xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึก ‘ฮามาส’ โจมตี ‘อิสราเอล’ คราวนี้ยังมีจุดมุ่งหมายขัดขวางการจับมือกันระหว่าง ‘ซาอุดี-รัฐยิว’ ที่มี ‘สหรัฐฯ’ หนุนหลังอยู่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สำนักข่าวรอยเตอร์ ***


พระเพลิงและควันไฟลอยขึ้นเหนือกลุ่มอาคารในเมืองกาซาซิตี้ ระหว่างที่อิสราเอลถล่มโจมตีทางอากาศใส่ดินแดนฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม
ANALYSIS-In striking Israel, Hamas also took aim at Middle East security realignment
By Samia Nakhoul, Nidal al-Mughrabi, Matt Spetalnick and Laila Bassam; Reuters
08/10/2023

จากการที่ฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลอย่างน่าตื่นตะลึงคราวนี้ พวกเขาก็ทำให้สายตาของทั่วโลกโดยเฉพาะฝ่ายตะวันตกต้องหันกลับมามองดูชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์อีกคำรบหนึ่ง เวลาเดียวกันก็เป็นตีกระหน่ำใส่ความพยายามที่ทำท่าใกล้ประสบความสำเร็จแล้วของสหรัฐฯ ในการผลักดันให้อิสราเอลกับซาอุดีอาระเบียสถาปนาความสัมพันธ์ฉันปกติระหว่างกัน ซึ่งจะเป็นพิษภัยแก่กระแสการรอมชอมกันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน

ตอนที่กลุ่มอิสลามิสต์ “ฮามาส” เปิดฉากการโจมตีเล่นงานอิสราเอลอย่างน่าตื่นตะลึงในครั้งนี้ พวกเขายังมีจุดมุ่งหมายเบื้องลึกลงไปอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ การมุ่งต้านทานความพยายามที่จะจัดขบวนรวมกลุ่มพันธมิตรเพื่อความมั่นคงระดับภูมิภาครูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งสามารถเป็นภัยคุกคามต่อความมุ่งมาดปรารถนาของชาวปาเลสไตน์ในการจัดตั้งรัฐของตนเอง ตลอดจนอาจเป็นภัยคุกคามต่อความทะเยอทะยานของอิหร่าน ที่เป็นผู้หนุนหลังรายหลักของฮามาส

การโจมตีที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ (7 ต.ค.) ซึ่งถือเป็นการบุกรุกล้ำเข้าไปในอิสราเอลครั้งใหญ่ที่สุดในรอบระยะเวลาหลายสิบปี อยู่ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีความเคลื่อนไหวอันคึกคักที่สหรัฐฯ หนุนหลังอยู่ ซึ่งมุ่งผลักดันให้ซาอุดีอาระเบียตกลงสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นปกติกับอิสราเอล โดยที่วอชิงตันจะทำดีลด้านกลาโหมกับริยาดเป็นการแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ถ้าหากเรื่องนี้ประสบความสำเร็จมันก็ย่อมจะเป็นการแตะเบรกชะลอความคืบหน้าของการรอมชอมระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านที่ดำเนินอยู่ในช่วงหลังๆ นี้

ไม่ว่าพวกเจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ หรือแหล่งข่าวระดับภูมิภาครายหนึ่งต่างมองเห็นตรงกันว่า กลุ่มนักรบฮามาสที่จู่โจมเข้าไปในเมืองเล็กเมืองน้อยหลายแห่งทางภาคใต้ของรัฐยิว สังหารชาวอิสราเอลไปอย่างน้อย 250 คนและจับเชลยไปจำนวนหนึ่ง ยังกำลังส่งสารที่มีข้อความว่า ถ้าหากอิสราเอลต้องการความมั่นคงแล้ว ก็ไม่อาจทำเมินเฉยละเลยชาวปาเลสไตน์ และดีลใดๆ ที่ฝ่ายซาอุดีไปทำกับรัฐยิวย่อมจะส่งผลสร้างความเสียหายให้แก่การผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างพวกเขากับอิหร่าน

“ข้อตกลงทั้งหลายในเรื่องการปรับปรุงความสัมพันธ์ให้เข้าสู่ภาวะปกติที่พวกคุณ (บรรดารัฐอาหรับ) ไปลงนามเอาไว้ (กับอิสราเอล) จะไม่ทำให้การสู้รบขัดแย้งนี้สิ้นสุดลงไปหรอก” อิสมาอิล ฮานิเยะห์ (Ismail Haniyeh) ผู้นำของกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นผู้บริหารดินแดนฉนวนกาซา อยู่ในเวลานี้ บอกกับโทรทัศน์ข่าวอัล จาซีรา (Al Jazeera)

แหล่งข่าวระดับภูมิภาครายหนึ่งที่คุ้นเคยกับความคิดของอิหร่าน ตลอดจนของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ซึ่งเป็นกลุ่มอิสลามิสต์ชาวเลบานอนที่อิหร่านหนุนหลังอยู่ กล่าวเพิ่มเติมว่า “นี่คือข้อความที่มุ่งส่งไปถึงซาอุดีอาระเบีย ซึ่งกำลังคลานต้วมเตี้ยมมุ่งหน้าไปทางอิสราเอล และก็มุ่งส่งไปถึงฝ่ายอเมริกัน ที่กำลังสนับสนุนการปรับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติและสนับสนุนอิสราเอล เป็นข้อความซึ่งระบุว่าทั่วทั้งภูมิภาคนี้โดยรวมจะไม่มีความมั่นคงขึ้นมาได้ ตราบใดที่ชาวปาเลสไตน์ยังคงถูกกีดกันออกไปอยู่นอกสมการ”

“สิ่งที่เกิดขึ้นคราวนี้เป็นเรื่องที่ได้ผลออกมาเหนือความคาดหวังใดๆ ทั้งสิ้น” แหล่งข่าวรายนี้กล่าวต่อ พร้อมกับบอกด้วยว่า “วันนี้ถือเป็นจุดพลิกผันสำคัญจุดหนึ่งของการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้”

ฮามาสเปิดฉากโจมตีออกจากดินแดนกาซาในวันเสาร์ (7 ต.ค.) คราวนี้ ภายหลังช่วงเวลาหลายเดือนของความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นทุกที ในดินแดนเวสต์แบงก์ ที่ตกอยู่ใต้การยึดครองของฝ่ายอิสราเอล โดยที่ทางการอิสราเอลเพิ่มการบุกจู่โจมเล่นงานชาวบ้านปาเลสไตน์ในที่นั้นมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ฝ่ายปาเลสไตน์ก็เพิ่มการต่อสู้โจมตีตามท้องถนน ส่วนพวกผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวก็เข้าโจมตีหมู่บ้านต่างๆ ของชาวปาเลสไตน์ไม่หยุดหย่อน สภาพความเป็นอยู่ของชาวปาเลสไตน์เลวร้ายลงมากมายภายใต้คณะรัฐบาลอิสราเอลสายขวาจัดแข็งกร้าวของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ขณะที่กระบวนการสร้างสันติภาพอยู่ในภาวะนิ่งงันมาเป็นแรมปีแล้ว

เวลาเดียวกันนั้น ทั้งซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลต่างส่งสัญญาณว่าพวกเขาเคลื่อนเข้าใกล้การตกลงปรับสัมพันธ์สู่ภาวะปกติมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าตามปากคำของแหล่งข่าวหลายรายก่อนหน้านี้ การที่ซาอุดีอาระเบียมุ่งมั่นที่จะให้ได้ข้อตกลงด้านกลาโหมระหว่างวอชิงตัน-ริยาด เป็นสำคัญ มีความหมายเท่ากับว่าในการทำข้อตกลงปรับความสัมพันธ์เป็นปกติกับอิสราเอลนั้น พวกเขาไม่ได้ยืนยันต่อรองให้ฝ่ายรัฐยิวต้องยินยอมอ่อนข้ออะไรอย่างเป็นเนื้อเป็นหนังให้แก่ฝ่ายปาเลสไตน์

ลอรา บลูเมนเฟลด์ (Laura Blumenfeld) นักวิเคราะห์เรื่องตะวันออกกลาง อยู่ที่วิทยาลัยเพื่อการระหว่างประเทศศึกษาชั้นสูง (School for Advanced International Studies) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins) ในกรุงวอชิงตัน ชี้ว่า ฮามาสอาจจะรู้สึกว่าถึงเวลาต้องแสดงกำลังให้เห็น สืบเนื่องจากความรู้สึกที่ว่าตนกำลังเผชิญหน้ากับการถูกมองเมินอย่างไร้ความสำคัญ ในเวลาที่ความพยายามในการเดินหน้าไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอล-อาหรับในขอบเขตที่กว้างขวางยิ่งขึ้นกำลังมีความคืบหน้าไป

“ขณะที่ฮามาสเฝ้าดูฝ่ายอิสราเอลและซาอุดีเคลื่อนเข้าไปใกล้ที่จะทำข้อตกลงกันได้ พวกเขาก็ตัดสินใจว่า เอาล่ะ ไม่มีที่นั่งให้พวกผมบนโต๊ะเจรจาหรือ? งั้นก็ทำลายงานเลี้ยงคราวนี้เสียเลย” เธอกล่าว

สภาพแหลกยับเยินของอาคารหลังหนึ่งในเมืองกาซาซิตี้ ดินแดนฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ภายหลังการถล่มโจมตีทางอากาศของอิสราเอล

ผู้ร่วมไว้อาลัยทำพิธีสวดอ้อนวอนให้แก่ร่างไร้ชีวิตของสมาชิกหลายคนในครอบครัวอัล-ดอส ซึ่งถูกสังหารจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล บริเวณหน้าโรงพยาบาลอัล-ชีฟา ในเมืองกาซาซิตี้ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม
จังหวะเวลาของการโจมตีครั้งนี้

อุซามะ ฮัมดัน (Osama Hamdan) ผู้นำของกลุ่มฮามาสที่ประจำอยู่ในเลบานอน บอกกับรอยเตอร์ว่า การปฏิบัติการเมื่อวันเสาร์ (7) สมควรทำให้รัฐอาหรับทั้งหลายเกิดความตระหนักถึงความเป็นจริงขึ้นมาว่า การยอมรับข้อเรียกร้องต่างๆ ในด้านความมั่นคงของฝ่ายอิสราเอล ถึงอย่างไรก็จะไม่สามารถทำให้เกิดสันติภาพขึ้นมาได้

“สำหรับพวกที่ต้องการเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคนี้ จุดเริ่มต้นเลยก็คือจะต้องเป็นการยุติการยึดครองของอิสราเอล” เขากล่าว “โชคร้ายที่มี (รัฐอาหรับ) บางพวก เริ่มต้นฝันเพื่องจินตนาการว่า อิสราเอลสามารถทำหน้าที่เป็นปากประตูตรงไปยังอเมริกา ซึ่งจะทำหน้าที่พิทักษ์ปกป้องความมั่นคงของพวกเขาได้”

การโจมตีครั้งล่าสุดเมื่อวันเสาร์ (7 ต.ค.) คราวนี้ เกิดขึ้นเกือบจะในวันเดียวกับวาระครบรอบ 50 ปีของการเริ่มต้น “สงครามยมคีปปูร์” (Yom Kippur War) ในปี 1973 เมื่ออิสราเอลถูกกองทัพอียิปต์และกองทัพซีเรียร่วมมือกันโจมตี และต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักเพื่อความอยู่รอดของตน

ขณะเปรียบเทียบจังหวะเวลาของการโจมตีเมื่อวันเสาร์คราวนี้ กับสงครามปี 1973 อาลี บารากา (Ali Baraka) เจ้าหน้าที่ฮามาสกล่าวในเชิงสรุปบทเรียนว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่คณะผู้นำของกองกำลังฝ่ายต่อต้านจะต้องทำการตัดสินใจในห้วงเวลาที่ถูกต้องเหมาะสม เมื่อศัตรูพร้อมกับสัตว์ร้ายของพวกเขาถูกชักนำให้ไปสนใจที่เรื่องอื่นๆ

เขาบอกด้วยว่า การโจมตีล่าสุดซึ่งฮามาสเคลื่อนกำลังพลทั้งโดยทางอากาศ ภาคพื้นดินและทางทะเล เป็นสิ่งที่ทำให้ข้าศึก “รู้สึกช็อก และเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าข่าวกรองทางทหารของอิสราเอลล้มเหลวไม่สามารถค้นพบการปฏิบัติการคราวนี้ล่วงหน้า” อิสราเอลซึ่งมีความภาคภูมิใจในตนเองมาตลอด เกี่ยวกับความสามารถในการแทรกซึมเข้าไปในกลุ่มนักรบอิสลามิสต์และในการติดตามเฝ้าระวังกลุ่มเหล่านี้ กลับถูกโจมตีเล่นงานอย่างสุดเซอร์ไพรส์

ช่วงเวลาหลายๆ ปีภายหลังสงครามในปี 1973 อียิปต์ได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล และหลายๆ รัฐอาหรับอื่นๆ ก็ทยอยกันมีสายสัมพันธ์อย่างเป็นปกติกับรัฐยิว รวมทั้งรัฐริมอ่าวอาหรับบางรายที่อยู่ประชิดติดกับซาอุดีอาระเบียด้วย ทว่าชาวปาเลสไตน์กลับยังคงไม่สามารถเข้าใกล้ความมุ่งมาดปรารถนาของพวกเขาที่จะได้สถาปนารัฐของตนเองขึ้นมา โดยที่มันยังคงเป็นความหวังที่ดูห่างไกลเหมือนเดิม

“ขณะที่ฮามาสไม่น่าจะเป็นผู้ผลักดันตัวหลักของการโจมตีคราวนี้ แต่การปฏิบัติการของกลุ่มนี้ก็เป็นการส่งสัญญาณเตือนอย่างชัดเจนไปถึงฝ่ายซาอุดีว่า ประเด็นปัญหาปาเลสไตน์ไม่อาจถือว่าเป็นเพียงหัวข้อย่อยๆ อีกหัวข้อหนึ่งในการเจรจาเพื่อปรับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติ (กับอิสราเอล)” ริชาร์ด เลอบารอน ( Richard LeBaron) อดีตนักการทูตสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง ที่ปัจจุบันทำงานให้กลุ่มคลังสมอง “แอตแลนติก เคาน์ซิล” (Atlantic Council) เขียนเอาไว้เช่นนี้

จูสต์ ฮิลเตอร์มานน์ (Joost Hiltermann) ผู้อำนวยการฝ่ายตะวันออกกลาง ของกลุ่มคลังสมอง “อินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป” (International Crisis Group) ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งมองหาทางคลี่คลายการสู้รบขัดแย้งต่างๆ ก็มีความคิดเห็นในทำนองเดียวกัน เขามองว่าฮามาสลงมือโจมตีครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากความกลัวที่ว่า อุดมการณ์การต่อสู้ของปาเลสไตน์อาจจะด้อยค่าลดความสำคัญลงไปอีกแม้แต่ในสายตาของชาวปาเลสไตน์เอง ถ้าหากซาอุดีอาระเบียยอมรับรองและเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล

เขาชี้ต่อไปว่า จากการที่คาดหมายได้ว่าอิสราเอลต้องแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงยิ่งต่อการโจมตีเมื่อวันเสาร์ (7 ต.ค.) พวกรัฐอาหรับทั้งหลายน่าจะรู้สึกพวกตนมีพันธะผูกพันที่จะต้องใช้จุดยืนที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นต่อรัฐยิว เพื่อให้สอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนชาวอาหรับ

“ถ้าหากทั้งหมดเกิดขึ้นมาตามนี้ ผมก็จะขอคาดการณ์ฉากทัศน์ของสถานการณ์ว่าจะออกมาในลักษณะเดียวกับที่เราได้เห็นสันติภาพอันเย็นชาระหว่างอิสราเอลกับจอร์แดน หรือระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ เราจะจบลงด้วยความเย็นชาในความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบางทีอย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีการชะลอตัวไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหนก็ตาม ของการทำความตกลงกันระหว่างอิสราเอลกับซาอุดีอาระเบีย”

ทางด้าน สตีเวน คุก (Steven Cook) นักวิจัยอาวุโสอยู่ที่สภาเพื่อความสัมพันธ์ต่างประเทศ (Council on Foreign Relations) หน่วยงานคลังสมองทรงอิทธิพลด้านการต่างประเทศ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ทั้งที่นิวยอร์กและวอชิงตัน สำทับด้วยการชี้ถึงผลสำรวจที่แสดงให้เห็นว่า มีชาวซาอุดีเพียงแค่ 2% เท่านั้นที่สนับสนุนการมีความสัมพันธ์อย่างเป็นปกติกับอิสราเอล

“มันยังไม่ใช่เรื่องที่ผ่านไปยาวนานอะไรเลย” เขาตั้งข้อสังเกต “ที่ในซาอุดีอาระเบียยังมีการจัดรายการยาวเหยียดทางโทรทัศน์ซึ่งมุ่งรณรงค์ขอรับเงินบริจาคช่วยเหลือสนับสนุนพวกมือระเบิดฆ่าตัวตายของกลุ่มฮามาส”

สำนักงานใหญ่ในกรุงบรัสเซลส์ ของคณะกรรมาธิการยุโรป ที่เป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) ประดับธงชาติอิสราเอลขนาดยักษ์ เพื่อแสดงความสนับสนุนให้กำลังใจอิสราเอล ในภาพที่ถ่ายเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม
อิทธิพลของอิหร่าน

เจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งในคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ บอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า “ยังเร็วเกินไปจริงๆ ที่จะคาดเดา” เกี่ยวกับผลของการสู้รบขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาสคราวนี้ จะสร้างความกระทบกระเทือนอย่างไรต่อการปรับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติระหว่างอิสราเอลกับซาอุดีอาระเบีย

เจ้าหน้าที่ผู้นี้ซึ่งขอสงวนนาม พยายามมองโลกในแง่ดีว่า พวก “กลุ่มผู้ก่อการร้ายอย่างฮามาส” จะไม่สามารถทำให้ผลลัพธ์ใดๆ ในเรื่องนี้ถึงกับพังครืนลงไป แต่ก็ยอมรับว่ากระบวนการในการปรับสัมพันธ์ให้เป็นปกติระหว่างอิสราเอลกับซาอุดีอาระเบีย “ยังจะต้องเดินต่อไปอีกระยะหนึ่ง”

ตัวเนทันยาฮูเองก็เคยพูดเอาก่อนหน้านี้แบบกร่างๆ ว่า ไม่ควรปล่อยให้ฝ่ายปาเลสไตน์มีอำนาจวีโต้คัดค้านข้อตกลงสันติภาพใหม่ๆ ใดๆ ที่อิสราเอลจะทำกับพวกรัฐอาหรับ

มาถึงเวลานี้ แหล่งข่าวระดับภูมิภาคที่คุ้นเคยกับการเจรจาระหว่างซาอุดี-อิสราเอล-สหรัฐฯ ในเรื่องการปรับสัมพันธ์ให้เป็นปกติและการทำข้อตกลงกลาโหมระหว่างริยาดกับวอชิงตัน ให้ความเห็นว่าอิสราเอลกำลังทำผิดพลาดที่ปฏิเสธไม่ยอมอ่อนข้อใดๆ ให้แก่ฝ่ายปาเลสไตน์

ในการแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์โจมตีเมื่อวันเสาร์ ซาอุดีอาระเบียใช้ท่าทีเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่าย “ยุติการใช้ความรุนแรงในทันที” พร้อมกันนั้นก็บอกด้วยว่า “ราชอาณาจักรแห่งนี้ขอทบทวนความจำในเรื่องที่ตนได้มีคำเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าเกี่ยวกับอันตรายของสถานการณ์ที่จะเกิดการระเบิดตูมตามลุกลามขึ้นมา โดยเป็นผลลัพธ์ของการยังคงยึดครองและการยังคงเพิกถอนสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมายของประชาชนชาวปาเลสไตน์”

เวลาเดียวกัน อิหร่านก็ไม่ได้ปกปิดเป็นความลับใดๆ เรื่องที่ตนหนุนหลังฮามาส ทั้งในด้านการให้เงินทุนและด้านการติดอาวุธแก่กลุ่มนี้ รวมทั้งแก่กลุ่มอิสลามิก ญิฮาด ซึ่งเป็นองค์กรของพวกนักรบอิสลามิสต์ปาเลสไตน์เช่นกัน นอกจากนั้น ยังเรียกการโจมตีเมื่อวันเสาร์ว่า เป็นการกระทำเพื่อการป้องกันตนเองของชาวปาเลสไตน์

ยาห์ยา ราฮิม ซาฟาวี (Yahya Rahim Safavi) ที่ปรึกษาของผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี บอกว่า เตหะรานจะยืนหยัดเคียงข้างบรรดานักรบปาเลสไตน์ไป “จนกระทั่งมีการปลดแอกปาเลสไตน์และนครเยรูซาเลม”

เจ้าหน้าที่ปาเลสไตน์ผู้หนึ่ง ซึ่งใกล้ชิดกับพวกกลุ่มนักรบอิสลามิสต์กลุ่มต่างๆ กล่าวภายหลังการโจมตีของฮามาสเปิดฉากขึ้น ด้วยการระดมยิงจรวดจำนวนมากจากดินแดนฉนวนกาซา โดยยอมรับว่าอิหร่านมีความเกี่ยวข้องอย่างมากมายกับพวกจรวดที่ถูกนำมาใช้ยิงเข้าไปในอิสราเอลคราวนี้

“มันไม่ได้หมายความว่าพวกเขา (อิหร่าน) ออกคำสั่งให้เปิดการโจมตี (ในวันเสาร์) แต่มันไม่ได้เป็นความลับเลยว่าต้องขอบคุณอิหร่าน ทางฮามาสและกลุ่มอิสลามิก ญิฮาด จึงสามารถที่จะยกระดับคลังแสงอาวุธของพวกตน” เจ้าหน้าที่ผู้นี้บอก โดยขอให้สงวนนาม

การที่อิหร่านหนุนหลังกลุ่มปาเลสไตน์ 2 กลุ่มนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการซึ่งเตหะรานให้ความสนับสนุนบรรดาเครือข่ายกองกำลังอาวุธระดับท้องถิ่นและกลุ่มติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ตลอดทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยที่ฐานะดังกล่าวนี้เองทำให้อิหร่านสามารถปรากฏตัวได้อย่างทรงอำนาจทั้งในเลบานอน ซีเรีย อิรัก และเยเมน.เช่นเดียวกับที่กาซา

พวกนักวิเคราะห์ บอกว่าอิหร่านดูเหมือนได้ส่งสัญญาณอย่างหนึ่งออกมาในสัปดาห์ที่แล้วที่ว่า ดีลที่ซาอุดีไปทำกับสหรัฐฯ และอิสราเอล จะส่งผลกระทบกระเทือนการผ่อนคลายความตึงเครียดที่ริยาดทำกับเตหะรานอย่างแน่นอน เมื่อกลุ่มนักรบฮูตีในเยเมน ซึ่งอิหร่านหนุนหลังอยู่ ได้ก่อเหตุสังหารทหารบาห์เรนตายไป 4 คนในการโจมตีข้ามพรมแดนที่บริเวณใกล้ๆ ชายแดนซาอุดี-เยเมน การโจมตีนี้เป็นภัยอันตรายอย่างแรงต่อการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติการสู้รบขัดแย้งของเยเมนที่ดำเนินมายาวนานถึง 8 ปี

เดนนิส รอสส์ (Dennis Ross) อดีตผู้เจรจาในตะวันออกกลางของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันทำงานให้สถาบันวอชิงตันเพื่อนโยบายตะวันออกใกล้ ในกรุงวอชิงตัน พูดถึงการโจมตีเมื่อวันเสาร์ว่า “ทั้งหมดของเรื่องนี้คือการมุ่งป้องกันขัดขวางไม่ให้สหรัฐฯ-ซาอุดี-อิสราเอล สามารถผ่าทางตันใดๆ ได้สำเร็จนั่นเอง”

เช่นเดียวกับ ลินด์ซีย์ เกรแฮม (Lindsey Graham) วุฒิสมาชิกอาวุโสของสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันที่มีแนวทางหนุนหลังอิสราเอลอย่างสุดลิ่ม ซึ่งกล่าวว่า การโจมตี “วางแผนกันขึ้นมาเพื่อหยุดยั้งความพยายามสร้างสันติภาพระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิสราเอล”

“การมีข้อตกลงสันติภาพระหว่างประเทศทั้งสองนี้ จะถือเป็นฝันร้ายสำหรับอิหร่านและฮามาส” เขาบอก

(เนื้อความส่วนหนึ่งเพิ่มเติมมาจากบทวิเคราะห์เรื่อง Hamas violently forces detour from Saudi-Israel momentum by Shaun Tandon with Robbie Corey-Boulet in Riyadh ของสำนักข่าวเอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น