xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : โลกตะลึง! ‘ฮามาส’ เปิดสงครามถล่ม ‘อิสราเอล’ สะเทือนยุทธศาสตร์สหรัฐฯ-เขย่าการเมืองตะวันออกกลาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลุ่มควันและเปลวเพลิงลุกโชติช่วงจากอาคารสูงแห่งหนึ่งในเขตกาซาซิตี้ หลังถูกกองกำลังอิสราเอลโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค.
ความขัดแย้งในตะวันออกกลางกลับมาปะทุรุนแรงอีกครั้ง หลังจากขบวนการฮามาส (Hamas) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ปาเลสไตน์ได้เปิดปฏิบัติการโจมตีและส่งกองกำลังรุกรานอิสราเอลแบบสายฟ้าแลบเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 7 ต.ค. จนนำมาสู่สงครามครั้งรุนแรงที่สุดระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ในรอบ 50 ปี ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่าสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างไม่คาดฝันนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนของความขัดแย้งและส่งผลกระทบกระเทือนไปทั่วทั้งภูมิภาค

ปฏิบัติการของฮามาสในครั้งนี้ใช้กลยุทธ์การจู่โจมพร้อมกันหลายช่องทาง โดยตั้งแต่ช่วง 6.30 น. ของวันเสาร์ (7) ฮามาสได้ระดมยิงจรวดเข้าไปในอิสราเอลไม่ต่ำกว่า 2,500-5,000 ลูก ส่งนักรบราว 1,000 คนแทรกซึมเข้าไปในหลายเมืองทางตอนใต้ของอิสราเอลจนทำให้ทั้งทหารและพลเรือนอิสราเอลถูกเข่นฆ่าล้มตายกันไปหลายร้อยคน นอกจากนี้ยังมีการลักพาตัวชาวอิสราเอลและต่างชาติอีกหลายสิบคนกลับไปเป็นตัวประกันในฉนวนกาซา ทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์ที่อิสราเอลไม่เคยเผชิญมาก่อนนับตั้งแต่ยุคสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรกในปี 1948

นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ประกาศกร้าวว่าพวกฮามาสจะต้องเจอกับ "การล้างแค้นที่หนักหน่วง" ขณะที่ผู้บัญชาการระดับสูงของกองทัพอิสราเอลรายหนึ่งระบุว่า สิ่งที่พวกฮามาสทำในวันนี้เป็นการเปิด "ประตูสู่นรก" ขึ้นในฉนวนกาซา

"ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล" โคบี ไมเคิล นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันเพื่อความมั่นคงแห่งชาติศึกษา (INSS) ในกรุงเทลอาวีฟ และอดีตหัวหน้าโต๊ะปาเลสไตน์ของกระทรวงกิจการด้านยุทธศาสตร์แห่งอิสราเอลให้ความเห็นกับ CNN พร้อมย้ำว่านี่คือเหตุโจมตีครั้งรุนแรงที่อิสราเอลไม่เคยพบเจอมาก่อนในประวัติศาสตร์

"ฮามาสจะไม่ใช่ฮามาสแบบที่พวกเราเคยรู้จักตลอดหลายปีที่ผ่านมา" ไมเคิล ย้ำ

ผู้นำกลุ่มฮามาสอ้างว่า การโจมตีซึ่งใช้ชื่อว่าปฏิบัติการพายุอัลอักซอ (Al-Aqsa Storm) ถือเป็นการแก้แค้นรวบยอดที่อิสราเอลปราบปรามกลุ่มติดอาวุธในเขตเวสต์แบงก์ กระทำการดูหมิ่นมัสยิดอัล-อักซอในนครเยรูซาเลม ขยายถิ่นฐานชาวยิวอย่างไม่หยุดหย่อน จับกุมชาวปาเลสไตน์ไปหลายพันคน และยังปิดล้อมฉนวนกาซามาตลอดหลายสิบปี โดยในการจับอาวุธคราวนี้พวกเขา “พร้อมที่จะเผชิญผลลัพธ์ทุกอย่างที่จะตามมา”

ฮามาสอ้างว่ามีนักรบหลายร้อยจากกองกำลังทั้งหมด 40,000 คนเข้าร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ ขณะที่ข้อมูลจากฝั่งอิสราเอลระบุว่าฮามาสมีกองกำลังอยู่ราว 30,000 คน บวกกับอาวุธจำพวกโดรนและจรวด ซึ่งบางประเภทมีพิสัยทำการไกลถึง 250 กิโลเมตร

- ทำความรู้จักฉนวนกาซา

“ฉนวนกาซา” เป็นพื้นที่เล็กๆ ขนาดราว 360 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตด้านหนึ่งติดกับอียิปต์ อีกด้านติดกับอิสราเอล และมีด้านที่ติดกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนสาเหตุที่เรียกว่าฉนวนกาซา เนื่องจากดินแดนส่วนนี้ถูกกำหนดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ภายหลังสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรกในปี1948 จนทำให้ดินแดนในส่วนนี้กลายเป็นเขตกันชนระหว่างสองรัฐ

หลังจากอิสราเอลชนะสงคราม 6 วันในปี 1967 ฉนวนกาซาได้ถูกอิสราเอลเข้ายึดครอง แต่หลังจากที่อิสราเอลและปาเลสไตน์ได้ทำสนธิสัญญาออสโลร่วมกันในปี 1993 ก็มีการอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์มีอำนาจปกครองตัวเอง (อย่างจำกัด) ในพื้นที่ฉนวนกาซา โดยในปี ค.ศ.2005 อิสราเอลได้ถอนทหารและนิคมชาวยิวที่ผิดกฎหมายออกจากฉนวนกาซาทั้งหมด และเมื่อกลุ่มฮามาสชนะการเลือกตั้งในปีถัดมาจึงทำให้ดินแดนนี้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮามาสมาจนถึงปัจจุบัน

- ฮามาสเป็นใคร?

ฮามาสเป็นขบวนการอิสลามิสต์ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1987 โดยเป็นกลุ่มที่แยกย่อยออกมาจากกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ซึ่งเป็นองค์กรอิสลามิสต์นิกายสุหนี่ที่ก่อตั้งในอียิปต์เมื่อทศวรรษ 1920 คำว่า "ฮามาส" นั้นย่อมาจากชื่อเต็มๆ ว่า Harakat Al-Muqawama Al-Islamiyya ซึ่งเป็นภาษาอาหรับแปลว่า "ขบวนการต่อต้านแห่งอิสลาม"

ฮามาสมีจุดยืนเช่นเดียวกับพรรคการเมืองและองค์กรปาเลสไตน์อื่นๆ ที่มองว่าอิสราเอลเป็นรัฐนอกกฎหมายที่เข้ามายึดครองดินแดนของพวกเขา และมีเป้าหมายในการปลดปล่อยดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมดจากการครอบครองของชาวยิว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ฮามาสแตกต่างกับองค์กรปาเลสไตน์อื่นๆ ก็คือจุดยืนที่แข็งกร้าว และการปฏิเสธไม่ยอมร่วมมือใดๆ ทั้งสิ้นกับอิสราเอล โดยเมื่อปี 1993 ฮามาสก็ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อตกลงออสโล (Oslo Accords) ซึ่งเป็นข้อตกลงสันติภาพที่องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ยินยอมยุติการจับอาวุธต่อต้านอิสราเอล แลกกับคำมั่นสัญญาก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์ที่เป็นอิสระควบคู่กับรัฐอิสราเอล โดยข้อตกลงฉบับนี้ยังนำมาสู่การจัดตั้งองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ (PA) ที่มีอำนาจบริหารกิจการในเขตเวสต์แบงก์ด้วย

ฮามาสพยายามชูตัวเองเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับชาวปาเลสไตน์นอกเหนือจาก PA ซึ่งนำโดยประธานาธิบดี มะห์มูด อับบาส โดย PA นั้นให้การยอมรับอิสราเอล และเคยพยายามเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพที่ล้มเหลวกับเทลอาวีฟมาแล้วหลายครั้ง

ตลอดหลายปีมานี้ ฮามาสได้ก่อเหตุโจมตีอิสราเอลนับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งถูกสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอิสราเอล ขึ้นบัญชีดำเป็นองค์กรก่อการร้าย

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุเมื่อปี 2021 ว่า ฮามาสมี “อิหร่าน” คอยสนับสนุนทั้งในรูปของเงินทุน อาวุธ และการฝึกยุทธวิธี นอกจากนี้ ยังได้เงินทุนบางส่วนมาจากบรรดารัฐริมอ่าวอาหรับ เงินบริจาคจากชาวปาเลสไตน์ที่อยู่นอกประเทศ และมูลนิธิเพื่อการกุศลของฮามาสเอง

โยอัฟ กัลลันต์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอิสราเอล ออกมาอ้างเมื่อเดือน เม.ย.ว่า อิหร่านมอบความช่วยเหลือแก่ฮามาสปีละราวๆ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


- ยุทธศาสตร์ของฮามาสคืออะไร?

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การที่ฮามาสเลือกใช้วิธีจู่โจมอย่างฉับพลันและรุนแรงเช่นนี้ก็เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงสถานะปัจจุบัน (status quo) ที่อิสราเอลยังคงปิดล้อมฉนวนกาซาและยึดครองเขตเวสต์แบงก์ ขณะที่ความหวังของชาวปาเลสไตน์ในการมีรัฐเป็นของตนเองยังรางเลือนเต็มทน

คอลิด เอลกินดี ผู้อำนวยการโครงการปาเลสไตน์และกิจการอิสราเอล-ปาเลสไตน์จากสถาบันตะวันออกกลาง (Middle East Institute) มองว่า เป้าหมายอย่างหนึ่งของฮามาสก็คือการทำให้ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์กลับมาเป็นประเด็นร้อนที่ภูมิภาคและทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ

“คนส่วนใหญ่เริ่มมูฟออน (จากเรื่องปาเลสไตน์) และประเด็นใหม่ตอนนี้ก็คือการฟื้นความสัมพันธ์สู่ระดับปกติระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิสราเอล รวมถึงการบูรณาการในระดับภูมิภาค” เอลกินดี ให้ความเห็นกับ CNN

เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงออกมายอมรับเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้วว่า “กำลังมีการเจรจา” กับสหรัฐฯ เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล และการฟื้นสัมพันธ์สู่ระดับปกตินั้น “กำลังใกล้เข้ามา”

ทั้งนี้ การผูกสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียจะถือเป็นย่างก้าวประวัติศาสตร์สำหรับอิสราเอลในการสร้างความชอบธรรม เพราะอาจกระตุ้นให้ประเทศมุสลิมอื่นๆ เจริญรอยตามริยาด โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลซาอุฯ เคยให้คำมั่นว่าจะไม่สถาปนาความสัมพันธ์ระดับปกติกับอิสราเอลจนกว่าปาเลสไตน์จะได้รับเอกราช

เอลกินดี มองว่าฮามาสประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการดึงนานาชาติให้กลับมาใส่ใจปัญหาปาเลสไตน์ ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า ฮามาสอาจต้องการโชว์ศักยภาพทางทหารของพวกเขาให้โลกรับรู้ด้วย

กองทัพอิสราเอลแถลงเมื่อวันจันทร์ (9) ว่าฮามาสจับตัวประกันไปหลายสิบคน ขณะที่ฝ่ายฮามาสเองอ้างว่าได้ลักพาตัวทั้งชาวอิสราเอลและต่างชาติ “กว่า 100 คน” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการเลือกจับพลเรือนเป็นตัวประกันมากมายเช่นนี้บ่งบอกว่าฮามาสอาจไม่ได้คาดหวังแค่การแลกเปลี่ยนตัวนักโทษเพียงคนสองคน

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2011 รัฐบาลอิสราเอลเคยยอมปล่อยตัวนักโทษปาเลสไตน์ถึง 1,027 คน เพื่อแลกเปลี่ยนกับตัวประกันชาวอิสราเอลเพียงคนเดียว

“การจับตัวประกันไว้เป็นจำนวนมากทำให้สงครามครั้งนี้ไม่ใช่แค่ปฏิบัติการตีหัวเข้าบ้านที่ประเดี๋ยวประด๋าวก็ถูกลืมไป แต่จะสร้างนัยทางการเมืองต่อไปในระยะยาว” โอมาร์ ราห์มาน นักวิจัยจาก Middle East Council on Global Affairs ให้ความเห็น

ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า ปฏิบัติการรุกใหญ่ของฮามาสสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาตระหนักดีว่าสงครามที่ตามมาอาจหนักหน่วงรุนแรงและกระทบถึงความอยู่รอด

ไมเคิล จาก INSS ตั้งข้อสังเกตว่า ฮามาสอาจจงใจยั่วยุเพื่อให้เกิดสงครามเต็มขั้นกับอิสราเอล และคงจะได้รับสัญญาเป็นมั่นเหมาะจากพันธมิตรในภูมิภาคว่า “พร้อมสนับสนุน” หากมีการสู้รบกันเกิดขึ้น

"ฮามาสมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน และตั้งอยู่บนหลักคิดของการทำสงครามหลายด้านพร้อมกัน" ไมเคิล ให้สัมภาษณ์กับ CNN พร้อมระบุว่าฮามาสคงมีความเชื่อว่าประชาชนในฉนวนกาซา เยรูซาเลม เวสต์แบงก์ พลเมืองเชื้อสายอาหรับในอิสราเอล รวมถึงผู้คนทางตอนใต้ของเลบานอน น่าจะสนับสนุนปฏิบัติการของพวกเขา

ซาเลห์ อัล-อารูรี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฮามาส กล่าวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ว่า ทางกลุ่มพร้อมจะเผชิญกับ “สถานการณ์เลวร้ายที่สุด” รวมถึงปฏิบัติการโจมตีภาคพื้นดินจากอิสราเอลด้วย

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ “ไอเอิร์น โดม” ของอิสราเอลยิงสกัดจรวดซึ่งถูกยิงข้ามมาจากฝั่งฉนวนกาซาที่เมืองแอชเคอลอน (Ashkelon) เมื่อวันที่ 9 ต.ค.
- ความล้มเหลวด้านการข่าวของอิสราเอล

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา หน่วยข่าวกรองอิสราเอล เช่น Mossad และ Shin Bet เคยได้รับการยกย่องว่ามีศักยภาพเหนือชั้นจนไม่มีใครจะเอาชนะได้ และเคยสร้างผลงานซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญมาแล้วมากมาย เช่น การตามล่าสายลับฮามาสในดูไบ รวมถึงเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าไปปลิดชีพนักวิจัยนิวเคลียร์อิหร่านได้ถึงใจกลางของประเทศ

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าหูตาของอิสราเอลจะถูกปิดสนิทก่อนที่กลุ่มฮามาสจะเปิดฉากโจมตีใหญ่อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวันเสาร์ (7) ซึ่งทำให้หลายคนตั้งคำถามในใจว่า “เกิดอะไรขึ้น” กับหน่วยข่าวกรองของอิสราเอล

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สอ้างผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของเจ้าหน้าที่อิสราเอล 4 คนซึ่งระบุว่า ความสำเร็จของฮามาสมีเหตุปัจจัยมาจากความล้มเหลวในด้านข่าวกรองและการทหารของอิสราเอลหลายเรื่อง ได้แก่

1) เจ้าหน้าที่ข่าวกรองไม่ได้ติดตามช่องทางสื่อสารหลักๆ ที่พวกผู้ก่อเหตุชาวปาเลสไตน์ใช้วางแผนโจมตี

2) การเชื่อมั่นในเครื่องมือสอดแนมซึ่งติดตั้งอยู่ตามแนวชายแดนมากเกินไป ซึ่งสุดท้ายแล้วอุปกรณ์เหล่านั้นก็ถูกนักรบปาเลสไตน์ปิดทิ้งได้ง่ายๆ จนทำให้พวกเขาสามารถบุกทะลวงเข้าไปถึงฐานทัพอิสราเอลและเข่นฆ่าทหารซึ่งกำลังหลับอยู่บนที่นอน

3) การที่ผู้บัญชาการทหารส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวกันอยู่ที่ฐานทัพชายแดนแห่งหนึ่งซึ่งถูกฮามาสบุกถล่มตั้งแต่ช่วงแรกๆ จนทำให้ขาดการสื่อสารกับหน่วยงานอื่นๆ ของกองทัพ และ

4) การหลงเชื่อคำพูดของพวกผู้นำทหารกาซาซึ่งพูดคุยผ่านช่องทางส่วนตัวว่าพวกเขาไม่ได้มีการเตรียมพร้อมเพื่อสู้รบใดๆ ซึ่งอันที่จริงชาวปาเลสไตน์นั้นรู้อยู่แล้วว่าช่องทางสื่อสารเหล่านี้ถูกดักฟังจากอิสราเอลอยู่ตลอดเวลา

“เราทุ่มเทงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อรวบรวมข่าวกรองจากพวกฮามาส แต่แล้วทุกอย่างกลับพังทลายเป็นโดมิโนในเวลาเพียงเสี้ยววินาที” โยเอล กูซันสกี อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสภาความมั่นคงแห่งชาติอิสราเอลบอกกับนิวยอร์กไทม์ส

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ออกมาประณามปฏิบัติการโจมตีของกลุ่มฮามาสว่าเป็นการกระทำที่ “เลวทรามอย่างที่สุด” พร้อมระบุว่าสหรัฐฯ ได้ยกระดับจุดยืนทางทหารในภูมิภาคเพื่อเสริมการป้องปราม ซึ่งรวมถึงการส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีและเครื่องบินขับไล่เข้าไปประชิดอิสราเอล ขณะเดียวกัน ก็จะเร่งส่งกระสุนพิสัยไกลและขีปนาวุธสกัดกั้นเพื่อเติมเต็มให้แก่ระบบป้องกันภัยทางอากาศ ‘ไอเอิร์น โดม’ (Iron Dome) ด้วย

สหรัฐฯ ได้เคลื่อนย้ายเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส เจรัลด์ อาร์.ฟอร์ด และเรืออื่นๆ เข้าไปทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนอิสราเอล ขณะที่ จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติ เปิดเผยว่าเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส ดไวท์ ดี. ไอเซนฮาวร์ จะเดินทางถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเร็วๆ นี้ และพร้อมประจำกาได้ทันทีหากมีความจำเป็น

จรวดนับสิบลูกซึ่งถูกยิงจากฝั่งฉนวนกาซาเข้าไปโจมตีอิสราเอล เมื่อวันที่ 10 ต.ค.
ทางด้านรัสเซียยืนยันว่าได้มีการประสานพูดคุยกับคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย และพร้อมเข้าไปมีบทบาทในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างอิสราเอลและฮามาส ขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ชี้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนความ “ล้มเหลว” ของสหรัฐฯ ที่พยายาม “ผูกขาด” กลไกสันติภาพ ไม่เคยแสวงหาแนวทางประนีประนอมที่ปฏิบัติได้จริง นอกจากนี้ ยังมองข้ามผลประโยชน์และความปรารถนาของชาวปาเลสไตน์ที่ต้องการมีรัฐอิสระเป็นของตนเอง

รัสเซียใช้โดรนที่ผลิตในอิหร่านทำสงครามกับยูเครน และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับปาเลสไตน์มาอย่างยาวนาน โดยกลุ่มฮามาสก็เพิ่งจะส่งผู้แทนไปเยือนมอสโกเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

กระนั้นก็ตาม ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ย้ำว่ารัสเซียก็มี “จุดร่วม” กับอิสราเอลหลายอย่างด้วยเหมือนกัน รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่าทหารอิสราเอลจำนวนไม่น้อยเคยเป็นพลเมืองรัสเซียมาก่อน

ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการสู้รบในฝั่งอิสราเอลเพิ่มเป็นอย่างน้อย 1,200 คน บาดเจ็บอีกกว่า 2,700 คนตามข้อมูลจากกองทัพอิสราเอลในวันพฤหัสบดี (12) ขณะที่สื่อปาเลสไตน์อ้างข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของกาซาซึ่งอัปเดตยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 1,200 คน บาดเจ็บอีกราว 5,600 คน

ด้านกระทรวงการต่างประเทศของไทยยืนยันมีคนไทยในอิสราเอลเสียชีวิตแล้ว 20 คน และถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกันอีก 14 คน

ปัจจุบันมีแรงงานไทยอยู่ในอิสราเอลประมาณ 25,000 คน ส่วนใหญ่เข้าไปทำงานในภาคการเกษตร ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยนิยมเดินทางไปขายแรงที่อิสราเอลก็เพราะรายได้สูงกว่าประเทศไทยประมาณ 3 เท่า ตัวอย่างเช่นหากได้เงินเดือนที่ไทย 15,000 บาท แต่หากทำงานในอิสราเอลก็จะได้อยู่ที่ประมาณ 45,000 บาท เป็นต้น

รัฐบาลอิสราเอลได้ประกาศมาตรการปิดล้อมฉนวนกาซาแบบเบ็ดเสร็จเมื่อวันจันทร์ (9) ซึ่งรวมถึงการตัดน้ำ ไฟฟ้า เชื้อเพลิง อาหาร และยารักษาโรคที่จะถูกส่งเข้าไปยังดินแดนแห่งนี้ ขณะที่แหล่งข่าวในอิสราเอลเผยว่ามีจรวดจากฝั่งเลบานอนถูกยิงข้ามเข้ามายังพื้นที่ตอนเหนือของอิสราเอล รวมถึงมีกระสุนปืนใหญ่ถูกยิงมาจากฝั่งซีเรียด้วย ซึ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าการสู้รบครั้งนี้อาจจะลุกลามขยายวงจนกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาค

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงในอียิปต์เผยเมื่อวันพุธ (11) ว่า รัฐบาลไคโรได้มีการหารือกับสหรัฐฯ และชาติอื่นๆ เรื่องการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ชาวปาเลสไตน์ผ่านทางพรมแดนที่ติดกับฉนวนกาซา แต่ยังคงยืนกรานที่จะไม่เปิดเส้นทางรับผู้ลี้ภัยออกจากดินแดนแห่งนี้ โดยที่ผ่านมานั้นแม้อียิปต์จะรับหน้าที่เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์มาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ย้ำจุดยืนหนักแน่นว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องแก้ปัญหาภายในพรมแดนตัวเอง

อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น ออกมาเรียกร้องให้มีการเปิดเส้นทางส่งปัจจัยยังชีพขั้นพื้นฐานที่จำเป็น เช่น เชื้อเพลิง อาหาร และน้ำดื่ม เข้าไปยังฉนวนกาซา ขณะที่ โจเซป บอร์เรลล์ ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศและนโยบายด้านความมั่นคง ออกมาเตือนรัฐบาลอิสราเอลว่าการปิดล้อมฉนวนกาซาอย่างเบ็ดเสร็จนั้นเข้าข่ายละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์มองว่าสงครามยิว-ปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นถือเป็นสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงไม่น้อยสำหรับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ต้องการรั้งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ต่อในศึกเลือกตั้งปี 2024 นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลก และดึงทรัพยากรของสหรัฐฯ ไปจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

ปฏิบัติการของกลุ่มฮามาสยังบ่อนทำลายความพยายามของ ไบเดน ที่จะกล่อมซาอุฯ ให้ยอมสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติกับอิสราเอล และเพิ่มความยุ่งยากให้กับสหรัฐฯ ในการดำเนินยุทธศาสตร์ต่อต้าน “อิหร่าน” ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักของฮามาส

แม้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จะออกมามองโลกในแง่ดีว่าแผนการผูกสัมพันธ์ซาอุฯ-อิสราเอลน่าจะก้าวข้ามความขัดแย้งครั้งนี้ไปได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่กลับไม่คิดเช่นนั้น

“ความพยายามทั้งหมดในการฟื้นฟูความสัมพันธ์น่าจะต้องหยุดชะงักลง อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้นี้” จอน อัลเทอร์แมน หัวหน้าโครงการตะวันออกกลางของศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) ให้ความเห็น

โจนาธาน แพนิกคอฟ อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองด้านตะวันออกกลางของสหรัฐฯ มองคล้ายๆ กันว่า “ชาวอาหรับไม่มีทางสนับสนุนการฟื้นฟูความสัมพันธ์ หากสงครามครั้งนี้ยืดเยื้อ และฉนวนกาซาถูกอิสราเอลทำลายล้างอย่างรุนแรง”

สหรัฐฯ เชื่อว่าการดึงสองชาติพันธมิตรซึ่งเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคให้มาจับมือกันได้จะเป็นกลไกสำคัญในการปิดล้อมอิหร่าน และยังช่วยสกัดกั้นไม่ให้จีนแผ่สยายอิทธิพลเข้าสู่ภูมิภาคที่รุ่มรวยทรัพยากรน้ำมันแห่งนี้

ด้านประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนรุดเดินทางเยือนสำนักงานใหญ่ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เมื่อวันพุธ (11) เพื่อเร่งเร้าชาติพันธมิตรให้ป้อนอาวุธแก่ยูเครนสำหรับความอยู่รอดในช่วงฤดูหนาว ท่ามกลางความกังวลว่าสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์จะเบี่ยงเบนความสนใจไปจากเคียฟ

ผู้นำยูเครนยังเรียกร้องตะวันตกให้การสนับสนุนประชาชนชาวอิสราเอลเหมือนที่สนับสนุนยูเครน

"พวกผู้ก่อการร้ายอย่างเช่นปูติน หรืออย่างเช่นฮามาสหาทางจับประเทศเสรีและประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายเป็นตัวประกัน และพวกเขาต้องการมีอำนาจเหนือคนที่แสวงหาเสรีภาพ... พวกผู้ก่อการร้ายไม่เคยเปลี่ยน และพวกเขาต้องพ่ายแพ้" เซเลนสกี กล่าว

ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยืนยันว่าวอชิงตันยังคงมีพลังขับเคลื่อนและมีทรัพยากรเพียงพอที่จะจัดการวิกฤตการณ์ต่างๆ ในหลากหลายสมรภูมิ

"เราจะยืนหยัดอย่างหนักแน่นเคียงข้างอิสราเอล พร้อมๆ ไปกับการเดินหน้าสนับสนุนยูเครน" เขากล่าว

ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายเริ่มวิตกกังวลว่าปฏิบัติการจู่โจมของฮามาสใส่อิสราเอลอาจกระตุ้นให้กลุ่มผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ก่อเหตุโจมตีในแผ่นดินสหรัฐฯ และปลุกกระแสต่อต้านชาวยิวให้รุนแรงขึ้นมาอีก

ประธานาธิบดี ไบเดน ระบุเมื่อวันอังคาร (10) ว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เริ่มมีมาตรการเฝ้าระวังตามเมืองต่างๆ ทั่วอเมริกา และตำรวจได้ยกระดับรักษาความปลอดภัยตามสถานที่สำคัญของชาวยิวแล้ว

กองเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส เจรัลด์ อาร์ ฟอร์ด ของสหรัฐฯ (แฟ้มภาพ)

ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนปาเลสไตน์และประท้วงการโจมตีฉนวนกาซาในเมืองดับลินของไอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 11 ต.ค.

ชาวปาเลสไตน์ช่วยกันหามร่างผู้เสียชีวิตออกจากซากบ้านหลังหนึ่งในเมืองข่านยูนิส (Khan Younis) ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา ภายหลังปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล เมื่อวันที่ 11 ต.ค.


กำลังโหลดความคิดเห็น