xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม ‘ไบเดน’ โกหกเพื่อช่วย ‘อิสราเอล’ กรณีโรงพยาบาลในกาซาถูกโจมตี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร ***


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ งัดเอา “การทูตสวมกอด” ขึ้นมาใช้ เมื่อได้รับการต้อนรับจากนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ภายหลังเขาเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติเบนกูเรียนในกรุงเทลอาวีฟ เมื่อวันพุธ (18 ต.ค.)
Why Biden lied on Gaza hospital attack
BY M. K. BHADRAKUMAR
19/10/2023

เหตุผลอันชัดเจนที่สุดของไบเดนสำหรับการไปเยือนอิสราเอลครั้งนี้ ก็คือเพื่อให้เขาได้แสดงออกถึงความสมานฉันท์กับอิสราเอลภายหลังเหตุการณ์เข่นฆ่าเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม แต่นอกจากนั้นแล้ว เขายังต้องการรบเร้าให้อิสราเอลดำเนินการตอบโต้แบบมีความรับรู้ความเข้าใจเชิงยุทธศาสตร์ หลีกเลี่ยงจากการแสดงปฏิกิริยาแบบเกินเลย เพราะการทำให้สถานการณ์บานปลายขยายตัวนั้นเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ นอกจากนั้น วอชิงตันยังต้องการที่จะแง้มประตูเปิดเอาไว้สำหรับความเป็นไปได้ที่พวกตัวประกันของฮามาส ซึ่งมีบางคนเป็นชาวอเมริกัน จะสามารถกลับบ้านได้โดยที่ยังมีชีวิตอยู่

คำโกหกที่ในภาษาอังกฤษเรียกกันว่า “มุสาวาทสีขาว” (white lie) ถือกันว่าเป็นคำโกหกเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งบ่อยครั้งทีเดียวถูกพูดออกมาเพื่อปกป้องใครบางคน หรือเพื่อหันเหความสนใจออกไปจากความจริงที่ชวนให้ไม่สบายใจ ขณะที่มุสาวาทสีขาว ของประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ นั้น มุ่งสร้างความสับสนให้แก่ความจริงอันหฤโหดเกี่ยวกับเรื่องที่ขีปนาวุธของฝ่ายอิสราเอลโจมตีใส่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกาซา ที่บริหารโดยคริสตจักรอีพิสโคพัล เมื่อคืนวันอังคาร (17 ต.ค.) คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 500 ชีวิต

บางที ไบเดน อาจรู้สึกว่าการทำเช่นนี้เป็นเรื่องที่ปลอดภัยไร้อันตราย เนื่องจากอาชญากรรมสงครามหนักหนาสาหัสระดับแพลทินัมทั้งหลาย น้อยครั้งนักที่จะได้รับการพิสูจน์และฟ้องร้องลงโทษผู้กระทำความผิด -- ไม่ว่าจะเป็นที่เวียดนาม (การสังหารหมู่ที่หมู่บ้านหมีลาย My Lai massacre) อัฟกานิสถาน (การโจมตีทางอากาศใส่โรงพยาบาลคุนดุซ Kunduz hospital airstrike) หรืออิรัก (เมืองฟอลลูจาห์ Fallujah) กระนั้นก็ตามที มันจะต้องมีสักช่วงเวลาหนึ่งที่จะเกิดการกล่าวโทษฟ้องร้องดำเนินคดี ณ ศาลสูงแห่งจิตสำนึกของตัวเขาเอง

ถ้าหากว่าช่วงเวลาขณะดังกล่าวเวียนมาถึง ทั้งหมดที่เขาจำเป็นต้องทำก็คือ อ่านข้อความอันน่าตื่นตะลึงบนบล็อกที่เขียนโดย โจนาธาน คุก (Jonathan Cook) นักหนังสือพิมพ์ชาวสหราชอาณาจักรผู้ผ่านการได้รับรางวัลเป็นเกียรติยศ อีกทั้งเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Israel and the Clash of Civilisations (อิสราเอลและการปะทะกันของอารยธรรมต่างๆ) คุก ตั้งฐานอยู่ในเมืองนาซาเรธ (Nazareth) ของอิสราเอลมาเป็นเวลา 20 ปี ข้อเขียนนี้ใช้ชื่อเรื่องว่า This is another Iraqi WMD moment. We are being gaslit (นี่คืออีกช่วงขณะหนึ่งในแบบฉบับของการกล่าวหาอิรักยุคซัดดัมมีอาวุธทำลายล้างอยู่ในครอบครอง พวกเรากำลังถูกจัดฉากเพื่อให้เข้าใจผิดกันอีกแล้ว)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.jonathan-cook.net/blog/2023-10-18/ahli-hospital-gaza-gaslit/)

คุก เขียนเอาไว้ว่า “มันไม่ใช่เพียงแค่ ‘ไม่น่าเป็นไปได้’ (unlikely) ที่จรวดลูกซึ่งยิงถูกโรงพยาบาลกาซาแห่งนั้นเป็นจรวดของปาเลสไตน์ แต่ว่ามันอยู่ในขั้นเป็นไปไม่ได้เลย (impossible) พวกสื่อต่างทราบเรื่องนี้ พวกเขาเพียงแค่ไม่กล้าที่จะเขียนมันออกมา”

ไบเดน ก็ทราบความจริงเป็นอย่างดีเช่นกัน ขอให้ลองอ่านทบทวนคำพูดที่เขาพูดเอาไว้ขณะเดินทางไปถึงอิสราเอลกันให้ดีๆ นะครับ เขาพูดว่าอย่างนี้: “Based on what I’ve seen, it appears as though it was done by the other team, not you. But there’s a lot of people out there, not sure. ” (โดยอิงอยู่กับสิ่งที่ผมเพิ่งได้เห็นมา มันดูเหมือนกับว่า มันถูกกระทำขึ้น โดยอีกทีมหนึ่ง ไม่ใช่พวกคุณ แต่มีผู้คนซึ่งอยู่ที่นั่นจำนวนมาก ยัง ไม่แน่ใจ” (การเน้นคำบางคำ เป็นการเน้นโดยผู้เขียน)

ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว เจค ซัลลิแวน ที่เป็นผู้ร่างถ้อยคำเหล่านี้สำหรับให้ ไบเดน พูด มีความระมัดระวังที่จะตกแต่งคำแถลงนี้ด้วยคำเตือนในหลายๆ ที่ ให้ระมัดระวังพิจารณากันให้ดี

คำแถลงจากทำเนียบขาวฉบับหนึ่งซึ่งมาจาก โฆษกสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เอเดรียนน์ วัตสัน (Adrienne Watson) ที่ออกตามมาหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ก็อยู่ในลักษณะมุ่งหลบเลี่ยงไม่ได้มีความตรงไปตรงมาเช่นนี้เหมือนกัน ดังนี้: “While we continue to collect information, our current assessment, based on analysis of overhead imagery, intercepts and open source information, is that Israel is not responsible for the explosion at the hospital in Gaza yesterday.” (“ขณะที่เรา ยังคงรวบรวมข้อมูลข่าวสารต่อไปอีก การประเมินในปัจจุบันของเรา ซึ่งอิงอยู่กับการวิเคราะห์ภาพที่มาจากการเก็บภาพระดับเหนือศีรษะ การดักฟัง และข้อมูลข่าวสารจากแหล่งเปิดเผย มีอยู่ว่าอิสราเอลไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบสำหรับเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลในกาซาแห่งนั้นเมื่อวานนี้” (การเน้นคำบางคำ เป็นการเน้นโดยผู้เขียน)

ดังนั้น คำถามข้อฉกรรจ์ที่ต้องถามกันก็คือว่า ทำไมไบเดนจึงยินยอมปล่อยตัวเองให้พูด มุสาวาทสีขาว ที่มีความเสี่ยงสูงเช่นนี้? ตรงนี้มีปัจจัยหลายๆ ประการเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ข่าวเกี่ยวกับเหตุระเบิดในกาซานี้ไปถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ตั้งแต่คืนวันอังคาร (17 ต.ค.) แล้ว ขณะที่ไบเดนและผู้ร่วมคณะของเขานั่งอยู่บนเครื่องบินซึ่งจอดอยู่บนรันเวย์ รอคอยการทะยานขึ้นมุ่งหน้าสู่กรุงเทลอาวีฟ ด้วยความรู้สึกกระวนกระวายใจกับเรื่องที่ว่าการไปเยือนของเขาเที่ยวนี้จะสามารถบรรลุอะไรได้บ้าง

เห็นได้ชัดเจนทีเดียวว่า การไปเยือนครั้งนี้อยู่ในข่ายการเล่นพนันที่ไร้ความแน่นอน กระนั้น การยกเลิกทริปไปเลยก็เป็นสิ่งที่ “ไม่อาจใช้เป็นทางเลือกได้” เนื่องจากแรงกดดันต่างๆ ของการเมืองภายในประเทศและของนโยบายการต่างประเทศได้รวมตัวผสมผเสกันอย่างแยกไม่ออกในตอนนั้น เรื่องนี้สามารถเข้าใจได้ไม่ยากโดยเพียงต้องติดตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์แบบมุ่งทำลายไบเดนของโทรทัศน์ข่าวช่องฟ็อกซ์นิวส์ (Fox News) และการเรียกร้องที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากพวกรีพับลิกันให้ล้างแค้นอิหร่านโทษฐานทำให้พลังต่อต้านของชาวปาเลสไตน์มีความเข้มแข็งขึ้นมา

ในทำนองเดียวกัน ไบเดน มีความสำนึกเป็นอย่างดีถึงเศษซากของการตระเวนเยือนภูมิภาคที่ดำเนินการโดยรัฐมนตรีต่างประเทศแอนโทนี บลิงเคน ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง ทั้งนี้ บลิงเคนตกเป็นเหยื่อของการดูหมิ่นดูแคลนและการโดนต่อว่าต่อขานในแบบที่บางทีอาจไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเดียวกันก่อนหน้าเขาได้เคยประสบพบเจอเมื่อเยือนเมืองหลวงต่างๆ ในเอเชียตะวันตก อิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคแถบนี้ได้ตกต่ำลงมามากจริงๆ

ไบเดนทราบดีว่าเขาจำเป็นต้องลงมือทำอะไรกันบ้าง –รวมทั้งจะต้องให้ใครๆ เห็นว่าเขากำลังทำอยู่ เขายังรู้สึกได้เช่นกันว่าเรื่องภาพลักษณ์ เป็นเรื่องที่มีความหมายอย่างมหาศาลสำหรับอิสราเอล (ที่เป็นพันธมิตรสำคัญที่สุดรายหนึ่งของสหรัฐฯ) สำหรับเบนจามิน เนทันยาฮู (เพื่อนที่มีความใกล้ชิดกันเป็นส่วนตัวตั้งแต่เมื่อหลายๆ ปีก่อน ซึ่งเวลานี้อาชีพทางการเมืองกำลังตกอยู่ในอันตราย) และแน่นอนทีเดียว สำหรับตัวไบเดนเองด้วย (โดยเดิมพันของเขาก็คือโอกาสที่จะได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง)

ไบเดนงัดเอา “การทูตด้วยการเข้าสวมกอด” (hug diplomacy) ในสไตล์ที่นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย ชื่นชอบยิ่งนัก ออกจากกล่องทูลบอกซ์ของเขามาใช้งานอย่างไม่ชักช้า ตั้งแต่อยู่ที่ลานบินของท่าอากาศยานเทลอาวีฟเลยทีเดียว ขณะที่เขาเข้าสวมกอดเนทันยาฮูนั้น ไบเดนก็ได้นกมาถึง 3 ตัวจากการยิงกระสุนเพียงนัดเดียว ประการแรก เขาสยบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตัวเขาที่มาจากพรรครีพับลิกันให้เงียบกริบลง หลังจากพวกนั้นเอาแต่กล่าวหาว่าเขากำลังคอยพะเน้าพะนออิหร่าน และละเลยเพิกเฉยเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของอิสราเอล ประการที่สอง ไบเดนเน้นย้ำว่าถึงแม้สงครามตัวแทนของสหรัฐฯ ในยูเครนกำลังลำบากยากเย็นขึ้นเรื่อยๆ แต่สหรัฐฯ ก็ให้การหนุนหลังอิสราเอลอย่างหนักแน่นมั่นคง

และนกตัวที่สามซึ่งเป็นนกตัวสำคัญที่สุด ก็คือ เขาได้ปลูกวงแหวนแห่งการผูกสมัครสัมพันธ์กันเอาไว้จนรอบตัวเนทันยาฮู ถึงแม้นักการเมืองอิสราเอลผู้นี้กำลังอยู่ในช่วงปลายบนถนนแห่งอาชีพทางการเมืองของเขาก็ตามที เนื่องจากอย่างไรเสีย เนทันยาฮูก็คือตัวหมากดีที่สุดสำหรับที่วอชิงตันจะวางเดิมพันถือหาง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความแน่ใจว่าพฤติกรรมของอิสราเอลในอนาคตจะยังคงสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามการโน้มน้าวชักชวนของสหรัฐฯ

ความมุ่งหมายข้อท้ายนี่แหละคือกุญแจสำคัญที่สุด สหรัฐฯ ไม่ได้กำลังเที่ยวมองหาการสู้รบขัดแย้งระดับภูมิภาคในเอเชียตะวันตก ไบเดนเข้าอกเข้าใจความกระเหี้ยนกระหือรือของอิสราเอลที่ต้องการแก้แค้นเอาคืนกับฮามาส ทว่าก็ไม่เห็นด้วยกับการขยายให้การสู้รบขัดแย้งนี้บานปลายออกไปอีก สหรัฐฯ เอาจริงเอาจังกับคำเตือนของเตหะรานที่ว่าพวกเขาจะเข้าแทรกแซงโดยตรงหากการโจมตีของอิสราเอลยังคงดำเนินต่อไป แต่กระนั้น ในอีกด้านหนึ่งเตหะรานก็ไม่ได้กำลังมุ่งหวังต้องการเสาะหาการสู้รบขัดเย้งเช่นกัน

จากทัศนะมุมมองภาพกว้างเช่นนี้ ไบเดนจึงย้ำยืนยันกับเนทันยาฮูอีกครั้งว่าวอชิงตันให้ความสนับสนุนอิสราเอลอย่างแข็งแกร่งในเรื่องการปกป้องตนเอง แต่ก็รบเร้าอิสราเอล “อย่าให้ความโกรธแค้นครอบงำใจ” ในเวลาทำการตอบโต้การโจมตีของอามาส ดังที่เขาพูดเอาไว้ว่า “การให้คนผิดต้องชดใช้อย่างสาสมกับความผิด เป็นเรื่องที่ต้องกระทำ ทว่าผมก็ขอเตือนว่า ขณะที่พวกคุณรู้สึกถึงความโกรธแค้นนี้ แต่อย่าได้ปล่อยให้มันครอบงำพวกคุณ หลังจากเหตุการณ์ 9/11 พวกเราก็รู้สึกโกรธเกรี้ยวกันมากในสหรัฐฯ ขณะที่เราแสวงหาความยุติธรรม (ในการลงโทษผู้กระทำผิด) และได้รับความยุติธรรมนั้น แต่เราก็ได้ทำความผิดพลาดหลายๆ อย่างด้วยเช่นกัน”

แน่นอนทีเดียว จำเป็นต้องมีความกล้าหาญ จึงจะสามารถยอมรับความผิดพลาดของตนเองในเวลาที่ให้คำปรึกษาแนะนำว่า ถึงยังไงก็สมควรต้องมีความบันยะบันยังแก่คณะรัฐบาลอิสราเอลชุดปัจจุบันซึ่งถูกครอบงำโดยกลุ่มพลังชาตินิยมสุดขั้วกลุ่มต่างๆ เป็นต้นว่า เบซาเลล โยเอล สมอทริช (Bezalel Yoel Smotrich) ผู้นำของพรรคนักฟื้นชาติยิวไซออนนิสต์ทางศาสนา (Religious Zionist Party) ที่ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอิสราเอลอยู่ในเวลานี้ บุคคลผู้นี้เป็นผู้สนับสนุนคนหนึ่งของนโยบายการให้ขยายการตั้งนิคมชาวอิสราเอลออกไปในเขตเวสต์แบงก์ รวมทั้งเป็นผู้คัดค้านการยินยอมให้มีการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ขึ้นมา กระทั่งปฏิเสธไม่ยอมรับการดำรงคงอยู่ของชาวปาเลสไตน์

ขณะที่ อิตามาร์ เบน-กะเวียร์ (Itamar Ben-Gvir) ผู้นำของพรรคออตซมา เยฮูดิต (Otzma Yehudit) คือรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งชาติของเนทันยาฮู เขาผู้นี้ครั้งหนึ่งเคยถูกตัดสินลงโทษในความผิดฐานสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้าย “คาช” (Kach) ซึ่งนำเอาลัทธิคาฮานิซึม (Kahanism) มาใช้ โดยลัทธินี้เป็นอุดมการณ์นักฟื้นชาติยิวไซออนนิสต์ทางศาสนาชนิดสุดโต่งแบบหนึ่ง หนังสือพิมพ์ฮาอาเรตซ์ (Haaretz) ของอิสราเอลเคยพูดถึง เบน-กะเวียร์ ว่า สำหรับพวกสุดโต่งชาวยิวแล้ว นี่คือ “คนที่จะต้องไปหา” ขณะที่บัญชีลูกค้าของเขา “อ่านดูแล้วเหมือนกับเป็นหนังสือแนะนำว่า ‘ใครเป็นใคร’ ในบรรดาผู้ต้องสงสัยคดีผู้ก่อการร้ายชาวยิว รวมทั้งคดีก่ออาชญากรรมอันเนื่องมาจากความเกลียดชังในอิสราเอล”

กระนั้นก็ตาม ภายหลังใช้เวลาพูดคุยอยู่หลายๆ ชั่วโมงกับเนทันยาฮู และคณะรัฐมนตรียามสงครามของเขา ไบเดนก็แถลงเปิดเผยว่าอิสราเอลได้ตกลงอนุญาตให้เปิดด่านชายแดนระหว่างอียิปต์-กาซา สำหรับการจัดส่งอาหาร น้ำ และยาพร้อมเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นที่ต้องการกันเหลือเกินในกาซา ภายหลังดินแดนนี้ถูกอิสราเอลปิดล้อมแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์มาเป็นเวลา 11 วัน “ประชาชนชาวปาเลสไตน์กำลังทุกข์ยากเดือดร้อนแสนสาหัสเช่นเดียวกัน และเราขอไว้อาลัยการสูญเสียชีวิตของชาวปาเลสไตน์ผู้บริสุทธิ์ เช่นเดียวกับทั่วทั้งโลก” ไบเดนกล่าว พร้อมกับย้ำว่า “ประชาชนของกาซาต้องการอาหาร น้ำ ยา และที่พักอาศัย”

เวลาต่อมา ไบเดน ได้กล่าวเพิ่มเติมระหว่างที่เครื่องบินประจำตำแหน่งของเขาหยุดพักเพื่อเติมน้ำมันที่ฐานทัพอากาศรัมสไตน์ (Ramstein Air Base) ในเยอรมนี ขณะเดินทางกลับไปสหรัฐฯ โดยเขาบอกว่า “อิสราเอลต้องตกเป็นเหยื่ออย่างเลวร้ายยิ่ง แต่ความจริงมีอยู่ว่าพวกเขามีโอกาสที่จะบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนผู้ซึ่งไม่มีที่ไหนจะให้ไปอีกแล้ว –มันจึงเป็นสิ่งที่พวกเขาสมควรจะกระทำ”

หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน (Guardian) เขียนเอาไว้ว่า “เชื่อกันว่าพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้พยายามโน้มน้าวให้คู่เจรจาฝ่ายอิสราเอลของพวกเขาเกิดความตระหนัก จากการพบปะหารือกันหลายครั้งระหว่างการไปเยือนของประธานาธิบดีไบเดนว่า การตอบโต้โดยใช้วิธีผลาญภพ (scorched-earth response) ในกาซา มีแต่จุดชนวนให้เกิดความวิบัติหายนะทางมนุษยธรรม การสูญเสียความสนับสนุนของทั่วโลกที่ให้แก่อิสราเอล และบางทีอาจนำไปสู่สงครามที่ขยายตัวกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยที่ไม่ได้สามารถกำจัดกวาดล้างฮามาสได้”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theguardian.com/world/2023/oct/18/joe-biden-urges-israel-not-be-consumed-by-rage-pledges-support-netanyahu-gaza-hamas)

ในรายงานข่าวอีกชิ้นหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ การ์เดียนยังตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า “การที่ไบเดนแสดงออกทั้งในทางอารมณ์ความรู้สึกและในทางการเมือง ถึงพันธะผูกพันที่เขามีอยู่กับอิสราเอล เป็นเรื่องที่ไม่เปิดช่องให้เกิดคำถามข้อสงสัยขึ้นมาได้ เนื่องจากสิ่งต่างๆ ที่เขาได้กระทำในอาชีพการงานของเขาเป็นเครื่องยืนยันข้อนี้ได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับประวัติการออกเสียงลงมติในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ เขาเดินทางเยือนอิสราเอลมาแล้วหลายครั้งเหลือเกิน ตั้งแต่ยุคของนายกฯ โกลดา แมร์ (Golda Meir) จนกระทั่งถึงปัจจุบัน คำปราศรัยของเขาในกรุงวอชิงตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลังเหตุการณ์การสังหารเข่นฆ่าของฮามาส เป็นคำแถลงเชิงศีลธรรมของอิสราเอลที่เปี่ยมพลังมากเป็นพิเศษ โดยที่ไบเดนก็ได้แสดงความผูกพันเป็นหนึ่งเดียวกับเรื่องนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.whitehouse.gov/briefing-room/speeches-remarks/2023/10/10/remarks-by-president-biden-on-the-terrorist-attacks-in-israel-2/)

“แต่ไบเดนก็สนับสนุนชาวปาเลสไตน์เช่นกัน ... เหตุผลที่มองเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดสำหรับการไปเยือนครั้งนี้ ก็คือเพื่อให้ไบเดนได้แสดงออกถึงความสมานฉันท์กับอิสราเอลภายหลังเหตุการณ์เข่นฆ่าเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม การแสดงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจความทุกข์ยากของผู้อื่น ถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ของไบเดน แต่นอกจากนั้นแล้ว การเดินทางไปของเขาเที่ยวนี้ยังเพื่อรบเร้าให้อิสราเอลดำเนินการตอบโต้แบบมีความรับรู้ความเข้าใจเชิงยุทธศาสตร์ หลีกเลี่ยงจากการแสดงปฏิกิริยาแบบเกินเลย การทำให้สถานการณ์บานปลายขยายตัวนั้นเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ นอกจากนั้น วอชิงตันยังต้องการที่จะแง้มประตูเปิดเอาไว้สำหรับความเป็นไปได้ที่พวกตัวประกันของฮามาส ซึ่งมีบางคนเป็นชาวอเมริกัน จะสามารถกลับบ้านได้โดยที่ยังมีชีวิตอยู่

กาลเวลาจะเป็นตัวบอกให้เราทราบว่า ไบเดนประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนในการปฏิบัติภารกิจของเขาคราวนี้ เขาไม่มีหนทางอื่นนอกจากต้องหันมาใช้มุสาวาทสีขาว เพื่อให้เกิดสิ่งดีๆ ที่ใหญ่โตยิ่งกว่า สิ่งที่จะเป็นตัวตัดสินชี้ขาดกำลังจะปรากฏให้เห็นกันขณะที่วิกฤตการณ์ตัวประกันยังคงยืดเยื้อ ไบเดนดูเหมือนวาดหวังเอาไว้ว่าความพยายามของวอชิงตันที่อาศัยกาตาร์เป็นคนกลางเพื่อให้ฮามาสปลดปล่อยตัวประกันนั้น จะมีผลลัพธ์ที่ดีออกมา ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ มันก็จะมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อประชามติของชาวอเมริกัน

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้https://www.indianpunchline.com/why-biden-lied-on-gaza-hospital-attack/
กำลังโหลดความคิดเห็น