xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ใช่ลอดข้ามมาตรการแซงก์ชันได้อย่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง! ค้นพบ ‘ชิปเกาหลี’ อยู่ภายในสมาร์ทโฟนเมต60 โปรของ ‘หัวเว่ย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจฟฟ์ เปา ***


ร้านหัวเว่ยแห่งหนึ่งในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โฆษณาสมาร์ทโฟนรุ่น เมต60 ในภาพนี้ที่ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2023
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Korean chips deflate Huawei phone’s purity bubble
By JEFF PAO
12/09/2023

มายาภาพที่ว่าสมาร์ทโฟนรุ่น เมต60 โปร ของหัวเว่ย คือสัญลักษณ์ของการที่เทคโนโลยีจีนสามารถเอาชนะมาตรการแซงก์ชันอันทารุณของสหรัฐฯ โดยยังคงพัฒนาชิปเซ็ตระดับก้าวหน้าได้ด้วยตนเอง ต้องมีอันแตกสลายไป เนื่องจากค้นพบว่าในโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวยังคงติดตั้งด้วยชิปความจำที่มาจากเอสเคไฮนิกซ์ของเกาหลีใต้

บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ เพิ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถของตนในการหลบหลีกให้หลุดพ้นจากมาตรการแซงก์ชันของสหรัฐฯ ด้วยการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่น เมต60 โปร ของตนเมื่อเร็วๆ นี้ แต่จากการค้นพบในเวลาต่อมาว่า ความสำเร็จดังกล่าวนี้ที่เป็นไปได้ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากมีการใช้ชิปเกาหลี 2 ตัว ก็ทำให้พวกคอมเมนเตเตอร์ชาวจีนต้องออกมาเตือนกัน –โดยใช้ถ้อยคำที่มีสีสันน่าสนใจ – ว่าไม่ควรประเมินค่าความสำเร็จครั้งนี้ของหัวเว่ยแบบเลยเถิดเกินไป

เทคอินไซตส์ (TechInsights) บริษัทวิจัยสัญชาติแคนาดา บอกเมื่อวันที่ 3 กันยายนว่า ชิปหน่วยประมวลผลกลาง (central processing unit หรือ CPU) ของสมาร์ทโฟน เมต60 โปรนั้น ผลิตขึ้นโดยบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป (Semiconductor Manufacturing International Corp หรือ SMIC) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิปสัญชาติจีน

คอมเมนเตเตอร์ชาวจีนจำนวนมากพากันยกย่องสรรเสริญหัวเว่ย และ SMIC ที่สามารถผลิตชิปขนาด 7 นาโนเมตรเช่นนี้ ด้วยเทคโนโลยีประมวลผล N+2 (N+2 processing technology) ซึ่งไม่ได้เป็นการละเมิดมาตรการแซงก์ชันของวอชิงตัน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังมีท่าทีระแวงข้องใจ โดยแถลงว่าได้เริ่มการตรวจสอบพิสูจน์เรื่องนี้แล้ว

อย่างไรก็ดี หลังจากเทคอินไซตส์ ออกมาพูดเพิ่มเติมในวันที่ 8 กันยายนว่า พบชิปความจำ 2 ตัวที่ผลิตโดยบริษัท เอสเค ไฮนิกซ์ (SK Hynix) ของเกาหลีใต้ อยู่ภายในสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงของหัวเว่ยนี้ คอลัมนิสต์ชาวจีนบางคนก็ได้เปลี่ยนแปลงท่าทีของพวกเขา

คอลัมนิสต์เหล่านี้บอกว่า ขณะที่ความสำเร็จของ เมต60 โปร ได้เติมความกระตือรือร้นสาสมใจให้แก่ประชาชนจีน แต่มันก็เป็นเวลาอันสมควรที่จะยุติการส่งเสริมเชิดชูสมาร์ทโฟนตัวนี้กันได้แล้ว เนื่องจากมันอาจจะนำไปสู่การที่บริษัทหัวเว่ยจะถูกแซงก์ชันเล่นงานเพิ่มมากขึ้น

“สหรัฐฯ ได้ตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ตัวใหม่ของ หัวเว่ย อย่างละเอียดถี่ถ้วนในช่วงสองวันที่ผ่านมา” กวน ฉวน (Guan Quan) อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเหรินหมินแห่งประเทศจีน (Renmin University of China) ในกรุงปักกิ่ง กล่าวเอาไว้เช่นนี้ในบทความชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (11 ก.ย.) “วัตถุประสงค์ของสหรัฐฯ นั้นอันที่จริงแล้วมีความชัดเจนมาก พวกเขาต้องการค้นหาช่องโหว่ต่างๆ และประกาศใช้มาตรการแซงก์ชันที่เข้มงวดยิ่งขึ้นอีกกับหัวเว่ย”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://view.inews.qq.com/k/20230911A06UYV00?no-redirect=1&web_channel=wap&openApp=false)

กวน บอกว่าถ้าหัวเว่ยไม่สามารถใช้ชิปของเอสเคไฮนิกซ์ในโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใหม่ๆ ของตนในอนาคตได้อีกต่อไป บริษัทก็จำเป็นต้องได้เวลาสักระยะหนึ่งสำหรับการหาซัปพลายเออร์รายใหม่

“ระหว่างหัวเว่ย กับแอปเปิล ยังคงมีช่วงห่างในทางเทคโนโลยีอยู่ช่วงหนึ่ง หัวเว่ยจะสามารถสร้างการทะลุทะลวงเพิ่มมากขึ้นอีก และบรรลุถึงการพึ่งตนเองได้อย่างเต็มที่เลยหรือไม่นั้นยังคงเป็นสิ่งที่ไม่มีความชัดเจน” เขากล่าว “เรายังคงต้องระแวดระวังเอาไว้เสมอ และต้องไม่ดูเบา ต้องไม่ให้เกิดความประมาทขึ้นมา”

ในบทความชิ้นนี้ของเขา กวนใช้วลีภาษาจีนว่า “เผิง ซา” (peng sha) ในเวลาต้องการพูดถึงการยกย่องชมเชยอย่างเลยเถิด โดยเขากล่าวว่า “การเผิงซาหัวเว่ย มีแต่จะก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มมากขึ้นอีก ในขณะที่เวลานี้บริษัทแห่งนี้อยู่ตรงแนวหน้าสุดของสงครามชิป สิ่งที่จีนสมควรกระทำในตอนนี้ก็คือการอยู่เงียบๆ เฉยๆ เอาไว้ และตั้งใจสะสมพลังงานให้มากขึ้น” เขากล่าวต่อไปว่า หัวเว่ยเองก็ไม่ได้ต้องการให้ตัวเองเป็นข่าวเกรียวกราวครึกโครม

วลี “เผิง ซา” ประกอบด้วยคำ 2 คำ ซึ่งถ้าแปลตามตัวอักษรแล้ว คำแรกคือ ยกย่อง และคำหลัง คือ สังหาร วลีนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือภาษาจีนตั้งแต่โบราณ สามารถย้อนหลังไปไกลถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก มันมาพร้อมๆ กับเรื่องเล่าที่ว่าเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งได้โอ่อวดม้าของเขาที่มีความแข็งแรงมาก แต่ลงท้ายแล้วม้าตัวนี้ก็ตายด้วยความเหน็ดเหนื่อยหมดแรง สืบเนื่องจากผู้คนตามท้องถนนคอยปรบมือชมเชยและปลุกเร้าให้มันออกวิ่ง วลีนี้ได้กลายเป็นคำสะแลงในแวดวงอินเทอร์เน็ตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://baike.baidu.hk/item/%E6%8D%A7%E6%AE%BA/949058)

หวัง ซินซี (Wang Xinxi) คอลัมนิสต์ที่เขียนเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งใช้กวางตุ้งเป็นเป็นฐาน ก็พูดทำนองเดียวกันว่า เราควรหลีกเลี่ยงการเผิงซาหัวเว่ย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://new.qq.com/rain/a/20230909A07TG900)

“เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของหัวเว่ย” หวัง เขียนเอาไว้เช่นนี้ “เนื่องจากสงครามชิปยังไม่ได้มาถึงจุดจบ หัวเว่ยจึงควรอยู่เงียบๆ และพยายามเพิ่มความเข้มแข็งให้ตนเองต่อไป เราไม่ควรโอ่อวดจนเกินจริงเกี่ยวกับสมรรถนะของหัวเว่ย”

เขากล่าวว่า อาการกระเพื่อมจากกรณีความเชื่อมโยงกับเอสเคไฮนิกซ์นี้ คือสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่าระยะใหม่ของสงครามชิประหว่างสหรัฐฯ-จีนได้เริ่มต้นขึ้นมาแล้ว เขาบอกว่าหัวเว่ยจำเป็นต้องใช้เวลาและช่องทางสถานที่เพิ่มมากขึ้น จึงจะสามารถบรรลุการพึ่งตนเองได้อย่างเต็มที่ในด้านห่วงโซ่อุปทานของตน

ชิปความจำของจีน

เมื่อวันศุกร์ (8 ก.ย.) ที่ผ่านมา เทคอินไซตส์ แถลงว่า ชิ้นส่วนต่างๆ ที่หัวเว่ยนำมาผลิตเป็น เมต60 โปร แทบทั้งหมดเลยมีแหล่งที่มาจากภายในจีนเอง โดยมีข้อยกเว้นเฉพาะชิป 2 ตัวที่ใช้ของเอสเคไฮนิกซ์ ซึ่งเป็นชิปดีแรม (DRAM) ตัวหนึ่ง และชิปแนนด์ (NAND) อีกตัวหนึ่ง

ทางด้านเอสเคไฮนิกซ์ กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งว่า บริษัทได้ยุติการทำธุรกิจกับหัวเว่ยตั้งแต่ตอนที่สหรัฐฯ บังคับใช้ข้อจำกัดต่างๆ เพื่อเล่นงานบริษัทจีนแห่งนี้แล้ว บริษัทโสมขาวรายนี้บอกว่าเวลานี้ตนกำลังสอบสวนประเด็นปัญหานี้อยู่

“เอสเคไฮนิกซ์ยึดมั่นปฏิบัติตามระเบียบข้อจำกัดในการส่งออกของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างเคร่งครัด” บริษัทเกาหลีใต้รายนี้กล่าวย้ำในคำแถลง

สืบเนื่องจากแรงบีบคั้นจากสหรัฐฯ พวกผู้ผลิตชิปสัญชาติเกาหลีใต้ อย่างเช่น เอสเคไฮนิกซ์ และซัมซุง ได้ยุติการจำหน่ายชิปความจำและชิปแอปพลิเคชัน โปรเซสเซอร์ (application processors หรือ APs) ให้หัวเว่ย ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2020 เป็นต้นมา

พวกนักวิเคราะห์บอกว่า หัวว่ยอาจจะซื้อหาชิปเอสเคไฮนิกซ์โดยอาศัยฝ่ายที่สาม หรือใช้ชิปที่ได้ซื้อตุนเก็บเอาไว้ในคลังสินค้าของบริษัท จวบจนถึงเวลานี้หัวเว่ยยังไม่แสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

มีคอลัมนิสต์ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่มณฑลเหอหนานรายหนึ่ง เขียนเอาไว้ว่า หัวเว่ยใช้พวกชิปของเอสเคไฮนิกซ์ เนี่องจากชิปเหล่านี้อ่านและเขียนได้ด้วยอัตราความเร็วที่สูงกว่าพวกชิปซึ่งผลิตโดยบริษัทจีนสามารถทำได้ เขากล่าวว่า ชิปดีแรม ของเอสเคไฮนิกซ์ นั้นมีเซตติ้งแบบ LPDDR5 ขณะที่ชิปแนนด์ของบริษัทนี้อยู่ใน UFS4.0

ตามข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่แก่สาธารณชน ชิปดีแรมของบริษัทฉางซิน เมโมรี เทคโนโลยีส์ (ChangXin Memory Technologies หรือ CXMT) มีเซตติ้งแบบ LPDDR4 และชิปแนนด์ ของบริษัทหยั่งจื่อ เมโมรี เทคโนโลยีส์ คอมพานี (Yangtze Memory Technologies Co หรือ YMTC) อยู่ใน UFS3.1

อัตราความเร็วของชิป LPDDR5 นั้นรวดเร็วกว่าชิป LPDDR4 ราวๆ 50% ขณะที่อัตราความเร็วของชิป UFS4.0 ก็เร็วราวๆ สองเท่าตัวของ UFS3.1

สีว์ ซ่างเฟิง (Xu Shangfeng) นักเขียนที่ตั้งฐานอยู่ที่กวางตุ้ง เขียนไว้ในบทความที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (11 ก.ย.) ว่า เราไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับเรื่องที่สหรัฐฯ จะบังคับใช้มาตรการจำกัดตัดรอนต่อหัวเว่ยเพิ่มมากขึ้นอีก
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.fromgeek.com/wemedia/267-601573.html)

“ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยอยู่แบบเงียบๆ เก็บเนื้อเก็บตัว เสริมสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานต่างๆ ของตนเองให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และสามารถเจาะทะลวงอุปสรรคจำนวนมากทั้งใน ชิป ระบบปฏิบัติการ และแอปพลิเคชันของบริษัท” เขาบอก “ก่อนที่จะเปิดตัวโทรศัพท์ของตนเอง หัวเว่ยจะต้องมีการเตรียมแผนการแบ็กอัปบางอย่างเอาไว้เรียบร้อยแล้ว”

เขาไม่ได้พูดออกมาให้ชัดเจนว่าแผนแบ็กอัปของหัวเว่ยดังกล่าวนี้อาจจะประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่เขาบอกว่าเวลานี้สหรัฐฯ ไม่ได้เหลือไพ่ที่จะนำมาเล่นได้มากมายอะไรเลย

หมายเหตุผู้แปล


เมื่อวันอังคาร (12 ก.ย.) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าวโดยอ้างอิง “ซีเคียวริตี้ ไทมส์” (Securities Times) สื่อทางด้านตลาดหลักทรัพย์ของทางการจีน เสนอข่าวเอาไว้ในวันเดียวกันว่า หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ได้เพิ่มเป้าหมายการจัดส่งสมาร์ทโฟนในซีรีส์ เมต60 ของตนขึ้นอีก 20% สำหรับครึ่งหลังของปีนี้ โดยเวลานี้บริษัทคาดหมายว่า การจัดส่งสมาร์ทโฟนซีรีส์ใหม่นี้ในตลอดทั้งปี 2023 จะอยู่ที่อย่างน้อย 40 ล้านเครื่อง ทางด้านหัวเว่ย เองนั้นยังไม่ได้ให้คำตอบใดๆ เมื่อรอยเตอร์สอบถามขอความเห็นไป


(เก็บความจากเรื่อง Huawei raises Mate 60 shipment target: report ใน https://economictimes.indiatimes.com/tech/technology/huawei-raises-mate-60-shipment-target-report/articleshow/103612703.cms)
กำลังโหลดความคิดเห็น