xs
xsm
sm
md
lg

อื้อฉาว!! กองทัพเรือสหรัฐฯ ยอมปลดประจำการ ‘เรือโจมตีชายฝั่ง’ หลังทุ่มเงินงบประมาณไปเป็นหมื่นๆ ล้านดอลลาร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


เรือโจมตีชายฝั่ง (littoral combat ship หรือ LCS) ชั้นฟรีดอม (Freedom-class) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่มีลำตัวเดียวทำด้วยเหล็กกล้า (ภาพจาก Wikipedia)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US Navy gives up the ghost on its failed ‘urban street fighter’
By STEPHEN BRYEN
13/09/2023

กองทัพเรือสหรัฐฯ ถลุงเงินงบประมาณไปเป็นหมื่นๆ ล้านดอลลาร์สำหรับการต่อเรือโจมตีชายฝั่งที่ไร้ประโยชน์ แทนที่จะนำมาพัฒนาพวกระบบป้องกันภัยขีปนาวุธที่ดีขึ้นกว่าเดิม หรือยานหุ่นยนต์เพื่อการปฏิบัติการในท้องทะเลเจเนอเรชันใหม่ๆ

เรือรบชนิดที่ไม่มีความชัดเจนว่าสร้างขึ้นมาต่อขึ้นมาเพื่ออะไร เรียกได้ว่าเป็นเรือที่ปราศจากพันธกิจ ปราศจากภาระหน้าที่

เรือรบอย่างนี้มีอยู่จริงหรือ และมันถูกต่อถูกสร้างขึ้นมาได้ยังไง? เรือโจมตีชายฝั่ง (littoral combat ship หรือ LCS) นี่ไง คือเรือรบชนิดนี้

มันกลายเป็นเรือรบที่ไม่สามารถทำภาระหน้าที่ดั้งเดิมที่มอบหมายให้แก่มันได้ เนื่องจากถ้าใช้เรือชนิดนี้ในการสู้รบ มันก็จะไม่สามารถรอดกลับมาได้อย่างแน่นอน ดังนั้นเงินทองงบประมาณเป็นหมื่นๆ ล้านดอลลาร์ที่ทุ่มเทให้แก่เรือรบประเภทนี้ ซึ่งกองทัพเรือสหรัฐฯ เคยวาดฝันว่า มันจะเป็นเรือลุยแหลกทำอะไรได้สารพัดทั้งการสู้รบและภารกิจอื่นๆ บริเวณน้ำตื้นใกล้ๆ ชายฝั่ง ในสไตล์ “นักสู้ข้างถนน” (urban street fighter) จึงกลายเป็นความสูญเสียไปเปล่าๆ แทนที่จะสามารถนำงบประมาณก้อนนี้ไปใช้ต่อเรือพิฆาตติดระบบป้องกันขีปนาวุธเอจิส (AEGIS) เพิ่มมากขึ้น หรือใช้จ่ายเพื่อทำให้กองทัพเรือมีอำนาจการยิง (firepower) สูงยิ่งขึ้น หรือใช้สนับสนุนการสร้างยานหุ่นยนต์ผิวน้ำและยานหุ่นยนต์กึ่งผิวน้ำ (subsurface) รุ่นใหม่ๆ

แทนที่จะทำเช่นนั้น กองทัพเรือสหรัฐฯ กลับเลือกที่จะต่อเรือรบซึ่งไม่ได้มีความจำเป็นและไม่สามารถนำมาใช้งานได้จริง กระทั่งเมื่อนำเอาเรือเหล่านี้เข้าประจำการ มันก็เสียบ่อยมาก สร้างความอับอายขายหน้าอย่างใหญ่หลวงให้แก่กองทัพเรือ และสร้างความเสียหายให้แก่เกียรติภูมิของสหรัฐฯ แต่ที่เลวร้ายย่ำแย่ยิ่งกว่านี้อีกก็คือ กองทัพเรือยังคงมีความพยายามเหลือเกินในการรักษาชีวิตให้เรือรบเหล่านี้ –ซึ่งในที่สุดแล้วก็ไม่ได้ผลอะไร— ด้วยการปรับปรุงยกระดับอำนาจการยิงของมัน โดยที่ไม่ได้ทำให้มันมีความน่าเชื่อถือและสามารถพึ่งพาอาศัยได้มากขึ้นแต่อย่างใด



เรือโจมตีชายฝั่ง (LCS) ชั้นอินดีเพนเดนซ์ (Independence-class) ซึ่งมีลำตัวเรือแบบไทรมาแรน (trimaran) โดยเฉพาะเมื่อมองจากด้านหลัง (ภาพจาก Wikipedia)
เรือโจมตีชายฝั่ง (LCS) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ นี้ มีด้วยกัน 2 แบบ 2 เวอร์ชัน แบบแรกเป็นเรือที่มีลำตัวเดียวทำด้วยเหล็กกล้า (steel-hulled ship) ขณะที่ส่วนบนของเรือเป็นอะลูมิเนียม ส่วนอีกเวอร์ชันหนึ่งซึ่งออกแบบเป็นเรือไทรมาแรน (trimaran) นั่นคือมี 3 ลำตัวเรียงกัน ทำด้วยอะลูมิเนียมทั้งหมด แต่ปรากฏว่าไม่มีเวอร์ชันไหนเลยที่สามารถกระทำภาระหน้าที่แต่แรกเริ่มของพวกมันได้ ซึ่งก็คือ “ได้รับการคาดหวังให้เป็นเรือโจมตีผิวน้ำที่สามารถกำบังตัว คล่องแคล่ว ต่อเชื่อมกันเป็นเครือข่าย ซึ่งสามารถที่จะยังความพ่ายแพ้ให้แก่ภัยคุกคามในลักษณะต่อต้านการเข้าถึงและอสมมาตรทั้งหลาย (anti-access and asymmetric threats) ในพื้นที่ชายฝั่ง”

การออกแบบให้เรือที่มีขนาดใหญ่และแล่นด้วยความเร็วสูง สามารถที่จะกำบังตัวเองได้นั้น ต้องถือเป็นแนวความคิดที่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรือดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ปฏิบัติการในแถบฟื้นที่ชายฝั่งซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับพวกท่าเรือ และอยู่ใกล้ๆ กับพวกฐานทัพและพวกโครงสร้างพื้นฐานของข้าศึก เนื่องจากแม้กระทั่งสถานีตรวจการณ์ที่มีความสามารถระดับครึ่งๆ กลางๆ ย่อมสามารถมองเห็นเรือเหล่านี้ขณะที่กำลังแล่นเข้ามาได้ด้วยตาเปล่าด้วยซ้ำ

ขณะที่ปฏิบัติการอยู่บริเวณชายฝั่ง เรือ LCS ทั้งหลายเหล่านี้มีจุดอ่อนที่อาจถูกขีปนาวุธต่อสู้เรือชนิดต่างๆ ของข้าศึกเล่นงานเอา –ตั้งแต่พวกโมเดลรุ่นเก่าๆ ของจีน เช่น ขีปนาวุธ C-802 (ปัจจุบันได้รับการปรับเปลี่ยนชื่อรุ่นเสียใหม่เป็น YJ-82) ซึ่งได้ถูกใช้ยิงโจมตีใส่เรือรบไอเอ็นเอส ฮานิต (INS Hanit) ที่เป็นเรือคอร์เวต (corvette) ชั้นซาอาร์ วี (Sa’ar V-class) ของกองทัพเรืออิสราเอล ทำให้มีลูกเรือเสียชีวิตไป 4 คน และทำให้เรือเสียหายใช้การไม่ได้ไปบางส่วน ในตอนนั้นเรือฮานิตกำลังปฏิบัติการอยู่แถวๆ ชายฝั่งห่างจากกรุงเบรุต เลบานอน ราวๆ 10 ไมล์ทะเล
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับขีปนาวุธแบบนี้ของจีนได้ที่ https://en.missilery.info/missile/c802)

เรือคอร์เวต “ฮานิต” ของกองทัพเรืออิสราเอล ขณะจอดในท่าเรือภายหลังถูกโจมตีเมื่อปี 2006 (ภาพจาก Wikipedia)
เรือฮานิตตกเป็นเหยื่อของขีปนาวุธซึ่งอันที่จริงเคลื่อนที่ได้ช้า ที่ยิงโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) แต่ถ้าหาก LCS เจอกับจีนหรือรัสเซีย ซึ่งมีขีปนาวุธความเร็วสูงระดับซูเปอร์โซนิก (ความเร็วเหนือเสียง) หรือกระทั่งไฮเปอร์โซนิก (ความเร็วเหนือเสียงตั้งแต่ 5 เท่าขึ้นไป) พวกมันก็จะไม่มีทางรอดเลย ว่าไปแล้ว เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ได้ลงความเห็นเอาไว้แล้วว่า LCS “ไม่สามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมของการสู้รบ” --ถึงแม้ทางกองทัพเรือยังคงแสดงทัศนะไม่เห็นด้วย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://news.usni.org/2013/01/17/navy-responds-pentagon-lcs-survivability-claims)

ทั้งจีนและรัสเซียต่างได้พัฒนาพวกขีปนาวุธต่อสู้เรือที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมีทั้งแบบที่สามารถที่จะยิงจากภาคพื้นดิน และที่ยิงจากทะเล

แต่จากที่พวกมันถูกออกแบบมา ทั้ง 2 เวอร์ชันของ LCS ต่างไม่ได้มีเขี้ยวเล็บอะไรนักในเรื่องอำนาจในการสู้รบ แต่ละเวอร์ชันต่างติดตั้งปืนยิงเร็วขนาด 57 มม. (rapid-fire 57mm gun) ตลอดจนติดตั้งขีปนาวุธ rolling airframe missile (RAM) แบบ RIM-116

พิสัยทำการของปืนยิงเร็ว 57 มม.อยู่ในระดับจำกัด และผลงานของมันเมื่อใช้ในการสู้รบก็ยังไม่เคยได้รับการทดสอบจากสถานการณ์จริง

มีรายงานว่า ปืน 57 มม. ซึ่งผลิตโดยบริษัทโบฟอรส์ (Bofors) ในสวีเดน ไม่มีประสิทธิภาพเมื่อใช้ในการต่อสู้กับพวกเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ หรือโดรน งานอย่างนั้นสำหรับ LCS แล้ว ก็เหลือแต่เพียงขีปนาวุธ Rolling Airframe Missile (RAM) เท่านั้น
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Bofors_57_mm_Naval_Automatic_Gun_L/70)

ขีปนาวุธ RAM ได้รับการออกแบบขึ้นมาเมื่อช่วงกลางทศวรรษ 1970 และถูกนำเข้าประจำการตั้งแต่ปี 1985 จวบจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ มันเสาะหาเป้าหมายโดยอาศัยการติดตามแสงอินฟราเรด เนื่องจากพวกขีปนาวุธนั้นบ่อยครั้งทีเดียวบินโดยอาศัยพลังงานจลน์ ไม่ได้มีการเผาไหม้เครื่องยนต์ขณะที่มันเคลื่อนเข้าไปใกล้เป้าหมายของพวกมัน ดังนั้น การพึ่งพาอาศัยร่องรอยสัญญาณของอินฟราเรดในการจับเป้าหมายและเข้าทำลาย จึงไม่ทำให้เกิดความแน่ใจว่าจะมีการสกัดกั้นและทำลายภัยคุกคามได้ทันท่วงที

เพื่อตอบโต้ท้าทายพวกข้อสังเกตที่ว่าแพลตฟอร์มนี้กำลังจะไปไม่รอดเสียแล้ว กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้หาทางช่วยรักษาชีวิต LCS ด้วยการเพิ่มอำนาจการยิงให้แก่แพลตฟอร์มนี้ ทั้งนี้กองทัพเรือเสนอให้เพิ่มขีปนาวุธ SeaRAM เข้าไปในการป้องภันภัยทางอากาศของเรือแบบนี้ รวมทั้งปืนยิงเร็ว CIWS รุ่นใหม่ด้วย ในกรณีถ้าหาก SeaRAM ยังล้มเหลวในการสังหารเป้าหมาย ระบบ SeaRAM เป็นแท่นยิงขีปนาวุธ RAM ที่มีลำกล้องสำหรับบรรจุและยิงได้คราวละ 11 ลูก โดยที่นำเอาคุณสมบัติบางอย่างของปืนยิงเร็ว Phalanx CIWS มาใช้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2020/07/us-navy-scuppers-littoral-combat-ship-program/)

แต่ถึงอย่างไรการอัปเกรดเหล่านี้ยังห่างไกลจากการสร้างความพึงพอใจ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่ามันจะต้องรับมือกับข้าศึกสมัยใหม่ที่มีขีปนาวุธต่อสู้เรือแบบต่างๆ อยู่ในครอบครองเยอะแยะไปหมด โดยมีทั้งที่ยิงจากภาคพื้นดิน จากทะเล และจากอากาศ

ระบบป้องกันภัยทางอากาศ “บารัค” ของอิสราเอล  (ภาพจากบริษัทอิสราเอล แอโรสเปซ อินดัสตรีส์ (IAI) บริษัททางด้านการบินและอวกาศและทางด้านกลาโหม
เรือคอร์เวตชั้น Sa’ar-V อิสราเอลที่มีขนาดเล็กกว่า LCS มาก มีระบบป้องกันภัยทางอากาศบารัค (Barak air defense system) ซึ่งเพิ่งได้รับการปรับปรุงยกระดับให้ดีขึ้นอีกด้วยเรดาร์ active electronically scanned radars (AESA) บารัค (เวลานี้ คือรุ่น บารัค 8) เป็นระบบป้องกันขีปนาวุธแบบยิงจากภาคพื้นดินสู่อากาศพิสัยปานกลาง ซึ่งสามารถยังความพ่ายแพ้ให้แก่ภัยคุกคามต่างๆ หลายหลาก รวมทั้งพวกขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missiles) ของข้าศึกด้วย
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบบารัค ได้ที่ https://missiledefenseadvocacy.org/defense-systems/barak-8-2/)

ขีปนาวุธระบบนี้ร่วมกันพัฒนาขึ้นมาโดยอิสราเอลกับอินเดีย อิสราเอลตอนนี้ยังกำลังเพิ่มสมรรถนะให้แก่ระบบบารัค โดยเติมเวอร์ชันสำหรับใช้ในทะเลของระบบไอออน โดม (Iron Dome) ของตน ที่มีชื่อเรียกว่า C-Dome นี่ทำให้แพลตฟอร์ม Sa’ar-V มีสมรรถนะดีขึ้นในการรับมือกับพวกขีปนาวุธร่อน (cruise missile) และโดรน
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับไอออน โดม ได้ที่ https://www.rafael.co.il/worlds/air-missile-defense/short-range-air-missile-defense/)

C-Dome เวลานี้ถูกนำมาใช้งานอยู่บนเรือคอร์เวตลำใหม่ที่สุดของอิสราเอล นั่นคือ เรือ ไอเอ็นเอส ออซ (INS-Oz) ความกังวลสนใจประการหนึ่งของอิสราเอลก็คือเรื่องการพิทักษ์คุ้มครองพวกแท่นขุดเจาะนอกชายฝั่งทะเลของตน ตลอดจนพวกโครงการที่อยู่ระหว่างการจัดทำกันในการสร้างสายท่อขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วจะให้การสนับสนุนอาณาบริเวณภาคใต้ของยุโรป

เรือฟริเกต ชั้น FREMM ในภาพนี้คือ เรือ การ์โล แบร์กามินิ (Carlo Bergamini) ของกองทัพเรืออิตาลี (ภาพจาก Wikipedia)
เนื่องจากแผนการของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในการอัปเกรดต่างๆ ให้แก่เรือ LCS ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุน พวกระบบอาวุธเพื่อการป้องกันที่มีการติดตั้งอยู่บนเรือ LCS อยู่แล้วในเวลานี้ จึงต้องถือว่าค่อนข้างย่ำแย่และล้าสมัย เมื่อเปรียบเทียบกับพวกระบบป้องกัน (พวกขีปนาวุธและปืน) ซึ่งติดตั้งอยู่ในพวกเรือฟริเกตชั้น FREMM ของทางยุโรป ตลอดจนในเรือรบขนาดเล็กกว่ามาก อย่างเรือคอร์เวตชั้น Sa’ar V ของอิสราเอล

เพื่อให้เห็นภาพสำหรับการเปรียบเทียบกัน เรือ LCS เวอร์ชันลำตัวเดียว ที่มีชื่อว่าชั้น ฟรีดอม (Freedom class) ซึ่งมีขนาดใหญ่โตเกินไปมากนั้น มีน้ำหนัก 3,500 ตัน ส่วนเวอร์ชันไทรมาแรนซึ่งมีขนาดเล็กกว่า และเรียกว่าชั้นอินดีเพนเดนซ์ (Independence class) หนัก 2,543 ตัน ขณะที่เรือคอร์เวตชั้น Sa’ar-V หนักเพียง 1,065 ตันเท่านั้น

สำหรับเรือฟริเกตชั้น FREMM (คำย่อในภาษาฝรั่งเศสและภาษาอิตาลี ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า European multi-purpose frigate เรือฟริเกตอเนกประสงค์ของยุโรป) ฝรั่งเศสและอิตาลีเป็นผู้ร่วมกันพัฒนาขึ้นมา โดยเรือฟริเกตชั้นนี้ติดตั้งระบบอาวุธทั้งเพื่อการป้องกันและเพื่อการรุกอย่างเพียบพร้อม ระบบการป้องกันภัยทางอากาศตัวหลักคือ ขีปนาวุธแอสเทอร์ 15 (Aster 15)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mbda-systems.com/product/aster-15-30/)

ขีปนาวุธแบบนี้ถูกออกแบบมาสำหรับใช้สกัดกั้นและทำลายภัยคุกคามทางอากาศรูปแบบต่างๆ เต็มพิกัด ตั้งแต่พวกเครื่องบินโจมตีที่มีสมรรถนะสูง อากาศยานไร้นักบิน และเฮลิคอปเตอร์ ไปจนถึงพวกขีปนาวุธร่อน ขีปนาวุธมุ่งทำลายอุปกรณ์ที่มีการแพร่คลื่นวิทยุ (anti-radiation missile) และกระทั่งขีปนาวุธต่อสู้เรือความเร็วเหนือเสียงที่มีวงโคจรเลียดผิวทะเล (sea-skimming supersonic anti-ship missile)

เรือฟริเกตชั้น FREMM ที่ทางอิตาลีต่อขึ้นมา ยังติดตั้งเพิ่มเติมด้วยขีปนาวุธต่อสู้เรือและโจมตีภาพพื้นดินแบบ TESEO (TESEO anti-ship and land attack missile) เรือทั้งของฝ่ายอิตาลีและฝ่ายฝรั่งเศสต่างมีการติดตั้งระบบปืนยิงเร็วพิเศษขนาด 76 มม. (76mm super rapid-fire gun systems) โดยเฉพาะของทางอิตาลียังอาจจะมีการใช้พวกกระสุน เป็นกระสุนนำวิถี DART guided ammunition อีกด้วย ซึ่งจะยิงด้วยระบบปืนยิงเร็วพิเศษ 76 มม. และเพิ่มเติมด้วยการใช้เรดาร์แบบใหม่ๆ คอยนำทางกระสุนนำวิถี ทั้งนี้ กระสุน DART สามารถใช้ต่อสู้ทั้งกับพวกภัยคุกคามทางอากาศและภัยคุกคามทางทะเล ตลอดจนพวกเป้าหมายบริเวณชายฝั่ง
(ดูเพิ่มเติมเรื่องระบบปืนยิงเร็ว 76 มม. ได้ที่ https://electronics.leonardo.com/en/products/76-62-super-rapid)
(ดูเพิ่มเติมเรื่องกระสุนนำวิถี DART ได้ที่ https://www.leonardo.com/en/press-release-detail/-/detail/the-strales-76mm-system-with-dart-guided-ammunition)

สหรัฐฯ ก็มีการเคลื่อนไหวเพื่อก้าวข้ามให้เลยไปจาก LCS เช่นกัน โดยกำลังมีการนำเอาดีไซน์ลำเรือของ FREMM มาประยุกต์ใช้เป็นเรือฟริเกตชั้นใหม่ของสหรัฐฯ ที่ใช้ชื่อว่า ชั้นคอนสเตลเลชัน (Constellation-class Frigates) เรือฟริเกตชั้นนี้ลำแรกๆ กำลังต่อขึ้นมาโดย ฟินแคนเทียริ-มาริเนตต์ มารีน (Fincantieri-Marinette Marine) ในเมืองมาริเนตต์ รัฐวิสคอนซิน
(เรือฟริเกตชั้นคอนสเตลเลชัน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.navy.mil/Resources/Fact-Files/Display-FactFiles/Article/2633250/constellation-class-ffg/)
(เกี่ยวกับกลุ่มฟินแคนเทียริ-มาริเนตต์ มารีน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://fincantierimarinegroup.com/)

เรือฟริเกตชั้นคอนสเตลเลชัน จะถูกนำมาใช้งานแทนที่ทั้งเรือโจมตีชายฝั่ง และทั้งเรือฟริเกต ชั้น FFG-7 หรือชั้นโอลิเวอร์ ฮาซาร์ด เพอร์รี (Oliver Hazard Perry-class) รุ่นเก่า ซึ่งมาถึงเวลานี้ถ้าไม่ถูกขายไปแล้ว ก็ถูกรื้อถอดชำแหละเป็นเศษเหล็ก

เรือฟริเกตชั้นคอนสเตลเลชันจะติดตั้งขีปนาวุธร่อนแบบโทมาฮอว์ก (Tomahawk) สำหรับการโจมตีภาคพื้นดินระยะไกล ขีปนาวุธแบบนี้วิวัฒนาการมาจากขีปนาวุธซี สแปร์โรว์ (Sea Sparrow) ออกแบบขึ้นมาเพื่อรับมือกับพวกขีปนาวุธข้าศึกที่มีความพลิกแพลงสูง และเป็นไปได้ที่จะรับมือกับขีปนาวุธ SM-2 missiles ผสมผสานด้วยสมรรถนะด้านการป้องกันภัยทางอากาศและการโจมตีพิสัยไกล เรือชั้นนี้จะยังคงใช้ปืนยิงเร็ว 57 มม. แทนที่จะใช้ปืนยิงเร็วพิเศษ 6 มม.ซึ่งมีพิสัยทำการไกลกว่าและมีความสามารถรอบตัวมากกว่า

“คอนสเตลเลชัน” เรือฟริเกตชั้นใหม่ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในภาพวาดของศิลปิน ทั้งนี้ เรือฟริเกตอเมริกันที่มีการนำเอาดีไซน์ลำเรือของ FREMM มาประยุกต์ใช้ชั้นนี้ ลำแรกๆ กำลังต่อกันอยู่ที่อู่ต่อเรือในรัฐวิสคอนซิน (ภาพจาก Wikipedia)
คาดหมายกันว่า คอนสเตลเลชันจะติดตั้งขีปนาวุธนาวัล สไตรก์ (Naval Strike Missile) ของนอร์เวย์ ซึ่งเป็นขีปนาวุธร่อนที่มีพิสัยทำการระยะไกล โดยสามารถใช้เล่นงานเป้าหมายทั้งที่อยู่ในทะเลและที่อยู่บนภาคพื้นดิน กล่าวกันว่าขีปนาวุธนาวัล สไตรก์ มีคุณสมบัติด้านกำบังตนเอง และสามารถเคลื่อนที่หลบหลีกได้อย่างคล่องแคล่วขณะพุ่งเข้าไปหาเป้าหมาย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.naval-technology.com/projects/naval-strike-missile-nsm/)

ขีปนาวุธแบบนี้ใช้จรวดเป็นตัวช่วยให้มันทะยานขึ้น และได้พลังจากเครื่องยนต์เทอร์โบเจ็ตขนาดเล็กๆ ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงอยู่มากกับพวกขีปนาวุธร่อนของรัสเซียรุ่นเก่าๆ ตลอดจนพวกที่ได้รับการพัฒนาให้มีความแตกต่างออกไป เป็นต้นว่า ขีปนาวุธร่อนของอิหร่าน อย่างเช่น คุดส์-2 (Quds-2) ที่เคยถูกนำมาใช้โจมตีพวกสิ่งปลูกสร้างทางด้านน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.iiss.org/online-analysis/military-balance/2020/12/cruise-missiles-in-the-middle-east/#:~:text=At%20least%20initially%2C%20the%20Quds-1%20was%20reliant%20on,the%20TJ-100%20but%20produces%20around%2015%25%20more%20power.)

คำถามใหญ่ข้อหนึ่งซึ่งโซลูชันทางนาวีทั้งหลายทั้งปวงกำลังเผชิญอยู่ก็คือว่า ความสามารถที่จะดำรงคงอยู่ได้ของพวกเขาเมื่อต้องประสบกับภัยคุกคามจำนวนมากซึ่งอาจจะผสมผสานกันเข้าโจมตีพวกเขา นี่รวมถึงทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ตอร์ปิโด และทุ่นระเบิดทางทะเล ไปจนถึงโดรน ขีปนาวุธร่อน ขีปนาวุธตามแบบแผน ตลอดจนขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิกที่มีความเร็วเหนือเสียงตั้งแต่ 5 เท่าขึ้นไป โดยที่ทั้งหมดเหล่านี้สามารถยิงออกมาจากภาคพื้นดิน ทะเล และอากาศก็ได้

เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา กองทัพเรือได้ทำพิธีปลดประการการเรือรบยูเอสเอส มิลวอกี (USS Milwaukee) ซึ่งก็คือ LCS-5 เรือโจมตีชายฝั่งมิลวอกี ถูกนำมาใช้งานในปี 2015 หมายความว่ามันใช้ได้เพียงแค่ 8 ปีเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ที่สุดเพื่อทำหน้าที่สกัดขัดขวางพวกค้ายาเสพติด

งบประมาณประจำปี 2023 กำหนดให้ปลดประจำการเรือโจมตีชายฝั่งชั้นฟรีดอม จำนวน 9 ลำ เวลานี้จึงมีเรือชั้นอินดีเพนเดนซ์ 14 ลำจากทั้งหมดที่ต่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว 16 ลำ บวกกับเรือชั้นฟรีดอมที่เหลืออยู่ ซึ่งยังคงถูกนำมาใช้งาน แต่จะใช้กันไปได้อีกนานแค่ไหนกลายเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะคาดเดากัน

ทำไมกองทัพเรือจึงยังคงกำลังทุ่มเทเงินงบประมาณและกำลังพลเข้าไปในเรือเหล่านี้อยู่ กลายเป็นคำถามปลายเปิดที่ต้องค้นหาคำตอบ

สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ ศูนย์เพื่อนโยบายความมั่นคง (Center for Security Policy) และสถาบันยอร์กทาวน์ (Yorktown Institute)

ลูกเรือของเรือยูเอสเอส อินดีเพนเดนซ์ (USS Independence หรือ LCS-2) เข้าร่วมพิธีปลดประจำการเรือโจมตีชายฝั่งลำนี้ที่เมืองซานดิเอโก ในปี 2021 โดยหลังจากนั้นเรือลำนี้ก็ถูกถอดถูกรื้อเป็นเศษเหล็ก (ภาพจากกองทัพเรือสหรัฐฯ)
หมายเหตุผู้แปล
หลังจากเอเชียไทมส์เผยแพร่ข้อเขียนของ สตีเฟน ไบรเอน เรื่อง “US Navy gives up the ghost on its failed “urban street fighter” (เก็บความเป็นภาษาไทยโดยใช้ชื่อเรื่องว่า อื้อฉาว!! กองทัพเรือสหรัฐฯ ยอมปลดประจำการ ‘เรือโจมตีชายฝั่ง’ หลังทุ่มเงินงบประมาณไปเป็นหมื่นๆ ล้านดอลลาร์) แล้ว ในเวลาต่อมายังได้เสนอข้อเขียนซึ่งเผยแพร่โดย “โปรพับลิกา” (ProPublica) สื่อออนไลน์เน้นทำข่าวเชิงสืบสวนที่เคยได้รับรางวัลพูลิตเซอร์มาแล้ว โดยข้อเขียนดังกล่าวนี้มุ่งสืบสวนเบื้องหน้าเบื้องทางการเมืองของความล้มเหลวอย่างน่าอัปยศมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์เรื่องนี้ ทั้งนี้ โปรพับลิกา เผยแพร่รายงานเรื่องนี้เป็น 2 เวอร์ชัน ผู้แปลขอเก็บความนำเอาเวอร์ชันฉบับย่อความสำคัญมาเสนอในที่นี้ สำหรับเวอร์ชันฉบับรายละเอียดที่ใช้ชื่อเรื่องว่า How US Navy wasted billions on ‘little crappy ships’สามารถติดตามอ่านได้ที่ https://asiatimes.com/2023/09/how-us-navy-wasted-billions-on-little-crappy-ships/


8 ประเด็นสำคัญในกรณีอื้อฉาวนาวีสหรัฐฯต้องยุติโครงการเรือโจมตีชายฝั่ง
โดย โจอาควิน เซเปียน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Takeaways from US Navy’s littoral combat ship fiasco
By JOAQUIN SAPIEN
15/09/2023

โครงการเรือรบของนาวีสหรัฐฯ ที่มีการใช้จ่ายกันแบบมือเติบอย่างไม่น่าเชื่อ จนทำให้สิ้นเปลืองเงินทองของผู้เสียภาษีไปหลายหมื่นล้านดอลลาร์ แต่แล้วกลับประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า โดยไม่สามารถปฏิบัติภาระหน้าที่ตามที่ให้คำมั่นเอาไว้

สรุปข้อเท็จจริงสำคัญๆ รวม 8 ประการจากรายงานเชิงสืบสวนฉบับเต็มของ “โปรพับลิกา” ว่าด้วยโครงการเรือโจมตีชายฝั่ง (littoral combat ship program) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินไปหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ทว่าล้มเหลวไม่สามารถสร้างผลงานตามที่ได้ให้สัญญาเอาไว้

1.ในเวลาจัดทำประมาณการเสนอต่อรัฐสภาสหรัฐฯ พวกเจ้าหน้าที่ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ต่างให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายในการต่อเรือโจมตีชายฝั่งนี้ต่ำกว่าความเป็นจริงไปอย่างมหาศาล โดยราคาที่ให้ไว้ดั้งเดิมมีการบานปลายออกมาเกินกว่าเท่าตัว

ตามตารางเวลาที่วางกันไว้ พวกบริษัทผู้รับเหมารับจ้างที่เซ็นสัญญากับทางการสหรัฐฯ ต้องต่อเรือเหล่านี้ให้สำเร็จเสร็จสิ้นได้อย่างรวดเร็วคราวละหลายๆ ลำ และด้วยราคาที่กำหนดเอาไว้แต่แรกคือลำละ 220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ – ซึ่งถือว่าถูกสำหรับเรือที่ใช้งานอยู่ในกองทัพเรือสหรัฐฯ เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งที่ทำให้ทึกทักกันว่ามันควรมีราคาถูกก็คือ การออกแบบเรือเหล่านี้ในหลายๆ ส่วนมีการยึดโยงอยู่กับดีไซน์ที่ใช้อยู่ในรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ หรือเรือเฟอร์รีใช้บรรทุกผู้โดยสาร แต่เมื่อกองทัพเรือเริ่มนำมาประยุกต์ใช้กับระดับมาตรฐานที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ราคาก็พุ่งพรวดขึ้นไป

2.แต่แรกเริ่ม เรือเหล่านี้ถูกกำหนดให้ติดตั้งระบบอาวุธที่สามารถปรับเปลี่ยนถอดเข้าถอดออกได้ เพื่อทำให้เรือชนิดนี้ปฏิบัติภาระหน้าที่ต่างๆ ได้หลากหลาย ทั้งทางด้านการสู้รบ การไล่ล่าเรือดำน้ำ และการตรวจจับทุ่นระเบิด ทว่ากองทัพเรือล้มเหลวไม่สามารถทำให้คุณสมบัติเช่นว่านี้เกิดขึ้นมาได้สำเร็จ

พวกอดีตเจ้าหน้าที่หลายรายบอกว่า กองทัพเรือรีบร้อนเร่งรัดให้ส่งมอบเรือ จนกระทั่งเรื่องนี้ถูกให้ความสำคัญเหนือกว่าความสามารถด้านการสู้รบของเรือเหล่านี้ ครั้นแล้วหลังจากใช้จ่ายเงินงบประมาณไปแล้วหลายร้อยล้านดอลลาร์ กองทัพเรือก็โยนทิ้งแผนการของตนที่จะประกอบติดตั้งเรือเหล่านี้ให้สามารถกระทำภารกิจการค้นหาและทำลายเรือดำน้ำ ขณะที่ระบบสำหรับการไล่ล่าทุ่นระเบิดใต้น้ำ ก็ยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนา

เมื่อปราศจากระบบอาวุธที่สามารถนำมาใช้งานได้ อดีตเจ้าหน้าที่รายหนึ่งบอกว่า เรือพวกนี้จึงเป็นเพียง “กล่องลอยน้ำอยู่ในมหาสมุทร” ในการตอบคำถามต่างๆ ซึ่งถูกสอบถามไป กองทัพเรือยอมรับว่า LCS ไม่มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้สู้รบกับพวกคู่แข่งระดับใกล้ๆ กัน อย่างเช่น จีน โดยระบุว่า เรือโจมตีชายฝั่ง “ไม่ได้ให้คุณสมบัติทางด้านความร้ายแรงของพลังทำลาย (lethality) หรือ ความสามารถที่จะอยู่รอดได้ (survivability) ที่จำเป็นสำหรับการสู้รบในระดับไฮเอนด์”

3.กะลาสีและนายทหารบนเรือเหล่านี้จำนวนหลายสิบคนใช้เวลาไปในการพยายามซ่อมแซมเรือ มากกว่าที่ใช้ในการแล่นเรือเสียอีก

เนื่องจากลูกเรือบนเรือเหล่านี้มีจำนวนน้อย จึงเป็นที่คาดหมายกันวานายทหารและพลทหารชั้นนำที่สุดเท่านั้นซึ่งสมควรจะเป็นผู้แล่นเรือเหล่านี้ แต่การที่เรือชนิดนี้เกิดเสียขึ้นมาบ่อยๆ ย่อมหมายความว่าเรือเหล่านี้ใช้เวลาอยู่ในอู่ในท่าเรือมากกว่าอยู่ในทะเล เนื่องจากความท้าทายเช่นนี้ มีรายงานว่ากะลาสีเรือบางส่วนต้องเสาะหาความช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิต ขณะที่โครงการ LCS ก็ขึ้นชื่อลือชาในการเป็นสถานที่ซึ่งอาชีพทางนาวีทั้งหลายไปถึงทางตัน แล้วเมื่อเวลาผ่านไป กองทัพเรือก็ต้องเพิ่มขนาดจำนวนลูกเรือที่ใช้ใน LCS อยู่ดี

4.กองทัพเรือต้องพึ่งพาอาศัยพวกผู้รับจ้างรับเหมามากเหลือเกินสำหรับงานบำรุงรักษาและงานซ่อมแซม จนกระทั่งบรรดากะลาสีและนายทหารไม่สามารถที่จะซ่อมบำรุงเรือของตนเองได้

พวกกะลาสีและนายทหารต่างไม่ได้รับอนุญาตให้แตะต้องบางส่วนบางชิ้นของอุปกรณ์ในเรือ เนื่องจากข้อตกลงอันสลับซับซ้อนที่ทำไว้กับประดาผู้รับจ้างรับเหมาของกองทัพเรือ การที่ต้องเจรจาต่อรองกันอย่างยุ่งยากซับซ้อนหมายความว่าบางทีอาจจะต้องใช้เวลากันเป็นสัปดาห์ๆ ทีเดียวกว่าที่จะนำเอาผู้รับจ้างรับเหมาลงมาทำงานบนเรือได้เสียที “ในสัปดาห์หนึ่งเฉลี่ยแล้วจะต้องใช้เวลาราว 90 ถึง 100 ชั่วโมงทีเดียวอยู่ที่อู่เรืออยู่ที่ท่าเรือ โดยที่พูดกันตามสัตย์ตามจริงเลยนะ ระหว่างนั้นก็คือไม่ได้ทำอะไรเลย” อดีตนายทหารผู้หนึ่งเล่าถึงสมัยที่เขายังทำงานอยู่กับ LCS กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ กองทัพเรือเพิ่งเพิ่มปริมาณงานบำรุงรักษาที่มอบหมายให้เหล่ากะลาสีเป็นผู้ทำ

5.กรณีเรือ LCS เกิดเสียกลางทะเล ซึ่งกลายเป็นข่าวเกรียวกราวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อตอนปลายปี 2015 กลายเป็นเรื่องที่เผยให้เห็นถึงความจำกัดต่างๆ ของเรือชนิดนี้ ตลอดจนความจำกัดของลูกเรือของเรือเหล่านี้

ช่วงปลายปี 2012 เรือยูเอสเอส มิลวอกี (USS Milwaukee หรือ LCS-5) เกิดเสียกลางทะเลขณะกำลังเดินทางกลับท่าเรือต้นทางของตน เรื่องนี้มีความหมายเท่าๆ กับรถยนต์ใหม่เอี่ยมคันหนึ่งต้องจอดเสียแน่นิ่งบนเส้นทางที่ขับออกมาจากโชว์รูมขายรถนั่นแหละ ต่อมา ในเดือนมกราคม 2016 เรือยูเอสเอส ฟอร์ตเวิร์ธ (USS Fort Worth หรือ LCS-3) ก็เสียเช่นกันหลังจากกะลาสีจำนวนหนึ่งซึ่งเหน็ดเหนื่อยหมดแรง ไม่ได้ปฏิบัติตามกระบวนวิธีกิจวัตร ทำให้กองทัพเรือต้องเสียเงินซ่อมเป็นจำนวนหลายล้านดอลลาร์ อีกหลายเดือนต่อมา เรือยูเอสเอส ฟรีดอม (USS Freedom หรือ LCS-1) เจอปัญหาเครื่องยนต์เสียหายหนักเนื่องจากมีน้ำทะเลรั่วไหลเข้าไป

จากนั้นเป็นคราวของเรือ ยูเอสเอส โคโรนาโด (USS Coronado หรือ LCS-4) มีปัญหากับเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงของเรือ ตามมาด้วย ยูเอสเอส มอนต์โกเมอรี (USS Montgomery หรือ LCS-8) ที่ไปชนกับเรือลากจูงลำหนึ่ง จากนั้นลำตัวเรือก็เกิดแตกร้าวภายหลังชนเข้ากับล็อกตัวหนึ่งขณะแล่นอยู่ในคลองปานามา เหตุการณ์เหล่านี้แต่ละเหตุการณ์กลายเป็นการเพิ่มความอับอายขายหน้าใหม่ๆ สดๆ ให้แก่โครงการนี้ ที่มุ่งหมายจะให้เป็นตัวขับดันหนุนส่งกองทัพเรือเข้าสู่อนาคตที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น

6.เหล่าผู้บังคับบัญชาระดับท็อปของกองทัพเรือ กดดันให้พวกผู้ใต้บังคับบัญชาต้องเดินเรือกันต่อไป แม้กระทั่งในเวลาที่บรรดาลูกเรือและตัวเรือรบไม่ได้มีความพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับการออกทะเล

ในกรณีของเรือยูเอสเอส ฟรีดอม พวกกะลาสีและนายทหารต่างมีความเข้าใจดีว่า พวกเขาต้องกระทำถึงขั้น “ไม่มีภารกิจที่ประสบความล้มเหลวเลย” และ “ ‘ไม่มีความกระหายใดๆ’ ที่จะอยู่ที่ท่าเรือกันต่อไปอีก” แม้กระทั่งเมื่อเครื่องยนต์เครื่องหนึ่งเกิดปัญหาน้ำทะเลรั่วเข้าไป ผู้บังคับการของเรือก็ยังคงนำเรือออกทะเล หลังจากนั้นแล้ว เรือรบลำนี้ก็จำเป็นต้องเข้ารับการซ่อมใหญ่ซึ่งใช้เวลา 2 ปีจึงเสร็จสมบูรณ์ และเสียค่าใช้จ่ายไปหลายล้านดอลลาร์ ในกรณีของเรือยูเอสเอส ฟอร์ตเวิร์ธ กะลาสีผู้หนึ่งร้องเรียนว่า “ไม่มีการหยุดพัก ไม่มีการลดหย่อนผ่อนโทษ มีแต่การเพิ่มภาระหน้าที่ประจำวันมากขึ้นเรื่อยๆ”

7.รัฐมนตรีทบวงทหารเรือ (Navy secretary) ผู้หนึ่งและพวกสหายของเขาในรัฐสภา ต่อสู้ผลักดันให้ต่อเรือ LCS เพิ่มขึ้นอีก ถึงแม้เกิดเหตุการณ์เรือที่มีใช้งานอยู่แล้วหลายๆ ลำประสบปัญหาเสียกลางทะเล และระบบอาวุธก็ล้มเหลว ลงท้ายก็จบลงด้วยการที่กองทัพเรือมีเรือชนิดนี้มากกว่าที่ต้องการ โดยที่ประมาณการกันว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายตลอดอายุของพวกมันเป็นเงินราวๆ 100,000 ล้านดอลลาร์

มีพวกเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสออกความเห็นแสดงความกังวลอยู่เป็นระยะๆ เกี่ยวกับความไร้ประสิทธิภาพของเรือชนิดนี้ กระนั้นทั้งพวกสมาชิกรัฐสภา เพนตากอน และเหล่าผู้นำของกองทัพเรือก็ยังคงยืนกรานให้ความสนับสนุน LCS ต่อไป ในบางกรณี พวกเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายให้ประเมินทบทวนผลการดำเนินงานของเรือรบเหล่านี้ ได้เห็นอาชีพการงานของพวกเขาต้องพังครืนลง หลังจากเผยแพร่การค้นพบของพวกเขาที่เต็มไปด้วยการตำหนิติเตียนอย่างตรงไปตรงมา

อดีตรัฐมนตรีทบวงทหารเรือ เรย์ มาบัส (Ray Mabus) กล่าวว่า กองทัพเรือถือเรื่องที่มีปัญหาเรือเสียบ่อยๆ เป็นเรื่องร้ายแรง “ทว่าเมื่อมองจากสิ่งที่เรากำลังพิจารณากันอยู่ กองทัพเรือดูเหมือนไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหาเชิงระบบ”

8.พวกสมาชิกรัฐสภาที่มีอู่ต่อเรืออยู่ในเขตเลือกตั้งของพวกเขา เป็นผู้ที่แสดงบทบาทสำคัญอย่างมากในการขยายโครงการนี้ออกไปเรื่อยๆ รวมทั้งคอยปกป้องโครงการนี้จากการถูกตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน

เมื่อตอนที่กองทัพเรือตัดสินใจที่จะทำสัญญาต่อเรือโจมตีชายฝั่งเป็นจำนวน 20 ลำขึ้นในพื้นที่ของรัฐ 2 รัฐในปี 2010 ปรากฏว่ากองทัพเรือต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างแข็งขันเต็มที่จาก จอห์น แมคเคน (John McCain) ส.ว.ของพรรครีพับลิกัน ที่เวลานั้นเป็นสมาชิกอาวุโสที่สุดของพรรคเสียงข้างน้อย (anking member) ในคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภา (Senate Armed Services Committee) แต่ปรากฏว่า ส.ว.ริชาร์ด เชลบี (Richard Shelby) ซึ่งอยู่ในพรรครีพับลิกันเหมือนกัน โดยเป็นตัวแทนของรัฐแอละแบมา ที่เป็นจุดที่กำลังมีการต่อเรือ LCS บางลำกันอยู่ ได้ยินยอมเปลี่ยนใจเข้าร่วมการแก้ไขร่างกฎหมายงบประมาณในนาทีสุดท้าย ซึ่งเปิดทางให้กองทัพเรือสามารถทำสัญญาต่อเรือ 20 ลำดังกล่าวได้ โดยที่โฆษกผู้หนึ่งของ เชลบี ได้แถลงในเวลานั้นว่า “เขาทำให้เป็นที่แน่ใจว่า มัน (สัญญาต่อเรือ) จะเกิดขึ้นมา”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.al.com/live/2010/12/congress_approves_lcs_purchase.html)

ส.ว.คาร์ล เลวิน (Carl Levin) จากรัฐมิชิแกน ที่สังกัดพรรคเดโมแครต ซึ่งตอนต้นๆ เคยแสดงความข้องใจเกี่ยวกับเรือรบชนิดนี้ ก็หันกลับมาสนับสนุนข้อแก้ไขร่างงบประมาณดังกล่าวนี้ เขากล่าวว่าแผนการที่จะต่อเรือ 10 ลำที่อู่ต่อเรือแห่งหนึ่งในรัฐวิสคอนซินซึ่งเป็นเพื่อนบ้านกับมิชิแกน จะเป็นการสร้าง “แรงขับดันอย่างสำคัญให้แก่เศรษฐกิจของภูมิภาคแถบนี้” แม้กระทั่งเมื่อในท้ายที่สุดกองทัพเรือมีข้อวินิจฉัยว่า ทางกองทัพจำเป็นต้องใช้เรือชนิดนี้เพียงแค่ 32 ลำ รัฐสภาก็หาทางจนมีการจัดสรรงบประมาณให้ต่อเพิ่มขึ้นอีก 3 ลำอยู่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น