีอยู่กับสหรัฐฯ เป็นเวลาหลายเดือน จนกระทั่งหลังจาก ไบเดน กับ สี จิ้นผิง พบปะเจรจากันที่เกาะบาหลีในเดือนพฤศจิกายน 2022 แล้ว ทั้งสองฝ่ายจึงได้รื้อฟื้นการสนทนาในเรื่องเกี่ยวกับไต้หวัน ยูเครน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ตลอดจนสาระทางการค้ากลับมาใหม่ ทว่าไม่ใช่การติดต่อสารสื่อสารระหว่างทหารกับทหาร

ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ปักกิ่งยังปฏิเสธคำขอจากวอชิงตันที่ให้มีการพบปะเจรจากันระหว่างรัฐมนตรีกลาโหม หลี่ ช่างฝู (Li Shangfu) ของจีน กับรัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin) ของสหรัฐฯ โดยจีนประณามสหรัฐฯ ที่ยังคงแซงก์ชันคว่ำบาตร หลี่ จากการที่จีนซื้อเครื่องบินสู้รบอาวุธของรัสเซียตั้งแต่เมื่อปี 2018

ในวันที่ 2 มิถุนายน ออสตินได้จับมือกับหลี่ ขณะที่ทั้งคู่ไปเข้าร่วมงานเวทีประชุมซัมมิตด้านความมั่นคงที่สิงคโปร์ ทว่าไม่ได้มี “การแลกเปลี่ยนกันอย่างมีสาระสำคัญ”

ในวันที่ 24 ตุลาคม หลี่ ถูกถอดออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการหลังจากเขาหายหน้าหายตาไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนมาเป็นเวลา 2 เดือน การปลด หลี่ ครั้งนี้มีรายงานว่าเกี่ยวข้องกับการถูกสอบสวนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน แต่ผู้สังเกตการณ์บางรายบอกว่า หลี่ ต้องรับผิดชอบกรณีอุบัติเหตุที่เกิดกับเรือดำน้ำลำหนึ่งในเขตทะเลเหลืองเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ซึ่งทำให้มีลูกเรือจีนเสียชีวิตไป 55 คน ทั้งนี้ จนกระทั่งถึงเวลานี้ ปักกิ่งยังไม่ได้มีการประกาศตัวรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่แต่อย่างใด

การเลือกตั้งประธานาธิบดีในไต้หวัน

ในอีกด้านหนึ่ง โหว โหย่วอี๋ (Hou Yu-ih) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันของพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) และเคอ เหวินเจ๋อ (Ko Wen-je) ผู้สมัครของพรรคประชาชนไต้หวัน (Taiwan People’s Party หรือ TPP) ได้จัดการเจรจาหารือกันเมื่อวันพุธ (15 พ.ย.) และตกลงกันที่จะรวมตัวจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party หรือ DPP) ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวันเดือนมกราคม 2024 ทั้งนี้ โหว และ เคอ จะตัดสินว่าใครจะเป็นผู้นำในการรณรงค์ครั้งนี้ โดยพิจารณาจากผลโพลว่าคะแนนนิยมของทั้งคู่ใครจะดีกว่ากัน

รายงานจากสื่อหลายกระแสระบุว่า หม่า อิงจิ่ว อดีตประธานาธิบดีไต้หวัน ได้ผลักดันให้ โหว กับ เคอ เจรจากัน โดยที่ เคอ กล่าวกับสื่อว่าอันที่จริงเขาลังเลใจเรื่องการทำงานร่วมกับพรรคก๊กมินตั๋ง แต่เขาก็ไม่ชอบเลยที่จะต้องเห็นพรรค DPP ได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัยหนึ่ง

ทางด้าน ไล่ ชิงเต๋อ (Lai Ching-te) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรค DPP แถลงในสัปดาห์ที่แล้วว่า เขาไม่ได้หวาดกลัวกลุ่มพันธมิตรระหว่าง KMT-TPP แต่อย่างใด เพราะเขาเชื่อว่าเขายังคงเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สามารถช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงครามในช่องแคบไต้หวันได้ โดยที่ ไล่ ยืนกรานแนวทางของพรรค DPP ที่ว่าหนทางเดียวสำหรับที่ไต้หวันจะสามารถปกป้องตนเองจากการรุกรานของจีนก็คือการยืนอยู่กับค่ายประชาธิปไตยของโลกที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำเพื่อป้องปรามปักกิ่ง
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://m.youtube.com/watch?v=dd2ytB1RyBw&pp=ygUGI2hzb3Jl)

หมายเหตุผู้แปล
ผู้เขียนข้อเขียนชิ้นนี้ของเอเชียไทมส์ (เจฟฟ์ เปา) ได้อ้างอิงทัศนะของ หงาน ชุนเกา (Ngan Shun-kau) คอมเมนเตเตอร์ให้ความคิดเห็นทางสื่อ ที่มีความชำนาญในเรื่องเกี่ยวกับฮ่องกง ซึ่งเวลานี้พำนักอยู่ในแคนาดา ซึ่งได้กล่าวเอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่งว่า ถ้าประชาชนชาวไต้หวันเลือกพรรค KMT มาปกครองเกาะแห่งนี้แล้ว พวกเขาก็อาจสูญเสียความสนับสนุนจากฝ่ายตะวันตก หงานถึงกับบอกว่าพรรค KMT นั้นอาจจะไม่ต่อต้านอะไรด้วยซ้ำ ถ้าหากจีนรุกรานเกาะไต้หวัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://groups.google.com/g/2ncn/c/OrXE5r20hAk?pli=1)
กำลังโหลดความคิดเห็น