xs
xsm
sm
md
lg

จาก ‘ยัวะ’ ไปเป็น ‘พยาบาท’ รมว.พาณิชย์สหรัฐฯ ต้องการเครื่องมือเพิ่มขึ้นและดีขึ้นสำหรับใช้กดหัวกำราบ ‘หัวเว่ย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา ***


จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ ขณะไปให้ปากคำแก่คณะกรรมาธิการการพาณิชย์, วิทยาศาสตร์, และการขนส่ง ของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2023 ที่ผ่านมา
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Raimondo wants more and better tools to curb Huawei
By JEFF PAO
06/10/2023

รัฐมนตรีพาณิชย์ จีนา ไรมอนโด ของสหรัฐฯ จากที่ในตอนแรก “รู้สึกอารมณ์เสีย” ตอนที่หัวเว่ยเปิดตัวสมาร์ทโฟน เมต60 โปร ของตน โดยใช้ชิปขนาด 7 นาโนเมตร ซึ่งสามารถผลิตขึ้นเองภายในประเทศจีนท่ามกลางความพยายามสกัดกั้นอย่างเอาเป็นเอาตายของวอชิงตัน มาถึงเวลานี้เธอบอกว่ากำลัง “รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง”

สหรัฐฯ ประกาศก้องจะเสริมเครื่องมือใหม่ๆ และเพิ่มทรัพยากรให้มากขึ้นอีกเพื่อบังคับใช้ระบบควบคุมการส่งออกของตน หลังจาก หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ยักษ์ใหญ่เทคของจีนทั้งๆ ที่โดนแซงก์ชันอย่างหนักกลับยังคงสามารถเจาะฝ่าการสกัดกั้น ด้วยการผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตรเมื่อเร็วๆ นี้

รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ จีนา ไรมอนโด (Gina Raimondo) กล่าวในการให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมว่า รายงานเกี่ยวกับการที่หัวเว่ยผ่าทางตันในเรื่องชิป เป็นเรื่องที่ “ทำให้รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.huaweicentral.com/us-commerce-chief-says-huawei-chip-breakthrough-news-is-incredibly-disturbing/)

ไรมอนโดบอกว่าจำเป็นต้องมีทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นสำหรับบังคับใช้มาตรการควบคุมการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดของวอชิงตันในการทำสงครามชิปกับจีน เธอกล่าวด้วยว่า กระทรวงของเธอควรได้รับอำนาจมากขึ้นอีกในการตรวจสอบว่าธุรกรรมทางเทคโนโลยีใดบ้างที่อาจสร้างความเสี่ยงในด้านความมั่นคงแห่งชาติ

เธอยกตัวอย่างเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ลงโทษปรับเป็นเงินก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของกระทรวงต่อบริษัทสหรัฐฯ แห่งหนึ่งโทษฐานขายข้าวของให้แก่ หัวเว่ย โดยไม่ได้รับใบอนุญาต

ทั้งนี้ เธอกำลังอ้างอิงถึงกรณีซึ่งเกิดขึ้นในเดือนเมษายน เมื่อ ซีเกต เทคโนโลยี (Seagate Technology) ตกลงยินยอมจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อประนอมยอมความกับทางเจ้าหน้าที่รับผิดชอบสหรัฐฯ จากการที่บริษัทจัดส่งฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (hard disk drives) เป็นมูลค่ามากกว่า 1,100 ล้านดอลลาร์ให้แก่ หัวเว่ย ในปี 2021 โดยที่ไม่มีใบอนุญาต

ขณะที่ เหอ เหวินผิง (He Wenping) นักวิจัยซึ่งทำงานอยู่กับบัณฑิตยสภาทางสังคมศาสตร์ของจีน (Chinese Academy of Social Sciences) และเป็นคอมเมนเตเตอร์ผู้หนึ่งให้แก่สถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (China Central TV หรือ CCTV) พูดแสดงความคิดเห็นเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่วันที่ 5 ตุลาคม ว่า “การเปิดตัวโทรศัพท์มือถือ 5จี รุ่นใหม่ของหัวเว่ย เป็นบทพิสูจน์ว่า ประสิทธิภาพของการควบคุมฉุดรั้งภาคชิปจีนของสหรัฐฯ นั้น ไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจแต่อย่างใด”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://view.inews.qq.com/k/20231005A03Y1S00?no-redirect=1&web_channel=wap&openApp=false)

เธอบอกด้วยว่า ข้อเท็จจริงที่สหรัฐฯ ต้องประโคมข่าวความพยายามของตนในการเล่นงานบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งได้ละเมิดมาตรการควบคุมของกระทรวงพาณิชย์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าวอชิงตันมีความปรารถนาอย่างร้อนรุ่มขนาดไหนในการควบคุมปิดล้อมการพัฒนาทางเทคโนโลยีของประเทศจีน

“สหรัฐฯ รู้สึกกระวนกระวายขณะที่ตนไม่สามารถกำราบการพัฒนาของจีนให้อยู่หมัด แต่จะไม่ยอมรับเรื่องนี้” เหอระบุไว้ในข้อเขียน “หลังจากเห็นจีนสามารถผ่าทางตัน ไรมอนโดยังคงเลือกไม่ยอมเผชิญหน้าความเป็นจริง แต่จะพยายามกำราบภาคชิปของจีนเพิ่มมากขึ้นอีก”

เธอกล่าวว่า สหรัฐฯ จะใช้พวกเครื่องมือทางการเมืองต่างๆ ต่อไปอีกเพื่อแทรกแซงการดำเนินงานเชิงพาณิชย์ ด้วยความประสงค์ที่จะรักษาฐานะนำหน้าของตนเอาไว้ให้ได้ตลอดกาล เธอกล่าวว่าสหรัฐฯ จะไม่ประสบความสำเร็จหรอก เพราะการแซงก์ชันมากขึ้นมีแต่ผลักดันจีนให้ทะลุทะลวงอุปสรรคได้สำเร็จมากขึ้นไปอีกเท่านั้น

จาก “อารมณ์เสีย” กลายเป็น “ไม่สบายใจอย่างยิ่ง”

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม –ระหว่างที่ ไรมอนโด กำลังเยือนจีน— หัวเว่ย ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่น เมต60 โปร (Mate60 Pro) ของตน ซึ่งใช้ชิปโปรเซสเซอร์ คิริน 9000เอส (Kirin 9000s) ที่บริษัทพัฒนาขึ้นมาเอง

จากนั้น เทคอินไซต์ส (Techinsights) บริษัทวิจัยด้านเทคสัญชาติแคนาดา แถลงในวันที่ 3 กันยายนว่า ชิป Kirin 9000s ผลิตออกมาโดยบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป (Semiconductor Manufacturing International Corp หรือ SMIC) ผู้ผลิตชิประดับท็อปของแดนมังกร

สื่อจีนรายงานว่า SMIC ซึ่งปัจจุบันนำโดย เหลียง ม่งซง (Liang Mong-song) อดีตวิศวกรของ TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company Limited) ได้ใช้เทคโนโลยีการประมวลผล N+2 processing ของตนในการทำชิป 7 นาโนเมตรให้แก่หัวเว่ย ถึงแม้การผลิตอาจจะมีต้นทุนสูงเนื่องจากจำเป็นต้องใช้เครื่องจักรพิมพ์ลายบนแผ่นชิป (lithography equipment) รุ่นซึ่งใช้เทคโนโลยีดีฟอัลตราไวโอเล็ต (deep ultraviolet หรือ DUV) ที่เป็นระดับรองๆ ลงมาไม่ใช่รุ่นก้าวหน้าที่สุดในโลกปัจจุบัน (ซึ่งก็คือเทคโนโลยีเอ็กซ์ตรีม อัลตราไวโอเล็ต Extreme ultraviolet lithography หรือ EUV ที่มีการสั่งสกัดห้ามส่งออกไปยังจีนอย่างเข้มงวด -ผู้แปล) พิมพ์ลายบนแผ่นชิปซ้ำๆ หลายหน

ในวันที่ 20 กันยายน ไรมอนโดบอกกับพวกสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ว่า เธอรู้สึก “ขุ่นเคืองอารมณ์เสีย” จากการเปิดตัว แมต60 โปร ในระหว่างทริปเยือนจีนของเธอ เธอกล่าวว่า ข่าวดีเพียงประการเดียวก็คือว่ายังไม่มีหลักฐานใดๆ ที่แสดงว่าจีนสามารถผลิตชิป 7 นาโนเมตร “จำนวนมากๆ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2023/09/20/tech/china-huawei-raimondo-investigation-intl-hnk/index.html#:~:text=On%20Tuesday%2C%20Raimondo%20told%20US,US%20House%20of%20Representatives%20hearing.)

เธอพูดด้วยว่า กระทรวงพาณิชย์ยังกำลังดำเนินการสอบสวนว่ามีบริษัทแห่งใดหรือไม่ที่หลบเลี่ยงการควบคุมส่งออกของสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือ หัวเว่ย ในเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี ในส่วนของทางสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ เองนั้น พวกเขาจำนวนมากแสดงท่าทีไม่ยอมอดทนรอคอยความคืบหน้าของผลการสอบสวน โดยในวันที่ 14 กันยายน สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ทรงอิทธิพลซึ่งสังกัดพรรครีพับลิกันกลุ่มหนึ่งจำนวน 10 คน ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานอุตสาหกรรมและความมั่นคง (Bureau of Industry and Security หรือ BIS) ของกระทรวงพาณิชย์ เรียกร้องให้ปิดประตูตาย ห้ามส่งออกข้าวของทุกชนิดไปให้แก่หัวเว่ย SMIC และหน่วยงานต่างๆ ในเครือของบริษัทเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงออนเนอร์ (Honor) บริษัทย่อยที่แยกตัวออกจากหัวเว่ย และเทกโอเวอร์ธุรกิจโทรศัพท์ราคาถูกของบริษัทไปตั้งแต่ปี 2020

คอมเมนเตเตอร์บางรายชี้ว่า มาตรการจำกัดควบคุมของสหรัฐฯ ที่ใช้อยู่เวลานี้ยังคงมีช่องโหว่เห็นชัดๆ หลายประการ เป็นต้นว่าไม่มีการสั่งห้ามพวกวิศวกรที่ไม่ใช่อเมริกันเข้าทำงานกับหัวเว่ย และ SMIC ที่ถูกขึ้นบัญชีดำแล้ว ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีการเฝ้าติดตามการขายต่อพวกเครื่องจักรอุปกรณ์ lithography ที่ถูกจัดส่งเข้ามาอยู่ในประเทศจีนแล้ว คอมเมนเตเตอร์เหล่านี้ชี้ด้วยว่า สหรัฐฯ ใช้เวลานานมากในการระบุตัวตนพวกเทรดเดอร์รายเล็กๆ ซึ่งเป็นต้นแหล่งของผลิตภัณฑ์สหรัฐฯ ที่ถูกจัดส่งไปยังบรรดาบริษัทจีนที่ถูกแซงก์ชัน

เทคโนโลยีทรงความสำคัญยิ่งยวด

เมื่อวันพฤหัสบดี (5 ต.ค.) สื่อนิกเคอิ (Nikkei) ของญี่ปุ่นเพิ่งรายงานข่าวว่า ไต้หวันกำลังเตรียมจะประกาศภายในปีนี้ เกี่ยวกับรายชื่อเทคโนโลยีสำคัญยิ่งยวดทั้งหลายที่ตนต้องการสกัดกั้นไม่ให้ไปถึงจีน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/Taiwan-tensions/Taiwan-to-tighten-tech-safeguards-against-China-this-year)

รายงานนี้ได้อ้างคำพูดของ เวลลิงตัน คู (Wellington Koo) เลขาธิการของสภาความมั่นคงแห่งชาติของไต้หวัน ที่ระบุว่าบัญชีดังกล่าวจะมีการจำกัดความอย่างชัดเจนเกี่ยวกับพวกเทคโนโลยีแกนหลัก ทั้งในภาคเซมิคอนดักเตอร์ เกษตรกรรม การบินและอวกาศ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (information and communications technology หรือ ICT)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คูบอกว่าไต้หวันต้องการป้องกันไม่ให้จีนแผ่นดินใหญ่ได้เทคโนโลยีออกแบบชิปของไต้หวัน ก่อนหน้านั้น คือ เมื่อวันอังคาร (3 ต.ค.) คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ที่เป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป ได้ประกาศบัญชีรายชื่อเทคโนโลยีสำคัญยิ่งยวดของตน พร้อมกับเรียกร้องให้พวกรัฐสมาชิกอียูทั้งหลายดำเนินการประเมินความเสี่ยงต่อความมั่นคงในเทคโนโลยีเหล่านี้ของพวกเขา

รายชื่อของเทคโนโลยีเหล่านี้ ได้แก่:
*เซมิคอนดักเตอร์ระดับก้าวหน้า (advanced semiconductors)
*ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence)
*ควอนตัม (quantum)
*ความมั่นคงทางไซเบอร์ (cyber security)
*การตรวจจับสัญญาณระดับก้าวหน้า (advanced sensing)
*อวกาศและจรวดขับดัน (space and propulsion)
*พลังงาน (energy)
*วัสดุระดับก้าวหน้า (advanced materials), เทคโนโลยีอุตสาหกรรมการผลิต และเทคโนโลยีการรีไซเคิล (manufacturing and recycling technologies),
*เทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology) และ
*วิทยาการหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ (robotics and autonomous systems)

การลงทุนของหัวเว่ย

ในอีกด้านหนึ่งเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา หัวเว่ยได้เผยแพร่ข้อคิดเห็นของ เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย ที่ได้แสดงเอาไว้ในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการแซงก์ชันต่างๆ ของสหรัฐฯ ต่อบริษัทของเขา

“การแซงก์ชันของสหรัฐฯ สร้างแรงบีบคั้นต่อพวกเราจริงๆ ทว่าแรงบีบคั้นก็ถือเป็นแรงจูงใจด้วยเช่นกัน” เหริน กล่าวเช่นนี้กับกลุ่มนักศึกษาที่เข้าร่วมรายการแข่งขันระหว่างประเทศในด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับมหาวิทยาลัย (International Collegiate Programming Contest) ในการประชุมพบปะกัน 2 ครั้งซึ่งมีขึ้นในวันที่ 21 และ 26 สิงหาคม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://news.10jqka.com.cn/20230919/c650754887.shtml)

“ในอดีตที่ผ่านมา เราสร้างแพลตฟอร์พื้นฐานของเราขึ้นมาในสหรัฐฯ แต่หลังจากสหรัฐฯ แซงก์ชันเราแล้ว เราก็ถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนมาสู่แพลตฟอร์มใหม่ กระบวนการนี้ยากลำบากทีเดียว” เหรินกล่าว

“หลังจากระยะเวลา 4 ปีของการทำงานหนักเหล่านี้ซึ่งมีลูกจ้างพนักงานเข้าร่วมด้วยจำนวน 200,000 คน เราสามารถจัดตั้งแพลตฟอร์มของพวกเราเองขึ้นมาโดยพื้นฐานแล้ว” เขากล่าว “ในอนาคต เราอาจจะไม่จำเป็นต้องทำงานบนพื้นฐานเดียวกันกับแพลตฟอร์มสหรัฐฯ แต่ยังจะมีพวกช่องทางการติดต่อระหว่างกันได้”

สิ่งที่ เหริน พูดนี้เป็นการอ้างอิงถึงการที่ หัวเว่ย จัดทำระบบปฏิบัติการฮาร์โมนีโอเอส (HarmonyOS) ขึ้นมา หลงจากบริษัทถูกสหรัฐฯ สั่งแบนห้ามใช้ระบบแอนดรอยด์ของกูเกิล (Google’s Android system) ในเดือนพฤษภาคม 2019 นอกจากนั้นบริษัทซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง แห่งนี้ยังได้เปิดตัวระบบปฏิบัติการยูเลอร์โอเอส (EulerOS) สำหรับแอปพลิเคชันระดับวิสาหกิจ (enterprise applications)

เขากล่าวต่อไปว่า ทีมงานของหัวเว่ยประกอบด้วยพวกนักวิทยาศาสตร์ชาวต่างประเทศและผู้ชำนาญการพิเศษชาวต่างประเทาศมากกว่า 7,000 คน ทีมงานที่ว่านี้มีอยู่ 13,800 คนที่ผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ และกว่า 100,000 คนเป็นนักศึกษาระดับท็อปที่ว่าจ้างจากระดับท้องถิ่น

เขาบอกว่าถ้าสหรัฐฯ สั่งห้ามนักศึกษาชาวจีนไม่ให้ศึกษาเล่าเรียนวิชาการบางวิชาในมหาวิทยาลัยสหรัฐฯ หัวเว่ยก็สามารถว่าจ้างผู้มีความรู้ความสามารถเฉพาะอย่างที่มาจากพวกมหาวิทยาลัยของจีนเท่านั้น

เขาพูดด้วยว่า หัวเว่ย ได้เริ่มให้ความใส่ใจกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในระดับพื้นฐาน และกำลังลงทุนเป็นจำนวนเงินประมาณ 3,000 ล้าน ถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ในแต่ละปีในแวดวงนี้ เขากล่าวว่า หัวเว่ยต้องการความได้เปรียบจากการมีฐานะเป็นผู้ก้าวเดินก้าวแรกไปก่อนคนอื่นๆ ให้มากยิ่งขึ้นอีก โดยอาศัยหลักประกันจากการได้ร่วมการเปลี่ยนแปลงสัมฤทธิผลทางวิทยาศาสตร์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์

ในงานอีกงานหนึ่งซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม เหริน ได้บอกกับ หลิว ย่าตง (Liu Yadong) อดีตบรรณาธิการใหญ่ของหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์รายวัน (Science Daily) ของจีนว่า หัวเว่ยอนุญาตให้พวกนักพัฒนาซอฟต์แวร์ใช้ทรัพยากรคลาวด์ (cloud resources) ของตนได้ฟรีๆ และสร้างแอปของพวกเขาขึ้นบนระบบปฏิบัติการ HarmonyOS และ EulerOS เพื่อที่จะสร้างระบบนิเวศใหม่ๆ ขึ้นมา
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://news.10jqka.com.cn/20230922/c650847074.shtml)

เขาบอกว่า หลังจาก “บริจาค” ทรัพยากรเหล่านี้ทั้งหมดแล้ว หัวเว่ยยังจะว่าจ้างผู้คนอีกหลายพันคน และลงทุนเป็นพันล้านหมื่นล้านหยวนเพื่อทำให้ระบบนิเวศของตนเติบโตยิ่งขึ้นทุกๆ ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น