ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสยังส่อแววบานปลายไม่หยุด โดยเมื่อวันอังคาร (17 ต.ค.) ได้เกิดเหตุระเบิดรุนแรงกลางโรงพยาบาลในฉนวนกาซาซึ่งคร่าชีวิตชาวปาเลสไตน์หลายร้อยคน นำมาซึ่งเสียงประณามจากทั่วโลก ก่อนที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนอิสราเอลเพื่อแสดงจุดยืนหนุนหลังรัฐยิวซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของอเมริกาในตะวันออกกลาง
ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดที่โรงพยาบาล อัล-อะห์ลี อัล-อราบี กลายเป็นโศกนาฏกรรมนองเลือดที่มีคนตายมากที่สุดในรอบกว่า 1 สัปดาห์ นับตั้งแต่กองทัพอิสราเอลเริ่มเปิดฉากโจมตีทางอากาศใส่ฉนวนกาซาเพื่อแก้แค้นกลุ่มฮามาสที่จู่โจมภาคใต้ของอิสราเอลแบบสายฟ้าแลบเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 7 ต.ค.
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นยังกลายเป็นชนวนให้เกิดการชุมนุมประท้วงอิสราเอลทั้งในเขตเวสต์แบงก์และชาติมุสลิมอื่นๆ ในภูมิภาค เช่น จอร์แดนและตุรกี
ปฏิบัติการโจมตีโดยกลุ่มฮามาสซึ่งปกครองฉนวนกาซาคร่าชีวิตคนอิสราเอลไปกว่า 1,300 คน และยังมีพลเรือนถูกจับเป็นตัวประกันอีกนับร้อย ซึ่งเทลอาวีฟได้ตอบโต้ด้วยการยิงโจมตีทางอากาศ ใช้มาตรการปิดล้อมฉนวนกาซาแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมส่งทหารและกองกำลังรถถังไปตรึงชายแดนกาซาเพื่อเตรียมจู่โจมภาคพื้นดิน โดยหวังกำจัดพวกฮามาสให้สิ้นซากไปในคราวนี้
โรงพยาบาล อัล-อะห์ลี อัล-อราบี ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1882 โดยคริสตจักรแองกลิกัน ปัจจุบันตั้งอยู่ที่เขตไซตุน (Zeitoun) ของเมืองกาซาซิตีซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของฉนวนกาซา ข้อมูลบนเว็บไซต์โรงพยาบาลระบุว่า สถานที่นี้ถือเป็น “ที่หลบภัยแห่งสันติภาพ ท่ามกลางดินแดนซึ่งเต็มไปด้วยปัญหามากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก”
แม้จะมีศักยภาพรองรับผู้ป่วยได้แค่ 80 เตียง แต่โรงพยาบาลแห่งนี้รวมถึงสถานพยาบาลอื่นๆ ในฉนวนกาซากลับอัดแน่นไปด้วยพลเรือนปาเลสไตน์จำนวนมากที่บาดเจ็บรอการรักษา นับตั้งแต่อิสราเอลเริ่มเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศอย่างหนัก
นอกจากผู้บาดเจ็บจากการโจมตีแล้ว พลเรือนปาเลสไตน์ทั่วๆ ไปก็เข้าไปอาศัยพื้นที่ของโรงพยาบาลเพื่อหลบภัยสงคราม โดยเชื่อว่าโรงพยาบาลน่าจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับพวกเขาในเวลานี้
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลแห่งนี้ยิ่งบีบหัวใจผู้คนทั่วโลกซึ่งติดตามข่าวการสู้รบในอิสราเอลมาตลอด 12 วัน เริ่มจากการที่กลุ่มฮามาสบุกเข้าไปสังหารคนอิสราเอลถึงในบ้าน จากนั้นก็ตามมาด้วยภาพครอบครัวปาเลสไตน์ที่ถูกฝังร่างคาซากปรักหักพังจากการโจมตีทางอากาศของฝ่ายอิสราเอล
หัวหน้าสำนักงานป้องกันพลเรือนในกาซาออกมาให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้ที่ราวๆ 300 คน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขกาซายืนยันว่ามีคนตายไปถึง 471 คน บาดเจ็บอีกกว่า 300 คน ซึ่งถูกทางการอิสราเอลออกมาโต้แย้งว่า “เกินจริง” ไปมาก
นพ.ฟาเดล นาอิม (Fadel Naim) หัวหน้าแผนกศัลยกรรมกระดูกของโรงพยาบาล อัล-อะห์ลี อัล-อราบี เล่าให้ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ฟังว่า เขาเพิ่งผ่าตัดรักษาคนไข้รายหนึ่งเสร็จ ก่อนจะได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่น จากนั้นแผนกของเขาก็เต็มไปด้วยผู้คนที่วิ่งวุ่นกรีดร้องขอความช่วยเหลือ
“มีคนวิ่งเข้ามาในแผนกศัลยกรรม และร้องว่า ช่วยด้วย ช่วยเราด้วย มีคนถูกฆ่าและบาดเจ็บมากมายในโรงพยาบาล” นพ.ฟาเดล กล่าว
เมื่อเขาออกไปดูจึงพบว่า ภายในโรงพยาบาลเต็มไปด้วยศพผู้เสียชีวิตที่ร่างกายฉีกขาด รวมถึงผู้คนที่บาดเจ็บอีกจำนวนมาก
“เราพยายามช่วยคนที่ช่วยได้ แต่คนเจ็บมีมากเกินกว่าที่ทีมแพทย์จะรับมือไหว” เขาบอก
เหตุโจมตีครั้งนี้ทำให้โลกอาหรับทั้งมวลออกแถลงการณ์ประณามอิสราเอลอย่างรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่บางประเทศที่สถาปนาความสัมพันธ์ระดับปกติกับเทลอาวีฟแล้ว ในขณะที่ชาวมุสลิมทั้งในเลบานอน ลิเบีย จอร์แดน เยเมน ตูนิเซีย ตุรกี โมร็อกโก อิหร่าน รวมถึงในเขตเวสต์แบงก์ ออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านอิสราเอล โดยพวกเขาเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็น “วันแห่งความโกรธแค้น” (day of rage)
เหตุโจมตีที่ไร้มนุษยธรรมครั้งนี้ยังสร้างความปั่นป่วนต่อยุทธศาสตร์การทูตของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งลงทุนขึ้นเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันไปเยือนอิสราเอลในวันพุธ (18) เพื่อแสดงจุดยืนหนุนหลังรัฐยิว และหาวิธีระงับความขัดแย้งไม่ให้ลุกลามไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ แต่กลับถูกตอกหน้าหงายโดยผู้นำชาติอาหรับที่ขอยกเลิกการประชุมซัมมิตฉุกเฉินกับ ไบเดน เอาดื้อๆ หลังจากที่มีข่าวการโจมตีโรงพยาบาลเกิดขึ้นในกาซา
ระหว่างยืนแถลงข่าวเคียงข้างนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ไบเดน กล่าวว่า “ผมรู้สึกเศร้าเสียใจและโกรธแค้นอย่างยิ่งเมื่อได้ทราบข่าวเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลในกาซาเมื่อวานนี้ และจากสิ่งที่ผมได้เห็นมา ดูเหมือนมันจะเกิดจากฝีมือของอีกทีมหนึ่ง... ไม่ใช่คุณ”
“อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ไม่มั่นใจ ดังนั้นเรายังต้องต้องก้าวข้ามอะไรอีกหลายอย่าง... ทั่วโลกกำลังจ้องมองอยู่ อิสราเอลมีชุดค่านิยมเดียวกับสหรัฐฯ และชาติประชาธิปไตยอื่นๆ และพวกเขากำลังเฝ้ามองว่าเราจะทำอะไรบ้างหลังจากนี้”
ไบเดน ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า ข้อสรุปที่ว่าอิสราเอลไม่ได้เป็นฝ่ายโจมตีโรงพยาบาลกาซามาจากข้อมูลซึ่งเขาได้รับทราบมาจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เอง
เนทันยาฮู กล่าวขอบคุณ ไบเดน ที่ “ให้การสนับสนุนอย่างแน่วแน่” ต่ออิสราเอล ขณะที่สำนักงานของประธานาธิบดี ไอแซก เฮอร์ซ็อก ก็ได้ออกแถลงการณ์ขอบคุณผู้นำสหรัฐฯ “ที่ช่วยปกป้องชนชาติอิสราเอล”
เนทันยาฮู รับปาก ไบเดน ว่า “จะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อกันพลเรือนออกจากพื้นที่อันตราย” ขณะที่ ไบเดน เองก็ให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ “พร้อมจะให้การหนุนหลังอิสราเอล ในระหว่างที่พวกคุณทำงานเพื่อปกป้องประชาชนของคุณ”
เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ตราหน้าอิสราเอลว่าเป็นผู้ลงมือโจมตีโรงพยาบาล ขณะที่อิสราเอลแย้งว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นน่าจะมาจาก “จรวดที่ยิงพลาดเป้า” ของกลุ่มติดอาวุธ Palestinian Islamic Jihad ในฉนวนกาซาเอง
กองทัพอิสราเอลยืนยันข้อสันนิษฐานนี้ด้วยการเผยแพร่คลิปวิดีโอซึ่งถ่ายจากโดรนบริเวณโรงพยาบาล อัล-อะห์ลี อัล-อราบี ซึ่งพวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า ไม่มีร่องรอยหลุมขนาดใหญ่ซึ่งเกิดจากขีปนาวุธหรือระเบิดเลย นอกจากนี้ ยังได้เปิดคลิปเสียงที่อ้างว่าเป็น “บทสนทนาระหว่างกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งพูดกันว่ายิงจรวดพลาดเป้า”
กระนั้นก็ตาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และบาห์เรนซึ่งได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติกับอิสราเอลภายใต้ข้อตกลงอบราฮัมปี 2020 ยังคงประณามและกล่าวโทษอิสราเอลว่าอยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่พลเรือนครั้งนี้
ด้านโมร็อกโกซึ่งปรับความสัมพันธ์กับอิสราเอลในปี 2020 รวมถึงอียิปต์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐอาหรับชาติแรกที่ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิสราเอลตั้งแต่ปี 1979 ก็ออกมาโทษว่าเหตุโจมตีโรงพยาบาลกาซาเป็นฝีมือของรัฐยิว
ประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตะห์ อัล-ซิซี แห่งอียิปต์ ได้ออกแถลงการณ์ประณาม “การทิ้งระเบิดโดยอิสราเอล” ด้วยถ้อยคำรุนแรงที่สุด พร้อมชี้ว่า “เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน”
ด้านซาอุดีอาระเบียซึ่งระงับกระบวนการเจรจาฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลทันทีที่สงครามปะทุขึ้น ออกมาเรียกเหตุระเบิดครั้งนี้ว่าเป็น “อาชญากรรมชั่วร้ายที่กระทำโดยกองกำลังผู้ยึดครองชาวอิสราเอล”
อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป แถลงต่อสมาชิกรัฐสภาอียูที่เมืองสตราส์บูร์กในวันพุธ (18) ว่า การยิงโจมตีโรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยพลเรือน “ไม่อาจหาสิ่งใดมาอ้างความชอบธรรมได้ทั้งสิ้น” พร้อมย้ำว่าจะต้องมีการ “สืบสาวความจริง” เกี่ยวกับโศกนาฏกรรมครั้งนี้
“ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องถูกนำตัวมารับโทษ” เธอกล่าว โดยยังไม่ฟันธงว่าเป็นฝีมือฝ่ายไหน
นายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก แห่งอังกฤษ ระบุในวันพุธ (18) ว่าหน่วยข่าวกรองเมืองผู้ดีอยู่ระหว่างวิเคราะห์หลักฐานต่างๆ เพื่อหาคำตอบที่แท้จริงเกี่ยวกับเหตุโจมตีโรงพยาบาลในกาซา พร้อมเตือนทุกฝ่ายว่า “ไม่ควรด่วนสรุปกล่าวโทษใคร จนกว่าจะทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด”
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียให้สัมภาษณ์ระหว่างร่วมการประชุม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road) ที่กรุงปักกิ่งในวันพุธ (18) ว่า เหตุโจมตีโรงพยาบาลในกาซาถือเป็นหายนะเลวร้ายที่เตือนว่าทุกฝ่ายควรหันหน้าเจรจาเพื่อให้ความขัดแย้งครั้งนี้ยุติลงโดยเร็ว
ด้าน อันโตนีโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ ก็ออกมาประณามเหตุโจมตีที่เกิดขึ้น โดยย้ำว่าการที่ฮามาสบุกจู่โจมอิสราเอลก่อน “ไม่ใช่เหตุผลอันชอบธรรมที่ใช้ลงโทษคนปาเลสไตน์แบบเหมารวม” พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิงทันที
สหรัฐฯ ประกาศในวันพฤหัสบดี (19) ว่าอียิปต์ยินยอมที่จะเปิดด่านพรมแดนราฟาห์ (Rafah) เพื่อส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ชาวปาเลสไตน์นับล้านๆ คนที่กำลังขาดแคลนทั้งอาหาร น้ำดื่ม และเชื้อเพลิง โดย ไบเดน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี พร้อมที่จะเปิดด่านให้ขบวนรถบรรทุกราว 20 คันนำความช่วยเหลือเข้าไป แต่ยังไม่ระบุวันเวลาที่ชัดเจน ขณะที่ จอห์น เคอร์บีย์ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ออกมาแถลงเพิ่มเติมว่า การส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมน่าจะเกิดภายในอีก 2-3 วันนี้เนื่องจากต้องรอซ่อมแซมถนน
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ได้ใช้สิทธิ “วีโต” ขัดขวางมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่เรียกร้องให้หยุดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส เพื่อเปิดทางส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่ฉนวนกาซา โดย ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ อ้างว่าร่างมติที่เสนอโดยบราซิลแม้จะประณามความรุนแรงทั้งมวลที่กระทำกับพลเรือน และเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันในทันทีและไม่มีเงื่อนไข แต่กลับไม่พาดพิงสิทธิในการปกป้องตนเองของอิสราเอล
ผลสำรวจของ CNN ที่เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (15) พบว่า คนอเมริกันส่วนใหญ่รู้สึกเห็นอกเห็นใจอิสราเอลมากขึ้น และครึ่งหนึ่งเชื่อว่าปฏิบัติการทางทหารที่อิสราเอลตอบโต้พวกฮามาสเป็นสิ่งที่ “ชอบธรรม” ขณะเดียวกัน 2 ใน 3 เกรงว่าการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับฮามาสจะทำให้สหรัฐฯ เสี่ยงเผชิญภัยก่อการร้ายมากขึ้น
ด้านผลสำรวจของรอยเตอร์/อิปซอสที่จัดทำเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบว่า คนอเมริกัน 78% ต้องการให้นักการทูตสหรัฐฯ จัดทำแผน “อพยพพลเรือนปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาไปยังประเทศที่ปลอดภัย” และ 41% เห็นด้วยว่าสหรัฐฯ จะต้องสนับสนุนอิสราเอลในการต่อสู้กับพวกฮามาส