xs
xsm
sm
md
lg

หรือ ‘สหรัฐฯ’ ล้มเหลวไม่อาจผลักดันให้ ‘เซเลนสกี’ ยอมเจรจากับ ‘รัสเซีย’?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


ทหารยูเครน 2 คนดื่มสุราเพื่อเป็นการให้เกียรติผู้วายชนม์ ในพิธีรำลึก 2 ทหารผู้ล่วงลับที่สุสานแห่งหนึ่งในเมืองคาร์คิฟ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน ทั้งนี้ มีรายงานหลายกระแสระบุว่า เวลานี้ยูเครนสูญเสียทหารวันละกว่า 1
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US fails to get Zelensky to negotiate with Russia
By STEPHEN BRYEN
20/09/2023

กระทั่งถ้าหากในการเยือนกรุงวอชิงตันปลายสัปดาห์นี้ เซเลนสกี ประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมรัฐสภาสหรัฐฯ ให้ยอมควักกระเป๋าช่วยเหลือสงครามยูเครนเพิ่มมากขึ้น มันก็อาจจะเป็นการไชโยโห่ร้องครั้งสุดท้ายของเขาก็เป็นได้ เนื่องจากความอดทนของพวกนักการเมืองชาวอเมริกันจำนวนมากดูจะอ่อนเปลี้ยลงทุกที

วอชิงตันรวมทั้งหุ้นส่วนในชาติสมาชิกนาโตบางราย ได้ใช้ความพยายามอย่างแรงกล้าเพื่อให้ทราบอย่างแน่นอนว่า จะนำเอาประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ไปวางอยู่บนเส้นทางทำข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซียได้หรือไม่ ปรากฏว่าความพยายามคราวนี้ประสบความล้มเหลว และการที่ เซเลนสกี เดินทางไปเยือนสหประชาชาติและกรุงวอชิงตันในปลายสัปดาห์นี้ ก็โดยตั้งจุดมุ่งหมายที่จะสร้างแรงสนับสนุนให้เขาได้ดำเนินสงครามต่อไป -- โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้ได้รับคำมั่นสัญญาจากรัฐสภาอเมริกันในการอนุมัติงบประมาณอีกก้อนหนึ่งมูลค่า 24,900 ล้านดอลลาร์ในรูปของความช่วยเหลือด้านต่างๆ และอาวุธใหม่ๆ สำหรับคลังแสงของยูเครน ตามที่คณะบริหารไบเดนยื่นเสนอไป
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.msn.com/en-us/news/politics/senate-gop-divided-about-whether-to-jam-house-over-ukraine-funding/ar-AA1gW3Jx)

สภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง (ตามกระบวนการของสหรัฐฯ) ต้องเป็นต้นทางของร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ทุกๆ ฉบับ เวลานี้กำลังมีการต่อสู้ต่อรองกันอย่างหนักหน่วงเกี่ยวกับการออกญัตติใช้งบประมาณฉบับปัจจุบันต่อไปก่อนเป็นการชั่วคราว (เรียกกันว่า continuing resolution หรือ CR) ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎร (ซึ่งเวลานี้มีพรรครีพับลิกันที่ครองเสียงข้างมากเป็นผู้ควบคุม) และประธานาธิบดี (โจ ไบเดน ที่สังกัดพรรคเดโมแครต) ยังไม่สามารถตกลงกันเกี่ยวกับรัฐบัญญัติงบประมาณฉบับถาวรกันได้ ทั้งนี้เพื่อที่หน่วยงานรัฐบาลกลางต่างๆ จะได้มีงบประมาณสำหรับดำเนินงานต่อไปพลางก่อน (และหลีกเลี่ยงจากสภาพที่หน่วยงานรัฐบาลกลางไม่มีเงินใช้จ่าย จึงจำเป็นต้องหยุดการปฏิบัติงาน ที่เรียกกันว่า “ชัตดาวน์”) โดยที่งบประมาณให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนมูลค่า 24,900 ล้านดอลลาร์นี้ ไม่ได้ปรากฏอยู่ในรายการของร่างญัตติ CR ใดๆ ที่ฝ่ายต่างๆ มีการเสนอกันออกมา อย่างน้อยก็จวบจนกระทั่งถึงวันที่เขียนข้อเขียนชิ้นนี้ (20 กันยายน 2023)
(ดูเพิ่มเติมข่าวการถกเถียงต่อรองกันเพื่อทำ CR ในเวลานี้ ได้ที่ https://www.theamericanconservative.com/deal-or-no-deal-continuing-resolution-edition/)

งบประมาณสำหรับช่วยยูเครนที่คณะบริหารไบเดนยื่นขอรอบล่าสุดนี้ ประกอบด้วย 13,100 ล้านดอลลาร์สำหรับความช่วยเหลือทางทหาร, 8,500 ล้านดอลลาร์ถูกระบุว่าสำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และอีก 2,300 ล้านดอลลาร์สำหรับ “ความช่วยเหลือด้านการจัดหาเงินกู้ และเพื่อกระตุ้นพวกผู้บริจาคโดยผ่านธนาคารโลก” ซึ่งก็ไม่ทราบว่าหมายถึงอะไรกันแน่

ก่อนออกจากกรุงเคียฟ เดินทางมาร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติและเยือนกรุงวอชิงตัน เซเลนสกีได้สั่งปลดรัฐมนตรีช่วยกลาโหมรวดเดียว 6 คน หนึ่งในจำนวนนี้คือ ฮันนา มัลยาร์ ในภาพนี้ ซึ่งเป็นบุคคลที่สื่อมวลชนตะวันตกคุ้นเคย เนื่องจากในช่วงหลังๆ นี้ เธอทำหน้าที่แถลงข่าวเกี่ยวกับการรุกตอบโต้ของยูเครน
ก่อนที่จะเดินทางออกจากเคียฟ ปรากฏว่า เซเลนสกี ได้ปลดรัฐมนตรีช่วยว่าการกลาโหมรวม 6 คนด้วยข้อกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชัน การกระทำเช่นนี้ของเขาดูจะมีการวางแผนดำเนินการเพื่อประสานหนุนช่วยคณะบริหารไบเดนซึ่งถูกกล่าวหาโจมตีหนักว่า กำลังจัดหาจัดส่งเงินทองไปให้ยูเครนโดยไม่ได้มีมาตรการตรวจสอบควบคุมใดๆ เลย ทำให้มีการขาดหายไปอย่างน่าฉงนเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ที่ผ่านมาคณะบริหารไบเดนสกัดกั้นความพยายามใดๆ ที่จะให้มีการสอบบัญชีความช่วยเหลือที่ให้แก่เคียฟเรื่อยมา
(เรื่องเซเลนสกีปลด 6 รัฐมนตรีช่วยกลาโหม ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.msn.com/en-us/news/politics/senate-gop-divided-about-whether-to-jam-house-over-ukraine-funding/ar-AA1gW3Jx)
(เรื่องคณะบริหารไบเดนถูกโจมตีไม่ตรวจสอบความช่วยเหลือที่ส่งให้ยูเครน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.theglobeandmail.com/world/article-graft-accusations-plague-top-zelensky-aides/)

ในอดีตที่ผ่านมา สหรัฐฯ นี่เองคือผู้ที่คัดค้านกระบวนการไปสู่สันติภาพในยูเครนอย่างแข็งขันไม่ว่าในรูปแบบใด ทว่าแรงค้านดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้าคลังแสงของสหรัฐฯ และของนาโตจะร่อยหรอลงจนแทบว่างเปล่า และก่อนหน้าที่ความพยายามจะโค่นล้ม วลาดิมีร์ ปูติน ต้องประสบความล้มเหลวลง แล้วเพื่อพยายามที่จะชดเชย วอชิงตันและนาโตก็ได้จัดส่งอาวุธมากมาย รวมทั้งจัดฝึกอบรมทหารยูเครนเพื่อให้เจาะทะลุทะลวงผ่านแนวป้องกันของฝ่ายรัสเซีย (ในการปฏิบัติการรุกตอบโต้ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน)
(คลังแสงอาวุธของสหรัฐฯ และนาโตร่อยหรอลงมาก ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.heritage.org/defense/report/rapidly-depleting-munitions-stockpiles-point-necessary-changes-policy#:~:text=U.S.%20munitions%20stockpiles%20are%20rapidly,more%20munitions%E2%80%94manufacturing%20takes%20years.)
(ความพยายามโค่นปูตินประสบความล้มเหลว ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.businessinsider.com/putin-coup-underway-impossible-to-stop-ukraine-military-intel-2022-5)

แต่แล้วการผ่าทางตันที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงยังคงไม่ได้เกิดขึ้นมา ถึงแม้ยูเครนทุ่มเทนำเอากองทหารที่สำรองเอาไว้ในทางยุทธศาสตร์ออกมาใช้แทบหมดสิ้นแล้ว กองทหาร 2 กองพลน้อยที่มีความสำคัญมาก ได้แก่ กองพลน้อยเคลื่อนที่ทางอากาศที่ 25 (25th Air Mobile) และกองพลน้อยโจมตีทางอากาศที่ 82 (82nd Air Assault) สูญเสียกำลังพลตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งนาโตเพิ่งจัดหาจัดส่งให้ไปเป็นจำนวนมากในแนวรบด้านซาโปริซเซีย (แนวรบด้านใต้ที่ยูเครนมุ่งหวังเจาะให้ผ่านแนวป้องกันของรัสเซีย เพื่อเคลื่อนทัพรุกต่อไปคุกคามทะเลอาซอฟและทะเลดำ) จนกระทั่งกองทหาร 2 หน่วยนี้อยู่ในสภาพไร้ประสิทธิภาพในการสู้รบ และถูกสั่งให้ถอนตัวออกไป
(เรื่องกองพลน้อยเคลื่อนที่ทางอากาศที่ 25 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://english.alarabiya.net/News/world/2023/09/13/Russia-rushes-new-military-elements-to-deploy-in-Ukraine-ahead-of-schedule-UK)
(เรื่องกองพลน้อยโจมตีทางอากาศที่ 82 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.businessinsider.com/ukraine-deploys-elite-82nd-brigade-2023-8)

เวลานี้การรุกตอบโต้ของฝ่ายยูเครนยังคงลากยาวกันต่อไป เขมือบกลืนกินทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลมากขึ้นๆ รายงานหลายกระแสระบุว่ายูเครนกำลังสูญเสียทหารวันละมากกว่า 1,000 คน –บางครั้งเกือบๆ ถึง 2,000 คนทีเดียว สหรัฐฯ และพวกชาติหุ้นส่วนนาโตของสหรัฐฯ บางรายแสดงท่าทีออกมาให้เป็นที่รู้กันว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับยุทธวิธีทางการทหารของยูเครน ถึงแม้ว่ายุทธวิธีเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วก็ถูกสร้างขึ้นมาจากการจำลองทำสงครามบนคอมพิวเตอร์ซึ่งเกิดขึ้นรอบๆ นาโต รวมทั้งยังได้รับความสนับสนุนด้านข่าวกรองอย่างมโหฬารจากนาโต

ยูเครนยังคงยืนกรานแบบเดิมๆ

ขณะที่ทุกๆ คน ทุกๆ ประเทศ (จีน บราซิล สันตะปาปา แอฟริกาใต้ อียิปต์ เซเนกัล คองโก-บราซาวีล คอโมโรส แซมเบีย ยูกันดา เดนมาร์ก อินโดนีเซีย.ซาอุดีอาระเบีย) ที่สามารถเสนอแผนการสันติภาพได้ ต่างพากันเสนอออกมาแล้ว หรือไม่ก็เสนอตัวเป็นคนกลางทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย (อิสราเอล เดนมาร์ก ตุรกี) ทว่ามีเพียงไม่กี่อันเท่านั้นที่ดูจะสามารถคืบหน้าไปได้บ้างในช่วงแรกๆ เป็นต้นว่าการเจรจาสันติภาพที่นำโดยตุรกี และอิสราเอล ทั้งนี้ จุดยืนอย่างเป็นทางการของยูเครนนั้นมีส่วนประกอบสำคัญๆ ดังต่อไปนี้คือ:

1.ยูเครนจะไม่เจรจากับ วลาดิมีร์ ปูติน ถึงแม้บางครั้งดูเหมือนพวกเขาจะแสดงความพร้อมเจรจากับฝ่ายรัสเซีย เรื่องนี้ยูเครนถึงขนาดที่ออกกฤษฎีกาฉบับหนึ่งระบุห้ามเจรจากับปูตินอย่างเด็ดขาด และเซเลนสกีก็ลงนามให้เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้วด้วย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bing.com/videos/riverview/relatedvideo?&q=Ukraine%27s+Zelensky+signs+decree+to+rule+out+negotiation+with+Russia%27s+Vladimir+Putin+as+%27impossible%27&qpvt=Ukraine%27s+Zelensky+signs+decree+to+rule+out+negotiation+with+Russia%27s+Vladimir+Putin+as+%27impossible%27&mid=211D9D5F3FF8F5442C7B211D9D5F3FF8F5442C7B&&FORM=VRDGAR)

2.ยูเครนจะไม่ยอมสละดินแดนใดๆ ไม่ว่าในสภาวการณ์ใดๆ ก็ตามที นี่ดูเหมือนมุ่งจะหมายถึงคาบสมุทรไครเมีย และดอนบาส (Donbas ประกอบด้วยแคว้นลูฮันสก์ และแคว้นโดเนตสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน) ถึงแม้เมื่อตอนที่มีการเจรจากันในช่วงแรกๆ นั้น ได้มีการหยิบยกไครเมียขึ้นมาเป็นข้อต่อรองกันบนโต๊ะเจรจา

3.ยูเครนเรียกร้องว่าทหารรัสเซียทั้งหมดต้องถอนตัวออกไปจากดินแดนของยูเครน และพวกอาชญากรสงคราม รวมทั้งปูติน จะต้องถูกนำตัวขึ้นศาลพิจารณาโทษ

4.ยูเครนเรียกร้องต้องการได้หลักประกันด้านความมั่นคงจากนาโต หรือไม่ก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของนาโต นอกจากนั้น เคียฟยังเรียกร้องต้องการเข้าสหภาพยุโรปอีกด้วย ทว่าการเป็นสมาชิกอียูนั้นต้องเผชิญอุปสรรคขวางกั้น สหรัฐฯ ถูกระบุว่า “กำลังดำเนินงาน” ในเรื่องการค้ำประกันความมั่นคง ทว่าความพยายามนี้ดูเหมือนหยุดชะงักหรือหยุดพักไป
(เรื่องยูเครนเรียกร้องหลักประกันความมั่นคง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nytimes.com/2023/01/10/world/europe/ukraine-russia-security-guarantees.html)
(เรื่องยูเครนเจออุปสรรคในการเข้าอียู ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ft.com/content/0319bf9e-0feb-44a4-8724-1471b80f91ae)

เวลาเดียวกัน ยูเครนยังกำลังเรียกร้องต้องการพวกอาวุธที่มีพิสัยทำการไกลเพียงพอที่จะโจมตีเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย คำขอล่าสุดคืออยากจะได้ระบบอะแทคคัมส์ ATACMS (MGM 140) (หรือเรียกชื่อกันเต็มๆ ว่า MGM-140 Army Tactical Missile System ระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีกองทัพบก เอ็มจีเอ็ม-140) ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) ทางยุทธวิธีแบบยิงจากภาคพื้นดิน ที่มีพิสัยทำการ 300 กิโลเมตร ขีปนาวุธร่อน (cruise missile) แบบยิงจากอากาศ “ทอรัส” Taurus (KEPD-350) ที่เป็นผลงานร่วมของเยอรมนี-สวีเดน ซึ่งมีพิสัยทำการ 500 กิโลเมตร ทอรัสสามารถจะเป็นตัวเสริมให้แก่ “สตอร์มแชโดว์” (Stormshadow) ขีปนาวุธร่อนยิงจากอากาศ ซึ่งสหราชอาณาจักรได้จัดส่งให้แก่ยูเครนแล้ว รวมทั้งได้รับการดัดแปลงให้ใช้กับเครื่องบิน ซู-24 (Su-24) ที่กองทัพอากาศยูเครนมีอยู่
(เรื่องยูเครนเรียกร้องอาวุธพิสัยทำการไกลขึ้น ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://news.yahoo.com/austin-evades-questions-ukraines-request-144211089.html)
(เรื่องยูเครนอยากได้ระบบขีปนาวุธอะแทคคัมส์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://abcnews.go.com/Politics/us-send-long-range-atacms-missiles-ukraine-time/story?id=103031722)
(เรื่องระบบขีปนาวุธทอรัส ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://interestingengineering.com/ie-originals/military-mechanics/season-8/ep-7-why-russia-worries-about-ukraine-getting-taurus-missiles)
(เรื่องขีปนาวุธสตอร์มแชโดว์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.express.co.uk/news/world/1814215/Ukraine-war-Storm-Shadow-missiles-Russia)
(เรื่องเครื่องบิน ซู-24 ดูเพิ่มเติมได้ที่
https://www.airforce-technology.com/projects/su24/)

ไม่ว่าในกรณี อะแทคคัมส์ ของสหรัฐฯ หรือกรณีทอรัส ของเยอรมนี ต่างยังไม่ได้มีการตกลงเห็นชอบที่จะจัดหาจัดส่งไปให้แก่ยูเครน อย่างน้อยที่สุดก็ยังไม่ใช่ในเวลานี้ อย่างไรก็ดี วิกตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) ซึ่งปัจจุบันได้รับเลื่อนขึ้นมาเป็นรักษาการรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐฯ กำลังพยายามผลักดันเพื่อนำพาสงครามไปสู่การเพิ่มโจมตีใส่เป้าหมายมูลค่าสูงภายในรัสเซียมากยิ่งขึ้น โดยถ้าหากเธอชนะในการอภิปรายถกเถียงกันเป็นการภายในแล้ว ระบบ อะแทคคัมส์ ก็จะถูกจัดส่งไปให้ยูเครน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://twitter.com/mtracey/status/1700955293922869341)

ทั้งหมดนี้ดูเหมือนกำลังส่งอิทธิพลต่อวัตถุประสงค์แห่งสงครามของทางฝายรัสเซียด้วย การสู้รบส่วนใหญ่ของรัสเซียนั้นโฟกัสอยู่ที่การป้องกันดินแดนในดอนบาส แคว้นซาโปริซเซีย แคว้นเคียร์ซอน และคาบสมุทรไครเมีย แต่เวลานี้พวกผู้นำรัสเซียกำลังพูดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในเรื่องการเปลี่ยนรัฐบาลยูเครน และการขยายสงครามไปยังเมืองหลักๆ แห่งอื่นๆ อย่างเช่น โอเดสซา (Odessa หรือ Odesa) การที่จะกระทำเช่นนี้ได้ รัสเซียจะต้องเรียกระดมกำลังทหารเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องสนับสนุนด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์มากขึ้นอีก ซึ่งอาจจะทำให้รัสเซียต้องตกอยู่ในอาการพยายามเหยียดตัวจนเกินกำลัง

ในอีกด้านหนึ่ง การขยายสงครามให้กว้างขวางออกไปใดๆ ก็ตามที ย่อมเป็นสิ่งที่สร้างความหวั่นใจให้แก่ยูเครน ซึ่งเวลานี้ก็มีกำลังพลและซัปพลายต่างๆ ร่อยหรอลงจนอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว รัฐบาลชุดปัจจุบันในยูเครนจะมีความหยุ่นตัวรับมือได้มากน้อยแค่ไหน เป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ รวมทั้งยูเครนสามารถที่จะจัดส่งกำลังทหารไปประจำที่แนวหน้าเป็นจำนวนเท่าใดยังคงเป็นสิ่งที่ไม่มีความกระจ่าง

แล้วต้องไม่ลืมว่าในสหรัฐฯ นั้น ความรู้สึกไม่พอใจที่สงครามยังคงดำเนินไปอย่างไม่รู้จักจบ กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน หากพิจารณากันอย่างเป็นกลางๆ ไร้อคติ สงครามครั้งนี้กำลังกลายเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่พันธมิตรจีน-รัสเซีย ขณะที่เขมือบทรัพยากรทางทหารต่างๆ ไปจนพร่อง ปล่อยให้สหรัฐฯ ต้องอยู่ในฐานะเสียเปรียบทั้งในยุโรปและในเอเชีย

ตัวอย่างที่ทำให้มองเห็นสภาพเช่นนี้ได้อย่างชัดเจน คือ เรื่องระบบ HIMARS ที่เป็นระบบอาวุธจรวดหลายลำกล้องติดตั้งบนรถบรรทุกที่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างคล่องตัว ปรากฏว่าสหรัฐฯ ได้ชะลอการส่ง HIMARS ไปให้แก่ไต้หวัน ซึ่งมีความต้องการได้ระบบนี้ไว้ใช้รับมือกับจีน แม้กระทั่งพวกทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ ประจำระบบ HIMARS ณ ฐานทัพบนเกาะโอกินาวา ของญี่ปุ่น ยังต้องกระเหม็ดกระแหม่คอยนับจำนวนลูกจรวด HIMARS ที่พวกเขามีอยู่ ทั้งนี้ยังจะต้องใช้เวลากว่าที่เราจะมี HIMARS เพียงพอสำหรับสนับสนุนพวกพันธมิตรของเรา อย่างไรก็ดี ถ้าหากยูเครนยังคงซัลโวมันใส่ฝ่ายรัสเซียต่อไปเช่นนี้แล้ว ก็จะมีเหลือเจือจานให้แก่พันธมิตรรายอื่นๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
(ดูเพิ่มเติมเรื่องเกี่ยวกับ HIMARS ได้ที่ https://www.thedrive.com/the-war-zone/are-there-enough-guided-rockets-for-himars-to-keep-up-with-ukraine-war-demand)
(ดูเพิ่มเติมเรื่องสหรัฐฯ ชะลอการส่ง HIMARS ให้ไต้หวันได้ที่ https://www.newsweek.com/taiwan-military-army-china-defense-himars-rocket-systems-1738437)

เวลาเดียวกัน นอกจาก HIMARS แล้ว ยังมีอาวุธอื่นๆ จำนวนมากที่สหรัฐฯ ชะลอการจัดส่งไปให้ไต้หวัน สืบเนื่องจากยูเครน ตัวอย่างเช่น กำหนดการจัดส่งปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์ 155 มม. (155mm howitzers) ไปถึงเกาะแห่งนี้ ได้ถูกเลื่อนช้าออกไปอย่างน้อยที่สุด 1 ปี
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.washingtonpost.com/world/2022/05/03/taiwan-ukraine-howitzers-paladins-weapons/)

ถ้าหาก เซเลนสกี จะประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมรัฐสภาสหรัฐฯ ให้ยอมควักกระเป๋าช่วยเหลือสงครามเพิ่มมากขึ้น มันก็อาจจะเป็นการไชโยโห่ร้องครั้งสุดท้ายของเขาก็ได้ เขาอาจจะได้รับแพกเกจความช่วยเหลือที่แฟบแบนลงมามาก และเจอกับท่าทีที่ต้องการให้เขากลับไปเร็วๆ โดยที่เขาอาจจะไม่มีโอกาสได้กลับมาอีกแล้ว

สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน
กำลังโหลดความคิดเห็น