xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’ สามารถตอบโต้เอาคืน ‘สหรัฐฯ’ อย่างสาหัส ถ้าวอชิงตันขืนเดินหน้าทำ ‘สงครามเทค’ เต็มพิกัด หลังปิดกั้นปักกิ่งพัฒนา ‘ชิป 7 นาโนเมตร’ ไม่สำเร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เดวิด พี. โกลด์แมน ***


จีนมีศักยภาพที่จะสร้างความเจ็บปวดทางเทคโนโลยีอย่างสาหัสให้แก่เศรษฐกิจสหรัฐฯ
US at grave risk of China tech war retaliation
By DAVID P. GOLDMAN
16/09/2023

การที่สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาอาศัยพวกชิ้นส่วนอะไหล่นำเข้าจากจีน ย่อมหมายความว่าทั้งอุตสาหกรรมกลาโหมและพวกโครงสร้างพื้นฐานสำคัญยิ่งยวดทั้งหลายของอเมริกา สามารถตกเป็นเป้าหมายที่จะถูกปักกิ่งเล่นงานเอาคืนได้อย่างรวดเร็ว ถ้าวอชิงตันเดินหน้ากีดกันไม่ให้อุตสาหกรรมชิปของแดนมังกรเข้าถึงเทคโนโลยีสหรัฐฯ ได้อย่างสิ้นเชิง

นิวยอร์ก - อเมริกาไม่ได้มีโรงงานหรือแรงงานมีทักษะที่สามารถผลิตข้าวของต่างๆ มาใช้แทนที่พวกสินค้านำเข้าจากจีน ซึ่งปัจจุบันเป็นตัวสนับสนุนช่วยเหลือการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของบริษัทรับเหมารับจ้างทำงานให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ตลอดจนสนับสนุนช่วยเหลือบรรดาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายของอเมริกัน ดังนั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ จึงมีความบอบบางอย่างมากที่จะต้องบาดเจ็บสาหัสในกรณีที่เกิดสงครามการค้าแบบเต็มพิกัดกับประเทศจีน พวกเจ้าหน้าที่ทั้งในภาคบริษัทและในทางฝ่ายรัฐบาลบอกกับเอเชียไทมส์เช่นนี้

นี่แหละคือเหตุผลที่ทำไมพวกเจ้าหน้าที่คณะบริหารไบเดนจึงไม่น่าที่จะใส่ใจอะไรนักกับเสียงเรียกร้องจากพวกสายเหยี่ยวแข็งกร้าวกับจีนที่ต้องการให้ตัดภาคเซมิคอนดักเตอร์ของจีนขาดสะบั้นจากเทคโนโลยีสหรัฐฯ อย่างเด็ดขาดสิ้นเชิง

ทั้งนี้ กลุ่มของ 10 ส.ส.คนสำคัญของพรรครีพับลิกัน ได้ทำหนังสือไปถึงกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา เรียกร้องอเมริกาปิดตายไม่ส่งออกเทคโนโลยีชิปไปให้จีน โดยพวกเขาอ้างว่ามาตรการควบคุมการส่งออกที่คณะบริหารไบเดนนำมาบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2022 นั้นมันไม่มีประสิทธิภาพ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scribd.com/document/671316745/9-14-23-Cmte-Chairs-Letter-to-BIS-Re-SMIC-and-Huawei)

หนังสือของพวกคนสำคัญของฝ่ายรีพับลิกันในสภาล่างเหล่านี้ อ้าง “รายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ที่ระบุว่า บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีส์ จำกัด (หัวเว่ย) เพิ่งสามารถพัฒนาสมาร์ทโฟนที่บรรจุเอาไว้ด้วยชิปขนาด 7 นาโนเมตร ซึ่งมีศักยภาพในการสนับสนุนการสื่อสารไร้สายแบบ 5จี โดยที่ชิปดังกล่าวนี้ผลิตขึ้นโดยรัฐวิสาหกิจของจีนชื่อ เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ป (Semiconductor Manufacturing International Corp. หรือ SMIC)”

“พวกเรารู้สึกวิตกกังวลและงุนงงสงสัยเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับการไร้ความสามารถของสำนักงานอุตสาหกรรมและความมั่นคง (Bureau of Industry and Security’s หรือ BIS) ในการจัดทำและบังคับใช้กฎระเบียบควบคุมการส่งออกให้มีประสิทธิภาพเพื่อจัดการกับพวกผู้ล่วงละเมิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน” หนังสือฉบับดังกล่าวระบุต่อไปอีก

ทางด้าน Semianalysis.com เว็บไซต์สำคัญมากของอุตสาหกรรมชิปก็ประกาศว่า “การแซงก์ชันของสหรัฐฯ นั้นประสบความล้มเหลว” และพูดถึงชิป 7 นาโนเมตรของ หัวเว่ย ว่า “ดีเยี่ยมอย่างเหลือเชื่อในทางเทคนิค” และ “เป็นชิปที่ได้รับการดีไซน์ออกมาอย่างดียิ่งกว่าที่ส่วนใหญ่ในโลกตะวันตกจะเกิดความตระหนัก” ด้วยสมรรถนะคล้ายคลึงกับชิปโปรเซสเซอร์ เอไอ ชั้นเยี่ยมที่สุดของอินวิเดีย (Nvidia) และของควอลคอมม์ (Qualcomm) เว็บไซต์นี้ชี้อีกว่า ชิปตัวนี้ผลิตออกมาโดยมียิลด์ (yields) อยู่ในระดับสูง “โดยไม่มีการเข้าถึงทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ระดับล้ำยุคใดๆ เลย ตลอดจนไม่มีการปิดกั้นขัดขวางอย่างมีเจตนาใดๆ ด้วย”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.semianalysis.com/p/china-ai-and-semiconductors-rise)

เว็บไซต์แห่งนี้สรุปว่า จะต้องแบนการส่งออกเครื่องจักรอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ในทุกๆ ประเภททุกๆ หมวดหมู่เท่านั้นจึงจะสามารถหยุดยั้งความก้าวหน้าของจีนได้ “มาตรการแบบครึ่งๆ กลางๆ จะไม่ได้ผล ทว่าการเปิดการโจมตีแบบเต็มพิกัดก็จะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายของการที่ต้องทำสำเนาห่วงโซ่อุปทานด้านเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นมาเองภายในประเทศอยู่ในระดับสูงลิ่วจนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว ขณะที่เราไม่ได้กำลังสนับสนุนมาตรการเหล่านี้อย่างใดๆ เป็นพิเศษ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าฝ่ายตะวันตกยังคงสามารถหยุดยั้งการผงาดขึ้นมาของจีนได้ ถ้าหากมีการใช้การปฏิบัติการที่มุ่งมั่นเด็ดขาด” เว็บไซต์นี้เขียนเอาไว้เช่นนี้

นี่หมายความว่า สหรัฐฯ ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งจีนไม่ให้ทำชิปไฮเอนด์อย่างเช่น ชิปประมวลผล คิริน 9000 ตัวใหม่ตัวนี้ของหัวเว่ย ได้ ยกเว้นแต่สหรัฐฯ จะปิดโรงงานทำเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศจีนได้สำเร็จ นี่ย่อมจะทำให้เกิดการสะดุดติดขัดอย่างมากมายมหาศาลติดตามมาไม่เพียงในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เท่านั้น แต่ยังในอุตสาหกรรมอีกหลายสิบแขนงที่ต้องพึ่งพาอาศัยเซมิคอนดักเตอร์อีกด้วย โดยที่จะก่อให้เกิดผลพวงต่อเนื่องทางเศรษฐกิจอย่างหนักหนาสาหัส

เวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนเอาเลยว่า สหรัฐฯ จะสามารถระดมความสนับสนุนในเรื่องใหญ่โตขนาดนี้จากพวกชาติพันธมิตรอย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเนเธอร์แลนด์ได้หรือไม่ เมื่อเร็วๆ นี้เอง คณะบริหารไบเดนต้องยินยอมถอยให้แก่ความต้องการของฝ่ายเกาหลีซึ่งประสงค์ที่จะรักษาพวกโรงงานผลิตชิปที่พวกเขามีอยู่แล้วในจีนเอาไว้ต่อไป

บริษัท ASML ที่เป็นผู้ผลิตระดับแนวหน้าของพวกเครื่องจักรสำหรับพิมพ์ลายบนแผ่นเวเฟอร์ (lithography) ซึ่งใช้ในการผลิตชิป ยินยอมไม่ขายเครื่องจักรระดับก้าวหน้าที่สุดของตนให้แก่จีน ทว่ายังคงขายรุ่นที่เป็นเทคโนโลยีระดับรองๆ ลงมา นั่นคือพวกที่ใช้เทคโนโลยีดีป อัลตราไวโอเล็ต (Deep Ultraviolet หรือ DUV) และก็ด้วยพวกเครื่องจักรรุ่นรองเหล่านี้แหละที่ SMIC ใช้ในการผลิตชิป 7 นาโนเมตรของหัวเว่ย

แม้กระทั่งถ้าหากสหรัฐฯ สามารถชักจูงเกลี้ยกล่อมประเทศอื่นๆ ให้เข้าร่วมในการบอยคอตต์อย่างสิ้นเชิงไม่ส่งออกเครื่องจักรอุปกรณ์ทำชิปใดๆ ไปยังประเทศจีน สหรัฐฯ ก็ไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นประเทศเดียวเท่านั้นที่สามารถรุกใหญ่ทำสงครามเศรษฐกิจ ผลกระทบจากการสะดุดติดขัดอย่างมหึมาที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกถ้าหากเกิดสงครามแบบเต็มพิกัดนั้น เป็นเรื่องที่มโหฬารเกินกว่าที่จะคาดคำนวณออกมาได้ และผลสุดท้ายที่อาจเป็นไปได้ประการหนึ่งก็คือการที่โครงสร้างพื้นฐานสำคัญยิ่งยวดทั้งหลายของสหรัฐฯ ตกอยู่ในอาการเป็นอัมพาต

การถกเถียงกันในหมู่สาธารณชนอเมริกัน เกี่ยวกับการตอบโต้เอาคืนของฝ่ายจีนที่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าหากสหรัฐฯ ออกมาตรการควบคุมการส่งออกเพิ่มเติมต่อไปอีก กำลังมุ่งโฟกัสความสนใจไปที่ความเป็นไปได้ในการสั่งห้ามพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนใช้โทรศัพท์มือถือของค่ายแอปเปิล อย่างไรก็ดี จุดอ่อนเปราะของอเมริกันนั้นมองเห็นกันได้อย่างชัดเจนมากในรูปของพวกส่วนประกอบจำเป็นยิ่งยวดเป็นพันๆ หมื่นๆ อย่าง ซึ่งใช้กันอยู่ในโครงสร้างพื้นฐานอันสำคัญยิ่งยวด และในอุตสาหกรรมกลาโหมของสหรัฐฯ


กราฟิกโดยเอเชียไทมส์

สหรัฐฯ นำเข้าพวกสินค้าทุนจากประเทศจีนสำหรับใช้ในการผลิตและการจัดส่งกระแสไฟฟ้าคิดเป็นมูลค่ารวม 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 ข้าวของประเภทนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีการผลิตขึ้นเองในสหรัฐฯ มานานแล้ว

การปรับเปลี่ยนให้สหรัฐฯ หันมาผลิตข้าวของเหล่านี้กันภายในประเทศ เป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลายาวนานในการเตรียมการและมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงลิบลิ่ว พวกเจ้าหน้าที่ในแวดวงอุตสาหกรรมบอก ในกรณีที่เกิดสงครามการค้าแบบเต็มพิกัดขึ้นมา ถ้าฝ่ายจีนห้ามส่งออกพวกส่วนประกอบสำคัญยิ่งยวดก็อาจทำให้โครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายของสหรัฐฯ กลายเป็นอัมพาตไปเลย

“จุดอ่อนเปราะของห่วงโซ่อุปทานสำหรับพวกโครงสร้างพื้นฐานสำคัญยิ่งยวดนั้น เป็นเรื่องที่สาหัสร้ายแรงมากและเป็นสิ่งที่ตัวเองทำขึ้นมา กล่าวคือ สหรัฐฯ และพวกพันธมิตรของสหรัฐฯ ได้ปล่อยให้พวกเขาเองกลายเป็นเชลยของกลุ่มผูกขาดชาวจีนที่ควบคุมการผลิตบรรดาชิ้นส่วนอะไหล่ทางอิเล็กทรอนิกส์ แม่เหล็กพลังสูง แผ่นวงจรพิมพ์ หรือแผ่นปรินต์ (printed circuit boards) เครื่องคอมพิวเตอร์ โดรน พวกโลหะแรร์เอิร์ธ กังหันลม เซลล์แสงอาทิตย์ โทรศัพท์มือถือ และแบตเตอรีลิเธียม ... ในความเป็นจริงแล้ว ส่วนประกอบแทบทุกอย่างของสมาร์ตกริดดิจิทัล (digital smart grid ระบบโครงข่ายไฟฟ้าดิจิตอลอัจฉริยะ) ที่ยึดโยงอยู่กับเทคโนโลยี ล้วนต้องพึ่งพาอาศัยส่วนประกอบซึ่งจีนเป็นผู้ผลิตกันทั้งนั้น” ไบรเอน เชียฮาน (Brien Sheahan) อดีตเจ้าหน้าที่ระดับท็อปในการกำกับตรวจสอบด้านพลังงานของสหรัฐฯ เขียนเอาไว้เช่นนี้เมื่อเดือนเมษายน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.utilitydive.com/news/chinese-supply-chains-for-critical-infrastructure-threaten-the-us-power-gri/644505/)

พวกผู้รับเหมารับจ้างที่ทำสัญญาผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ต้องพึ่งพาอาศัยประเทศจีนอย่างมากมายเหมือนกัน ในการให้สัมภาษณ์แก่สื่อไฟแนนเชียลไทมส์ (Financial Times) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา เกร็ก เฮย์ส (Greg Hayes) ซีอีโอของเรย์ธีออน (Raytheon) บอกว่า บริษัทของเขามี “ซัปพลายเออร์หลายพันรายในประเทศจีน และการหย่าร้างตัดขาดจากพวกเขาเหล่านี้เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เราสามารถที่จะลดทอนความเสี่ยงแต่ไม่สามารถหย่าร้างแยกขาดได้” และกล่าวต่อไปอีกว่า เขาเชื่อว่าเรื่องนี้ก็เป็นอย่างเดียวกัน “สำหรับทุกๆ คน” ในวงการอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ

เฮย์ส กล่าวอีกว่า “ลองพิจารณาการค้ามูลค่าราวๆ 500,000 ล้านดอลลาร์ที่ออกมาจากจีนมาสหรัฐฯ ในทุกๆ ปี กว่า 95% ของพวกวัสดุแรร์เอิร์ธ หรือพวกโลหะแรร์เอิร์ธนั้นมาจากจีน หรือไม่ก็แปรรูปกันในจีน แถมมันยังไม่มีทางเลือกจากที่อื่นๆ ด้วย ถ้าเราต้องถอนตัวออกจากจีน มันก็จะทำให้เราต้องใช้เวลาหลายปีมากๆ ในการกลับมามีสมรรถนะขนาดนั้นอย่างมั่นคงขึ้นได้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศ หรือในประเทศที่เป็นเพื่อนมิตรรายอื่นๆ”

เรย์ธีออน คือผู้ผลิตขีปนาวุธร่อน “โทมาฮอว์ก” (Tomahawk cruise missiles) ขีปนาวุธยิงจากอากาศสู่ภาคพื้นดิน “มาเวอริก” (Maverick air-to-surface missiles) ขีปนาวุธต่อสู้รถถัง “แจฟลิน” (Javelin anti-tank missiles) และอาวุธหลักตัวอื่นๆ ในคลังแสงอเมริกัน

เวลาเดียวกัน ความพยายามของอเมริกันในการลดทอนการต้องพึ่งพาขึ้นต่อห่วงโซ่อุปทานในต่างประเทศสำหรับพวกสินค้าที่มีความสำคัญยิ่งยวด ก็ยังคงกำลังประสบภาวะชะงักงัน TSMC แห่งไต้หวัน ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานผลิตชิประดับท็อปของโลก ได้ยอมรับความช่วยเหลือในรูปเงินสดอุดหนุนและการลดหย่อนภาษีคิดเป็นมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์จากคณะบริหารไบเดน เพื่อไปสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นในรัฐแอริโซนา ทว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานมีทักษะกำลังทำให้การสร้างโรงงานแห่งนี้ต้องชะลอออกไปจนกระทั่งถึงปี 2025

ปัญหาคอขวดทำนองเดียวกันนี้ยังเป็นตัวขัดขวางความพยายามของสหรัฐฯ ในการผลิตเองแทนที่จะต้องพึ่งพาอาศัยชิ้นส่วนอะไหล่ของจีนในพวกโครงสร้างพื้นฐานสำคัญยิ่งยวดต่างๆ ทั้งนี้ คาดกันว่าสหรัฐฯ จะต้องเจอกับปัญหาการขาดซัปพลายด้านแรงงานมีทักษะกันเป็นบางหย่อมบางบริเวณในระหว่างเวลา 2 ปีข้างหน้านี้

“ข้อเท็จจริงก็คือว่า 22% ของแรงงานมีทักษะทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่สหรัฐฯ มีอยู่ในเวลานี้ จะทยอยเกษียณอายุกันไปภายในสิ้นปี 2025 นี่อาจส่งผลทำให้มีตำแหน่งงานด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่หาคนมาเต็มเติมไม่ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจจะสูงถึง 2 ล้านถึง 3.5 ล้านคนทีเดียวภายในปี 2025” นี่เป็นความเห็นของบริษัทที่ปรึกษา HBK
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://hbkcpa.com/labor-shortages-in-the-manufacturing-sector/)

ทุนเรือนหุ้นของเครื่องจักรอุปกรณ์ด้านอุตสาหกรรมการผลิต (capital stock of manufacturing equipment) ของอเมริกา อยู่ในลักษณะนิ่งงันไม่ค่อยขยับมาตั้งแต่ปี 2000 แล้ว ทั้งนี้ตามการคำนวณของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve)


กราฟิกโดยเอเชียไทมส์

ขณะที่ใบสั่งซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ อยู่ในลักษณะนิ่งๆ แถวๆ ระหว่าง 1,500 ล้านดอลลาร์ ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งคิดแบบหยาบๆ ก็คืออยู่ในระดับราวครึ่งหนึ่งของช่วงก่อนหน้าภาวะเศรษฐกิจถดถอยปี 2008


กราฟิกโดยเอเชียไทมส์

ขณะที่อัตราการเติบโตของทุนเรือนหุ้นด้านอุตสาหกรรมการผลิตอยู่ในภาวะทรุดต่ำ การขาดดุลการค้าของอเมริกาก็พุ่งพรวดขึ้นมา


กราฟิกโดยเอเชียไทมส์

เป็นความจริงที่ว่าจีนยังคงต้องพึ่งพาอาศัยตะวันตกสำหรับพวกเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ในกระบวนการทำชิป แต่เวลาเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ต้องพึ่งพาอาศัยจีนสำหรับอินพุตด้านสินค้าทุนอันหลากหลายกว้างขวางเช่นกัน เรียกว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีศักยภาพในการทำร้ายกันและกันให้บาดเจ็บย่ำแย่

คำถามจึงอยู่ที่ว่าพวกเขาจะทำเช่นนั้นหรือไม่ พวกเจ้าหน้าที่คณะบริหารไบเดนนั้นมีความตระหนักเป็นอย่างดีถึงจุดอ่อนเปราะต่างๆ ของอเมริกัน และมีความลังเลที่จะผลักดันสงครามเทคเพื่อเล่นงานจีนให้ไปจนถึงจุดที่จีนจะต้องตอบโต้เอาคืน

ทั้งนี้ แม้กระทั่งด้วยการระดมสรรพกำลังกันอย่างเต็มที่เต็มขนาด สหรัฐฯ ก็ยังจะต้องใช้เวลาหลายๆ ปีทีเดียวในการสร้างความสามารถทางอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความยืดหยุ่นอย่างเพียงพอ ซึ่งสามารถแทนที่พวกชิ้นส่วนอะไหล่สำคัญยิ่งยวดที่เวลานี้นำเข้ามาจากจีนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น