xs
xsm
sm
md
lg

‘ฮีโร่’ ในสายตาจีนแผ่นดินใหญ่ ‘คนทรยศ’ ในมุมมองไต้หวันและสหรัฐฯ ‘เหลียง ม่งซง’ ผู้นำ SMIC ผลิตชิป 7 นาโนเมตรที่ใช้ในสมาร์ทโฟน ‘หัวเว่ย’ ได้สำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา ***


เหลียง ม่งซง ขณะยังทำงานอยู่กับ TSMC ณ งานเฉลิมฉลองรางวัลเมื่อปี 2003 ของบริษัทผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ด้านชิปของไต้หวันแห่งนั้น (ภาพจาก Wccftech) ทั้งนี้เขาลาออกจากที่นั่นในปี 2009 และต่อมาก็ถูก TSMC ตามฟ้องร้องว่าทำให้ความลับทางอุตสาหกรรมของบริษัทรั่วไหล
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US curbs on TSMC ex-engineer Liang ‘won’t hurt SMIC’
By JEFF PAO
15/09/2023

สหรัฐฯ อาจจะหาทางแซงก์ชันลงโทษ เหลียง ม่งซง พ่อมดด้านชิปชาวไต้หวัน จากการนำพาให้ SMIC ยักษ์ใหญ่เซมิคอนดักเตอร์ของจีน สามารถหลบรอดการสกัดกั้นของวอชิงตัน และทำชิปขนาด 7 นาโนเมตรที่ใช้ในสมาร์ทโฟนเมต60 โปร ของหัวเว่ยได้สำเร็จ แต่ถึงอย่างไรเขาก็เป็น “ฮีโร่” บนแผ่นดินใหญ่ไปเรียบร้อยแล้ว

วิศวกรด้านชิปชาวไต้หวันที่เป็นผู้นำบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป (Semiconductor Manufacturing International Corp หรือ SMIC) ของจีน ในการผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตร ซึ่งใช้อยู่ในสมาร์ทโฟน เมต60 โปร (Mate60 Pro) ของหัวเว่ย จะถูกแซงก์ชันจากสหรัฐฯ หรือไม่ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าประเด็นหนึ่งในไต้หวันและในจีนแผ่นดินใหญ่

หลังจากชิปหน่วยประมวลผลกลาง คิริน 9000เอส (Kirin 9000s) ที่อยู่ภายในเครื่อง เมต60 โปร ได้รับการเปิดตัวแบบสร้างเซอร์ไพรส์เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมแล้ว เหลียง ม่งซง (Liang Mong-Song) กรรมการผู้จัดการของ SMIC และอดีตวิศวกรซึ่งเคยทำงานให้ทั้ง TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company Limited) ของไต้หวัน และซัมซุง ของเกาหลีใต้ เวลานี้ได้รับการยกย่องสรรเสริญในประเทศจีน ว่าเป็นวีรบุรุษคนหนึ่งในอุตสาหกรรมชิป เคียงข้าง เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ผู้ก่อตั้งหัวเว่ย และจาง หรู่จิง (Zhang Rujing) ผู้ก่อตั้ง SMIC
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.163.com/dy/article/IEEPT4UT05560U8P.html)

ภายหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 7 กันยายนว่า กำลังรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับชิป 7 นาโนเมตรใน เมต60 โปร ตัวนี้อยู่ พวกเว็บไซต์ข่าวของไต้หวันต่างรายงานว่า บางที เหลียง อาจกำลังถูกตรวจสอบและมีหวังต้องเจอการแซงก์ชัน “สกู๊ปไต้หวันนิวส์” (Scoop Taiwan News) นิตยสารข่าวของไต้หวัน เผยแพร่ข้อเขียนชิ้นหนึ่งเมื่อวันจันทร์ (11 ก.ย.) ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “สหรัฐฯ กำลังสอบสวนชิปตัวใหม่ของหัวเว่ย และคนทรยศรายหนึ่งของ TSMC อาจถูกแซงก์ชัน”
(รายงานข่าวของพวกเว็บไซต์ข่าวไต้หวัน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://ec.ltn.com.tw/article/breakingnews/4423199)
(ข้อเขียนชิ้นนี้ของ สกู๊ปไต้หวันนิวส์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tw.news.yahoo.com/%E7%BE%8E%E8%BF%BD%E6%9F%A5%E8%8F%AF%E7%82%BA%E6%99%B6%E7%89%87%E5%BA%95%E7%B4%B0-%E5%8F%B0%E7%A9%8D%E5%8F%9B%E5%B0%87%E6%81%90%E9%81%AD%E5%88%B6%E8%A3%81-091452697.html)

“ใครเป็นผู้นำ SMIC ให้สามารถผลิตชิป 7 นาโนเมตรได้? ผู้คนจำนวนมากชี้นิ้วไปที่ เหลียง ม่งซง ผู้ซึ่งเคยถูก TSMC กล่าวหาตั้งแต่เมื่อหลายปีมาแล้วว่าปล่อยความลับทางอุตสาหกรรมรั่วไหล” ข้อเขียนชิ้นนี้ระบุ “ใครๆ ต่างสนใจใคร่รู้ว่าเขาจะถูกแซงก์ชันจากสหรัฐฯ หรือไม่”

“สหรัฐฯ สามารถที่จะยอมรับความพ่ายแพ้ในตอนนี้ได้ยังไง? มันเป็นไปไม่ได้” อดีตอธิบดีกรมวางแผนนโยบาย แห่งกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน เดล เจี๋ย เหวินจี๋ (Dale Jieh Wen-chieh) บอกกับสื่อไต้หวัน “สหรัฐฯ จะต้องเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่การแซงก์ชันที่กระทำกับหัวเว่ยมากขึ้นอีกอย่างแน่นอน โดยคราวนี้สหรัฐฯ จะโฟกัสที่การจำกัดลิดรอน SMIC”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://view.inews.qq.com/k/20230911V03Y8000?no-redirect=1&web_channel=wap&openApp=false)

“สหรัฐฯ อาจลงโทษ เหลียง โดยใช้อำนาจตามกฎหมายของสหรัฐฯ” เจี๋ย กล่าว “ถ้าหากเขาไม่ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ เขาก็จะไม่กระทบกระเทือนอะไร แต่ถ้าหากเขามีทรัพย์สินอยู่ในสหรัฐฯแล้ว เขาก็จะสูญเสียทรัพย์สินพวกนั้น”

ขณะที่ จูเลียน กั๋ว (Julian Kuo) อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติหยวน (Legislative Yuan) ของไต้หวัน และเป็นคอมเมนเตเตอร์ชื่อดังคนหนึ่งให้ความเห็นว่า “ตั้งแต่ที่ เหลียง เข้าทำงานกับ SMIC เขาต้องเตรียมตัวเอาไว้เรียบร้อยแล้วว่าต้องเจออะไรแบบนี้เข้าสักวันหนึ่งเมื่อเขาจะกลายเป็นศัตรูของพวกเพลเยอร์ในอุตสาหกรรมชิปในไต้หวันและในสหรัฐฯ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chinatimes.com/realtimenews/20230911000803-260407?chdtv)

“เหลียงทราบอย่างชัดเจนว่า เขาจะต้องถูกตามล่าไปจนตลอดชั่วชีวิตนี้” กั๋ว กล่าว “เงินเดือนของเขาอยู่ในระดับเพียงแค่ปีละ 1.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นเมื่อปี 2021 ซึ่งค่อนข้างต่ำทีเดียวสำหรับระดับของเขา ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา เขาบริจาคเงินเดือนของเขาให้แก่กองทุนของเขาที่มุ่งส่งเสริมด้านการศึกษา และอุทิศเวลาจำนวนมากในการบ่มเพาะคนหนุ่มสาวผู้มีความรู้ความสามารถ”

กั๋ว แสดงความสงสัยไม่เชื่อว่าเหลียงจะมีทรัพย์สินมูลค่ามากมายอะไรในสหรัฐฯ นอกจากนั้น เขาบอกว่า SMIC ได้มอบอพาร์ตเมนต์ราคา 22.5 ล้านหยวน (3.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้แก่เหลียง ซึ่งทำให้เขาไม่ต้องวิตกกังวลใจในเรื่องที่พักอาศัย

“ถ้าไต้หวันและสหรัฐฯ คิดว่า เหลียง เป็นไอ้วายร้าย สืบเนื่องจากสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทางจีนแผ่นดินใหญ่ก็กำลังพูดถึงเขาว่าเป็นฮีโร่” เขากล่าว

ฮีโร่หรือไอ้วายร้าย?

ในสัปดาห์นี้ ชาวเน็ตจีนนำเอาคลิปวิดีโอคลิปหนึ่งที่ยกย่องสรรเสริญเหลียงว่ามีคุณูปการมากมายต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน ออกมาเผยแพร่กันอย่างกว้างขวาง

ผู้บรรยายกล่าวในวิดีโอนี้ว่า เหลียง จะเจอการแซงก์ชันถ้ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ มีหลักฐานว่า ในส่วนตัวของเขาเองมีการละเมิดมาตรการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ ผู้บรรยายรายนี้บอกว่า การที่สหรัฐฯ แซงก์ชันเหลียง ก็ด้วยหวังจะเป็นการส่งสัญญาณให้โลกรับรู้ว่าใครก็ตามที่ละเมิดการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ แล้ว จะต้องเจอกับผลพวงต่อเนื่องที่เจ็บปวด

มีคอมเมนเตเตอร์อื่นๆ หลายคนที่ชี้ว่า ถ้าเหลียงถูกแซงก์ชัน เขาจะสูญเสียรายได้ที่เกิดจากสิทธิบัตร 500 ฉบับที่เขาถือครองอยู่ นอกจากนั้น วิศวกรชิปชาวต่างประเทศบางรายอาจจะเกิดความลังเลใจที่จะทำงานให้พวกผู้ผลิตชิปสัญชาติจีน

ขณะที่พวกคอมเมนเตเตอร์จีนแผ่นดินใหญ่บางคนโต้แย้งว่า มันไม่มีเหตุผลเลยที่จะแซงก์ชันเหลียง ในเมื่อมาตรการแซงก์ชันของสหรัฐฯ นั้นจำกัดห้ามปรามเฉพาะบุคคลสัญชาติสหรัฐฯ ไม่ให้ทำงานให้ผู้ผลิตชิปสัญชาติจีน แต่เหลียงเป็นชาวไต้หวัน นอกจากนั้นพวกเขาชี้ด้วยว่า เหลียงไม่ได้เข้าทำงานที่ SMIC จนกระทั่งถึงปี 2017 หรือ 8 ปีภายหลังเขาออกมาจาก TSMC แล้ว

เหลียง ม่งซง กรรมการผู้จัดการของ SMIC เคยเป็นพนักงานของ TSMC ในช่วงระหว่างปี 1992-2009 (ภาพจาก Baidu.com
เหลียง ม่งซง เกิดเมื่อปี 1953 ที่นครไทเป เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง (National Cheng Kung University) ของไต้หวัน แล้วไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ เขาได้ เดวิด ฮ็อดเจส (David Hodges) วิศวกรไฟฟ้าชาวอเมริกันเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และได้รับปริญญาเอกในปี 1988
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.businesstoday.com.tw/article/category/183015/post/202309070032/)

จากนั้นเขาก็เข้าทำงานกับบริษัท AMD ของสหรัฐฯ และเข้าร่วมในการพัฒนาชิปหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) K6 และ K7 ในปี 1992 เขาเดินทางกลับไต้หวัน และเข้าทำงานที่ TSMC

ในปี 2000 เหลียงได้รับฉายาว่าเป็น 1 ใน “6 อัศวิน” ที่ช่วยทำให้ TSMC สามารถพัฒนาชิป 130 นาโนเมตรขึ้นมาได้สำเร็จ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 เขาออกจาก TSMC ภายหลังไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง หลังจากผ่านระยะเวลา 2 ปีตามข้อห้ามที่ได้ตกลงทำไว้กับ TSMC ในเรื่องต้องไม่ทำงานกับคู่แข่งภายหลังออกจากบริษัท เขาก็เข้าทำงานกับซัมซุงโดยได้รับเงินเดือนปีละ 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในตอนนั้นเขาถูก TSMC ฟ้องร้องด้วยข้อหานำเอาความลับทางอุตสาหกรรมของ TSMC ไปปล่อยรั่วไหลให้แก่ซัมซุง ทั้งนี้มีรายงานเชิงวิเคราะห์ฉบับหนึ่งที่ทาง TSMC ให้ผู้เชี่ยวชาญจัดทำขึ้นมาที่ระบุว่า ชิปขนาด 45, 32 และ 28 นาโนเมตรของซัมซุง มีการใช้เทคโนโลยีคล้ายคลึงกับของ TSMC เหลียงเป็นฝ่ายแพ้คดีนี้ในปี 2015 ต่อมาในปี 2017 เขาเข้าทำงานที่ SMIC โดยในตอนแรกได้เงินเดือน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ตอนปลายปี 2020 เขาประกาศว่าได้ยื่นใบลาออก แต่ต่อมาก็เปลี่ยนใจหลังจาก SMIC ขึ้นเงินเดือนให้เขาเป็นปีละ 1.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งให้อพาร์ตเมนต์แก่เขาด้วย

ภารกิจในอนาคต

พวกผู้เชี่ยวชาญด้านชิปที่เว็บไซต์ Semianalysis.com เขียนเอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่เมื่อวันอังคาร (12 ก.ย.) บอกว่า SMIC ทำชิปขนาด 7 นาโนเมตรของตนด้วยการใช้กระบวนการซึ่งคล้ายๆ กับที่ใช้โดย TSMC ในปี 2018 พวกเขาบอกว่า SMIC “อย่างเลวร้ายที่สุดก็เพียงแค่ไม่กี่ปี” ที่ยังล้าหลัง TSMC และ “เราสามารถยกเหตุผลขึ้นมาโต้แย้งได้ว่า SMIC อย่างมากที่สุดก็ล้าหลัง อินเทล และซัมซุง เพียงแค่ 2-3 ปีเท่านั้น ถึงแม้มีการใช้มาตรการจำกัดลิดรอนต่างๆ”

พวกเขากล่าวว่า ช่วงห่างระหว่าง SMIC กับ TSMC หรืออินเทล และซัมซุง กระทั่งอาจจะถูกพิสูจน์ว่าแคบลงไปอีก ในเมื่อ SMIC มีคลังผู้มีความรู้ความสามารถทางวิศวกรรมชั้นเลิศทั้งที่ว่าจ้างจากภายในจีนแผ่นดินใหญ่เองและจากไต้หวัน

ขณะที่คอลัมนิสต์ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่กวางตุ้งผู้หนึ่งกล่าวในบทความที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 กันยายนว่า “เหลียงได้สร้างคุณูปการให้แก่การทะลุทะลวงทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมชิปทั้งในไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีนแผ่นดินใหญ่” และกล่าวต่อไปว่า “เครื่องจักรพิมพ์ลายบนแผ่นเวเฟอร์ (lithography) ของ ASML และ เหลียง คือสิ่งจำเป็นพื้นฐาน 2 ประการสำหรับจีนในการผลิตชิป 5จี”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://new.qq.com/rain/a/20230907A065CP00)

นักเขียนผู้นี้บอกว่า เหลียงใช้เวลาอย่างน้อยที่สุด 3 ปีในการช่วยเหลือ SMIC ให้บรรลุถึงเทคโนโลยี 7 นาโนเมตร ทว่ามันคงจะต้องใช้เวลายาวนานกว่านั้นมากกว่าที่จะประสบความสำเร็จในการผลิตชิป 5 นาโนเมตร ซึ่งจำเป็นต้องใช้เครื่องพิมพ์ลายบนแผ่นเวเฟอร์รุ่นที่ใช้เทคโนโลยีเอ็กซ์ตรีม-อัลตราไวโอเล็ต (extreme-ultraviolet (EUV) lithography)

เขากล่าวว่า เนื่องจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์สั่งห้ามไม่ให้ ASML ส่งออกเครื่อง lithography ระดับ EUV มายังจีน พวกผู้ผลิตชิปสัญชาติจีนทั้งหลายจึงต้องรอไปก่อนจนกว่าจะมีการเปิดตัวเครื่อง lithography ระดับ EUV ซึ่งเวลานี้กำลังพัฒนาโดยบริษัทจีนอย่าง ซั่งไห่ ไมโคร อิเล็กทรอนิกส์ อีควิปเมนต์ (Shanghai Micro Electronics Equipment หรือ SMEE)

เครื่อง lithography รุ่นที่ก้าวหน้าที่สุดของ SMEE เวลานี้คือ รุ่น SSA600/20 สามารถทำชิปขนาด 90 นาโนเมตรได้ ทั้งนี้ตามที่ระบุเอาไว้ในเว็บไซต์ของบริษัท ขณะที่รายงานข่าวของสื่อมวลชนบอกว่า จนถึงขณะนี้เครื่องรุ่นนี้ขายออกไปได้เครื่องเดียว ซึ่งถูกนำไปใช้ในการวิจัย
(ดูเว็บไซต์ของ SMEE ได้ที่ http://www.smee.com.cn/)

“ซีเคียวริตีส์ไทมส์” (Securities Times) สื่อทางด้านหลักทรัพย์ของจีน เคยรายงานเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมว่า SMEE วางแผนจะจัดส่งเครื่อง lithography ใช้เทคโนโลยี DUV ของตนรุ่นที่สามารถทำชิปขนาด 28 นาโนเมตรได้ให้แก่ลูกค้าเป็นเครื่องแรกภายในสิ้นปีนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.stcn.com/article/detail/930500.html)

อันที่จริงแล้ว เหลียงเคยพูดเอาไว้แล้วตั้งแต่เมื่อปี 2021 ว่า จีนจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริงที่ว่าตนไม่สามารถที่จะทำชิปขนาด 5 นาโนเมตรได้ ถ้าหากปราศจากเครื่อง lithography รุ่นเทคโนโลยี EUV เขากล่าวเอาไว้ตั้งแต่ตอนนั้นว่า มันเป็นเรื่องไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงที่จะไปวาดหวังว่าจีนสามารถที่จะอุดช่วงห่างจากเทคโนโลยีที่ตนมีอยู่กับฝ่ายตะวันตกได้อย่างฉับพลันทันที

มีคอมเมนเตเตอร์บางคนในเวลานี้พูดว่า ไมว่าสหรัฐฯ จะใช้มาตรการจำกัดลิดรอนใดๆ มาเล่นงาน เหลียง มันก็จะไม่ทำให้เขาลาออกจาก SMIC ตรงกันข้ามมันน่าจะช่วยเหลือให้เขามีชื่อเสียงเกียรติคุณเพิ่มมากขึ้นอีกในแผ่นดินใหญ่ พวกเขากล่าวว่าภารกิจต่อไปของ เหลียง ก็คือการช่วยเหลือให้ SMIC สามารถเพิ่มยิลด์ (yields) ของชิป 7 นาโนเมตรที่ผลิตด้วยเครื่อง lithography รุ่นใช้เทคโนโลยี DUV และการส่งผ่านทักษะความชำนาญของเขาไปยังวิศวกรรุ่นอายุน้อยกว่า

ด้วยการใช้เครื่องรุ่น DUV ยิลด์ของ TSMC ในการทำชิป 14 นาโนเมตร และ 7 นาโมเมตร อยู่ที่ 95-96% และ 80% ตามลำดับ เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง เซาท์ ไชน่า คอร์ป (Manufacturing South China Corp หรือ SMSC) บริษัทหนึ่งในเครือของ SMIC ขณะนี้อ้างว่ายิลด์ในการทำชิป 14 นาโนเมตรของตนก้าวหน้าไปถึงระดับ 95% แล้ว ทว่ายังไม่เคยเปิดเผยยิลด์ของการทำชิปที่มีขนาดเล็กกว่านั้น

สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างความเห็นของนักวิเคราะห์บางรายที่ประมาณการว่า กระบวนการในการทำชิป 7 นาโนเมตรของ SMIC ยังน่าที่จะมียิลด์ในอัตราต่ำกว่า 50%
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/technology/huaweis-new-chip-breakthrough-likely-trigger-closer-us-scrutiny-analysts-2023-09-05/)
กำลังโหลดความคิดเห็น