xs
xsm
sm
md
lg

อิสราเอลควรจะเสียวไส้ที่อาจจะตกลงสู่หล่มโคลน ‘สงครามตลอดกาล’ ในกาซา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาถถ่ายจากชายแดนอิสราเอลติดต่อกับฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2023 แสดงให้เห็นกลุ่มเมฆดำโขมงที่ลอยอยู่เหนืออาคารต่างๆ ซึ่งถูกโจมตีแหลกลาญยับเยินในกาซา จากการถล่มไม่เลิกของกองทัพอิสราเอล
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Another forever war beckons in Gaza
By ROB GEIST PINFOLD
29/10/2023

ประสบการณ์ของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า การรุกรานโดยปราศจากแผนการหลังจากที่เข้าไปแทรกแซงแล้ว จะนำไปสู่การจมลงในหล่มโคลนซึ่งไม่มีทางเอาชนะได้ โดยที่ไม่ได้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองใดๆ

หลังจากการโจมตีของกลุ่มฮามาสที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมากเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม การรุกรานฉนวนกาซาทางภาคพื้นดินของกองทัพอิสราเอล (ที่ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า กองกำลังป้องกันอิสราเอล (Israel Defense Forces หรือ IDF) ก็ดูจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ [1] คณะรัฐบาลเบนจามิน เนทันยาฮู ดูเหมือนแทบไม่มีทางเลือกใดๆ เมื่อคำนึงว่าการโจมตีที่เกิดขึ้นได้สั่นสะท้านอิสราเอลให้ตื่นตระหนกไปถึงจนแกนในสุดๆ

กองทัพอิสราเอลบกพร่องล้มเหลว [2] ไม่สามารถป้องกัน หรือมีแผนการรับมือกับการโจมตีของฮามาส เวลาเดียวกันนั้น ทัศนะอันเย่อหยิ่งโอหังของรัฐบาลเนทันยาฮูที่มองว่าอิสราเอลสามารถให้ความสนับสนุนอย่างอ้อมๆ แก่การปกครองของฮามาสในกาซา ซึ่งจะส่งผลเป็นการแบ่งแยกชาวปาเลสไตน์ ในขณะเดียวกัน จะให้ผลเป็นการควบคุมอย่างไม่มีขอบเขตจำกัดต่อความมุ่งมาดปรารถนาของชาวปาเลสไตน์ที่จะสถาปนารัฐของตนเองขึ้นมา ในที่สุดก็ได้รับการพิสูจน์ว่ามีความผิดพลาดจนถึงระดับรากฐาน [3]

ทว่าหลังจากสงครามครั้งนี้ผ่านไปแล้วเกือบๆ 2 อาทิตย์ครึ่ง การรุกรานทางภาคพื้นดินของอิสราเอลก็เพิ่งเริ่มต้นปรากฏให้เห็นกันเท่านั้น ตรงกันข้าม ทั้งสองฝ่ายต่างดูมีความพึงพอใจที่จะเข้าสู่แบบแผนเดิมๆ ที่แสนคุ้นเคยของการยิงจรวดและการโจมตีทางอากาศตอบโต้แลกเปลี่ยนกันไปมาเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่าทำไมการกระทำของอิสราเอลจึงดูไม่สอดรับกับวาจาถ้อยคำของพวกเขาเอาเสียเลย?

มีปัจจัย 2 ประการที่เกี่ยวเนื่องพัวพันกันอยู่ –ซึ่งก็ครอบคลุมรวมเอาทั้งการเมืองภายในและการเมืองภายนอกของอิสราเอลเข้ามาด้วย— น่าจะใช้อธิบายความเชื่องช้าการปฏิบัติการเช่นนี้ได้

ปัจจัยประการแรกได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิสราเอล พวกเจ้าหน้าที่ของคณะบริหารประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในตอนแรกๆ ทีเดียวปฏิเสธไม่ยอมเรียกร้องให้อิสราเอลแสดงความบันยะบันยง และกระทั่งหนุนหลังการรุกรานทางภาคพื้นดินด้วยซ้ำ [4] ไป นี่แตกต่างไปจากการขยายตัวบานปลายที่เกิดขึ้นในรอบก่อนๆ ซึ่งแรงกดดันของสหรัฐฯ คือปัจจัยทรงความสำคัญยิ่งยวดที่เกลี้ยกล่อมโน้มน้าวอิสราเอลจนกระทั่งยินยอมเห็นพ้องกับการหยุดยิง [5]

ทว่าไม่นานต่อมา พลวัตที่คุ้นเคยก็ได้หวนกลับมาให้เห็นกัน เป็นต้นว่า ไบเดนออกมากล่าวเตือนอิสราเอลให้เคารพปฏิบัติตาม “กฎของสงคราม” [6] และให้การคุ้มครองพลเรือนของกาซา ทำเนียบขาวยังเอาชนะความดื้อดึงของอิสราเอลจนมีการเปิดทางให้ส่งความช่วยเหลือเข้าไปในกาซา [7] เวลานี้เนื่องจากฮามาสมีการปล่อยตัวประกันบางคนแล้ว สหรัฐฯ ก็กำลังกดดันอีกคำรบหนึ่งเพื่อให้มีเวลามากขึ้น [8] สำหรับการนำพลเรือนชาวอิสราเอลกลับบ้านกันได้เพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ก่อให้เกิดการบานปลายขยายตัวต่อไปอีก

พวกผู้รู้ชาวอิสราเอลตอนนี้กำลังตำหนิคัดค้าน [9] สิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นความอ่อนแอและโดนหลอกง่าย [10] ของสหรัฐฯ จนกระทั่งเสียท่าให้แก่ยุทธวิธีชะลอเวลาของฮามาส อย่างไรก็ดี ความเป็นจริงเป็นเรื่องใกล้ตัวอิสราเอลยิ่งกว่านั้น ไม่ใช่ฮามาสหรอก แต่เป็นพวกผู้ไม่เห็นด้วยซึ่งอยู่ภายในชนชั้นนำทางการเมืองและทางการทหารระดับสูงสุดในเมืองหลวงอิสราเอลต่างหาก ที่เป็นสาเหตุทำให้สหรัฐฯ พยายามบรรเทาความโกรธกริ้วในแผนสงครามของอิสราเอลลงมา

การรุกรานภาคพื้นดินและสิ่งที่ต้องกระทำหลังจากนั้น

ตั้งแต่ที่การสู้รบขัดแย้งครั้งนี้เริ่มต้นขึ้น พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ พยายามบีบคั้นอิสราเอลให้ต้องตอบคำถามสำคัญ 2 คำถาม ประการแรก การรุกรานภาคพื้นดินจะออกมาในลักษณะใด และประการที่สอง อิสราเอลจะแปรเปลี่ยนความสำเร็จทางการทหารใดๆ ที่เกิดขึ้นมา ให้กลายเป็นแผนการทางการเมืองที่ครอบคลุมรอบด้านสำหรับกาซาได้ด้วยวิธีใด หลังจากถอดถอนเอาฮามาสออกจากอำนาจได้แล้ว

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ (ซ้าย) รับฟังนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ขณะเขาเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรียามฉุกเฉินของอิสราเอลที่กรุงเทลอาวีฟ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2023
เป็นเพราะอิสราเอลไม่สามารถที่จะตอบคำถามเหล่านี้ได้ [11] นั่นแหละซึ่งขับดันสหรัฐฯ ให้โน้มเอียงมุ่งไปสู่การลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ลงมา [12] ทั้งนี้ พวกชนชั้นนำทางการเมืองและทางการทหารของอิสราเอลยังคงแตกแยกความเห็นกัน ทั้งเรื่องที่ว่าการรุกรานภาคพื้นดินจะออกมาในสภาพเช่นไร และวัตถุประสงค์ทางการเมืองระยะยาวของการรุกรานเข้าไปนี้ควรจะเป็นอย่างไร

ก่อนหน้าวันที่ 7 ตุลาคม คณะผู้นำของอิสราเอลมีความเป็นเอกภาพกัน [13] ในความเชื่อที่ว่าการประคับประคองให้ฮามาสยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป เป็นสิ่งที่พึงกระทำมากกว่าการที่อิสราเอลหวนกลับเข้าไปยึดครองกาซา เมื่อคำนึงถึงว่าการเข้าแทรกแซงใดๆ ก็ตามทีย่อมทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายในจำนวนที่ไม่น่าชื่นชมยินดี และการถูกวิพากษ์ตำหนิอย่างแรงทีเดียวจากนานาชาติ

การโจมตีอย่างดุเดือดของฮามาสได้ทำลายฉันทมติดังกล่าวนี้ ทว่ายังคงไม่มีฉันทมติอันใหม่ใดๆ ขึ้นมาแทนที่ ตอนนี้กองทัพอิสราเอลกำลังพยายามผลักดันให้เข้ารุกรานภาคพื้นดินแบบครอบคลุมรอบด้าน [14] ซึ่งจะรุกทั้งทางภาคพื้นดิน ทางทะเล และทางอากาศเพื่อยึดดินแดนกาซาทั้งหมดเอาไว้ ขณะที่พวกผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงรายอื่นๆ เสนอแนะให้อิสราเอลใช้วิธีเพิ่มการปิดล้อมของตนให้เข้มงวดยิ่งขึ้น และเข้ายึดครองเฉพาะพวกพื้นที่ซึ่งมีประชากรเบาบางกว่าจุดอื่นๆ ในบริเวณตอนใต้และตอนกลางของกาซา

พวกที่สนับสนุนแนวทางอย่างหลังบอกว่า หากทำเช่นนี้แล้ว อิสราเอลน่าที่จะหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์การสู้รบขัดแย้งในเขตเมืองอันยืดเยื้อ โดยเฉพาะในพื้นที่ส่วนต่างๆ ซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุดของกาซา แต่ยังคงสามารถใช้กำลังบีบบังคับให้ฮามาสต้องยินยอมในท้ายที่สุด ด้วยการทำให้กาซากลายเป็นสถานที่ซึ่งไม่อาจพำนักอาศัยได้ [15]

พวกหุ้นส่วนที่เป็นฝ่ายขวาจัดภายในคณะรัฐบาลผสมของเนทันยาฮู ก็เสนอแนะโมเดลปิดล้อมอย่างเข้มงวดเช่นนี้เหมือนกัน แต่ต้องการให้ใช้เรื่องนี้เป็นสปริงบอรด์เพื่อการผลักดันวาระทางการเมืองของพวกเขา [16] อันได้แก่ นอกจากใช้กำลังทหารเข้ายึดครองแล้ว ก็เพิ่มเติมด้วยการให้พลเรือนชาวอิสราเอลเข้าไปตั้งถิ่นฐานสร้างนิคมใหม่ๆ และไปสู่การประกาศผนวกพื้นที่ส่วนต่างๆ ที่มีประชากรเบาบางหน่อยของกาซาเหล่านี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอลในท้ายที่สุด

จุดยืนของเนทันยาฮู

ตัวเนทันยาฮูเวลานี้อย่างดีที่สุดก็อยู่ในสภาพของการยังไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ และอย่างเลวที่สุดคือตกอยู่ในอาการจิตหวาดระแวงไปหมด ซึ่งดูจะเป็นลักษณะของความเป็นผู้นำของเขาในช่วงหลังๆ มานี้ บุรุษผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอิสราเอลมาอย่างยาวนานที่สุดผู้นี้ ยังคงมีอาการลังเล [17] ไม่อยากทอดทิ้งสถานะเดิมในช่วงก่อนสงครามครั้งนี้ และมีความปรารถนามากกว่า ที่จะใช้วิธีเอากองทหารหน่วยรบพิเศษเข้าจู่โจมกาซาเฉพาะจุดที่ต้องการจริงๆ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แล้วรีบถอนตัวออกมา

สิ่งที่ทำให้เรื่องยิ่งสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ได้แก่ การที่ทั้งเนทันยาฮู.และชนชั้นนำในกองทัพต่างถูกรบกวนให้ต้องคอยหันเหความสนใจไปยังเรื่องการประณามกันไปมา [18] โดยที่มีข่าวรั่วข่าวปล่อยทางสื่ออยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นการชี้นิ้วกล่าวหากันไปมาว่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับการเกิดเหตุโจมตี 7 ตุลาคม และภาวะเป็นอัมพาตทางการเมืองและทางการทหารที่ยังคงดำรงอยู่จนถึงเวลานี้ของอิสราเอล

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรที่ ไม่มีใครไม่มีฝ่ายไหนในในอิสราเอลเลย [19] ซึ่งสามารถเห็นพ้องต้องกันเกี่ยวกับคำถามที่ตอบยากเย็นยิ่งขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ นั่นคือถ้ากองทัพอิสราเอลจัดการยุติการปกครองของฮามาสได้สำเร็จแล้ว จะทำอะไรกันต่อไป พวกตัวแทนสาธารรชนของอิสราเอลกระทั่งถึงขั้นใกล้ที่จะประกาศด้วยซ้ำว่า เวลานี้ไม่มีใครสนใจที่จะพิจารณาคำถามนี้กันหรอก [20]

การที่พรรคบลูแอนด์ไวต์ปาร์ตี้ (Blue and White Party) ซึ่งมีแนวทางค่อนข้างไปในทางสายกลาง เวลานี้ได้เข้าร่วมอยู่ในคณะรัฐบาล “พันธมิตรในภาวะฉุกเฉิน” [21] ของอิสราเอลด้วย ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการสร้างความพอใจให้แก่สหรัฐฯ โดยที่ผู้นำของพรรคนี้ที่ปัจจุบันคือรัฐมนตรีกลาโหม เบนนี แกนซ์ (Benny Gantz) เพิ่งจัดการประชุมคณะกรรมการชุดซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้วินิจฉัยเรื่องอนาคตของกาซาภายหลังฮามาส [22]

แต่เรื่องนี้ก็ยังอาจจะถือว่าทำน้อยเกินไปและสายเกินไปอยู่นั่นเอง พวกคณะกรรมการซึ่งจัดตั้งกันขึ้นโดยรัฐบาลอิสราเอล ไม่ได้เคยมีชื่อเสียงในเรื่องการตัดสินใจใจได้อย่างฉับไวอะไรเลย ขณะที่เนทันยาฮูนั้นยังคงเน้นหนักอย่างสม่ำเสมอไปที่ความพยายามในการผูกขาดอำนาจ และลดทอนอินพุตการจัดทำนโยบายของพรรคบลูแนอด์ไวต์.พวกชนชั้นนำในกองทัพ และกระทั่งตัวรัฐมนตรีกลาโหมของเขาเองให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ [23]

เนื่องจากการทะเลาะเบาะแว้งกันแบบมุ่งทำลายกันเองและตัดสินใจอะไรกันไม่ได้ รวมทั้ง ---ที่หนักข้อที่สุดคือ— การขาดไร้แผนการระยะยาวเช่นนี้นี่เอง ที่กำลังสร้างความกังวลใจมากที่สุดให้แก่คณะบริหารไบเดน และก็เป็นความวิตกที่สมเหตุสมผลด้วย จากการศึกษาวิจัยของตัวผมเอง สามารถวาดภาพออกมาให้เห็นได้ว่า บ่อยครั้งที่พวกผู้เข้ายึดครองอยู่ในสภาพเหมือนกับตกลงไปใน “กับดักแห่งการยึดครอง” [24] นั่นคือพวกเขาล้มเหลวไม่ได้เข้าเกี่ยวข้องอยู่ในการวางแผนภายหลังจากการเข้าแทรกแซงแล้ว และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ต้องจมลงไปในหล่มโคลนซึ่งไม่มีทางเอาชนะได้ โดยที่ไม่ได้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองใดๆ

ยานเกราะและรถถังของกองทัพอิสราเอล ชุมนุมกันตามแนวชายแดนอิสราเอล-ฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2023
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอก็คือ การต้องถอนตัวออกไปอย่างน่าอัปยศ [25] ควบคู่ไปกับอนาคตทางการเมืองภายหลังจากการถอนตัวซึ่งแลดูเหมือนๆ กับภาวะสถานะเดิมก่อนหน้าการเข้ายึดครอง [26]— โดยที่อัฟกานิสถานในยุคร่วมสมัยของเราถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทันกาลทันเวลา

สหรัฐฯ เพิ่งได้เรียนรู้บทเรียนเหล่านี้มาไม่นาน—ทว่าอิสราเอลดูเหมือนจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น นี่ต้องถือว่าน่าประหลาดใจมากขึ้นไปอีกเมื่อคำนึงถึงว่าตอนที่อิสราเอลสร้าง “พื้นที่ความมั่นคงปลอดภัย” [27] ขึ้นมาในภาคใต้ของเลบานอนในปี 1985 ชิมอน เปเรซ (Shimon Peres) รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอลในตอนนั้น กล่าวอ้างเอาไว้ในปีนั้นว่ามันจะเป็นการกระทำเช่นนี้ครั้งสุดท้ายของกองทัพอิสราเอลในประเทศดังกล่าว แต่แล้วมันก็กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

อิสราเอลไม่ได้ยุติการยึดครองของตนที่นั่นจวบจนกระทั่งถึงกลางทศวรรษ 2000 โดยที่ประสบความล้มเหลวไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของตนได้เลยไม่ว่าข้อไหน แถมยังกลายเป็นการให้อำนาจแก่กลุ่มพันธมิตรของฮามาส ซึ่งก็คือ ฮิซบอลเลาะห์ ในการอ้างเครดิต [28] ที่สามารถทำให้อิสราเอล “ล่าถอย” ออกไปได้

อิสราเอลจึงไม่จำเป็นต้องมองให้ไกลออกไป อย่างเช่นไปจนถึงอิรักและอัฟกานิสถาน สำหรับการตระหนักรับรู้ถึงความโง่เขลาทางยุทธศาสตร์ของการล้มเหลวไม่มีการวางแผนเตรียมเอาไว้เพื่อวันเวลาต่อไปข้างหน้าในฉากทัศน์เรื่องฮามาสนี้

ร็อบ เกสต์ พินโพลด์ เป็นอาจารย์สาขาวิชาสันติภาพและความมั่นคง อยู่ที่คณะรัฐศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ (School of Government and International Affairs) มหาวิทยาลัยเดอแรม (Durham University) สหราชอาณาจักร และเป็นกรรมการคนหนึ่งของยาชาด (Yachad) องค์กรนอกภาครัฐบาล (NGO) ในสหราชอาณาจักร ซึ่งพันธกิจอันดับแรกคือสนับสนุนการใช้หนทางออกทางการเมืองในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์

(ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/gaza-conflict-the-us-has-learned-from-its-forever-wars-but-israel-has-not-216378)

เชิงอรรถ

[1] https://www.reuters.com/world/middle-east/after-hamas-attack-israeli-retaliation-tactics-raise-gaza-invasion-fears-2023-10-10/
[2] https://foreignpolicy.com/2023/10/11/israel-intelligence-gaza-hamas-war-1973/
[3] https://www.timesofisrael.com/for-years-netanyahu-propped-up-hamas-now-its-blown-up-in-our-faces/
[4] https://www.dailymail.co.uk/news/article-12647401/US-support-Israel-gaza-invasion-Hamas-war-years.html
[5]https://www.theguardian.com/world/2021/may/18/biden-israel-gaza-ceasefire-netanyahu
[6] https://www.telegraph.co.uk/world-news/2023/10/11/us-israel-gaza-biden-netanyahu-palestine-onslaught-hamas/
[7] https://www.cbsnews.com/news/israel-biden-netanyahu-gaza-aid-white-house/
[8] https://www.aljazeera.com/news/2023/10/23/israel-kills-dozens-in-gaza-us-reportedly-seeks-ground-invasion-delay
[9] https://www.jpost.com/opinion/article-768779
[10] https://www.israelhayom.com/2023/10/22/holocaust-style-selection-of-jews-on-full-display-thanks-to-us-pressure/
[11] https://www.theguardian.com/us-news/2023/oct/16/what-is-the-us-up-to-in-its-dealings-with-israel-over-gaza
[12] https://www.nytimes.com/2023/10/22/us/politics/us-hostages-israel-gaza.html#:%7E:text=The%20Biden%20administration%20has%20suggested,to%20avoid%20more%20civilian%20casualties.
[13] https://www.latimes.com/politics/story/2023-10-15/mcmanus-column-israel-goal-gaza-regime-change
[14] https://www.telegraph.co.uk/world-news/2023/10/23/hezbollah-clashes-delay-gaza-invasion-israel-hamas-war/
[15] https://www.ynet.co.il/yedioth/article/yokra13625377
[16]https://twitter.com/YairWallach/status/1712361786404380896/photo/1
[17] https://www.spectator.co.uk/article/netanyahu-has-good-reasons-to-delay-the-ground-invasion-of-gaza/
[18] https://www.haaretz.com/israel-news/2023-10-22/ty-article/.premium/netanyahu-on-campaign-to-blame-idf-for-failure-to-predict-attack-defense-sources-say/0000018b-5688-d5d2-afef-d6fde37a0000
[19] https://edition.cnn.com/2023/10/20/politics/us-allies-israel-discussions-gaza-ground-invasion/index.html
[20] https://www.pbs.org/newshour/world/amid-continued-airstrikes-israel-says-it-has-no-plan-for-gaza-after-destroying-hamas#:%7E:text=Amid%20the%20fighting%2C%20Israel's%20defense,long%2Dterm%20plans%20for%20Gaza.
[21]https://www.washingtonpost.com/world/2023/10/12/israel-unity-government-netanyahu-gantz/
[22] https://www.timesofisrael.com/gallant-says-after-hamas-vanquished-israel-will-seek-new-security-regime-in-gaza/
[23] https://www.timesofisrael.com/liveblog_entry/prime-minister-defense-minister-and-idf-chief-deny-reports-of-beef/#:%7E:text=Reports%20have%20indicated%20tensions%20between,hostage%20negotiations%20to%20bear%20fruit.
[24]https://global.oup.com/academic/product/understanding-territorial-withdrawal-9780197658857
[25]https://academic.oup.com/isp/article/24/1/67/6762979
[26] https://www.youtube.com/watch?v=N3Q0p2yLIXE
[27]https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/01402390.2019.1570146
[28] https://www.jpost.com/israel-news/nasrallah-im-confident-in-our-victory-israel-is-weaker-than-spider-web-595499
กำลังโหลดความคิดเห็น